ผ่านวิกฤติโควิดมาหลายเดือน หลายประเทศทั่วโลกกำลังถกกันว่าได้เวลาเปิดโรงเรียนแล้วหรือไม่ ทั้งสองฝ่ายต่างก็ให้เหตุผลที่มีน้ำหนัก น่ารับฟัง
ณ วันนี้ ข้อมูลจากองค์การยูเนสโกบอกว่า 177 ประเทศสั่งปิดโรงเรียน นักเรียน 1.2 พันล้านคนทั่วโลกไม่ได้ไปเรียนที่โรงเรียน ส่งผลกระทบต่อนักเรียนสามในสี่ของโลก
โรงเรียนทั้งหมดปิดด้วยเหตุผลเรื่องความปลอดภัย
ข้อเสนอให้เปิดโรงเรียนคือ การปิดโรงเรียนทำให้เด็กขาดเรียน การเรียนออนไลน์ไม่ได้ผล บางที่ระบบการเรียนแบบ ‘บ้านใครบ้านมัน’ ก็ไม่พร้อม ไม่มีเครื่องมือหรือมีไม่พอ
ฝ่ายที่เห็นว่าควรปิดโรงเรียนต่อไปให้เหตุผลว่า ถ้าไม่ปิดอาจทำให้เกิดการแพร่เชื้อขนานใหญ่ ก็มีการแย้งว่า การแพร่เชื้อในเด็กต่ำมาก แต่อีกฝ่ายก็แย้งกลับว่า แล้วจะเสี่ยงหรือ ?
ปัญหาที่ตามมาจากการปิดโรงเรียนกระทบถึงพ่อแม่เด็กอย่างเลี่ยงไม่พ้น ผู้ใหญ่ต้องหยุดงานหรือลดเวลาทำงานเพื่อที่จะดูแลเด็ก ส่งผลกระทบต่อรายได้ และผลทางจิตวิทยาของเด็กที่อยู่บ้านนานเกินไป
ฝ่ายหนึ่งว่า ขาดรายได้ดีกว่าติดโรคแล้วตาย
อีกฝ่ายว่า ไม่มีรายได้ก็ตายเหมือนกัน
อีกประเด็นหนึ่งที่ถกกันคือหัวอกพ่อแม่ที่เป็นห่วงลูก ในมุมมองของพ่อแม่ ลูกเรียนช้าไปหกเดือนหรือหนึ่งปี ก็ดีกว่าติดโควิด
ไป ๆ มา ๆ ก็ถกกันด้วยความรู้สึก
ในวิกฤติใหญ่ขนาดนี้ เราคงต้องว่ากันที่ข้อเท็จจริง
…………………………………………………………………………..
รายงานทางการแพทย์เผยว่า เด็ก ๆ สามารถรับเชื้อโควิดได้เท่ากับผู้ใหญ่ แม้ไม่แสดงอาการ เมื่อเด็กกลับบ้านก็มีโอกาสแพร่เชื้อให้ผู้ใหญ่
การศึกษาตัวอย่างในเมืองจีนพบว่า เทียบกับผู้ใหญ่แล้ว เด็กเพียงหนึ่งในสามเท่านั้นที่ติดเชื้อ แต่เด็กมีความเคลื่อนไหวมากเป็นสามเท่าของผู้ใหญ่ จึงแพร่เชื้อได้สามเท่า
รายงานชี้ว่าการปิดโรงเรียนช่วยลดการติดโรคลง 40-60 เปอร์เซ็นต์จริง
นอกจากการเล่าเรียนแล้ว การสอบระดับมาตรฐานโลก เช่น Cambridge IGCSE, Cambridge O Level, Cambridge International AS & A Level, SAT, ACT ไปจนถึง International Baccalaureate (IB) ก็ถูกเลื่อนออกไปหมด
นี่แปลว่ามันจะส่งผลกระทบต่อการสมัครเรียนต่อในมหาวิทยาลัยทั่วโลก ยกตัวอย่าง เช่น การเลื่อนสอบ IB ซึ่งเป็นมาตรฐานสากลที่นักเรียนนำผลสอบไปสมัครเรียนมหาวิทยาลัยทั่วโลกได้ กระทบนักเรียนสองแสนคนทั่วโลก
ดังนั้นต่อให้โรงเรียนในประเทศไทยสามารถเปิดสอนและสอบตามปกติ เด็กมัธยมปลายที่จะไปเรียนต่อในต่างประเทศก็ไม่สามารถไปสมัครมหาวิทยาลัยที่ไหนในโลก เพราะทุกที่เลื่อนหมด ท้ายที่สุดก็ต้องรออยู่ดี
นี่บอกเราว่า ทุกหน่วยทุกฟันเฟืองในโลกเกี่ยวร้อยกันด้วยปฏิกิริยาลูกโซ่ของโลกทั้งใบ และเราไม่อาจแก้ปัญหาเฉพาะจุด เฉพาะฟันเฟืองบางชิ้น
…………………………………………………………………………..
