ธุรกิจ-เศรษฐกิจ

แจง 'ซามาเนีย พลาซ่า' ธุรกิจของนิติบุคคลไทย กรรมการ-ผู้ถือหุ้นถือสัญชาติไทย

MATICHON ONLINE
อัพเดต 07 มี.ค. 2566 เวลา 09.59 น. • เผยแพร่ 07 มี.ค. 2566 เวลา 09.57 น.
ภาพโดย Samanea Plaza Thailand

กรมพัฒนาธุรกิจการค้า แถลงเคลียร์ปม ‘ซามาเนีย พลาซ่า’ เผยเป็นธุรกิจของนิติบุคคลไทย

เมื่อเวลา 15.30 น. วันที่ 7 มีนาคม ที่กระทรวงพาณิชย์ นายจิตรกร ว่องเขตกร รองอธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า แถลงข่าวด่วนกรณีการนำเสนอประเด็นทุนจีนเข้ามาเปิด โครงการซามาเนีย พลาซ่า ศูนย์ค้าปลีกค้าส่งและกระจายสินค้าราคาถูกเพื่อจำหน่ายสินค้านำเข้าจากจีนครบวงจร ซึ่งกำลังกลายเป็นข้อถกเถียงในแวดวงธุรกิจ หลังผู้นำเข้าสินค้าจากจีนยื่นขอให้มีการตรวจสอบและติดตามการดำเนินธุรกิจของกลุ่มซามาเนียว่าอาจไม่ชอบตามกฎหมาย เนื่องจากเกรงว่าจะกระทบกับธุรกิจและเอกชนไทย พร้อมกับมองว่าเป็นปรากฏการณ์ถล่มตลาดที่มีผลมาจากนโยบายของรัฐบาลในการดึงดูดการลงทุนอีคอมเมิร์ซจากประเทศจีนหรือไม่นั้น

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

กรมพัฒนาธุรกิจการค้า ในฐานะหน่วยงานที่อนุญาตให้คนต่างชาติเข้ามาลงทุนประกอบธุรกิจในประเทศไทย ภายใต้พระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ.2542 ขอชี้แจงว่า ธุรกิจที่ได้รับอนุญาตให้เข้ามาลงทุนประกอบธุรกิจในประเทศไทยจะพิจารณาโดยคำนึงถึงผลดีและผลเสียต่อความมั่นคงของประเทศ การพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ การจ้างงาน การถ่ายทอดเทคโนโลยี ซึ่งที่ผ่านมาธุรกิจที่อนุญาตจะเป็นธุรกิจที่สอดคล้องกับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ นโยบายส่งเสริมการลงทุนของภาครัฐ และสนับสนุนธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับอุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศ รวมถึงยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล เช่น ธุรกิจบริการบนดิจิทัลแพลตฟอร์ม บริการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น

“การอนุญาตให้นักลงทุนต่างชาติประกอบธุรกิจในประเทศไทยนั้น จะพิจารณาผลดี/ผลเสียของธุรกิจที่นักลงทุนจะเข้ามาประกอบกิจการที่มีต่อประเทศโดยรวมเป็นสำคัญ และไม่เลือกปฏิบัติว่าเป็นนักลงทุนจากประเทศใดเป็นการเฉพาะเจาะจง” นายจิตรกรกล่าว

นายจิตรกร กล่าวต่อว่า สำหรับ “โครงการซามาเนีย พลาซ่า” จากการตรวจสอบการจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจ พบว่า มีนิติบุคคลที่เกี่ยวข้อง 3 บริษัท ได้แก่ บริษัท ซามาเนีย บางนา 02 จำกัด บริษัท ซามาเนีย บางนา จำกัด และ บริษัท ซามาเนีย โฮลดิ้งส์ (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งทั้ง 3 บริษัทมีสถานะเป็น นิติบุคคลไทย โดยมี นายเฉือก ฟ้ง อ้อ ซึ่งมีชื่อเป็นกรรมการและผู้ถือหุ้นของนิติบุคคล 3 รายที่เกี่ยวข้องนั้น มีสัญชาติไทย โดย มีมารดาเป็นคนไทย บริษัททั้ง 3 รายดังกล่าวจึงไม่มีสถานะเป็นคนต่างด้าวตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ.2542

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

นายจิตรกรกล่าวว่า กรมขอย้ำว่าในการพิจารณาให้คนต่างชาติเข้ามาลงทุนจะคำนึงถึงผลประโยชน์ต่อเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศเป็นหลัก รวมถึงผู้ประกอบการไทยต้องได้รับประโยชน์ด้วยเช่นกัน ไม่มีการเอื้อประโยชน์ให้ชาติหนึ่งชาติใดเป็นพิเศษ นักลงทุนจากทุกประเทศต้องปฏิบัติตามกฎหมายและเงื่อนไขการลงทุนที่กำหนดไว้

“จากข้อมูลการอนุญาตในปี 2565 ที่ผ่านมา พบว่าประเทศที่เข้ามาลงทุนมากที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่ ญี่ปุ่น สิงคโปร์ สหรัฐ ฮ่องกง และ จีน จึงเห็นได้ว่ากรมมีการส่งเสริมให้นักลงทุนต่างชาติเข้ามาประกอบธุรกิจในประเทศโดยไม่ได้มีการเลือกปฏิบัตต่อนักลงทุนชาติหนึ่งชาติใดเป็นการเฉพาะ แต่จะเน้นประโยชน์ต่อเศรษฐกิจของชาติและผู้ประกอบการไทยเป็นสำคัญ” นายจิตรกรกล่าว

ดูข่าวต้นฉบับ