บนสื่อสังคมออนไลน์มีการแชร์7 ประโยชน์ของมังคุดที่มีตั้งแต่การลดความเสี่ยงเรื่องเลือดออกตามไรฟัน ไปจนถึงรักษามะเร็งต่อมลูกหมาก จริงหรือ ?
🎯 ตรวจสอบข้อเท็จจริงและคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญ
1. ผศ.ดร.อรสา สุริยาพันธ์ ภาควิชาอาหารเคมี คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
2. ผศ.ดร.ภกญ.นิศารัตน์ ศิริวัฒนเมธานนท์ ภาควิชาเภสัชพฤกษศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
คุณค่าและประโยชน์ทางโภชนาการของมังคุดที่แชร์กันมีความจริงเพียงบางส่วน
มังคุดเป็นแหล่งของวิตามินและใยอาหารหลากหลาย แต่ปริมาณที่พบในมังคุดเป็นปริมาณที่ไม่ได้สูงโดดเด่นไปจากผลไม้อื่น
สิ่งสำคัญที่ต้องระวังก็คือมังคุดมีน้ำตาลสูง ถ้ากินมังคุดในปริมาณมากก็อาจจะได้รับน้ำตาลสูงเกินไป
ข้อ 1. มังคุดมี “วิตามินซี” ช่วยให้ไข้หวัดหายเร็วขึ้น เสริมสร้างภูมิคุ้มกัน และลดความเสี่ยงโรคเลือดออกตามไรฟัน?
วิตามินซี (Vitamin C) หรือกรดแอสคอร์บิก (Ascorbic Acid) ช่วยเรื่องการสังเคราะห์เนื้อเยื่อเกี่ยวพันคอลลาเจน (Connective tissue Collagen) ทำให้หลอดเลือดแข็งแรง ถ้าได้รับวิตามินซีปริมาณต่ำต่อเนื่อง 1-2 เดือน ก็จะเกิดภาวะเลือดออกตามไรฟัน
ส่วนเรื่องเสริมสร้างภูมิคุ้มกันโรคก็มีส่วน เพราะวิตามินซีช่วยในการทำงานของเม็ดเลือดขาว
นอกจากนี้ ตัววิตามินซีทำหน้าที่เป็นสารต้านอนุมูลอิสระ อาจจะทำให้อาการป่วยจากไข้หวัดหายเร็วขึ้น อาการไม่รุนแรง สำหรับผู้ใหญ่ปริมาณที่ต้องการ 100 มิลลิกรัมต่อวัน (มังคุด 4 ผลกลาง มีวิตามินซี 3 มิลลิกรัมเท่านั้น ถือว่าไม่สูงมาก)
ข้อ 2. มังคุดมี “วิตามินบีคอมเพล็กซ์” ช่วยเผาผลาญพลังงาน และระบบย่อยอาหารทำงานได้ดีขึ้น ?
วิตามินบีคอมเพล็กซ์ (วิตามินบีรวม : Vitamin B complex) ในมังคุดมีจริงแต่ปริมาณไม่มาก คือมังคุด 4 ผลกลางให้วิตามินบีเพียงแค่ 0.1 มิลลิกรัม
วิตามินบีเป็นตัวช่วยเปลี่ยนสารอาหารให้เป็นพลังงาน แต่ปริมาณที่คนเราต้องการต่อวันประมาณ 1.2 มิลลิกรัม
ข้อ 3. มังคุดมี “โฟเลต” ช่วยป้องกันความพิการแต่กำเนิดในทารก สร้างน้ำนมของมารดา และลดความเสี่ยงการเป็นโรคหัวใจของทารก ?
ในมังคุดมี “โฟเลต (Folate)” (กรดโฟลิก : Folic Acid) จริง แต่ปริมาณต่ำมาก
สำหรับหญิงตั้งครรภ์ถ้าได้รับโฟเลตไม่พอ จะก่อให้เกิดภาวะหลอดประสาทไม่ปิดของทารกในครรภ์ ก็จะมีปัญหาเรื่องโรคปากแหว่งเพดานโหว่ (Cleft Lip and Cleft Palate) ได้
ถ้าเป็นเรื่องโรคหัวใจของทารกในครรภ์ตอนนั้นก็คือการแบ่งเซลล์ ซึ่งโฟเลตจำเป็น แต่เรื่องการสร้างน้ำนมของมารดาหลังคลอดยังไม่มีรายงาน และการกินมังคุดจำนวนมากจะได้น้ำตาลสูง จึงไม่เหมาะกับหญิงตั้งครรภ์
ข้อ 4. เนื้อมังคุดมี “ใยอาหาร” จำนวนมาก ช่วยเรื่องระบบขับถ่าย และลดความเสี่ยงของโรคที่เกี่ยวกับลำไส้ต่าง ๆ ?
