‘ไอติม’ ชี้คะแนน PISA เด็กไทยลดลงทั้งกระดาน สะท้อนการศึกษาเข้าขั้น ‘วิกฤต’ หวังเป็นสัญญาณเตือนภัยให้หน่วยงานเกี่ยวข้องเร่งแก้ไข มองไม่ใช่เพราะเด็กไทยไม่ขยัน แต่ต้นตอแท้จริงคือ ‘ระบบการศึกษา’ แนะ 9 แนวทาง เน้นพัฒนาทักษะ-สมรรถนะ นำไปใช้ได้จริงในอาชีพการงาน-ชีวิต
เมื่อวันที่ 6 ธันวาคม นายพริษฐ์ วัชรสินธุ ส.ส.บัญชีรายชื่อ และโฆษกพรรคก้าวไกล (ก.ก.) โพสต์เฟซบุ๊ก พริษฐ์ วัชรสินธุ – ไอติม – Parit Wacharasindhu แสดงความเห็นกรณี คะแนนประเมินผลนักเรียนร่วมกับนานาชาติ (Programme for International Student Assessment หรือ PISA) ของนักเรียนไทยปีล่าสุดที่มีค่าเฉลี่ยลดลง ว่า
“คะแนน PISA การศึกษาไทย ลดลงทั้งกระดาน! ถึงเวลาจัดทำหลักสูตรการศึกษาใหม่ฐานสมรรถนะ
เมื่อวานนี้ ทาง OECD ได้มีการเผยแพร่ผลสอบ PISA 2022 ซึ่งเป็นการประเมินทักษะของเด็กและตัวชี้วัดคุณภาพระบบการศึกษาของแต่ละประเทศ ที่มีการวัดผลทุกๆ 3 ปี
สำหรับผลล่าสุด คะแนนของเด็กไทยลดลงมาอยู่ในจุดที่ต่ำสุดในรอบ 20 ปี ในทักษะทั้ง 3 ด้านที่มีการประเมิน โดยมีอันดับอยู่ในครึ่งล่างของตารางทั้งในระดับโลกและระดับภูมิภาคอาเซียน :
1. คณิตศาสตร์ : คะแนนลดลง 6% (อันดับ 58 จาก 81 ประเทศ-พื้นที่ที่เข้าร่วม)
2. การอ่าน : คะแนนลดลง 4% (อันดับ 64 จาก 81 ประเทศ-พื้นที่ที่เข้าร่วม)
3. วิทยาศาสตร์ : คะแนนลดลง 4% (อันดับ 58 จาก 81 ประเทศ-พื้นที่ที่เข้าร่วม)
ผมเชื่อว่าผลลัพธ์นี้เป็นสิ่งที่หลายคนคาดการณ์ได้เนื่องจากคุณภาพของระบบการศึกษาไทยมีแนวโน้มถดถอยมาอย่างต่อเนื่องตลอด 10-20 ปีที่ผ่านมา แต่ผมหวังว่าผลลัพธ์นี้จะเป็นอีก “สัญญาณเตือนภัย” ที่ทำให้ทุกภาคส่วนเห็นชัดว่าการศึกษาไทยกำลังอยู่ในขั้น “วิกฤต”
ผมย้ำเสมอว่าการที่เด็กไทยเรียนหนักเป็นอันดับต้นๆ ของโลก แต่กลับมีทักษะที่ตามหลังหลายประเทศ สะท้อนให้เห็นชัดว่าปัญหาของการศึกษาไทย ไม่ใช่เพราะเด็กไทยไม่ “ขยัน” แต่เป็นเพราะ “ระบบการศึกษา” ไม่สามารถแปรชั่วโมงเรียนและความขยันของนักเรียนให้ออกมาเป็นทักษะได้อย่างมีประสิทธิภาพเท่ากับระบบการศึกษาของประเทศอื่น
แม้การยกระดับคุณภาพการศึกษาไทยจำเป็นต้องอาศัยหลายมาตรการ แต่สิ่งหนึ่งที่ผมมองว่าขาดไม่ได้ คือการ “จัดทำหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานฉบับใหม่” มาแทนที่หลักสูตรปัจจุบันที่ไม่ได้มีการเขียนใหม่หรือปรับปรุงขนานใหญ่มาหลายปี
หากวันนี้ก้าวไกลมีโอกาสได้เป็นรัฐบาล เราจะชวนทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง (เช่น ภาควิชาการ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม ครู นักเรียน ผู้ปกครอง) มาร่วมออกแบบหลักสูตรให้เสร็จภายใน 1 ปี (เนื่องจากหลายภาคส่วนมีการพัฒนาข้อเสนอเรื่องหลักสูตรใหม่มาสักพักแล้ว) เพื่อเริ่มทยอยนำมาใช้ในแต่ละระดับชั้นให้ครบทั้งหมดภายในวาระของรัฐบาล
