ไลฟ์สไตล์

ดอกเบี้ยทบต้น - วินทร์ เลียววาริณ

THINK TODAY
เผยแพร่ 02 ก.ย 2562 เวลา 09.40 น.

วอร์เรน บัฟเฟตต์ อ่านหนังสือวันละราวห้าหกชั่วโมง มาร์ก คิวบัน อ่านหนังสือวันละสามชั่วโมง บิล เกทส์ รักการอ่าน แม้จะยุ่งก็หาเวลาอ่านหนังสือปีละห้าสิบเล่ม

อีลอน มัสก์ อ่านมาตั้งแต่เด็ก อ่านตั้งแต่นิยายแฟนตาซี เช่น

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

The Lord of the Rings ไปจนถึงหนังสือเกี่ยวกับจรวด อายุเก้าขวบเขาอ่านนิยายไซไฟวันละสิบชั่วโมง และยังอ่าน Encyclopedia Britannica ทั้งชุด

คนเหล่านี้ยืนอยู่บนที่สูง การงานรัดตัว เวลามีจำกัด แต่ทำไมเสียเวลาอ่านหนังสือ?

วอร์เรน บัฟเฟตต์ ผู้คร่ำหวอดในวงการธุรกิจและหุ้น ซึ่งเป็นสายอาชีพที่ไม่น่าจะต้องสนใจเรื่องประวัติศาสตร์ วิทยาศาสตร์ ฯลฯ แต่บัฟเฟตต์อ่านหมด เขาแนะนำนักศึกษาให้อ่านหนังสือวันละ 500 หน้า เขาบอกว่าการอ่านนั้นเหมือนดอกเบี้ยทบต้นใครๆ ก็ทำได้ “แต่ผมรับรองว่าไม่กี่คนจะทำ”

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

มาร์ก คิวบัน นักธุรกิจพันล้านชาวอเมริกัน เห็นว่าการลงทุนที่ดีที่สุดในชีวิตคือการอ่านหนังสือ

คิวบันอ่านหนังสือวันละสามชั่วโมงทุกวัน เขาบอกว่า คนส่วนมากไม่ยอมสละเวลาเพื่อหาข้อได้เปรียบในความรู้

ก็คือการอ่าน

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

เขาบอกว่าการอ่านทำให้เขาได้เกิดเป็นวันนี้ เขายังบอกว่าสิ่งที่เขาอ่านเป็นสาธารณะ ใครๆ ก็สามารถเข้าถึงได้เหมือนกัน แต่ไม่มีใครทำ

สตีฟ จ็อบส์ ก็สนใจรอบด้าน แม้แต่เรื่องปรัชญาตะวันออกและเซน

……………

สังคมมนุษย์เดินไปในทิศทางที่แยกอาชีพย่อยยิบขึ้น เราสร้างผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางมากขึ้นจนกระทั่งคนเก่งรอบตัวมีน้อยลงเรื่อยๆ 

นี่อาจเป็นเรื่องดีที่เรามีเซียนในทุกวงการช่วยพัฒนาวิทยาการไปไกลขึ้น แต่ก็อาจเป็นจุดอ่อน เพราะทำให้คนจดจ่ออยู่ในเรื่องเดียว จนเกิดความคิดความเชื่อว่าตนเองไม่จำเป็นต้องรู้เรื่องอื่นที่ดูไม่เกี่ยวกับอาชีพการงาน

นักธุรกิจอ่านประวัติศาสตร์มนุษย์ ทนายความอ่านชีววิทยา สถาปนิกอ่านจักรวาลวิทยา พ่อค้าอ่านปรัชญา ฯลฯ ยอดนักคิดนักเขียน อาร์เธอร์ ซี. คลาร์ก เคยกล่าวว่า นักการเมืองควรอ่านนิยายวิทยาศาสตร์ ล้วนเป็นเรื่องที่ดูไม่จำเป็นและเสียเวลาเปล่า

ทว่าความจริงคือ ทุกศาสตร์ในโลกสัมพันธ์กันหมด ยิ่งรู้มากเรื่อง ก็ยิ่งเพิ่มโอกาสเชื่อมโยงแต่ละเรื่อง แต่ละศาสตร์ ยิ่งมีความรู้รอบตัวกว้าง ยิ่งได้เปรียบ ยิ่งมีโอกาส มันอาจไม่ปรากฏภาพให้เห็นชัดในตอนแรก แต่เมื่อจังหวะลงตัว ข้อมูลมาประสานกัน ก็คิดค้นสิ่งใหม่ๆ และนวัตกรรมได้

บางคนมีเป้าหมายชัดเจนว่าอนาคตจะเป็นอะไร และตัดสายวิชาที่ดูไม่เกี่ยวกับทางที่เขาเลือกทิ้งโดยสิ้นเชิง เช่น เรียนแพทย์ ก็ทิ้งหนังสือประวัติศาสตร์ ปรัชญา เรียนกฎหมายก็ทิ้งเรื่องวิทยาศาสตร์ เรียนสถาปัตย์ก็ไม่เคยสนใจ

เรื่องดาราศาสตร์ จะเป็นนักฟุตบอล ก็ทิ้งทุกวิชา เพราะไม่ทำให้เตะบอลดีขึ้น ฯลฯ ทั้งนี้เพราะมองผ่านๆ วิชาเหล่านี้ไม่เกี่ยวกับสายงาน

วิธีคิดแบบนี้ทำให้มองโลกแคบ

การรู้จริงสิ่งเดียวทำให้ประสบความสำเร็จ แต่หากไม่เติมความรู้ โลกทัศน์ใหม่ๆ ก็เหมือนคนตัวใหญ่หัวเล็กลีบ เพราะพัฒนาตัวเองแค่จุดเดียว 

