ไลฟ์สไตล์

ว่าด้วยคำ “อารยะ”

ศิลปวัฒนธรรม
อัพเดต 01 ก.ค. 2565 เวลา 01.56 น. • เผยแพร่ 30 มิ.ย. 2565 เวลา 10.41 น.
ฮิตเลอร์ ที่อาศัยความคิดเชื้อสายอารยะ การกําจัดยิว ยิปซี และอนารยะอื่นๆ

อารยะ แปลว่า เจริญ ดังมีใช้ในคำว่า อารยชน อารยธรรม อารยประเทศ เป็นต้น

คำที่ตรงข้ามกับ อารยะ คือ อนารยะ แปลว่า ไม่เจริญ ป่าเถื่อน

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

ในภาษาไทยนั้น เมื่อใดที่ใช้ในข้อความที่เกี่ยวกับพุทธธรรม จะใช้ศัพท์บาลีว่า อริยะ เช่น อริยสัจ อริยมรรค

อารยะ เป็นคำที่ได้มาจากภาษาสันสกฤต ในภาษาเดิมหมายถึง ผู้เจริญ, ผู้ที่เกิดในตระกูลสูง, ผู้ที่มีกิริยามารยาทดีงาม, ผู้ที่เคร่งครัดต่อศาสนาและกฎหมาย, ผู้ที่ได้รับความเคารพยกย่อง อาจกล่าวได้ว่า ตรงกับคำว่า ผู้ดี ในภาษาไทยนั่นเอง

ในบทละครใช้คำ อารยะ เป็นคำร้องเรียกก่อนเริ่มบทสนทนา มีความหมายในทำนอง “ดูก่อน ท่านผู้เจริญ” “ข้าแต่ ท่านผู้เจริญ” ฯลฯ เป็นคำที่ตัวละครทุกตัวรวมทั้งกษัตริย์ใช้เรียกพราหมณ์และผู้อยู่ใต้บังคับบัญชาใช้เรียกมนตรี

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

นอกจากนั้น ตัวละครหญิงอาจเรียกนายโรง (สูตรธารา) ว่า อารยะ และนายโรงเรียกตัวละครหญิงว่า อารเย (จากศัพท์เพศหญิง) ภรรยามักเรียกสามีว่า อารยบุตร

ในสังคมอินเดีย อารยะ ยังใช้เรียกคนในวรรณะทั้ง 3 คือ พราหมณ์ กษัตริย์ และแพศย์ เพื่อให้ต่างกับ ศูทร ในคัมภีร์มนุสมฤติ (2.22 และ 10.34) มีคำว่า อารยวรรต ซึ่งแปลว่าที่ซึ่งเนืองแน่น (อาวรรต) ไปด้วยผู้ดี (อารยะ) หมายถึง ดินแดนตั้งแต่ชายฝั่งตะวันออกจรดฝั่งตะวันตกและตั้งแต่เทือกเขาหิมาลัยลงมาจรดเทือกเขาวินธัย

สำนวน อารยลิงคิน (ผู้มีท่าทางอย่างผู้ดี) หมายถึง ผู้ที่แสร้งทำตนเป็นผู้ดี ทั้งๆ ที่ไม่ใช่ผู้ดี น่าจะตรงกับสำนวนไทยว่า ผู้ดีแปดสาแหรก ในความหมายโดยปริยาย

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

อารยะ หรือที่ได้ยินกันคุ้นหูว่า อารยัน เป็นชื่อที่เรียกชาวอินเดียและอิหร่านเพื่อแสดงฐานะที่เหนือกว่าพวกทัสยุ ภาษาที่ชนชาติทั้งสองนี้ใช้คือ อินโด-อิหร่าน ซึ่งเป็นสาขาของภาษาตระกูลอินโด-ยุโรป แต่เดิมเมื่อกล่าวถึงภาษาอารยัน หมายถึงภาษาสาขาอินโด-อิหร่าน นี้เอง แต่ต่อมามีความหมายจำกัดลง หมายถึงภาษาอารยันที่ใช้ในอินเดียเท่านั้น เรียกให้ชัดลงไปอีกได้ว่า อินโด-อารยัน