เป็นที่น่าสังเกตว่า เวลาถกกันเรื่องปิด-เปิดโรงเรียน เราก็คุยกันแต่เรื่องโรงเรียน หลายคนมองไม่เห็นว่า โรงเรียนเป็นเพียงจิ๊กซอว์ตัวหนึ่งในวิกฤติโควิดโลก
เมื่อมองเรื่องนี้ เรามองแค่จุดใดจุดหนึ่งไม่ได้ ต้องมองภาพรวม จะแก้ปัญหาเฉพาะจุดก็ไม่ได้ ต้องแก้ทั้งภาพรวม
ความจริงก็คือ เวลาเด็กนักเรียนหนึ่งคนไปโรงเรียน ไม่ได้มีเพียงคนหนึ่งคนไปโรงเรียน มันมีกระบวนการมากกว่านั้น ถ้าพ่อแม่ต้องไปส่งลูก ก็เพิ่มอีกคนหรือสองคน ถ้าไปโรงเรียนด้วยรถเมล์ ก็มีคนขับรถเมล์ กระเป๋ารถเมล์ ถ้าไปทางรถไฟฟ้า ก็เกี่ยวพันกับเจ้าหน้าที่ทุกฝ่ายของรถไฟฟ้า นอกจากนี้ยังมีคนขายอาหาร คนส่งนม ฯลฯ
นี่หมายถึงว่าการไปโรงเรียนของเด็กหนึ่งคน เกี่ยวข้องกับระบบอื่นๆ แทบทุกระบบ เพราะทุกหน่วยในสังคมเกี่ยวข้องกัน ไม่มีหน่วยใดเดินหน้าไปได้โดยไม่เกี่ยวกับหน่วยอื่น ถ้านักเรียนไปเป็นเรือนพันหรือเรือนหมื่น ตัวเลขคนในระบบอื่นที่เกี่ยวข้องก็เพิ่มตามเป็นเรือนพันหรือเรือนหมื่นเช่นกัน
ว่าก็ว่าเถอะ ถ้านักเรียนไปโรงเรียนได้อย่างปลอดภัย ก็ไม่มีเหตุผลอะไรที่คนอื่นไปทำงานไม่ได้
ถ้าเราคิดจะรอดจากวิกฤตินี้ การแก้ปัญหาต้องแก้ที่องค์รวม เป็น ‘Master plan’ ซึ่งจิ๊กซอว์แต่ละชิ้นนำไปปฏิบัติ ไม่อาจแก้เป็นเฉพาะจุดตามใจชอบ หรือตามอารมณ์ หรือตามกระแสสังคม
องค์รวมนั้นกว้างกว่าแค่เรื่องการศึกษา ยังมีเรื่องเศรษฐกิจ สังคม ฯลฯ ที่ทุกส่วน ทุกสังคม ทุกประเทศ เกี่ยวร้อยกัน กระทบต่อกันเป็นลูกโซ่
ไม่มีประเทศไหนสามารถฟื้นจากโควิดอย่างเดียวดาย ต่อให้เมืองไทยปลอดโควิดโดยสิ้นเชิง หากประเทศอื่นยังไม่ฟื้น เราก็ยังฟื้นไม่ได้เช่นกัน
………………………………………………………………
กรอบคิดหนึ่งที่มักนำมาถกคือการไม่ไปโรงเรียนคือการสิ้นสุดของการเรียน และเด็กจะเสียเวลาในชีวิต
ทว่าโควิดเปิดประตูบานใหม่ของวิถี ‘New normal’ ในโลก เราไม่สามารถแก้ปัญหาด้วยกรอบคิดแบบเดิมหรือมุมมองที่เคยชินทุกครั้ง เราต้องก้าวพ้นจากกรอบคิดว่าความรู้เกิดจากห้องเรียนอย่างเดียว
โควิดอาจปิดโรงเรียน แต่ไม่ได้ปิดการเรียนรู้
การเรียนในห้องเรียนแบบเจอหน้ากันย่อมดีที่สุด แต่เราควรระวังอย่าไปยึดติดกับรูปแบบการเรียนมากเกินไป
มองโลกในแง่ดี เรายังโชคดีที่มันเกิดขึ้นในยุคอินเทอร์เน็ต การเรียนออนไลน์หรือทางคลื่นโทรทัศน์เป็นไปได้ หากเป็นยุค Spanish Flu เมื่อร้อยปีก่อน ก็ไม่สามารถเรียนที่บ้านอย่างนี้ได้
