เหลือเวลาไม่ถึงเดือนแล้ว โครงการ “คุณสู้ เราช่วย” ที่ปิดลงทะเบียน 28 ก.พ.68 แต่ยังมีข้อสงสัยเช่น กู้ร่วมจะเข้าโครงการได้หรือไม่? หากไม่เข้าเงื่อนไขมาตรการเลยจะมีแนวทางช่วยเหลือทางอื่นหรือไม่ และหากไม่ให้ก่อหนี้ใหม่จะเสียสภาพคล่องหรือไม่
โครงการ “คุณสู้ เราช่วย” โดย กระทรวงการคลัง และ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่มุ่งให้ความช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อยและ SMEs เฉพาะกลุ่ม โดยมีกลไกการส่งเสริมวินัยทางการเงินควบคู่ไปกับการป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาการเสียวินัยในการชำระหนี้ (moral hazard) ในภายหลัง
โดยเปิดให้ลงทะเบียนเข้าร่วมมาตรการได้ตั้งแต่วันที่ 12 ธันวาคม 2567 เริ่มลงทะเบียน 08.30 น จนถึง วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2568 (สิ้นสุด 23.59 น.) ผ่าน bot.or.th/khunsoo
ซึ่งมาตรการ มาตรการจ่ายตรง คงทรัพย์ : การปรับโครงสร้างหนี้แบบเน้นตัดเงินต้น ลดภาระดอกเบี้ย โดย ลูกหนี้จ่ายค่างวดน้อยลงเป็นระยะเวลา 3 ปี โดย
ปีที่ 1 ชำระ 50% ของค่างวดเดิม
ปีที่ 2 ชำระ 70% ของค่างวดเดิม
ปีที่ 3 ชำระ 90% ของค่างวดเดิม
- ค่างวดที่จ่ายจะนำไปตัดเงินต้นทั้งหมด
- หากลูกหนี้สามารถปฏิบัติตามเงื่อนไขได้ครบ 3 ปี สถาบันการเงินจะยกดอกเบี้ยที่พักไว้ให้ หลังสิ้นสุดโครงการ
- ลูกหนี้สามารถตกลงกับเจ้าหนี้ในการชำระค่างวดมากกว่าที่กำหนดได้ เพื่อให้ปิดจบหนี้ได้เร็วขึ้น
กู้ร่วม เข้าโครงการได้หรือไม่
กรณี “ลูกหนี้มีสินเชื่อที่เป็นสัญญาแบบกู้เดี่ยวและกู้ร่วม สามารถเข้าร่วมมาตรการนี้ ได้ทั้ง 2 สัญญาหรือไม่” ซึ่งธปท. ได้ตอบผ่านเวปไซต์ว่า“หากสินเชื่อทั้งแบบกู้เดี่ยวและกู้ร่วมของลูกหนี้มีคุณสมบัติตรงตามเงื่อนไขการเข้าร่วมมาตรการ ลูกหนี้สามารถเข้าร่วมมาตรการได้ทั้ง 2 สัญญา”
ตัวอย่าง:
กรณีนาย ก. มีสินเชื่อบ้านวงเงิน 5 ล้านบาทกับธนาคาร A ซึ่งมีวันค้างชำระ 270 วัน (กู้เดี่ยว) และนาย ก. กู้ร่วมกับ นาง ข. มีสินเชื่อบ้านวงเงิน 3 ล้านบาท (กู้ร่วม) ซึ่งมีวันค้างชำระ 90 วัน ลูกหนี้สามารถเข้าร่วมมาตรการได้ทั้ง 2 สัญญา โดยสถาบันการเงินจะพิจารณาวงเงินกู้ร่วมและวงเงินกู้เดี่ยวแยกกัน
การกำหนดให้ลูกหนี้ไม่สามารถก่อหนี้ใหม่ได้ใน 12 เดือนแรกที่เข้าโครงการ จะทำให้ลูกหนี้เสียสภาพคล่องหรือไม่
ซึ่งธปท. ระบุว่า แม้ลูกหนี้จะไม่สามารถก่อหนี้เพิ่มเติมได้ในระยะเวลา 12 เดือนแรก เเต่ลูกหนี้จะมีสภาพคล่องเพิ่มเติมจากค่างวดที่ได้ชำระลดลง เช่น หากเดิมลูกหนี้จ่ายค่างวดสินเชื่อบ้านหรือ เช่าซื้อรถยนต์ที่ 10,000 บาทต่อเดือน เมื่อเข้าร่วมมาตรการค่างวดในปีแรกจะลดลงเป็น 5,000 บาทต่อเดือน เท่ากับว่าในแต่ละเดือนลูกหนี้จะมีสภาพคล่องเพิ่มเติมเดือนละ 5,000 หรือ 60,000 บาทในปีแรก โดยไม่มีภาระเสียดอกเบี้ยในสภาพคล่องดังกล่าว