ใยอาหารสามารถเร่งเวลาในการขับถ่าย ทำให้ช่วยลดสารพิษที่อาจจะมีในอาหารสัมผัสกับเนื้อเยื่อในร่างกาย ผลสืบเนื่องก็อาจจะทำให้โรคเกี่ยวกับทางเดินอาหารและลำไส้ลดน้อยลง
ถ้าดูมังคุด 4 ผลกลาง ก็จะได้ใยอาหาร 1 กรัม นั่นคือมีอยู่ในปริมาณน้อย
ข้อ 5. “เปลือกมังคุด” ที่บอกว่าสารสกัดมีฤทธิ์ต้านการลุกลามของมะเร็งลำไส้ และมะเร็งต่อมลูกหมาก ?
ฤทธิ์ต้านการลุกลามของมะเร็งลำไส้และมะเร็งต่อมลูกหมาก มีเพียงผลในหลอดทดลอง แต่มีบ้างที่ทำในสัตว์ทดลอง ซึ่งบางตัวได้ผลดี บางตัวก็ไม่ได้ผล
ถึงแม้ว่าในสัตว์ทดลองจะได้ผลดี แต่ร่างกายมนุษย์กับร่างกายสัตว์มีความแตกต่างกัน ความน่าเชื่อถือยังไม่มากพอที่จะนำมาฟันธงได้
ข้อ 6. เปลือกมังคุดอุดมไปด้วยสาร “แซนโทน” ที่มีประโยชน์สูง ?
มังคุดจะพบแซนโทน (Xanthones) มากที่เปลือก โพลีฟีนอล (Polyphenols) พวกนี้จะมีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ (Antioxidant) มาก ก็จะมีสารสกัดจากเปลือกมังคุดที่นำมาใช้เป็นยา ใช้ฆ่าเชื้อที่ผิวหนัง มีผลิตภัณฑ์ที่ได้รับการยอมรับจำหน่าย
อีกเรื่องหนึ่งก็คือกินบรรเทาอาการท้องเสียชั่วครั้งชั่วคราว ซึ่งได้ผลดีและก็เป็นที่ยอมรับ เพราะการใช้แบบนี้ค่อนข้างปลอดภัย
ข้อ 7. มังคุดมีสาร “ต้านอนุมูลอิสระ” ที่มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระสูง ช่วยต้านการอักเสบ จริงไหม ?
เรื่องนี้มีงานวิจัยในคน พบว่าสารสกัดจากมังคุดชนิดแคปซูล สามารถเพิ่มระดับสารต้านอนุมูลอิสระในเลือดได้ผลดี แต่จะมีส่วนประกอบเป็นวิตามินซี วิตามินอี แล้วก็มีสารสกัดชาเขียวผสมด้วย
จึงยังสรุปไม่ได้ว่าฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระที่แท้จริงมาจากมังคุดอย่างเดียวหรือไม่ แต่ในหลอดทดลองทำกันมานานแล้วว่า สารสกัดมังคุดมีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ
จากข้อมูลที่แชร์กันสรุปได้ว่า“ไม่ควรแชร์ต่อ” เพราะอาจทำให้เข้าใจผิด คิดว่ามังคุดเป็นแหล่งที่ดีของวิตามินซี ใยอาหาร วิตามินบีคอมเพล็กซ์ และโฟเลต
“มังคุด” ถ้ากินมากเกินไปเกิดผลเสียต่อร่างกาย คือได้รับ “น้ำตาล” ปริมาณสูง เพราะมีทั้งประโยชน์และโทษด้วย
สัมภาษณ์โดย ณัฐี วัฒนกูล
เรียบเรียงโดย คมส์ธนนท์ ศุขอัจจะสกุล
ดูเพิ่มเติมรายการ ชัวร์ก่อนแชร์ : 7 ประโยชน์ของมังคุด จริงหรือ ?