ไลฟ์สไตล์

เส้นทางหน่วยลับ “สันติบาลใต้ดิน” ของไทยในอดีต ครั้งญี่ปุ่นผุดไอเดียยึดประเทศไทย (1)

ศิลปวัฒนธรรม
อัพเดต 02 มี.ค. 2565 เวลา 10.01 น. • เผยแพร่ 02 มี.ค. 2565 เวลา 09.32 น.
ภาพประกอบเนื้อหา - ทหารญี่ปุ่นเรียงแถวปลดอาวุธต่อหน้านายทหารโซเวียต ช่วงกองทัพรัสเซียเข้าปลดปล่อยแมนจูเรียจากญี่ปุ่น ในสงครามโลกครั้งที่ 2 ภาพถ่ายเมื่อ ส.ค. 1945 (ภาพจาก AFP)

การลาออกของ จอมพล ป.พิบูลสงคราม เมื่อเดือนกรกฎาคม พ.ศ.2487 และการเข้ามาเป็นนายกรัฐมนตรีของ นายควง อภัยวงศ์ มีผลอย่างสำคัญยิ่งต่อการเคลื่อนไหวของเสรีไทย โดยเฉพาะในส่วนกำลังจากกองทัพที่ พันเอก ชิต มั่นศิลป์ สินาดโยธารักษ์ นอกจากจะเป็นรองหัวหน้าเสรีไทย นามรหัส “จัมปา” แล้ว ยังดำรงตำแหน่งรองแม่ทัพใหญ่ปฏิบัติหน้าที่แทนแม่ทัพใหญ่คือ นายพันเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา ซึ่งมีอาการป่วยจนไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้อีกด้วย

ช่วงเวลานับแต่ต้นปี พ.ศ.2488 ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับกองทัพญี่ปุ่นประจำประเทศไทยมีความล่อแหลมเป็นอย่างยิ่ง ต่างฝ่ายต่างไม่ไว้วางใจจนเกือบนำไปสู่การใช้กำลังแตกหักต่อกัน

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

มีนาคม 2488 ญี่ปุ่นยึดอินโดจีน ต่อไปคือไทย?

ย้อนกลับไปก่อนหน้านี้ สถานการณ์สงครามแปซิฟิกตั้งแต่ พ.ศ.2485 เป็นต้นมา กองทัพญี่ปุ่นประสบความพ่ายแพ้ในทุกสมรภูมิ กองกำลังทหารสหรัฐอเมริกายกระดับกดดันรุกไล่ทหารญี่ปุ่นจากเกาะหนึ่งไปสู่เกาะหนึ่งใกล้กรุงโตเกียวเข้าไปทุกขณะ

ขณะที่ฝ่ายสัมพันธมิตรเริ่มกลับเป็นฝ่ายรุกทั้งในยุโรปและเอเชียนั้น กำลังฝ่ายฝรั่งเศสในอินโดจีนก็เริ่มมีปฏิกิริยาแข็งข้อกับฝ่ายญี่ปุ่นซึ่งแม้จะวางกำลังอยู่เต็มพื้นที่ แต่ก็ยินยอมให้ฝรั่งเศสดำรงรักษาอำนาจในการปกครองอินโดจีนไว้ เมื่อเป็นเช่นนี้ญี่ปุ่นจึงยกระดับการควบคุมด้วยการยึดอำนาจการปกครองทั้งสิ้นในอินโดจีนจากฝรั่งเศส เมื่อเดือนมีนาคม พ.ศ.2488