โชคดีที่เรามีตัวอย่างมากพอที่จะยืนยันว่า คนประสบความสำเร็จระดับสูงมักสนใจหลายอย่าง อยากรู้ทุกเรื่อง

ความหลากหลายทางความคิดเป็นสิ่งที่จำเป็น

นี่เองทำให้การอ่านต้องเข้ามาอยู่ในสมการชีวิตของเรา

มิเพียงต้องอ่าน ยังต้องอ่านหลากหลาย

มีผู้วิเคราะห์ว่า เหตุที่ผลงานต่างๆ ของ สตีฟ จ็อบส์ ดูเรียบง่าย เข้าหลัก Minimalism เป็นเพราะเขาเคยใช้ชีวิตช่วงหนึ่งในโลกของเซน

มันเปิดโลกทัศน์ของเขากว้างขึ้น และได้ของแถมคือการมองโลกแบบเรียบง่ายอย่างเซน โดยเฉพาะเซนในญี่ปุ่นที่ผสานกลมกลืนกับ Minimalism เป็นเนื้อเดียว สะท้อนในงานออกแบบสินค้าแบบของเขาในภายหลังอย่างชัดเจน

คิดเล่นๆ ว่า หากจ็อปส์ไม่สนใจศึกษาปรัชญาเซน เขายังสามารถมองโลกแบบเรียบง่ายแล้วสะท้อนในปรัชญาการทำงานของเขาไหม หากเขาไม่เปิดใจศึกษาเรียนรู้ศาสตร์อื่นที่ดูไม่เกี่ยวข้อง ไม่สนใจดูงานออกแบบที่ดีและไม่ดี ไม่สนใจศิลปะแขนงอื่นๆ ก็ยากที่จะก้าวไปถึงจุดที่เขาเข้าใจความเรียบง่าย

ดังนั้นความคิดว่า “ถ้าฉันจะทำธุรกิจ ก็ไม่เห็นต้องอ่านนิยายไซไฟหรือกำลังภายใน หรือปรัชญา หรือบทกวี ฯลฯ” จึงยังเป็นความคิดในกล่อง เพราะยังมีกรอบบางอย่างล้อมอยู่

ในยุคที่ทุกอย่างเร่งรีบ มีคนมองว่าหนังสือล้าสมัยไปแล้ว เพราะเป็นข้อมูลที่ยาวเกินไป นี่อาจเป็นความเข้าใจผิดอย่างแรง เพราะหนังสือหนึ่งเล่มอาจเป็นบทสรุปประสบการณ์ บทเรียน แนวคิด โลกทัศน์ที่ยาวหลายสิบปีของผู้เขียน 

สรุปเป็นหนังสือเล่มเดียว ดังนั้นการรับข้อมูลหลายสิบปีโดยการอ่าน 5-10 ชั่วโมงจึงถือว่าเป็นการใช้เวลาที่คุ้มค่ามาก

เราไม่อาจอ่านแต่ข้อความสั้นๆ สารอาหารบางชนิดต้องเสพมากกว่ายาเม็ดสำเร็จรูปเม็ดเล็กๆ

การอ่านเป็นการลงทุนที่คุ้ม ดอกเบี้ยตอนแรกนิดเดียว แต่มันเป็นดอกเบี้ยทบต้น ทบไปเรื่อย จนวันหนึ่งมันก็เกินคุ้ม

คำถามคือมีใครกี่คนอ่านมาถึงบรรทัดนี้!

……………

วินทร์ เลียววาริณ

winbookclub.com

เฟซบุ๊ก https://www.facebook.com/winlyovarin/

ความเห็น 24
  • Pattanarat 4152 (new
    ผมอ่านมาถึงบรรทัดสุดท้ายครับ และหนังสือของคุณวินทร์ที่ผมประทับใจไม่รู้ลืมคือประชาธิปไตยบนเส้นขนาน และเดือนช่วงเด่นฟ้า ดาดาว
    02 ก.ย 2562 เวลา 12.06 น.
  • mongkon(tiew)
    ผมอ่านสามก๊ก​ สมัย​ เมื่อ35ปีที่แล้ว​ ไม่เข้าใจกลับไปอ่านซ้ำอีกเข้าใจ​แต่ไม่หมดกลับไปอ่านซ้ำอีก​เลยจำขึ้นใจมิน่าคนถึงเล่าใครอ่านสามก๊ก​ 3​ จบ คบไ่ม่ได้เพราะมันอ่านใจคนพูดและคิดกับเราได้เป๊ะจริง​ ๆ​ และใช้มันติดต่อธุรกิจทุกวันนี้ได้ผลดีเสมอ​ ธุรกิจก็คือกลยุทธ์ชนิดหนึ่ง​ นี่แหละประโยชน์การอ่าน( ปล.วันหยุดแต่ก่อนผมเข้าหอสมุดแห่งชาติตลอดเพราะพักอยู่เทเวศน์)​
    02 ก.ย 2562 เวลา 12.05 น.
  • BUBU BLAZER
    หนูค่ะ 🙋‍♀️
    02 ก.ย 2562 เวลา 12.08 น.
  • นี่แหล่ะครับ ที่เขาถึงชอบพูดกันว่า คนเรานั้นถ้าไม่ศึกษาให้รอบรู้โดยแท้จริงแล้ว จะทำอะไรก็มักจะไม่ค่อยจะประสบกับในความสำเร็จกันนักเท่าไร.
    02 ก.ย 2562 เวลา 12.54 น.
  • App
    ถ้าสังเกตุดูดีๆคนรวยระดับโลกจะมีนิสัยเหมือนกันอยู่อย่างนึง คือ"รักในการอ่านหนังสือ"
    02 ก.ย 2562 เวลา 11.24 น.
ดูทั้งหมด