มันอาจไม่ใช่เรื่องเลวร้าย คอขาดบาดตาย เพียงแต่ต้องปรับตัว
การปรับตัวเป็นหัวใจของสิ่งมีชีวิต
………………………………………………………………
กรุงเทพฯ ในปี พ.ศ. 2485 เกิดน้ำท่วมใหญ่ น้ำท่วมสูงเป็นเดือน ๆ ไม่มีใครสามารถไปโรงเรียนได้ เพราะโรงเรียนจมน้ำหมด
อยากไปโรงเรียนแค่ไหน ก็ไปไม่ได้
ในช่วงเวลานั้น การสัญจรทางบกเป็นเรื่องเป็นไปไม่ได้ แต่ชาวบ้านก็ปรับตัว ไปไหนมาไหนด้วยเรือ
โควิดก็เหมือนน้ำท่วม ตอนน้ำท่วมสูง เราอาจไม่สะดวก การเรียนการทำงานชะงักงัน แต่ชีวิตก็ต้องดำเนินต่อไป เราจะคิดค้นหนทางออกมาจนได้ เพราะ “Necessity is the mother of invention.” ถ้ามีความจำเป็นจริง ๆ เราก็สามารถคิดหาวิธีมาจนได้นั่นแหละ
Adapt or die.
แต่สิ่งที่โควิดเตือนเราทางอ้อมคือ วิธีการเผชิญหน้ากับวิกฤติระดับโลก มันบอกว่าอย่ามองว่านี่คือการเผชิญหน้ากับโรคร้าย ให้มองข้ามโรคร้ายนี้ไปไกลกว่านั้น
โรคร้ายไม่ใช่หัวใจของเรื่องนี้ หัวใจคือการเอาตัวรอดในสถานการณ์วิกฤติต่างหาก
เราเรียนรู้จากตลอดอารยธรรมของมนุษยชาติว่า โควิดจะไม่ใช่โรคสุดท้ายที่มาเยือนมนุษย์ ในอนาคตไม่เพียงจะมีโรคใหม่ๆ ยังอาจมีวิกฤติรูปอื่นๆ เช่น น้ำท่วมโลก โรงไฟฟ้าปรมาณูรั่ว อุกกาบาตหล่นลงมาจากฟ้า เป็นต้น
ทุกวิกฤติต้องการการปรับตัว และเราต้องพร้อมที่จะปรับตัว
หากปรับตัวไม่ได้ และไม่เรียนรู้ที่จะปรับตัว เราก็สูญสิ้นไปตามการคัดสรรของธรรมชาติ
…………………………………………………………………………
วินทร์ เลียววาริณ
Arm ตราบใดที่ไม่มีวัคซีน ต้องปิดสถานเดียว ไม่คุ้มต่อชีวิตเลย ไม่คุ้มเลยจริงๆ
18 พ.ค. 2563 เวลา 03.32 น.
ตุ๊กตา ปิดก็ด่า หากไม่ปิดเด็กติดเชื้อมาก็ด่าเป็นวัวเป็นควาย มนุษย์เอาใจยาก
18 พ.ค. 2563 เวลา 03.42 น.
tawato ไม่ควรเปิดครับยังมีความเสี่ยงอยู่ เรียนออนไลน์พอไปได้ ครูใจดีไม่ดุไม่ตี มาตรฐานเดียวกันทั่วประเทศ
18 พ.ค. 2563 เวลา 03.13 น.
แซ๊ก&ตุ๊ ครบถ้วนชัดเจน แต่ก็เหมือนเสียงซอที่ลอยมาตามลมสำหรับอ๋อยและปลื้ม แต่คิดว่าเรียนทางทีวีแก้ขัดไปก่อนดีกว่า ทางเน็ตบ้านเรายังไม่ทั่วถึง100%แค่เดือนกว่าๆก็เปิดเทอมได้แล้ว อย่าให้พ่อแม่ส่วนหนึ่งต้องมีภาระค่าใช้จ่ายเพิ่่มอีกเลยเพราะแค่เปิดเทอมธรรมดาก็ไม่รู้ว่าจะหาอะไรไปจำนำเป็นค่าใช้จ่ายอีกแล้ว
18 พ.ค. 2563 เวลา 03.21 น.
So เห็นด้วยค่ะ
18 พ.ค. 2563 เวลา 03.22 น.
ดูทั้งหมด