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

เสรีไทยเตรียมขับไล่ญี่ปุ่น

เดือนพฤษภาคม พ.ศ.2488 รัฐบาลญี่ปุ่นบีบบังคับขอกู้เงินจากรัฐบาลไทยอีก 1,000 ล้านบาท จากที่เคยกู้ไปแล้ว 500 ล้านบาท ซึ่งจะส่งผลเสียอย่างร้ายแรงต่อสถานะทางการเงินการคลังของไทย นายปรีดี พนมยงค์ หัวหน้าเสรีไทยจึงเสนอไปยังฝ่ายสัมพันธมิตรว่า คนไทยพร้อมจะลุกขึ้นขับไล่ทหารญี่ปุ่นแล้ว ขอให้ฝ่ายสัมพันธมิตรส่งกำลังมาช่วยตีกระหนาบ แต่ได้รับคำแนะนำให้พยายามหาทางผ่อนสั้นผ่อนยาวให้ญี่ปุ่นกู้ไปก่อน 50 ล้านบาท แล้วรอเวลาเปิดฉากปฏิบัติการทางทหารในเวลาที่สมควรไม่ก่อนเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2488 ซึ่งรัฐบาลไทยก็ปฏิบัติตามคำแนะนำนี้ ขณะที่ญี่ปุ่นไม่สู้พอใจนัก

ความหวาดระแวง

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

วันที่ 28 มิถุนายน 2488 นายพล นากามูระ ผู้บัญชาการทหารญี่ปุ่นในประเทศไทย ได้กำหนดให้มีการฉลองครั้งใหญ่ขึ้น และได้ออกบัตรเชิญบรรดาข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ฝ่ายไทยทั้งทหารและพลเรือนไปร่วมรับประทานอาหารที่กองบัญชาการกองทัพญี่ปุ่น ถนนสาทร ซึ่งเหตุการณ์ทำนองนี้ได้เคยเกิดขึ้นในประเทศอินโดจีนของฝรั่งเศสมาแล้วเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา

เมื่อญี่ปุ่นได้เชิญข้าราชการชั้นผู้ใหญ่และบุคคลสำคัญในประเทศนั้นไปรับประทานอาหารและในวันนั้นเองบรรดาหัวหน้าพวกใต้ดินในอินโดจีนก็ถูกสังหารหมดแล้วกองทัพญี่ปุ่นก็เข้ายึดอำนาจปกครองอินโดจีนโดยเด็ดขาด จึงเกิดข่าวลือไปทั่วว่าประวัติศาสตร์กำลังจะซ้ำรอยอีกในเมืองไทย

ฝ่ายไทยรู้สึกกังวลใจมาก แต่ไม่สามารถจะปฏิเสธคำเชิญของ “มหามิตร” ได้ นายปรีดี พนมยงค์ ได้สั่งการไปยังบรรดาหัวหน้าเสรีไทยซึ่งส่วนใหญ่เป็นข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ทั้งทหารและพลเรือนให้ไปร่วมงานตามคำเชิญนั้นเพียงครึ่งเดียว อีกครึ่งหนึ่งให้เตรียมพร้อมรับสถานการณ์ และสำหรับผู้ที่ไปร่วมงานให้พกอาวุธไปด้วยทุกคน

คืนนั้นทหารไทยทุกหน่วยและหน่วยใต้ดินอยู่ในลักษณะเตรียมพร้อมที่จะปฏิบัติงานได้ทันทีถ้ามีเหตุการณ์ฉุกเฉิน อย่างไรก็ตาม การเลี้ยงฉลองคืนนั้นก็ดำเนินไปอย่างราบรื่น ท่ามกลางการคุมเชิงของทั้ง 2 ฝ่าย

ประชุมลับ : ยึดประเทศไทย?

พันเอก มาซาโนบุ ทสุจิ นายทหารเสนาธิการกองทัพญี่ปุ่นประจำประเทศไทย บันทึกความหวาดระแวงระหว่างกองทัพทั้งสองที่ทวีความตึงเครียดขึ้นทุกขณะในการประชุมครั้งหนึ่งไว้ในหนังสือนายพลลี้ภัย ดังนี้

