ไลฟ์สไตล์

“เชลล์ชวนชิม” สัญลักษณ์การันตีความอร่อยของไทย ได้แรงบันดาลใจจาก “มิชลิน สตาร์”

ศิลปวัฒนธรรม
อัพเดต 28 ส.ค. เวลา 04.49 น. • เผยแพร่ 28 ส.ค. เวลา 00.17 น.
ป้ายการันตีเชลล์ชวนชิม สัญลักษณ์รูปชามกังไสลายผักกาด

ปัจจุบันหากพูดถึงการรีวิวหรือรางวัลการันตีอาหารสุดเลิศรส คงไม่พ้น“มิชลิน สตาร์” หรือ “มิชลิน ไกด์” สัญลักษณ์ยางสีขาวที่ตระเวนไปมอบเครื่องยืนยันความอร่อยให้ร้านอาหารที่คู่ควร ไม่เพียงแค่มอบขวัญและกำลังใจให้กับเจ้าของกิจการร้านอาหารมากมาย และกระตุ้นธุรกิจอาหารให้คึกคัก “มิชลิน สตาร์” ยังเป็นแรงบันดาลใจให้เกิด “เชลล์ชวนชิม” ตำนานสัญลักษณ์การันตีความอร่อยของวงการอาหารเมืองไทย

ตำนานเชลล์ชวนชิม

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

“เชลล์ชวนชิม” ก่อตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2504 จากการสนับสนุนของ บริษัท เชลล์ แห่งประเทศไทย และ ม.ร.ว.ถนัดศรี สวัสดิวัตน์ เนื่องจากขณะนั้น มิชลิน (ฝรั่งเศส) กำลังสนับสนุนโครงการแนะนำอาหารในเส้นทางทวีปยุโรป ผู้บริหารฝั่งไทยจึงเริ่มปรึกษาบุคคลที่ชื่นชอบ “อาหาร” อย่าง ม.ร.ว.ถนัดศรี

หลังจากหารือกันได้ไม่นาน ม.ร.ว.ถนัดศรี เห็นว่าโครงการดังกล่าวเหมาะกับประเทศไทยอย่างมาก เพราะคนไทยชื่นชอบการกินเป็นที่สุด จึงริเริ่มก่อตั้งช่องทางแนะนำอาหารผ่านเชลล์ชวนชิม โดยมี ม.ร.ว.ถนัดศรี เป็นผู้ดำเนินการ

เชลล์ชวนชิม ปรากฏตัวต่อสายตาผู้อ่านเป็นครั้งแรกในรูปแบบคอลัมน์แนะนำอาหารรสชาติเด็ดในนิตยสารสยามรัฐสัปดาหวิจารณ์ เมื่อวันที่ 4 ตุลาคม พ.ศ. 2504 โดย ม.ร.ว.ถนัดศรี ใช้นามปากกาว่า “ถนัดศอ” ซึ่งร้านแรก ๆ ที่ได้รับการแนะนำคือ “ก๋วยเตี๋ยวลูกชิ้นสมองหมู” ย่านแพร่งภูธร ส่วนอีกร้านเป็นร้านขายข้าวแกงทั่วไป หรือร้าน “ข้าวแกงลุงเคลื่อน” ที่อยู่ไม่ไกลกันนัก

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

สัญลักษณ์เชลล์ชวนชิม

สัญลักษณ์ของเชลล์ชวนชิมยุคแรก หากสังเกตดูแล้วจะเป็น “รูปหอยเชลล์เคียงคู่กับเปลวไฟ” มีที่มาจากการสนับสนุนการใช้แก๊สหุงต้มในประเทศไทย เนื่องจากคนไทยสมัยก่อนยังกลัวการใช้แก๊สหุงต้ม เพราะเกรงว่าจะระเบิดหรือได้รับอันตราย เชลล์ชวนชิมจึงตัดสินใจใช้รูปดังกล่าว พร้อมให้ความรู้การใช้แก๊สอย่างปลอดภัยควบคู่ไปด้วย

ก่อนที่ พ.ศ. 2525 จะเปลี่ยนมาเป็น “รูปชามกังไสลายผักกาด” สะท้อนให้เห็นถึงความเก่าแก่สูงค่าและกินดีกินเป็น ตามที่เห็นอย่างในปัจจุบัน

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

คอลัมน์เชลล์ชวนชิมได้รับความนิยมอย่างมาก และหลังจากเขียนลงในสยามรัฐสัปดาหวิจารณ์เป็นระยะเวลานาน ก็ย้ายไปลงที่นิตยสารฟ้าเมืองไทย ก่อนลงหลักปักฐานที่มติชนสุดสัปดาห์ตั้งแต่ปี 2531

ถึงแม้ว่าจะมีการโยกย้ายไปมาอยู่หลายครั้ง แต่กระแสตอบรับของผู้อ่านก็ยังเหนียวแน่นไม่มีเสื่อมคลาย และเครื่องการันตีรูปชามกังไสลายผักกาดนั้นก็ทำให้ร้านอาหารไร้ชื่อ กลับกลายมาโด่งดัง และสร้างรายได้ให้กับพ่อค้าแม่ขายเป็นอย่างมาก เช่น ห่านพะโล้ท่าดินแดง (ได้รับตราเมื่อ พ.ศ. 2511) ขาหมูตรอกซุงบางรัก (ได้รับตราเมื่อ พ.ศ. 2528)

นอกจากนี้ ห้างสรรพสินค้ามากมาย เช่น มาบุญครอง ยังนำเชลล์ชวนชิมมาเป็นกลยุทธ์ทางการตลาด เพื่อดึงดูดลูกค้าให้เข้ามาเดินห้างของตนเองอีกด้วย

“เชลล์ชวนชิม” ยังแพร่สะพัดไปไกลในวงการวิทยุและโทรทัศน์ ซึ่งตลอดระยะเวลากว่า 5 ทศวรรษนับจากก่อตั้ง ม.ร.ว. ถนัดศรี ได้มอบเครื่องหมายการันตีความอร่อยให้ร้านอาหารต่าง ๆ ทั่วประเทศไปแล้วกว่า 2,000-3,000 ร้าน จนเรียกได้ว่า ม.ร.ว.ถนัดศรี คือภาพจำของเชลล์ชวนชิมไปเลยก็ว่าได้

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่

อ้างอิง :

อาสา คำภา. รสไทย(ไม่)แท้. กรุงเทพฯ: มติชน, 2565.

เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 19 พฤษภาคม 2566

อ่านข่าวต้นฉบับได้ที่ : “เชลล์ชวนชิม” สัญลักษณ์การันตีความอร่อยของไทย ได้แรงบันดาลใจจาก “มิชลิน สตาร์”

ติดตามข่าวล่าสุดได้ทุกวัน ที่นี่
– Website : https://www.silpa-mag.com

ดูข่าวต้นฉบับ