ไลฟ์สไตล์

"ทำใจ" สำคัญกว่า "ทำบุญ" | พศิน อินทรวงค์

พศิน อินทรวงค์
เผยแพร่ 13 พ.ค. 2563 เวลา 08.56 น.

ถาม…

ด้วยความเคารพนะครับ อยากให้พี่พศินลองแนะแนวทางการทำบุญในแง่มุมที่มากกว่าการถวายสังฆทาน การใส่บาตร การถวายปัจจัย ให้หน่อยครับ

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

ผมเองพอทราบเล็กๆ น้อยๆ ว่าการมีสติกับตนเองก็เป็นหนึ่งในการสร้างบุญที่นอกเหนือไปจากการทำทาน แต่อยากทราบว่ามีทางไหนอีก เพื่อจะได้เอาไปปฎิบัติเอง และเผยแพร่ให้กัลยาณมิตรอื่นๆ ด้วยครับ ขอบคุณครับ

ตอบ…

บุญที่ยิ่งใหญ่ที่สุดนั้นมันมาจากตัวตนของเรา หมายความว่า

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

ถ้าเราทำตนให้เป็นคนที่คิดดี พูดดี ทำดีได้ นั่นถือว่า เป็นบุญสูงสุด และเป็นต้นกำเนิดของบุญทั้งหมด เพราะเมื่อเราเป็นคนดี เราก็จะเมตตาผู้อื่น เมื่อเราเมตตาเขา เราก็อยากช่วยเหลือเขา เมื่อเราช่วยเหลือเขา เราก็จะยินดีกับเขา เมื่อยินดีกับเขา เราก็จะรู้จักวางเฉยเมื่อเกิดสิ่งไม่ดีขึ้นกับเรา

ตรงนี้สำคัญมากกว่าการเข้าวัดทำบุญ สำคัญมากกว่าการสวดมนต์ สำคัญมากกว่าการรักษาศีล สำคัญมากกว่ากฏเกณฑ์ทั้งหลายที่ระบุไว้ในตำรา เพราะตัวตนของเราคือรากฐานของความดี และความชั่วทั้งหมดในชีวิตของเรา

อยากให้เรามองจิตใจของตนเองเป็นงานศิลปะ ส่วนตัวเรานั้นเป็นเหมือนศิลปินที่กำลังสร้างงานศิลปะชิ้นนี้ ขอให้คิดว่า ทำอย่างไร จิตใจหรืองานศิลปะชิ้นนี้จะสวยงามกว่าเมื่อวาน สร้างใจของเราให้มันสวย ให้มันดีขึ้นทุกวัน เรื่องแบบนี้ไม่ต้องแข่งกับใคร คนอื่นเขาเป็นอย่างไรก็เรื่องของเขา เราแข่งกับตัวเอง ตอบตัวเองได้ว่า เราจะดีขึ้นทุกวัน ทำให้ศิลปะในใจของเราให้มันสวยและมีคุณค่ามากขึ้นทุกวัน หลักธรรมทุกข้อในศาสนาพุทธล้วนโยงมาสู่สิ่งนี้เท่านั้นเอง ไม่ว่าพระพุทธเจ้าจะสอนสิ่งใดก็เป็นไปเพื่อการทำดี ละชั่ว ทำจิตให้บริสุทธิ์ หลักธรรมในหมวดศีล สมาธิ ปัญญา ก็เป็นไปเพื่อทำให้จิตบริสุทธิ์

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

ดังนั้น วิธีที่เข้าถึงตรงที่สุด ลัดสั้นที่สุดก็คือ ทำลงไปที่ใจ พยายามเปิดใจของเราให้มันกว้างขวาง ทำลายความเป็นเรา เขา เธอ ฉัน ให้ได้มากที่สุด พยามยามคิดว่า ผู้อื่นเป็นคนในครอบครัวของเรา มองสุนัขหนึ่งตัวก็มองว่า มันก็มีหนึ่งชีวิตเท่า ๆ กับเรา เขาทำผิด ก็มองว่า เรายังผิดได้ ทำไมเขาจะผิดไม่ได้