นอกจากนี้ยังมีมาตรการจ่าย-ปิด-จบ : การลดภาระหนี้ให้ลูกหนี้ NPL ที่มียอดหนี้ไม่สูง โดยลูกหนี้บุคคลธรรมดาที่มีสถานะเป็นหนี้เสีย (NPL) ณ วันที่ 31 ตุลาคม 2567 และมีภาระหนี้คงค้าง (รวมเงินต้นและดอกเบี้ย) ไม่เกิน 5,000 บาทต่อบัญชี
ตัวอย่าง:
ลูกหนี้ ก. มีหนี้ที่เป็น NPL 2 บัญชี คือ หนี้บัตรเครดิต 4,000 บาท และหนี้สินเชื่อส่วนบุคคล 3,000 บาท ลูกหนี้ ก. สามารถเข้าร่วมมาตรการได้ทั้ง 2 บัญชี เนื่องจากสถาบันการเงินเจ้าหนี้จะพิจารณาคุณสมบัติลูกหนี้เป็นรายบัญชี ซึ่งทั้ง 2 บัญชีเป็นหนี้ NPL ไม่เกิน 5,000 บาทตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้
ลูกหนี้ที่ไม่เข้าคุณสมบัติตามมาตรการธปท. จะมีมาตรการช่วยเหลืออย่างไร
ธปท. จะมีมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ที่ไม่เข้าคุณสมบัติตามมาตรการ
- กรณีลูกหนี้รายย่อย และ SMEs ทุกประเภท สามารถขอรับความช่วยเหลือโดยการปรับโครงสร้างหนี้ได้ตามเกณฑ์การให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบและเป็นธรรม (Responsible Lending) คือ จะได้รับการปรับโครงสร้างหนี้ก่อนเป็นหนี้เสียอย่างน้อย 1 ครั้ง และหลังเป็นหนี้เสียอีกอย่างน้อย 1 ครั้ง ก่อนฟ้อง โอนขายหนี้ ยึดทรัพย์
- มาตรการแก้หนี้ยั่งยืน : กรณีลูกหนี้สินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้กำกับ ประเภทวงเงินหมุนเวียน เช่น บัตรกดเงินสด ที่ยังไม่เป็น NPL แต่ชำระดอกเบี้ยรวมมากกว่าเงินต้นรวมเป็นระยะเวลานาน (5 ปี) สามารถขอเข้ามาตรการปิดจบหนี้เรื้อรังได้ โดยสถาบันการเงินจะแปลงสินเชื่อจากวงเงินหมุนเวียน (revolving loan) เป็นสินเชื่อผ่อนชำระเป็นงวด (installment loan) ลดดอกเบี้ยเหลือไม่เกิน 15% ต่อปี และปิดจบหนี้ได้ภายใน 5 ปี (ธปท. ขยายระยะเวลาปิดจบหนี้จาก 5 ปีเป็น 7 ปี เริ่ม 1 มกราคม 68)
- คลินิกแก้หนี้ – DEBT หนี้บัตร หนี้บุคคล จบที่เดียว : กรณีลูกหนี้บัตรเครดิต บัตรกดเงินสด หรือสินเชื่อส่วนบุคคลไม่มีหลักประกัน ที่เป็น NPL ค้างชำระมากกว่า 120 วัน ยอดหนี้ไม่เกิน 2 ล้านบาท สามารถขอเข้าโครงการคลินิกแก้หนี้ได้ โดยลูกหนี้จะได้รับข้อเสนอปรับโครงสร้างหนี้ในการรวมหนี้เสียจากทุกเจ้าหนี้ที่เข้าร่วมโครงการไว้ที่เดียว ผ่อนชำระนานสูงสุด 10 ปี อัตราดอกเบี้ย 3-5% ต่อปี สำหรับดอกเบี้ยและค่าปรับค้างชำระเดิมก่อนเข้าโครงการ เจ้าหนี้จะยกให้เมื่อลูกหนี้ชำระได้ครบถ้วนตามสัญญา