“…ต่อมาก็ปรึกษาถึงเรื่องไม่แน่นอนของสภาพการณ์ในประเทศไทย หากว่าวันหนึ่งจำนวนตั้งแสนห้าหมื่นคนซึ่งมีอาวุธครบมือได้หันปากกระบอกปืนมาเมื่อใด เมื่อนั้นแหละเพียงจำนวนทหารญี่ปุ่นหนึ่งหมื่นคน จะทำการปลดอาวุธพวกนั้นได้อย่างไร?…หากพลร่มของทหารอังกฤษและสหรัฐอเมริกากระโดดมาจากท้องฟ้า ณ ชานเมืองกรุงเทพฯ พร้อมกันเพื่อเข้าโจมตีพวกเราอย่างกะทันหัน ปัญหาสำคัญและล่อแหลมต่ออันตรายเหล่านี้ได้ถูกยกขึ้นมาถกกันอย่างละเอียดถี่ถ้วน

วันรุ่งขึ้นกองบัญชาการออกคำสั่งด่วนฉบับหนึ่ง ให้กองทหารทุกหน่วยจัดการสร้างที่มั่นไว้ ณ ชานเมืองกรุงเทพฯ และเตรียมตัวเข้าฝึกซ้อมการสู้รบแบบกองโจรในตรอกซอกในเมืองด้วย คำสั่งฉบับนี้มีผลสะท้อนเหมือนกับฟ้าผ่าลงมา กระทำให้ทหารรู้สึกตื่นเต้นหวั่นไหวโดยทั่วไป ดูเหมือนกรุงเทพฯ จะกลับกลายเป็นสถานที่รองรับการหลั่งเลือดครั้งยิ่งใหญ่ที่สุดก็ไม่ปาน เริ่มจากร้านโรงอาหารของชาวญี่ปุ่นถูกสั่งให้หยุดการค้าขายและปิดชั่วคราว ทหารตั้งแต่ยศชั้นนายพล นายพันลงมาจนกระทั่งถึงพลทหารต่างได้รับคำสั่งห้ามออกนอกกองหรือหน่วยที่ตั้ง

การจัดสร้างที่มั่นดำเนินไปทั้งกลางวันและกลางคืนอย่างรีบเร่ง จากที่ตั้งของทหารทุกหน่วยใช้ลวดหนามขึงเป็นเส้นแนวตรงไปยังกองบัญชาการล้อมรอบถึง 3 ชั้นอย่างแข็งแรง แนวป้องกันชนิดนี้ดูมันแข็งแกร่งยากต่อการบุกเข้าไปได้ แต่ในเวลาเดียวกันนี้ ทหารและตำรวจของฝ่ายไทยกลับพากันนอนหลับอย่างสบายมิได้รู้ว่าเวลานี้มีคนได้ค้นพบการประทุบร้ายทั้งปวงอย่างแจ้งชัดแล้วเสียอีก

เพียงเวลายังไม่ถึงเดือน กรุงเทพพระมหานครเมืองหลวงแห่งราชอาณาจักรพุทธได้เปลี่ยนโฉมหน้าไปเป็นอันมาก บริเวณใกล้เคียงกับสนามบินดอนเมืองก็เต็มไปด้วยการเตรียมพร้อมในการสู้รบปรบมือกับหน่วยพลร่มจู่โจมของอังกฤษและสหรัฐอเมริกา โดยรอบๆ สนามบินได้ตั้งปืนใหญ่ต่อสู้อากาศยานไว้อย่างหนาแน่น คลังอาวุธและคลังเสบียงอาหารของฝ่ายทหารก็ถูกล้อมด้วยรั้วลวดหนามอย่างแข็งแรงถึง 3 ชั้น แถมจัดตั้งกระสอบทรายซ้อนเป็นกำแพงกั้นไว้ด้วย ส่วนทหารรักษาการณ์ก็เพิ่มจำนวนจากเดิมอีกหลายสิบเท่าตัว

การเตรียมพร้อมอย่างแข็งขันของเราในครั้งนี้แสดงว่าพวกเราเกรงกลัวการโจมตีของฝ่ายอังกฤษกับสหรัฐอเมริกาเช่นนั้นหรือ…เปล่าเลยความจริงมันเป็นการลวงของฝ่ายการทหารของเราเท่านั้นเอง