ภาษาพ่อแม่ของอินโด-อิหร่าน คือ อินโด-ยุโรป ใช้พูดกันมานานกว่า 3,000 ปี ในยุโรป เอเชียตะวันตก และเอเชียใต้ ในศตวรรษที่ 17-18 นักวิชาการชาวยุโรปเริ่มศึกษาภาษาสันสกฤตและสะดุดใจที่พบว่าทั้งโครงสร้างประโยคและคำศัพท์เหมือนภาษากรีกและละติน ทำให้เชื่อว่าเคยมีความสัมพันธ์กันมาก่อน เมื่อสืบสาวขึ้นไปก็พบว่า ชนชาติที่ใช้ภาษาเหล่านี้ เคยมีถิ่นที่อาศัยอยู่ร่วมกันต่อมาอพยพแยกย้ายกระจายอยู่ในเอเชียและยุโรปดังได้พบหลักฐานทางโบราณคดีและจารึกวิทยาราวต้นศตวรรษที่ 18 ก่อนคริสตกาล ชนชาติในเมโสโปเตเมียมีชื่อใช้อย่างชาวอารยันในอินเดีย เช่น สุริอัส (สูรยะ) อินดัส (อินทร์) มรุตตัส (มรุต) นอกจากนั้นสัญญาต่างที่ทำไว้ยังเริ่มคำสาบานด้วยการอ้างชื่อ อินทร์ วรุณ มิตร ฯลฯ อันเป็นเทพของชาวอารยัน

เชื่อกันว่าถิ่นที่อาศัยของชนชาติที่ใช้ภาษาอินโด-ยุโรปเดิมอยู่บริเวณเหนือทะเลดำ ในขณะที่ส่วนหนึ่งอพยพไปทางตะวันตก อีกพวกหนึ่งอพยพมาทางตะวันออก พวกนี้คือกลุ่มผู้ใช้ภาษาอินโด-อิหร่าน ซึ่งอาจแบ่งเป็นภาษาอินเดียพวกหนึ่ง อิหร่านพวกหนึ่ง ผู้ที่ใช้ภาษาอินเดีย อยู่ในอินเดีย ปากีสถาน บังคลาเทศ ศรีลังกา เนปาล ส่วนพวกที่ใช้ภาษาอิหร่านอยู่ในปากีสถาน อิหร่าน อัฟกานิสถาน รัสเซียตอนใต้

ภาษาอินเดีย หรืออินโด-อารยัน แบ่งเป็น 3 ยุค คือ ยุคเก่า ยุคกลาง และยุคปัจจุบัน ชาวอารยันที่อพยพเข้าไปในอินเดียนั้นมีบทสวดสรรเสริญและอ้อนวอนเทพเจ้าเรียกว่าคัมภีร์พระเวท ภาษาที่ใช้ในบทสวดจึงเรียกว่าภาษาพระเวท บทสวดนี้มีการถ่ายทอดท่องจำต่อๆ กันมาเมื่อเวลาผ่านมาหลายศตวรรษ ภาษาที่ใช้ก็ต่างไป ปราชญ์ทั้งหลายจึงวิตกว่าการถ่ายทอดคัมภีร์อันศักดิ์สิทธิ์จะผิดเพี้ยนไป จึงพยายามสรุปกฎเกณฑ์ของภาษาให้เป็นแนวทางในการใช้ภาษาต่อไป

นักภาษาคนสำคัญคือ ปาณินิ ได้จัดระบบภาษาพระเวทและเขียนตำราไวยากรณ์ขึ้น นับแต่นั้นมาก็มีภาษาที่เรียบเรียงและตกแต่งใหม่เรียกว่า ภาษาสันสกฤต ซึ่งแปลว่า ภาษาที่ตกแต่งแล้ว ทั้งภาษาพระเวทและภาษาสันสกฤตอยู่ในอินโด-อารยันยุคเก่า

พัฒนาการของภาษาพระเวทนั้นแบ่งเป็น 2 สาย สายหนึ่งเป็นภาษาตกแต่งดังกล่าว แต่อีกสายหนึ่งใช้กันในหมู่ชาวบ้าน มีการเปลี่ยนแปลงโดยลดกฎเกณฑ์ให้น้อยลง และปะปนกับภาษาพื้นเมือง เรียกว่าภาษาปรากฤต แปลว่า ภาษาธรรมชาติ เช่น ภาษาบาลี มหาราษฏรี เศารเสนี ฯลฯ ภาษาปรากฤตจัดอยู่ในอินโดอารยันยุคกลาง ส่วนอินโด-อารยันยุคปัจจุบัน ได้แก่ ภาษาปัจจุบันที่ใช้พูดกันในถิ่นต่างๆ เช่น ภาษาเบงกลี ปัญจาบี ฮินดี ฯลฯ

