เมื่อฮิตเลอร์ส่งกองทัพไปล้อมเมืองเลนินกราด* ในวันที่ 8 กันยายน 1941 อเล็กซานเดอร์ ชูกิน (Alexander Stchukin) กำลังทำงานที่สถาบันอุตสาหกรรมพืชวาวิลอฟ (Vavilov Institute of Plant Industry) (* ปัจจุบันคือ เซนต์ ปีเตอร์สเบิร์ก)
วาวิลอฟเป็นสถาบันวิจัยพืชและเก็บตัวอย่างพืชและเมล็ดพันธุ์ ก่อตั้งในปี 1921 เป็นธนาคารเมล็ดพันธุ์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก
ชูกินเป็นหัวหน้าสถาบัน เชี่ยวชาญเรื่องถั่ว มีผู้ร่วมงานหลายคนที่เชี่ยวชาญเรื่องพืชแต่ละชนิด เช่น ดิมิทรี อิวานอฟ หัวหน้าฝ่ายเมล็ดข้าวเชี่ยวชาญเรื่องข้าว เป็นต้น
ฮิตเลอร์บุกโซเวียตเมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 1941 ในยุทธศาสตร์ที่เรียกว่า ปฏิบัติการบาร์บารอสซา สามเดือนต่อมาก็เข้าล้อมเมืองเลนินกราด
กองทัพที่บุกเลนินกราดมีทั้งทัพนาซี ฟินแลนด์ และสเปน
ทัพฟินแลนด์บุกมาทางเหนือ ฟินแลนด์เข้าร่วมกับฮิตเลอร์เพราะมองเห็นโอกาสที่จะทวงแผ่นดินบางส่วนคืนที่โซเวียตยึดไป ในสงครามที่เรียกว่า Winter War ฮิตเลอร์สัญญาว่าถ้ายึดเมืองได้ จะยกแผ่นดินเหนือแม่น้ำเนวาให้
ส่วนสเปนเดิมวางตัวเป็นกลางในสงครามโลก แต่เมื่อนาซียึดฝรั่งเศสได้ สเปนก็เริ่มเปลี่ยนนโยบาย อยากร่วมกับฮิตเลอร์ แต่ก็ไม่อยากรบกับชาติตะวันตกอื่น ๆ จึงตั้งทัพอาสาสมัคร เรียกว่า Blue Division ไปช่วยรบแค่โซเวียตเท่านั้น (แต่เมื่อเยอรมนีเริ่มพายแพ้ สเปนก็หวนกลับไปที่นโยบายเป็นกลางตามเดิม และถอนตัว Blue Division ออกมา)
กองทัพฝ่ายอักษะทำลายถนนเข้าเมืองหมดสิ้น ชาวเมืองถูกปิดล้อม
ฮิตเลอร์ไม่ได้อยากยึดเมืองมาครองเล่น แต่ต้องการบดขยี้ทำลายให้สิ้นซาก ด้วยหลายเหตุผล
เมืองนี้ใช้ชื่อเลนิน ผู้นำคนแรกของโซเวียต จึงเป็นสัญลักษณ์ของปฏิวัติรัสเซีย และในด้านยุทธศาสตร์ มันเป็นฐานทัพเรือของโซเวียตในทะเลบอลติก มีโรงงานอุตสาหกรรมมากมาย เลนินกราดมีผลผลิตทางอุตสาหกรรมถึง 11 เปอร์เซ็นต์ของทั้งประเทศ
มีเรื่องเล่าว่าฮิตเลอร์มั่นใจว่าจะยึดเมืองนี้ได้ในเร็ววัน จนพิมพ์บัตรเชิญล่วงหน้าไปร่วมฉลองการยึดเมืองได้ที่โรงแรมแอสโทเรีย
คำสั่งของฮิตเลอร์ไปถึงกองทัพฝ่ายเหนือในวันที่ 29 กันยายน 1941 สั่งว่าห้ามประนีประนอม ห้ามรับการยอมแพ้ ทำลายเมืองให้ราบคาบ ไม่ต้องสนใจถ้าประชาชนจะอดตายไปกี่คน