การเตรียมพร้อมของเราเป็นการจัดกำลังป้องกันการลุกฮือครั้งใหญ่ซึ่งอาจอุบัติขึ้นในเวลาใดเวลาหนึ่งก็ได้ เพราะเพียงกำลังทหารเท่าที่เรามีอยู่ในเวลานี้หนึ่งหมื่นคนเท่านั้นอาจถูกระลอกคลื่นของจำนวนคนแสนห้าหมื่นคนกลืนเสียหมด โดยพวกเราต่างจะกลายเป็นเชลยศึกไปตามๆ กัน”

ญี่ปุ่นไม่พร้อมยึดไทย

พันเอก มาซาโนบุ ทสุจิ บันทึกสถานการณ์ที่เขม็งเกลียวขึ้นตามลำดับต่อไปว่า

“ข่าวร้ายจากเกาะโอกินาวาสัมพันธมิตรยึดโอกินาวาได้เมื่อเดือนมิถุนายน พ.ศ.2488 – บัญชร] ยังผลกระทบกระเทือนแก่แผนการของท่านยามาดา ผู้บัญชาการสูงสุดในภาคพื้นเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นอย่างมาก แต่แล้วท่านตัดสินใจมอบหน้าที่ในการใคร่ครวญเพื่อจัดการป้องกันเหตุสุดวิสัยหรือการปลดอาวุธทหารไทยในประเทศไทยอันมิอาจหลีกเลี่ยงได้นั้นให้แก่ท่านนากามูระผู้บัญชาการทหาร เป็นผู้จัดดำเนินการแต่ผู้เดียว

จากนั้นต่อมากองเสนาธิการจึงเรียกประชุมเป็นการด่วนเพื่อปรึกษาหารือกันในเรื่องเปลี่ยนแผนการที่วางไว้เดิมเสียใหม่ เพื่อให้เข้ากับเหตุการณ์เฉพาะหน้าและเหมาะสมยิ่งขึ้น มีคนเสนอในที่ประชุมให้ดำเนินตามแผนการเดิมในทันทีเพื่อทำการยึดครองประเทศไทยทั่วทั้งประเทศ และกำไว้ซึ่งสถานการณ์อันมีประโยชน์ต่อเรา การกระทำเช่นว่านี้ยังเป็นการกระทำที่มีความมุ่งหมายในการบำรุงขวัญของเหล่าทหารญี่ปุ่นซึ่งถูกส่งมาประจำการอยู่บนภาคพื้นแผ่นดินของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อีกด้วยพร้อมกันนี้เราอาจจะมีฐานทัพที่ดีสำหรับดำเนินการปรับปรุงและจัดตั้งกองทัพอันมีกำลังแข็งแกร่งของเราขึ้นมาใหม่

อันความเห็นที่เห็นแก่ตัวและปราศจากความรอบคอบไร้ประโยชน์เช่นนี้ได้ถูกที่ประชุมคัดค้านทันที แต่แล้วในที่ประชุมก็มีความเห็นเป็นเอกฉันท์ว่า ควรสมัครสมานไมตรีและเกลียวสัมพันธ์อันดีในดั้งเดิมกับไทย โดยจัดให้ประเทศไทยรักษาความเป็นกลางต่อไป เหตุผลก็คือแม้เราชนะสงครามหรือแพ้ศึกในครั้งนี้ก็ตาม ที่สุดก็มิอาจกลับมาตุภูมิได้ เมื่อไม่อาจยกกลับประเทศได้แล้วทำไมเราจะต้องไปก่อให้เกิดขึ้นซึ่งศึกระหว่างทั้งสองชาติ โดยให้ต่างฝ่ายต่างอยู่ร่วมกันอย่างสงบและฉันมิตรมิดีกว่าหรือถ้าเรากระทำได้เช่นว่ามานั้นความเข้าใจผิดระหว่างทั้งสองชาติอาจค่อยๆ ลบเลือนจางหายไปและกลับเป็นมิตรกันต่อไป”

