ไลฟ์สไตล์

ละครพีเรียดเสนอชีวิตสุขสงบแสนดี แต่เรื่องจริงโหด ข้าวเปลือก 60% ที่ทำได้ต้องส่งส่วย

ศิลปวัฒนธรรม
อัพเดต 03 พ.ย. 2566 เวลา 09.26 น. • เผยแพร่ 10 เม.ย. 2565 เวลา 01.25 น.
คนไทย สมัย รัชกาลที่ 5

“ละครพีเรียด” เสนอชีวิตสุขสงบแสนดี แต่เรื่องจริงโหด ข้าวเปลือก 60% ที่ทำได้ต้องส่ง “ส่วย”

ละครทีวี หรือซีรีส์พีเรียด (ย้อนยุค) ที่เสนอเรื่องราวของผู้คนในอดีตเมื่อ 100 กว่าปีที่แล้ว หรือแบบที่ตัวเอกหลงหลุดเข้าไปในอดีต อดีตที่แม้จะไม่มีเทคโนโลยีอำนวยความสะดวก แต่ชีวิตแสนสงบสุข ผู้คนมากด้วยน้ำใจ สังคมเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ไม่ต้องดิ้นรนตัวเป็นเกลียวเรื่องการทำมาหากินแบบทุกวันนี้ เพราะในน้ำมีปลาในนามีข้าว แนวเรื่องแบบนี้ไม่ได้มีแต่ละครทีวีไทย ไม่ว่าจีน, เกาหลีก็มีให้เห็น

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

แล้วในความเป็นจริงชีวิตเมื่อวันวาน มันน่าอยู่กว่าปัจจุบันจริง มันสบายกว่าวันนี้จริงหรือ

ใครเล่าจะรู้ได้ พวกเราก็ไม่ใช่คนยุคนั้น แต่ถึงเราจะเกิดไม่ทัน ก็รู้ได้จากเอกสารต่างๆ ที่มีการบันทึกไว้ ก็น่าจะพอหาคำตอบในเรื่องนี้ได้ แบบเร็วหยิบบทความขึ้นมา 2 ชิ้น

หนึ่งคือ เรื่องเกี่ยวกับ “ทาส” ที่ ชาติชาย พณานานนท์ เขียนไว้ในบทความชื่อ “ทาสอยุธยา ในประมวลกฎหมายรัชกาลที่ 1” (ศิลปวัฒนธรรม, สิงหาคม 2532)

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

บุคคลๆ หนึ่งกลายเป็นทาสด้วยสาเหตุต่างๆ เช่น เป็นทาสเพราะแพ้สงคราม, เป็นทาสเพราะมีปัญหาทางเศรษฐกิจ เลยขายตัวเป็นทาส, เป็นทาสเพราะเกิดจากพ่อแม่ที่เป็นทาส ฯลฯ นอกจากนี้ทาสบางประเภทยังมีเงื่อนไขต้องเป็น “ทาสชั่วชีวิต” ไม่ถอนไม่ได้ เช่น ทาสเชลยและบุตร และข้าวัดข้าพระ ขณะที่ทาสบางประเภทสามารถไถ่ถอนได้ แต่ค่าตัวก็สูงถึง 60,000 เบี้ย

แม้ชีวิตความเป็นอยู่ของทาสจะยากลำบาก แต่บ้านเมืองก็มีกฎหมาย นายทาสสามารถลงโทษทาสได้ แต่ถ้าเกินกว่าเหตุ เช่น ทำให้พิการ นายทาสจะถูกลงโทษโดยเสียค่าตัวทาสนั้น 2 ใน 3 หรือถ้าทำให้ทาสเสียชีวิต เจ้าของทาสจะต้องได้รับโทษถึงชีวิตเช่นกัน

แต่ในความเป็นจริงทาสถูกทารุณกรรมและเสียชีวิตเป็นจำนวนมาก ส่วนนายทาสได้รับโทษเป็นจำนวนน้อย

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

อีกหนึ่ง ความคิดทางเศรษฐกิจของพระยาสุริยานุวัตร” ของดร.ฉัตรทิพย์ นาถสุภา เคยเขียนไว้ใน หนังสือพระยาสุริยานุวัตร (เกิด บุนนาค) นักเศรษฐศาสตร์คนแรกของเมืองไทย กล่าวไว้ว่า

“ชีวิตราษฎรไทยในสมัยรัชกาลที่ 5 เป็นชีวิตที่ลำบาก…แม้จะขยันทำการผลิตสักเท่าใด ผลผลิตส่วนใหญ่ก็หาตกเป็นของตนไม่…”

เพราะอะไรจึงเป็นเช่นนั้น เพราะว่าพวกเขาต้องส่ง “ส่วย” ให้กับทางการ หรือเจ้าของที่ดิน ส่วยมีด้วยกันถึง 3 ชนิด คือ

1. ถูกเกณฑ์แรงงาน หรือเสียค่าราชการ ผู้ชายไทยที่มีอายุระหว่าง 18-60 ปีจะถูกเกณฑ์ไปทำงานให้เจ้าขุนมูลนายที่ตนเองสังกัดแบบไม่มีค่าจ้างปีละ 3 เดือน ทุกปี ใครไม่สะดวกทำมาไหว ก็ต้องจ่ายเงินค่าราชการแทนปีละ 18 บาท (พ.ศ. 2444 ลดเหลือ 6 บาท)