ให้มองเลยคำว่าผิด หรือถูกไปสู่ความเข้าใจและให้อภัย ถูกคนเอาเปรียบไปบ้าง ก็มองว่า เราให้เขาจะเป็นไรไป คนอื่นด่าว่าเราไปบ้าง ก็มองว่า ถ้าเขาด่าแล้วสบายใจ เราก็ให้เขาด่า ช่วยให้เขามีความสุข เรื่องเหล่านี้มันคงทำได้ไม่ง่าย แต่ก็มีทางเป็นไปได้ ถ้าเราฝึกทำบ่อยๆ ทำสิ่งเหล่านี้บ่อย ๆ แล้วจิตมันจะเปลี่ยนของมันเอง อะไรที่เคยโกรธก็จะไม่โกรธ อะไรที่เคยคิดว่า ฉันไม่ยอมก็จะยอมได้ง่าย ๆ

นี่คือการเปลี่ยนแปลงจิตของตนเองให้กลายเป็นจิตพระโพธิสัตว์ เมื่อใช้จิตแบบนี้ไปทำทาน อานิสงค์ของทานก็จะสูงมากกว่าการทำทานของคนทั่วไป เพราะผู้ที่ทำมีจิตบริสุทธิ์

เมื่อใช้จิตแบบนี้ไปทำสมาธิ มันก็จะได้สมาธิ ได้ฌาน ได้ญาณ 

เมื่อใช้จิตแบบนี้ไปทำวิปัสสนา มันก็จะมีโอกาสเข้าถึงปัญญาสูงสุด บรรลุสู่ความเป็นอริยบุคคลได้

ใจของเรานั้นเหมือนกับดิน ส่วนการทำบุญต่าง ๆ นั้น เปรียบได้กับต้นไม้ ทำดินของเราให้มันอุดมสมบูรณ์เอาไว้ก่อน ถ้าดินสมบูรณ์แล้ว เราจะเอาต้นอะไรมาปลูก มันก็จะออกดอกออกผลได้อย่างรวดเร็ว เป็นกำลังใจให้ทำสิ่งดี ๆ ต่อไปครับ…

ความเห็น 8
  • Ton.
    ขอบคุณ​มาก​ครับ​
    13 มิ.ย. 2563 เวลา 13.30 น.
  • หญิง156
    อ่านแล้วชอบ ขอบคุณมากๆค่ะ
    26 พ.ค. 2563 เวลา 07.53 น.
  • FA SKY 259
    เข้าใจแจ่มแจ้ง บทความเขียนให้อ่านได้เข้าใจง่าย ขอบคุณค่ะ
    20 พ.ค. 2563 เวลา 08.26 น.
  • Yongyuth
    ผู้ที่จะทำใจให้ปล่อยวาง ไม่ยึดมั่นถือมั่น ก็ต้องเริ่มต้น ด้วยการสั่งสมบุญบารมี เมื่อบารมีเต็มที่ คือมีความดีสั่งสมจนเต็ม ก็จะเกิดปัญญาปล่อยวาง ไม่ยึดมั่นถือมั่นในสิ่งทั้งปวง ผู้ใดที่ยังปล่อยวางไม่ได้ ก็เพราะยังไม่ได้สั่งสมบุญบารมี เป็นผู้ขาดเมตตาธรรม กรุณา จึงไปไม่ถึงอุเบกขา ในพรหมวิหารธรรม ผู้ใดมีคุณธรรม สัจจะทมะขันติ และจาคะ ยอมเดินทางสู่การปล่อยวางได้ในที่สุด
    16 พ.ค. 2563 เวลา 03.13 น.
  • เอก อรรถพล
    สาธุครับ.
    14 พ.ค. 2563 เวลา 22.08 น.
ดูทั้งหมด