สันติบาลเตรียมรบ

พันตำรวจเอก ชลอ ศรีศรากร ผู้บังคับการตำรวจสันติบาล ได้บันทึกบทบาทของท่านและตำรวจสันติบาล ในช่วงเวลาสำคัญนี้ไว้ในสันติบาลใต้ดิน อันสืบเนื่องจากการที่ท่านได้รับคำสั่งจาก พลตำรวจเอก อดุล อดุลเดชจรัส อธิบดีกรมตำรวจและรองหัวหน้าเสรีไทย นามรหัส “พูเลา” ให้เตรียมจัดหน่วยกล้าตายจากกองตำรวจสันติบาลปฏิบัติการเป็น “หัวหอก” ในการลุกฮือขับไล่ทหารญี่ปุ่น

“ในที่สุดข้าพเจ้าได้จัดกำลังเข้าประชิดจุดต่างๆ ดังต่อไปนี้

จุดที่ 1 คือสมาคมเซียงหวยเดิม ญี่ปุ่นได้ใช้เป็นที่ตั้งกองบัญชาการกองทัพนี้ และ พลโท นากามูระ ซึ่งเป็นแม่ทัพนี้ก็พักอยู่ในบริเวณนี้ และ ณ ที่นี้ ยังมี พลโท อาตารี และ พลโท ฮานายะ พักรวมอยู่กับ พลโท นากา มูระด้วย

ชุดนี้อยู่ถนนสาทรได้จัดกำลังตำรวจสันติบาลนอกเครื่องแบบเข้าประชิดอย่างลับ มีกำลัง 7 คน มีอาวุธปืนกลทอมสัน 4 กระบอก ลูกระเบิดมือคนละ 3 ลูก รวม 21 ลูก มีหน้าที่สังหารชีวิตนายพลทั้ง 3 นั้นโดยบุกแลกชีวิตต่อกันอย่างเด็ดขาด

จุดที่ 2 คือบ้านพักของ พลโทฮามาดะ ตำแหน่งเสนาธิการกองทัพแห่งกองทัพนี้ อยู่บ้านถนนวิทยุ ให้จัดกำลังเข้าประชิดบ้านนี้ 7 คน มีอาวุธปืนกลทอมสัน 2 กระบอก และลูกระเบิดมือ 21 ลูก

จุดที่ 3 คือบ้านพักของ พันเอกโทอุดา เป็นสารวัตรใหญ่ทหารญี่ปุ่นบ้านอยู่ถนนราชดำริ ข้าพเจ้าจัดกำลังเข้าประชิดตัวเพียง 6 คน มีอาวุธปืนกลทอมสัน 1 กระบอก ลูกระเบิดมือ 18 ลูก

จุดที่ 4 คือบ้านพักของ พลตรีโอฮารา ตำแหน่งรองเสนาธิการกองทัพแห่งกองทัพ ‘งิ’ บ้านอยู่ถนนราชดำริเหมือนกัน แต่อยู่ห่างจาก พันเอก โทคุดา ข้าพเจ้าจัดกำลังไว้ 6 คน มีอาวุธปืนกลทอมสัน 1 กระบอก ลูกระเบิดมือ 18 ลูก

จุดที่ 5 คือบ้านพักของ พลตรีโคมายาชิ ตำแหน่งผู้บัญชาการขนส่งซึ่งกำลังรับหน้าที่ต่อจาก พลโท อิชิดาบ้านอยู่ถนนเย็นอากาศ ได้จัดกำลังเข้าประชิด 6 คน มีปืนกลทอมสัน 1 กระบอก และลูกระเบิดมือ 16 ลูก

จุดที่ 6 คือบ้านพักของ พลเรือตรี ซาโต ตำแหน่งทูตทหารเรือญี่ปุ่นบ้านอยู่ถนนพญาไท ได้จัดกำลัง 6 คนมีอาวุธปืนกลทอมสัน 1 กระบอก และลูกระเบิดมือ 16 ลูก