2. ค่านา เก็บไร่ละ 24 อัฐ จนถึง 1 บาท ตามคุณภาพที่นา

3. ดอกเบี้ย-ค่าเช่า ดอกเบี้ย-เก็บตำลึงละเฟื้อง/เดือน หรือ 37.5/ปี ค่าเช่า-คิดประมาณครึ่งหนึ่งของผลผลิต

แต่ถ้าชาวนามีที่ดินเป็นของตัวเองก็ไม่ต้องเสียค่านา, ค่าเช่า และดอกเบี้ย ไม่ใช่หรือ คำตอบที่ผู้เขียน (ดร.ฉัตรทิพย์ นาถสุภา) ค้นคว้าไว้จากรายงานของ Carle C. Zimmerman พบว่าในครอบครัวชาวนาไทยในภาคกลาง 36% ไม่มีที่ดินเป็นของตนเอง เมื่อต้องเช่านากู้ยืมเงินมาทำนา

หากสมมติว่าครอบครัวหนึ่งมีผู้ชายอยู่ในวัยต้องเกณฑ์แรงงาน 2 คน ทำกินในที่ดิน 20 ไร่ ไร่หนึ่งได้ข้าวเปลือก 5 หาบ และราคาข้าวเปลือกหาบละ 2 บาท ใน 1 ปี ได้ข้าวทั้งหมด 100 หาบ ต้องส่งส่วย 3 ชนิด คือ ค่าราชการ 6 หาบ, ค่านา 5 หาบ, ดอกเบี้ยและค่าเช่าประมาณ 50 บาท [หน่วย “บาท” นี้อ้างอิงจากหน่วยตามเนื้อหาในต้นฉบับเดิม คือหนังสือ “พระยาสุริยานุวัตร (เกิด บุนนาค) นักเศรษฐศาสตร์คนแรกของเมืองไทย” แต่ในที่นี้ สันนิษฐานว่าน่าจะเป็นหน่วย “หาบ” มากกว่า พิจารณาจากข้อความก่อนหน้าว่า “คิดค่าเช่านา ครึ่งหนึ่งของผลผลิต”] ดังนั้นข้อสมมตินี้จึงประมาณได้ว่า รวมแล้วต้องส่งส่วยราว 61 หาบ

ทำนาไม่พอกิน ทำไมไม่หารายได้เสริม

ในเมื่อบ้านเมืองอุดมสมบูรณ์ ยิงนก, จับปลา, หาของป่า ฯลฯ ถ้าแค่จับกินเล็กน้อยคงไม่กระไร แต่ถ้าถึงขั้นจริงจังเป็นอาชีพเสริม ก็ต้องเสียภาษี หลวงท่านไม่เคยตกหล่น โดยเจ้าภาษีที่ประมูลผูกขาดไปจากรัฐในอัตราสูงสุดเป็นผู้เก็บ เมื่อประมูลสูงก็ต้องเก็บในอัตราสูงเป็นธรรมดา ถามว่าต้องเสียภาษีเท่าใด ชาวนาเองก็ไม่รู้พิกัดของภาษี เจ้าภาษีก็เก็บภาษีตามใจตนเอง

ขอยกมาแค่ชีวิตบางส่วนในอดีต ยังมีเรื่องอื่นๆ อีกมากมายที่ไม่ได้กล่าวถึง แค่นี้ก็ทำให้เราดูซีรีส์ย้อนยุค ละครพีเรียด ไม่สนุกแล้ว อย่าคิดอะไรเลยละครเขาทำให้เพื่อความบันเทิง เพื่อผ่อนคลาย แต่ชีวิตจริง ไม่ว่าอดีตหรือปัจจุบัน มันไม่ง่าย ไม่หมูทั้งนั้น

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่

ข้อมูลจาก :

สิริลักษณ์ ศักดิ์เกียงไกร บรรณาธิการ. พระยาสุริยานุวัตร (เกิด บุนนาค) นักเศรษฐศาสตร์คนแรกของเมืองไทย, มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ พ.ศ. 2523

ชาติชาย พณานานนท์. “ทาสอยุธยา ในประมวลกฎหมายรัชกาลที่ 1” , นิตยสารศิลปวัฒนธรรม เดือนสิงหาคม 2532

เผยแพร่ในระบบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 18 กุมภาพันธ์ 2563

ดูข่าวต้นฉบับ
ความเห็น 3
  • แมว
    พยายาม สร้าง ดร่ามา?? จะคนในอดีตหรือ ปัจจุบัน ล้วนมีวิถี และบริบทของ ในแต่ละยุค ที่แตกต่างกัน ความสุขความทุกข์ มันก็เกิดขึ้นตามบริบทนั้นๆ
    29 ส.ค. 2563 เวลา 05.57 น.
  • ชอบที่ว่า จะอดีตหรือปัจจุบัน ชีวิตจริงมันไม่ไดง่ายไม่ได้สบาย(อย่างละคร) ถ้าไม่ได้รวยไม่ได้ชั้นนำ
    29 ส.ค. 2563 เวลา 02.28 น.
  • T.panaporn
    ไปก็อปมาจากไหน? หรือพิมพ์ใหม่? สะกดผิดกราวรูด ฝ่ายพิสูจน์อักษรลาตายรึไง
    18 ก.พ. 2563 เวลา 16.12 น.
ดูทั้งหมด