แต่ ณ แนวรบด้านตะวันออก โซเวียตสู้สุดใจขาดดิ้น ทั้งสองฝ่ายรบกันนานเกือบสามปี มันเป็นการปิดล้อมเมืองที่ยาวนานที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์โลก สูญเสียชีวิตคนมหาศาล ไม่ใช่จากการสู้รบเป็นหลัก แต่จากการอดตาย
▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪
สถาบันวาวิลอฟเก็บตัวอย่างพืชและเมล็ดพันธุ์พืชราว 187,000 ชนิด จำนวนมากเป็นพืชที่ผ่านการดัดแปลงพันธุกรรม เก็บไว้ใช้ในอนาคต สำหรับวงการเกษตรของประเทศ เช่น มันฝรั่ง เมล็ดข้าว ฯลฯ
หลังจากฤดูหนาวแรกหลังปิดล้อมเมืองผ่านไป เจ้าหน้าที่สถาบันก็หว่านเมล็ดพืชเพื่อปลูกเพื่อเก็บเมล็ดพันธุ์ชุดใหม่
ครั้นฤดูหนาวที่สองมาถึง พวกเขาก็ยืนหยัดต่อไป อดทนผ่านไปทีละวัน ทีละเดือน ทีละปี แล้วฤดูหนาวที่สามก็มาเยือน
อเล็กซานเดอร์ ชูกิน ออกคำสั่งชัดเจน ไม่แตะอาหารในคลัง เพราะมันไม่ใช่เสบียง มันคืออนาคตของเกษตรกรรัสเซียทั้งประเทศ
หน้าที่ของนักวิทยาศาสตร์และเจ้าหน้าที่คือปกป้องพืชจากความหนาวเย็น ชาวบ้านที่อดอยาก และหนูหิวโหยจำนวนมหาศาล
พวกเขาใช้ชีวิตอย่างอดอยาก ทั้ง ๆ ที่อาหารก็อยู่ในมือ
▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪
ในช่วงปิดล้อมเมือง การทำงานในสถาบันยากขึ้นหลายเท่า อาคารไม่มีฟืน ไม่มีถ่านหิน การสู้รบทำให้หน้าต่างอาคารแตก เย็น ชื้น และมืด ในช่วงฤดูหนาว อุณหภูมิลดลงถึงติดลบ 40 องศา
นักวิทยาศาสตร์รู้ดีว่าความเย็นจัดจะทำให้มันฝรั่งและพืชผลหลายชนิดกลายเป็นน้ำแข็งและเสียหาย เจ้าหน้าที่สถาบันจึงเผาทุกสิ่งที่หาได้เพื่อสร้างความอบอุ่น ต่อชีวิตทั้งของพวกเขาเองและพืชผล ใช้กระดาษ กล่อง ซากไม้จากตึกที่ถูกทำลายมาเป็นเชื้อเพลิง
พวกเขามีปัญหาใหญ่คือหนูที่หิวโหยจากสงครามเช่นเดียวกับคน ในตอนค่ำพวกมันบุกห้องทดลอง เพื่อหาอาหาร
จนถึงจุดจุดหนึ่ง เจ้าหน้าที่สถาบันฯ ก็รู้ว่าไม่สามารถจะปกป้องเมล็ดพันธุ์ได้อีกนาน ก่อนที่พืชผลจะเสียหายเพราะความหนาวเย็น พวกหนู และชาวบ้านจะบุกมาปล้นเสบียงไปต่อชีวิต
“เราต้องขนย้ายเมล็ดพันธุ์พวกนี้ไปเก็บที่อื่น”
“ที่ไหน ?”
“เก็บแถวเทือกเขาอูราล”
“จะไปยังไง ในเมื่อนาซีล้อมเมืองอยู่ ?”
