บันเทิง

รีวิว ‘The Golden Spoon’ เผยทฤษฏีการแบ่งชนชั้นจาก ‘ช้อน’ ของคนเกาหลี

TODAY
อัพเดต 05 พ.ย. 2565 เวลา 10.57 น. • เผยแพร่ 05 พ.ย. 2565 เวลา 10.55 น. • workpointTODAY

รีวิว The Golden Spoon เผยทฤษฏีการแบ่งชนชั้นจาก 'ช้อน' ของคนเกาหลี

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

หลายคนอาจจะคุ้นเคยกับสำนวน ‘คาบช้อนเงินช้อนทองมาเกิด’ และ The Golden Spoon ซีรีส์เรื่องล่าสุดจาก Disney+ Hotstar ที่ดัดแปลงมาจากเว็บตูนยอดฮิตชื่อเดียวกัน ก็จะมาตีแผ่การแบ่งชนชั้นของคนเกาหลีที่แบ่งแยกชนชั้นจากช้อนที่คนคาบมาเกิดอย่างละเอียดละออกว่าของไทยมาก ผ่านเรื่องราวแฟนตาซีของ อีซึงชอน (รับบทโดย ยุกซองแจ) เด็กหนุ่มหัวดีแต่เกิดในครอบครัวฐานะไม่ดีนักแบบที่เรียกกันว่า ‘ช้อนดิน’ ผู้เปลี่ยนโชคชะตาของตัวเองด้วยช้อนทองที่ทำให้เขาสลับชีวิตและพ่อแม่กับ ‘ฮวังแทยง’ (รับบทโดย อีจงวอน) ทายาทตะกูล ‘ช้อนทอง’ ที่รวยล้นฟ้าอย่าง โดนชิน กรุ๊ป วันนี้จะมาจาเจาะลึกจะมาเผยเรื่องราวที่น่าสนใจของทฤษฏีการแบ่งชนชั้นจาก 'ช้อน' ของคนเกาหลีที่แทรกตัวไปอยู่ตามสื่อต่าง ๆ ผ่าน The Golden Spoon ค่ะ

เมื่อดูเผิน ๆ The Golden Spoonอาจจะเหมือนกับซีรีส์ดราม่านักเรียน สลับตัวสลับชีวิตที่นำแสดงโดยนักแสดงไอดอลอย่าง ยุกซองแจ จาก BTOB ที่กลับมาเริ่มงานแสดงอีกครั้งหลังจากเคยฝากผลงานอย่าง Goblin: The Lonely and Great Godก่อนไปเข้ากรม แต่เรื่องราวนั้นมีอะไรมากกว่าการก้าวข้ามผ่ายวัยของนักเรียน โดยสะท้อนปัญหาที่หยั่งรากลึกในสังคมเกาหลีซึ่งเชื่อมโยงกับการแบ่งชนชั้นที่เรียกว่า ‘ทฤษฏีช้อนทอง’ เมื่อการเป็นคนดี คนเก่งนั้นไม่เพียงพอต่อการการันตีอนาคตที่สดใส แต่การเกิดมามี ‘พ่อแม่’ เป็นใครนั้นสำคัญยิ่งกว่าโดยเฉพาะกับสังคมที่สาแหรกและประวัติครอบครัวเป็นสิ่งสำคัญที่กำหนดอนาคต อย่างงานที่ทำหรือคนที่แต่งงานด้วยได้

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

รายงานเรื่อง“Spoon Theory” and the Fall of a Populist Princess in Seoul ระบุว่า ‘Spoon Class Theory’ หรือ 수저계급론 ที่หมายถึงทฤษฏีการแบ่งชนชั้นจากช้อน เกิดขึ้นมาจากการแปลงสำนวนภาษาอังกฤษอย่าง ‘Born with a silver spoon’ ใช้เพื่อจำแนกผู้คนเป็นกลุ่มต่าง ๆ โดยมีความเชื่อว่าอนาคตของคนขึ้นอยู่กับทรัพย์สินของบุพการีและพื้นฐานครอบครัวมากกว่าการศึกษาที่เคยเชื่อกันว่าเป็นสิ่งสำคัญที่สุดที่จะทำให้คนเราสามารถปีนข้ามชนชั้นไปสู่ชีวิตที่ดีกว่าได้ โดยเริ่มเป็นที่นิยมในปี 2015 โดยตอนแรกนิยมใช้ในข่าวบันเทิงก่อนจะกลายเป็นศัพท์ที่ถูกใช้อย่างแพร่หลาย จน ‘ช้อนทองและดิน’ ได้อันดับหนึ่งของคำที่ถูกค้นหามากที่สุดในโซเชียลมีเดียจากทั้งปี

