ไลฟ์สไตล์

เปรียบ "สฤษดิ์" เป็น "หนุมาน" ทหารเอกผู้จงรักภักดีต่อ "พระราม"

ศิลปวัฒนธรรม
อัพเดต 14 มิ.ย. เวลา 03.57 น. • เผยแพร่ 12 มิ.ย. เวลา 05.32 น.
หนุมานกำลังก้มกราบพระราม ด้านหลังคือพระลักษมณ์ ภาพวาดราว ค.ศ. 1910-15

“หนุมาน” สัญลักษณ์ของ จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ เป็นทหารเอกผู้จงรักภักดีต่อ “พระราม”

การนำสัตว์ประจำปีเกิดมาใช้เป็นสัญลักษณ์เพื่อแสดงถึงอำนาจและบารมีของผู้นำประเทศนั้น นับตั้งแต่หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นต้นมา ปรากฏให้เห็นเด่นชัดในยุค จอมพล ป. พิบูลสงคราม ที่นำ “ไก่” มาใช้เป็นสัญลักษณ์ เช่น ปูนปั้นรูปหัวไก่ ที่ทำเนียบรัฐบาล หรือตราประจำจังหวัดพิบูลสงคราม (จังหวัดบันทายมีชัยในกัมพูชา)

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

ต่อมาในยุคจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ผู้นำเผด็จการในช่วงทศวรรษ 2500 ก็นำสัตว์ประจำปีเกิดมาใช้สัญลักษณ์ประจำตัวเช่นกัน โดยเป็นรูปหนุมานกลางหาวท่ามกลางดาวกับเดือน เนื่องจาก จอมพล สฤษดิ์ เกิดปี “วอก” หรือ “ลิง” นั่นเอง

การที่ จอมพล สฤษดิ์ นำ“ลิง” มาใช้เป็นสัญลักษณ์นี้ ทำให้ ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช เขียนถึงกรณีดังกล่าวลงในเรื่องฝรั่งศักดินา ซึ่งตีพิมพ์เป็นตอน ๆ ในหนังสือพิมพ์สยามรัฐรายวัน ระหว่างกลางเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2500 ถึงกลางเดือนมกราคม พ.ศ. 2501ความว่า

“ตราของจอมพลสฤษดิ์นั้นพื้นสีชมพู แสดงว่าเกิดวันอังคารมีภาพหนุมานแผลงฤทธิ์หาวเป็นดาวเป็นเดือนท่านี้ฝรั่งเรียกว่า Rampant แปลว่า ผยอง จะแปลว่าแผลงฤทธิ์ก็คงจะได้ ท่านจอมพลคนนี้คงจะเกิดปีวอก แต่การที่เลือกรูปหนุมานผู้เป็นทหารเอกพระรามมาเป็นตราประจำตัวนั้นเข้าทีนัก หนุมานนั้นซื่อสัตย์จงรักภักดีต่อพระรามโดยไม่เห็นแก่บำเหน็จรางวัลอย่างไร ใคร ๆ ก็รู้”**

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

และ “มีความซื่อสัตย์จงรักภักดียอมตายให้ได้ มิได้หวังสิ่งไรตอบแทนในทางวัตถุ เป็นความสัมพันธ์ทางใจโดยแท้…

อาบเหงื่อต่างน้ำทำสงคราม ให้พระรามใช้สอยน้อยหรือนั่น

ฆ่ายักษ์ตายยับลงนับพัน จะรางวัลสิ่งไรก็ไม่มี”

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

อ. สายชล สัตยานุรักษ์ วิเคราะห์เรื่องนี้ว่าเป็นการยกย่อง จอมพล สฤษดิ์ ว่ามีความจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์ โดยเปรียบเทียบ จอมพล สฤษดิ์ กับ “หนุมาน” ทหารเอกของ “พระราม” ในเรื่องรามเกียรติ์ ซึ่งหนุมานได้ช่วยพระรามกำจัดปรปักษ์ของพระองค์ด้วยความจงรักภักดี

ตรงนี้มีนัยยะสื่อให้เห็นว่า จอมพล สฤษดิ์ ช่วยกำจัด จอมพล ป., พลตำรวจเอก เผ่า ศรียานนท์ และบรรดาอัศวินของพลตำรวจเอก เผ่า ทั้งนี้โดยมิได้หวังสิ่งใดตอบแทน และการที่ ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ยกย่อง จอมพล สฤษดิ์ ในแง่มุมดังกล่าวก็นับเป็นการวางรากฐานด้านความรู้สึกนึกคิดของประชาชน ซึ่งจะทำให้ประชาชนยอมรับบทบาทผู้นำของ จอมพล สฤษดิ์ ในเวลาต่อมา

“จะเห็นได้ชัดเจนว่าตลอดระยะเวลาที่ จอมพล สฤษดิ์ ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี (พ.ศ. 2501-2506) ความชอบธรรมของจอมพลสฤษดิ์อยู่ที่การแสดงความเป็นผู้นำที่ไม่มีความปรารถนาในอำนาจ แต่เสียสละความสุขและผลประโยชน์ส่วนตัวมาทำงานเพื่อบ้านเมือง มีความจงรักภักดีอย่างสูงสุดต่อพระมหากษัตริย์ นับถือศาสนาพุทธซึ่งทำให้เป็นบุคคลอันกอปรไปด้วยคุณธรรมของ ‘ผู้นำแบบไทย’ อันทำให้สามารถปกครองด้วยอำนาจเด็ดขาดอย่างมีประสิทธิภาพ จนส่งผลให้ ‘ชาติไทย’ เต็มไปด้วยระเบียบ ความมั่นคง ความสงบสุข และความเจริญก้าวหน้า”

แต่อีกด้านหนึ่ง นักหนังสือพิมพ์ที่เป็นปฏิปักษ์กับจอมพลเผด็จการผู้นี้มาตั้งแต่ก่อนการปฏิวัติ พ.ศ. 2501 ก็ใช้“ลิง” ด่า จอมพล สฤษดิ์ ต่าง ๆ นานา เช่น “ไอ้ลิงม้ามแตก”, “ไอ้ลิงบ้ากาม”, “อ้ายหน้าลิงกำลังฆ่าประชาธิปไตย”

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่

อ้างอิง :

สายชล สัตยานุรักษ์. (2550). คึกฤทธิ์กับประดิษฐกรรม “ความเป็นไทย” เล่ม 2 ยุคจอมพลสฤษดิ์ถึงทศวรรษ 2530. กรุงเทพฯ : มติชน.

อิทธิเดช พระเพ็ชร. (พฤศจิกายน, 2564). ประติมากรรมน้ำแข็ง : จาก “ขวัญใจ” สู่ “ตัวร้าย” ภาพลักษณ์ทางการเมืองของ จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ก่อนการปฏิวัติ 20 ตุลาฯ. ศิลปวัฒนธรรม. ปีที่ 43 : ฉบับที่ 1.

เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 18 กุมภาพันธ์ 2565

อ่านข่าวต้นฉบับได้ที่ : เปรียบ “สฤษดิ์” เป็น “หนุมาน” ทหารเอกผู้จงรักภักดีต่อ “พระราม”

ติดตามข่าวล่าสุดได้ทุกวัน ที่นี่
– Website : https://www.silpa-mag.com

ดูข่าวต้นฉบับ