จุดที่ 7 คือบ้านพักของ พลโทอิชิดา ตำแหน่งผู้บัญชาการขนส่งหน่วยชิดา บ้านอยู่ถนนชิดลม ข้าพเจ้าจัดกำลังประจำ 5 คน มีอาวุธปืนกลทอมสัน 1 กระบอก และลูกระเบิดมือ 15 ลูก

จุดที่ 8 คือที่ตั้งสถานีวิทยุโดเม อยู่ถนนนเรศ ได้จัดกำลังประจำ 5 คน มีอาวุธปืนกลทอมสัน 1 กระบอก ลูกระเบิดมือ 15 ลูก มีหน้าที่ทำลายเครื่องวิทยุและสังหารเจ้าหน้าที่วิทยุโดเมทั้งหมด

จุดที่ 9 คือสถานที่ตั้งสถานีวิทยุของกองทัพงิ ซึ่งตั้งอยู่ในโรงเรียนวัฒนาวิทยาลัย บางกะปิ ได้จัดกำลัง 5 คน มีอาวุธปืนกลทอมสัน 1 กระบอกและลูกระเบิดมือ 15 ลูก

จุดที่ 10 คือสถานีโทรศัพท์กลางของญี่ปุ่น ซึ่งตั้งอยู่ในโรงเรียนอุเทนถวาย ตอนหลังสนามกีฬาแห่งชาติ ได้จัดกำลัง 5 คน มีอาวุธเท่ากันกับจุดที่ 8

จุดที่ 11 คือสถานีโทรศัพท์กลางของญี่ปุ่น ซึ่งตั้งอยู่ในโรงเรียนดรุโณทัย ถนนพญาไท ได้จัดกำลังและอาวุธเท่ากันกับจุดที่ 10

ทุกหน่วยมีปืนพกประจำตัวครบและจุดใดมีนายพลและเจ้าหน้าที่ของญี่ปุ่นรักษาการอยู่ให้จัดการสังหารส่วนวิทยุและโทรศัพท์ก็ให้ทำลายจนใช้การไม่ได้”

“สันติบาลใต้ดิน”

ตำรวจสันติบาลหน่วยนี้ได้รวมกำลังกันขึ้นในเบื้องต้น ณ สวนพุฒตาล ต้องการให้นอนด้วยกัน กินด้วยกัน คบกันให้สนิทสนม ความประสงค์อันสำคัญก็ต้องการจะอบรมใช้อาวุธแบบใหม่ มีการหัดขว้างลูกระเบิด และหัดยิงปืนกลมือทอมสันซึ่งได้มาใหม่ เป็นต้น เวลาว่างก็ให้ออกกำลังทั้งเวลาเช้าและบ่ายให้ร่างกายแข็งแรงเพื่อเหมาะแก่การใช้กำลังต่อต้านในเวลาที่จะมาถึง

*“สันติบาลใต้ดิน” หน่วยนี้มีนายพันตำรวจตรี ชอุ่ม สินธวาชีวะ เป็นหัวหน้า และนายร้อยตำรวจโทประวัติ ขนุนทอง เป็นผู้ช่วย ในเวลากลางคืนนั้น เราจัดกำลังแยกกันไปนอนประจำจุดต่างๆ จุดละ 1 นายบ้าง 2 นายบ้าง เหลือนอกนั้นให้นอนรวมกันที่สวนพุฒตาล ในคืนวันรุ่งขึ้นเราได้จับคนใหม่ไปนอนประจำจุดต่างๆ หมุนเวียนเปลี่ยนกันไปเช่นนี้จนครบทุกๆ คน การจัดเช่นนี้เพื่อให้ตำรวจทุกคนได้ชำนาญสถานที่ ทราบทางเข้าออกอย่างดี และป้องกันมิให้พวกสารวัตรทหารญี่ปุ่นเกิดความสงสัย*