การแบ่งระดับของช้อนนั้นคล้าย ๆ กับบัตรเครดิตที่วัดจากรายได้และทรัพย์สิน แต่ต่างกันตรงที่ ในกรณีนั้นระดับจะขึ้นอยู่กับรายได้และทรัพย์สินของพ่อแม่ ซึ่งจะเป็นตัวกำหนดว่าของ ‘ช้อน’ ของคุณนั้นจะทำจากอะไร อย่างเช่นบทความจาก The JoongAngระบุว่าระดับจะถูกแบ่งเป็น

  • ช้อนทอง- ครอบครัวที่มีสินทรัพย์มากกกว่า 2 พันล้านวอน หรือ มีรายได้ครัวเรือนประมาณ 200 ล้านวอน ชั้นชั้นที่มีอยู่ 1% ในสังคม
  • ช้อนเงิน- ครอบครัวที่มีสินทรัพย์มากกกว่า 1 พันล้านวอน หรือ มีรายได้ครัวเรือนประมาณ 100 ล้านวอน ชั้นชั้นสูงที่มีอยู่ 3%
  • ช้อนบรอนซ์- ครอบครัวที่มีสินทรัพย์มากกกว่า 500 ล้านวอน หรือ มีรายได้ครัวเรือนประมาณ 55 ล้านวอน ชั้นชั้นที่มีอยู่ 7.5%
  • ส่วนที่เหลือจะอยู่ในกลุ่มช้อนดิน- ครอบครัวที่มีสินทรัพย์น้อยกว่า 50 ล้านวอน หรือ มีรายได้ครัวเรือนน้อยกว่า 20 ล้านวอน

และบางบทความก็ระบุด้วยว่ามีระดับช้อนเพชรที่ครอบครัวมีสินทรัพย์มากกกว่า 3 พันล้านวอน หรือ มีรายได้ครัวเรือนประมาณ 300 ล้านวอนขึ้นไป ซึ่งเป็นชนชั้นที่มีอยู่เพียง 0.1% ของทั้งประเทศ หรือบางที่ก็บอกว่ามีชั้นช้อนพลาสติกที่อยู่ระหว่างช้อนบรอนซ์กับช้อนดินอีกด้วย

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

การที่ทฤฏษฏีนี้ฮิตและแทรกซึมไปในสังคมได้อย่างรวดเร็ว สังเกตได้จากสื่อต่าง ๆ ที่มีเนื้อหาอ้างอิงถึงวลีนี้ เช่น เนื้อเพลง Fireของ BTS มีคำร้องว่าให้เลิกเปรียบเทียบช้อนกันสักทีเพราะสุดท้ายก็เป็นคนเหมือนกัน หรือตัวเว็บตูน The Golden Spoonซึ่งเป็นต้นฉบับของซีรีส์ที่เขียนขึ้นในปี 2016 ที่ใช้ทฤษฏีนี้เป็นจุดศูนย์กลางของพล็อตเช่นกัน ความนิยมของทั้ง เพลง เว็บตูน ทฤษฏี และวาทกรรมเหล่านี้สะท้อนความขมขื่นของผู้คน และความรู้สึกของการที่ แม้จะพยายามแค่ไหน ก็ไม่สามารถข้ามผ่านไปสู่ชนชั้นที่สูงกว่าได้อย่างลึกชึ้ง และ The Golden Spoon ก็มีประเด็นนี้ผสมอยู่อย่างเข้มข้น ตั้งแต่ชื่อและประโยคเปิดเรื่องที่ว่า

“คนเราล้วนเท่าเทียมกัน ทั้งพระเยซู พระพุทธเจ้า มาร์กซ์ และคานธีก็พูดเหมือนกัน รัฐธรรมมนูญก็เขียนไว้แบบนั้น แต่ทุกคนต่างรู้ดีว่าชีวิตจริงไม่ได้เป็นแบบนั้น […] ที่นี่คือ…ประเทศเกาหลี คือสังคมแห่งชนชั้น โลกที่ปกครองโดยพวกที่คาบช้อนเงินช้อนทองมาเกิด”