ส่วนภาษาอิหร่านซึ่งอยู่ในสาขาอินโดอิหร่านเช่นกันนั้น แบ่งเป็น 3 ยุค คือ ยุคเก่า ยุคกลาง และยุคปัจจุบัน เท่าที่พบในจารึกและเอกสารตัวเขียน ภาษาอิหร่านในยุคเก่าได้แก่ ภาษาอเวสตะ และภาษาเปอร์เชียเก่า ภาษาอเวสตะใช้กันในที่ราบอิหร่านแถบตะวันออกเฉียงเหนือ ส่วนภาษาเปอร์เชียเก่าใช้กันในแถบตะวันตกเฉียงใต้ ภาษาในยุคนี้เขียนด้วยอักษรลิ่ม ภาษาในยุคกลาง ได้แก่ ภาษาเปอร์เชียกลาง และภาษาปะห์ลวี ใช้อักษรอราเมอิค ภาษาเปอร์เชียกลางเป็นภาษาราชการในสมัยราชวงศ์สาสาเนียน (ศตวรรษที่ 3-7) หลังจากมุสลิมมีอำนาจในอิหร่านในศตวรรษที่ 7 เป็นต้นมา ภาษาอาหรับที่มีอิทธิพลต่อภาษาอิหร่านมาก ศัพท์ที่ใช้ในภาษาอิหร่านยุคหลังนี้เป็นคำที่ได้จากภาษาอาหรับถึงร้อยละ 50 และยังใช้อักษรอาหรับด้วย

ชาวอินเดียและอิหร่านถือว่าตนมีเชื้อสายสูงส่งกว่าผู้อื่นที่ตนได้พบในดินแดนที่อพยพเข้าไป จึงเรียกตนเองว่า อารยะ ในภาษาอเวสตะเสียงต่างไปเป็น ไอรยะ เป็นที่มาของคำว่าอิหร่านนั้นเอง

ที่เราเรียกกันว่าเปอร์เซียนเดิมหมายถึงกลุ่มชนที่อาศัยอยู่ในบริเวณตะวันตกเฉียงใต้ของอิหร่านซึ่งมีชื่อว่า เปอร์ซิส (ปัจจุบันคือ ฟาร์ส) ต่อมากรีกเรียกที่ราบอิหร่านทั้งหมดว่า เปอร์เซีย และใช้เป็นชื่อประเทศมาจนถึง ค.ศ. 1935 รัฐบาลอิหร่านในสมัยของมุฮัมมัด เรชาห์ ปะห์ลวี จึงได้ให้เปลี่ยนไปใช้ชื่อ อิหร่าน เพื่อแสดงความภาคภูมิในเชื้อสาย “อารยะ” ของตน

ความภาคภูมิในศักดิ์ศรีของเชื้อสาย “อารยะ” ได้เข้ามาเกี่ยวข้องกับปัญหาการเมืองที่เป็นโศกนาฏกรรมครั้งใหญ่ในประวัติศาสตร์โลก เริ่มตั้งแต่ในศตวรรษที่ 19 เคานต์ โจเซฟ อาร์เธอร์แห่งโกบิโน นักการทูต นักเขียน และนักชาติพันธุ์วิทยาชาวฝรั่งเศส ได้เผยแพร่ความคิดเกี่ยวกับความสูงส่งของเผ่าพันธุ์อารยัน เขาเชื่อว่าผู้ที่พูดภาษาอินโด-ยุโรปเป็นผู้ที่มีส่วนอย่างมากในความเจริญก้าวหน้าของมนุษยชาติ และว่ากันทางจริยธรรมก็มีสถานะสูงกว่าพวกเซมิติค คนผิวเหลือง และผิวดำ ในศตวรรษที่ 20 ฮิวสตัน สจวต ชอมเบอร์เลน นักการเมืองชาวอังกฤษก็สานความคิดนี้ต่อมา

อย่างไรก็ตามนักมานุษยวิทยา ในกลางศตวรรษที่ 20 ปฏิเสธความคิดนี้โดยสิ้นเชิง

แต่กลับกลายเป็นว่า ฮิตเลอร์ได้อาศัยความคิดนี้เป็นพื้นฐานของนโยบายเยอรมันในการกำจัดยิว ยิปซี และอนารยะอื่นๆ

จึงดูเหมือนว่า ความหยิ่งในความเป็น “อารยะ” ได้ทำให้คนกลายเป็น “อนารยะ” ไปโดยไม่รู้ตัว

หนังสืออ้างอิง :

BASHAM, A.L. The Wonder that was India (Fontana: Sidgwick and Jackson, 1977)

BONGARD-LEVIN, G.M. The Origin of Aryans (New Delhi: Arnold Heinemann, 1980)

เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 30 มิถุนายน 2565

ดูข่าวต้นฉบับ