ธุรกิจ-เศรษฐกิจ

คาดลงทุนไอทีปีนี้แตะ4.52 แสนลบ.

กรุงเทพธุรกิจ
เผยแพร่ 22 ก.พ. 2562 เวลา 02.22 น.

นางสาวประภัสสร เพชรแก้ว นักวิเคราะห์อาวุโส ไอดีซี ประเทศไทย กล่าวว่า ภาพรวมการใช้จ่ายไอทีในประเทศไทยยังมีแนวโน้มขยายตัวอย่างต่อเนื่อง รับอานิสงส์ดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชั่น โดยระหว่างปี 2560-2565 เติบโตเฉลี่ย 5.4% ปี 2560 มีมูลค่า 4.14 แสนล้านบาท ปี 2561 มูลค่า 4.24 แสนล้านบาท

ส่วนในปี 2562 จะมีมูลค่า 4.52 แสนล้านบาทเมื่อถึงปี 2563 จะเพิ่มไปถึง 4.89 แสนล้านบาท ปี 2564 มูลค่า 5.16 แสนล้านบาท และปี 2565 ประมาณ 5.40 แสนล้านบาท

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

"แม้โดยภาพรวมจะเติบโตเป็นตัวเลขหลักเดียว ทว่าเทคโนโลยีเช่น บริการพับบลิคคลาวด์ บิ๊กดาต้าและอนาไลติกส์ อินเทอร์เน็ตออฟธิงส์(ไอโอที) มีแนวโน้มเติบโตเป็นตัวเลขสองหลักทุกปี โดยบริการพับบลิคคลาวด์เติบโตเฉลี่ย 20% บิ๊กดาต้าและอนาไลติกส์ 18.6% ไอโอที 11.4%"

โดยสรุปการใช้จ่ายไอทีในประเทศไทยหลักๆ จะมาจากเทคโนโลยีแพลตฟอร์มรุ่นที่ 3 ซึ่งประกอบด้วย 4 เสาหลัก คือ คลาวด์, โมบิลิตี้, บิ้กดาต้าอนาไลติกส์, และโซเชียล

"ภายใน 3-5 ปีจากนี้ การลงทุนไอทีแบบเดิมจะเติบโตแบบช้าๆ ไม่หวือหวือเท่าใดนัก การลงทุนด้านเทคโลยีและบริการต่างๆ จะเกี่ยวเนื่องไปกับแพลตฟอร์มรุ่นที่ 3 รวมถึงการผสมผสานใช้งานระบบโรโบติกส์ ค็อกนิทิฟ ไอโอที เออาร์ วีอาร์ โดยเทคโนโลยีเหล่านี้มีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่องเป็นตัวเลขสองหลัก"

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

เธอกล่าวว่า การลงทุนเทคโนโลยีรูปแบบเดิมที่จะชะลอตัวลงคือการใช้จ่ายด้านฮาร์ดแวร์และเปลี่ยนไปเป็นด้านบริการมากขึ้น ปัจจุบันการลงทุนไอทีมาจากกลุ่มคอนซูเมอร์และองค์กรสัดส่วนใกล้เคียงกัน

อย่างไรก็ดี การคาดการณ์ดังกล่าวไม่ได้นำปัจจัยทางด้านการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้อง แต่คาดว่าปัจจัยด้านการเมือง สงครามการค้าระหว่างจีนและสหรัฐ รวมถึงสภาวะเศรษฐกิจโลกที่ไม่แน่นอน ไม่น่าจะส่งผลกระทบ เนื่องจากโดยปกติองค์กรต่างๆ ใช้งบลงทุนไอทีสัดส่วนประมาณ 10% ของรายได้ ส่วนใหญ่ระมัดระวังและเลือกลงทุนสิ่งที่จำเป็นมากที่สุด เน้นการพัฒนาประสบการณ์ลูกค้า

สำหรับแนวโน้มเทคโนโลยีที่จะเกิดขึ้นในปี 2562 ไอดีซีคาดการณ์ว่า เมื่อถึงปี 2565 มากกว่า61% ของจีดีพีประเทศไทยจะได้รับอิทธิพลจากเทคโลยีดิจิทัล ทุกอุตสาหกรรมจะนำไอทีมาเพิ่มศักยภาพ ปีเดียวกันดังกล่าว 60% ของธุรกิจองค์กรจะให้ความสำคัญกับการลงทุนในเทคโนโลยีแพลตฟอร์มรุ่นที่ 3 ที่น่าสนใจองค์กร 30% มุ่งพัฒนาตนเองไปสู่องค์กรดิจิทัล(digital-native) และใช้ไอทีเป็นตัวจักรขับเคลื่อนธุรกิจ

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

นอกจากนี้ ในปี 2565 มากกว่า 20% ขององค์กรธุรกิจไทยที่พัฒนาด้านคลาวด์จะใช้เทคโนโลยีเอจคอมพิวติ้ง และ 25% ของอุปกรณ์ปลายทางจะมีเอไออัลกอรึทึมเข้าไปผสมผสาน ที่น่าสนใจ 70% ของแอพที่สร้างขึ้นในไทยจะใช้สถาปัตยกรรมรูปแบบใหม่ที่เรียกว่าไมโครเซอร์วิสซึ่งทำให้การพัฒนาทำได้เร็วขึ้น

พร้อมระบุ เมื่อถึงปี 2567 จำนวนประชากรที่เป็นนักพัฒนาจะเพิ่มขึ้น 20% จากการสนุนโดยรัฐและโครงการบ่มเพราะต่างๆ ต่อไปจะได้เห็นการเติบโตที่ก้าวกระโดดของการพัฒนานวัตกรรมทางดิจิทัล เอไอจะกลายเป็นยูสเซอร์อินเทอร์เฟซรูปแบบใหม่ ซึ่งเอื้อให้เกิดระบบงานอัตโนมัติ มากกว่านั้นเอไอจะเข้าไปช่วยเพิ่มความสามารถให้กับระบบซิเคียวริตี้ด้วย

ดูข่าวต้นฉบับ