ตามมาด้วยการแนะนำตัวละครโดยระบุว่าพวกเขาอยู่ในกลุ่มช้อนอะไร และการเปลี่ยนบริบทบางอย่างจากเว็บตูนต้นฉบับก็ยิ่งทำให้ประเด็นเหล่านี้ชัดเจนยิ่งขึ้น เช่นการเปลี่ยนอายุตัวละครจากนักเรียนชั้น ป.6 ในต้นฉบับไปเป็นมัธยมปลาย วัยเข้ามหาวิทยาลัย ที่ทำให้เห็นเส้นทางชีวิตของตัวละครที่พลิกผันไปเพราะฐานะเป็นเหตุอย่างชัดเจนมากขึ้น อย่างอีซึงชอนในเรื่องที่ถึงจะเป็นนักเรียนทุนเรียนดี ทำงานตัวเป็นเกลียว แต่ก็ไม่สามารถมีชีวิตที่ดีขึ้นได้ ด้วยปัญหาด้านการเงินของทางบ้าน การที่เขามีหัวทางด้านการบริหารธุรกิจ แต่แทบไม่มีประโยชน์เพราะที่บ้านไม่ได้มีกิจการหรือเงินทุนให้ และการที่ที่บ้านไม่ได้มีเงินมากพอจะส่งเขาไปเรียนกวดวิชาและเลี้ยงเขาได้โดยที่ไม่ต้องทำงานพาร์ตไทม์ ก็มีส่วนให้เขาเสียโอกาสที่จะเข้ามหาวิทยาลัยดี ๆ ซึ่งจะช่วยให้เขาเข้าไปทำงานบริษัทชั้นนำได้ ก็ทำให้เห็นวงจรของความจนที่คนเกาหลีต้องเผชิญเป็นอย่างดี และวงจรนี้ก็ดูจะออกไปได้ยากขึ้นทุกทีเมื่อ ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคมทวีความรุนแรงหลังไวรัสโคโรนาระบาด ส่งผลให้ Social Mobility หรือ การขยับสถานะทางสังคมนั้นยากยิ่งขึ้นกว่าครั้งไหน ซึ่งสะท้อนผ่านผลการเซอร์เวย์ในบทความจาก Korea Timesเผยว่ามีเพียง 14.9% ของผู้ที่จัดตัวเองอยู่ในกลุ่มรายได้ต่ำที่คิดว่าคนในเจนเนอเรชั่นเดียวกันจะสามารถขยับสถานะทางสังคมได้

รายงานนี้ตอกย้ำความสิ้นหวังที่มีมาอย่างยาวนานของคนเกาหลีซึ่งปรากฏชัดในงานวิจัยจากบทความของ Korean JoongAng Dailyในปี 2017 ที่เผยว่าโดยเฉลี่ยแล้ว คนให้คะแนนเพียง 2.4 จาก 4 คะแนน เมื่อถูกถามว่าพวกเขาให้คะแนนความเป็นไปได้ของการที่พวกเขาจะสามารถยกระดับชีวิตตัวเองหรือมีรายได้สูงขึ้น และมีเพียง 48.5% ของผู้ตอบแบบสอบถามที่ระบุว่าพวกเขาคิดว่าจะสามารถยกระดับชีวิตตัวเองได้หากใช้ความพยายาม และ 68% คิดว่าการจ้างงานนั้นไม่มีความยุติธรรม โดยหลายคนระบุว่าพวกเขาโดนกีดกันเพราะมาจากคนละชนชั้น ซึ่งเป็นอีกจุดที่พิสูจน์ว่าประวัติครอบครัวนั้นมีส่วนกำหนดว่าจะถูกจ้างงานหรือไม่ นี่เป็นสิ่งนี้ทำให้วงจรความจนนั้นดำเนินต่อไป และยิ่งขับเน้นให้เห็นว่าฐานะของพ่อแม่สำคัญแค่ไหน เมื่อการคนไม่สามารถข้ามชนชั้นและรายได้ที่พ่อแม่สร้างไว้ ได้ง่ายเท่าเมื่อก่อน โดยรายงานจาก Korea Joong Ang Dailyในปี 2016 เผยว่า 90% ของผู้ที่เกิดในช่วงปี 1975-1995 มีระดับการศึกษาเท่ากับพ่อของตัวเอง เพิ่มขึ้นมาจาก 35 ปีก่อนถึง 26% และเรื่องราวของการเป็นคนฐานะไม่ดีที่สามารถเข้ามหาวิทยาดีที่ดี พลิกชีวิตจนได้เรียนต่อต่างประเทศและกลับมาทำงานตำแหน่งใหญ่อาจจะไม่ใช่เรื่องราวที่หาพบได้ง่ายเหมือนเมื่อก่อนอีกต่อไป