ถ้าถึงกำหนดลงมือทำการเมื่อใด เราจึงจะจัดเข้าประจำเต็มอัตราที่กำหนดไว้ ทั้งนี้จะได้ส่งทยอยกันเข้าไปให้ครบ อาวุธต่างๆ ได้นำซุกซ่อนเข้าไปฝั่งไว้ก่อน เราพยายามทำอย่างลับที่สุด เพื่อมิให้ญี่ปุ่นทราบได้ บนผืนแผ่นดินของไทยเราเอง เราก็ต้องทำอย่างลับ เราต้องทำอย่างมนุษย์ใต้ดินเพื่อไม่ให้มนุษย์บนดินล่วงรู้อาการกระทำของเราได้

เมื่อข้าพเจ้าได้จัดการเรียบร้อยแล้วก็เป็นเวลาพอดีที่ท่านพูเลา [พลตำรวจเอก อดุล อดุลเดชจรัส] สอบถามข้าพเจ้าว่าพร้อมแล้วหรือยัง ข้าพเจ้าตอบว่าพร้อมแล้ว ซึ่งความจริงนั้นข้าพเจ้าได้จัดการไว้พร้อมแล้วจริงๆ ได้ ทำการแข่งขันการขว้างลูกระเบิดเสร็จไปแล้ว ทั้งขว้างด้วยลูกระเบิดฝึกหัด และขว้างด้วยลูกระเบิดจริง

ข้าพเจ้าได้จัดการแข่งขันการขว้างลูกระเบิดในสวนพุฒตาล จัดรางวัลให้ 3 รางวัล แต่ตำรวจสันติบาลใต้ดินหน่วยนี้ต้องเข้าแข่งขันทุกคน แข่งขันเสร็จประมาณ 4 วันก็ได้ทำการขว้างด้วยลูกระเบิดจริง

ทั้งนี้เพื่อให้สันติบาลใต้ดินหน่วยนี้ได้เห็นอำนาจการระเบิดและดูวิธีหลบภัยของคนขว้างในเวลาลูกระเบิดได้ระเบิดขึ้น ได้จัดให้ตำรวจสันติบาลใต้ดินหน่วยนี้เป็นผู้ขว้างลูกระเบิดจริง

วันขว้างลูกระเบิดจริงนั้น นายพันตำรวจเอก หลวงสัมฤทธิ์สุขุมวาท กับ นายพันตำรวจโท ประสงค์ลิมอักษร เป็นผู้อำนวยการ ทราบว่าพอใจสันติบาลใต้ดินหน่วยนี้มาก วันนี้ กองพันทหารราบที่ 1 ได้มาดูด้วยมีผู้บังคับบัญชานำแถวทหารมาขอดูอย่างเรียบร้อย”…

พบกับเนื้อหาตอน 2 ได้ในโอกาสต่อไป 

คลิกอ่านเพิ่มเติม : เบื้องหลังคณะราษฎรตั้ง “ตำรวจสันติบาล” และบทบาทตร.สาขาพิเศษในการเมืองหลัง 2475

หมายเหตุ : เนื้อหานี้คัดจากบทความ “สันติบาลใต้ดิน(1)” เขียนโดย พลเอก บัญชร ชวาลศิลป์ เผยแพร่ในนิตยสาร ศิลปวัฒนธรรม ฉบับกุมภาพันธ์ 2564 เผยแพร่เนื้อหาในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 2 มีนาคม 2565 จัดย่อหน้าใหม่และเน้นคำใหม่โดยกองบรรณาธิการ

หนังสือที่ใช้ประกอบการเรียบเรียง

ชลอ ศรีศรากร. สันติบาลใต้ดิน. 2489.

ทสุจิ, มาซาโนบุ. นายพลลี้ภัย. แปลโดย อุทัย ตัณฑลากุล. 2497.

นากามูระ, อาเคโตะ.ผู้บัญชาการชาวพุทธ : ความทรงจำของนายพลนากามูระเกี่ยวกับเมืองไทยสมัยสงครามมหาเอเชียบูรพา. แปลโดย เออิจิ มูราซิม่า, นครินทร์ เมฆไตรรัตน์. 2546.

เนตร เขมะโยธิน. งานใต้ดินของพันเอกโยธี. 2510.

ดูข่าวต้นฉบับ