“ตอนนี้ทะเลสาบลาโดกาเป็นน้ำแข็ง เราก็ขนเมล็ดพืชขึ้นรถขับข้ามทะเลสาบไป”
เหล่าเจ้าหน้าที่ทำงานลับ ๆ แบ่งพืชพรรณออกเป็นส่วนย่อย ๆ ค่อย ๆ แอบขนออกนอกเมืองไปทีละส่วน
▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪
นาซีปิดล้อมเมืองนาน 872 วัน จนถึงวันที่ 27 มกราคม 1944
พลเรือนเลนินกราดตายจากการปิดล้อมประมาณแปดแสนคน
ในบรรดาผู้อดอาหารตาย มีกลุ่มหนึ่งที่อดตายไม่ใช่เพราะไม่มีอาหาร ก็คือเหล่านักวิทยาศาสตร์และเจ้าหน้าที่สถาบันวาวิลอฟ
พวกเขามีอาหารเหลือเฟือ แต่พวกเขาเลือกอดตาย
ในเดือนมกราคม 1942 มีคนพบศพ อเล็กซานเดอร์ ชูกิน ฟุบบนโต๊ะทำงานของเขา
เขาตายไปตั้งแต่ฤดูหนาวที่หนึ่ง
รวมทั้ง กีออร์กี ไกรเยอร์ แผนกสมุนไพรรักษาโรค และ ดิมิทรี อิวานอฟ หัวหน้าแผนกข้าว ก็ตายไปโดยที่มีข้าวสารมากมายในคลัง
สถาบันวาวิลอฟอยู่รอดผ่านสงครามโดยที่ผลผลิตที่เก็บไว้อยู่รอดปลอดภัย โดยจ่ายราคาด้วยชีวิตของนักวิทยาศาสตร์และนักวิจัยพืชจำนวนยี่สิบแปดคน
พืชพันธุ์ที่เก็บไว้ได้ใช้งานต่อไปสมเจตนารมณ์ของคนเก็บรักษาด้วยชีวิต การรักษาพันธุ์พืชเหล่านั้นส่งผลถึงปัจจุบัน ทำให้มีการผสมข้ามพันธุ์หลากหลาย และเป็นเมล็ดพันธุ์สำหรับเกษตรกร ต่อชีวิตจำนวนมหาศาลต่อไป
บางครั้งการปกป้องชีวิตของคนในอนาคตก็เกิดขึ้นด้วยการเสียสละชีวิตในวันนี้
วินทร์ เลียววาริณ
เฟซบุ๊ก https://www.facebook.com/winlyovarin/
ติดตามบทความใหม่ ๆ จากวินทร์ เลียววาริณ ได้ทุกวันจันทร์ บน LINE TODAY
chompu หน้าที่ และการเสียสละ ที่คนปัจจุบัน แทบไม่มีเลย
20 ก.ย 2563 เวลา 23.13 น.
Nong เป็นความเสียสละที่ยิ่งใหญ่ ที่บรรพบุรุษทำไว้ให้ชนรุ่นหลัง
21 ก.ย 2563 เวลา 05.48 น.
Vanida เห็นภาพ ผู้เสียสละอันยิ่งใหญ่ อยากให้โน้มกิ่งลงมามอง
21 ก.ย 2563 เวลา 00.54 น.
ในเรื่องราวนี้ทำไมทำให้ผมคิดไปว่า ถ้าหากว่าคนเรานั้นไม่คิดถึงในเรื่องของผลประโยชน์ให้อยู่เหนือในความถูกต้องจนมากเกินไป ปัญหาต่างๆก็คงจะไม่เกิดขึ้นตามมาได้เหมือนกันนะครับ.
21 ก.ย 2563 เวลา 09.55 น.
pui753 😿👍
21 ก.ย 2563 เวลา 11.46 น.
ดูทั้งหมด