การนำเอาบริบทของทฤษฏีช้อนมาเชื่อมโยงกับไอเทมสำคัญของเรื่องอย่างช้อนทองวิเศษที่สลับให้คน ๆ นั้นกลายเป็นลูกเศรษฐีได้ และเงื่อนไขของเรื่องท่ีจะต้องไปกินข้าวที่บ้านคนที่ต้องการจะสลับชีวิตด้วยก็เป็นสิ่งที่ชูประเด็นความเหลื่อมล้ำให้เด่นชัดขึ้นไปอีก ด้วยการใช้สิ่งพื้นฐานในชีวิตอย่างการกินมาเทียบให้เห็นความแตกต่างของงวิถีชีวิตและช่องว่างระหว่างฐานะของคน จากพิธีรีตอง จำนวนอาหารบนโต๊ะ และอาหารที่กิน อีกทั้งการแสดงในฉากที่ตัวละครกินอาหารด้วยช้อนทองอย่างเอาเป็นเอาตายเมื่อตอนจะสลับตัวนั้น ยังสะท้อนทั้งความกระหาย โหยหา และความจนตรอกในการต้องหาทางเอาชีวิตรอดในสังคมที่โหดร้ายในคราวเดียวกัน ก็เป็นจุดที่ขับเน้นประเด็นเรื่องความเหลื่อมล้ำให้ดูเข้มข้นขึ้นไปอีก

อีกหนึ่งจุดที่ทำให้ The Golden Spoonสะท้อนเรื่องชนชั้นได้อย่างน่าสนใจ คือความพยายามที่จะเลี่ยงวิธีการเล่าเรื่องที่จะทำให้ความจนเป็นแค่อุปสรรคง่าย ๆ ที่ตัวเอกต้องก้าวข้าม หรือการทำให้เห็นว่าการเป็นคนจนที่มีความสุขนั้นดีกว่าการเป็นคนรวยที่ไร้สุข เหมือนละครหลาย ๆ เรื่อง อุปสรรคมากมายที่เข้ามาอย่างต่อเนื่องและในหลากหลายรูปแบบใน The Golden Spoonชี้ให้เห็นว่ามีหลายปัจจัยที่ทำให้ความจนเป็นสิ่งที่ก้าวข้ามได้ยาก จากทั้งเศรษฐกิจ นายทุนที่มีผลกับชีวิตคนในทางอ้อม โดยเฉพาะเมื่อไม่มีใครยื่นมือมาช่วยเหลือ ไม่มีต้นทุนให้ต่อยอด ต่างกับคนรวยที่สามารถรวยขึ้นได้อย่างง่ายดาย และถึงแม้เรื่องจะชี้ให้เห็นอีกมุมว่าเป็นคนรวยก็ใช่จะสบายไปเสียทุกอย่าง แต่ก็ทำให้เห็นเช่นกัน ว่าสำหรับคนที่เคยลำบากมา เงินทองที่หลายคนมองเป็นเพียงของนอกกายนั้น อาจจะเป็นสิ่งที่ต่อลมหายใจของบางครอบครัว และคุ้มค่าที่จะขายวิญญาณแลกมา เพราะยิ่งมีความสุขและความรักให้กับครอบครัวมากเท่าไหร่ หลายคนก็ยิ่งยินยอมที่จะเอาชีวิตเป็นเดิมพันเพื่อแลกกับชีวิตที่ดีขึ้นมากเท่านั้น

“การแบ่งปันก็ต้องมีมารยาทนะครับ ผมว่าโฆษณานั้นไม่ใช่การแบ่งปันแต่เป็นการใช้ความรุนแรงครับ มุมมองโหดร้ายทารุณที่คนรวยมองคนจน”

บทละครจากฉากที่ซึงชอนวิจารณ์โฆษณา ที่เด็กรวยช่วยให้เด็กยากจนฉลองวันเกิดด้วยการโปรยลูกกวาดให้เก็บตามพื้น จึงเป็นสิ่งที่สะท้อนมุมมองชีวิตที่เรื่องต้องการจะนำเสนอได้เป็นอย่างดี เพราะไม่ว่าเรื่องจะมีบทสรุปอย่างไร ซึงชอนจะได้กลับไปอยู่กับครอบครัวหรือต้องยอมขายวิญญาณตัวเองตลอดไป แต่การเดินทางของตัวละครในเรื่องได้สะท้อนเจตนารมย์ที่จะไม่ตีค่าความเจ็บปวดที่เกิดจากความจนเป็นเพียงแค่อุปสรรคที่เอาไว้ข้ามไปสู่ตอนจบที่แสนสุขอย่างแน่นอน

https://youtu.be/HGuZt95D0io

อ้างอิง

ดูข่าวต้นฉบับ