ในมุมมองของผม “เป้าหมายหลัก” ของหลักสูตรใหม่ ควรเป็นการเน้นพัฒนาทักษะ-สมรรถนะที่นำไปใช้ได้จริงในอาชีพการงานและในชีวิต โดยผมขอเสนอกรอบเบื้องต้นสำหรับการแลกเปลี่ยนเพิ่มเติมดังต่อไปนี้ :
1. ปรับวิชาหรือเป้าหมายของวิชาให้สอดคล้องกับเป้าหมายหลักเรื่องทักษะ-สมรรถนะ-ทบทวนวิชาที่ควรมีหรือไม่มี รวมถึงการปรับเป้าหมายของแต่ละวิชาให้เน้นทักษะที่สำคัญ มากกว่าแค่การอัดฉีดเนื้อหาหรือข้อมูลให้กับผู้เรียนเป็นหลัก (เช่น ภาษาอังกฤษที่เน้นการสื่อสาร/วิชาประวัติศาสตร์ที่เน้นการวิเคราะห์-ถกเถียง-แลกเปลี่ยน)
2. ปรับวิธีการสอน-เสริมทักษะให้ครูสามารถพลิกบทบาทจาก “ครูหน้าห้อง” ที่เน้นถ่ายทอดความรู้หรือข้อมูลผ่านการบรรยายทางเดียว มาเป็น “ครูหลังห้อง” ที่เน้นสร้างบรรยากาศและจัดสรรเวลาในห้องเรียนให้นักเรียนได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นมากขึ้น
3. ลดจำนวนชั่วโมงเรียนและคาบเรียน-ปรับจาก 1,200 ชั่วโมงต่อปี เหลือประมาณ 800-1,000 ชั่วโมงต่อปีตามมาตรฐานสากล โดยลดเนื้อหาการเรียนหรือกิจกรรมในส่วนที่จำเป็นลง เพื่อเน้นที่คุณภาพของชั่วโมงเรียน และให้นักเรียนเหลือเวลาเพียงพอสำหรับการเรียนรู้นอกห้องเรียนและการพักผ่อน
4. ลดภาระการบ้านและการสอบแข่งขันที่หนักเกินไป-ปรับใช้วิธีประเมินผลรูปแบบอื่น (เช่น การบูรณาการการบ้านหลายวิชา การทำกิจกรรมในเวลาเรียน การทำโครงการกลุ่ม) เพื่อลดภาระและความเครียดที่ส่งผลต่อสุขภาพจิตของเยาวชนไทย
5. เพิ่มเสรีภาพในการเรียนรู้-ลดวิชาบังคับ และเพิ่มวิชาทางเลือก ให้นักเรียนได้มีอิสรภาพและส่วนร่วมในการออกแบบเส้นทางการเรียนรู้ของตนเอง เพื่อโอบรับความหลากหลายของผู้เรียนที่มีความถนัดและความชอบที่แตกต่างกัน
6. เพิ่มการตรวจสอบโดยประชาชน-เพิ่มกลไกในการทำให้หนังสือเรียนและข้อสอบปรับตามและสอดรับกับหลักสูตรใหม่ ผ่านการสร้างแพลตฟอร์มให้ประชาชนตรวจสอบเนื้อหาหนังสือเรียน และการเปิดข้อสอบ TCAS ย้อนหลังทั้งหมดพร้อมเฉลย
7. กระจายอำนาจด้านการออกแบบหลักสูตร-วางระบบให้มีหลักสูตร 3 ระดับ (แกนกลาง-จังหวัด-สถานศึกษา) ควบคู่กับการลดกลไกควบคุมจากส่วนกลาง เพื่อให้โรงเรียนมีอำนาจมากขึ้นในการออกแบบหลักสูตรที่สอดคล้องกับความต้องการและความจำเป็นของผู้เรียนในแต่ละโรงเรียน
8. วางกลไกสำหรับการพัฒนาหลักสูตรอย่างต่อเนื่อง-กำหนดให้ทบทวนหลักสูตรแกนกลางทุก 4 ปี เพื่อให้เท่าทันต่อการเปลี่ยนแปลงของโลกและทักษะที่จำเป็นในแต่ละยุคสมัย
9. ส่งเสริมการเรียนรู้นอกห้องเรียนและการเรียนรู้ตลอดชีวิต-ออกแบบสภาพแวดล้อมและการเรียนการสอนในห้องเรียนที่เอื้อต่อการ “เติมไฟ” ให้นักเรียนมีความพร้อมในการตั้งคำถามและเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ด้วยความตระหนักดีว่าการเรียนรู้ไม่ควรจำกัดอยู่ที่โรงเรียนหรือแค่ในช่วงวัยเรียน”
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง