ทั่วไป

OPTOCE ระดมสมอง รับมือปัญหาขยะพลาสติก 12 พันล้านตัน ล้นโลกปี 2050

ฐานเศรษฐกิจ
อัพเดต 28 ต.ค. 2565 เวลา 14.53 น. • เผยแพร่ 29 ต.ค. 2565 เวลา 01.05 น.

สถาบันวิจัยฯนอร์เวย์ จัดประชุม OPTOCE ระดับภูมิภาคครั้งแรกในไทย ระดมแนวคิดบริหารจัดการขยะ พร้อมผลักดันโปรเจค Co-processing การเผาร่วมในเตาปูน เร่งกำจัดขยะพลาสติก ที่คาดจะล้นโลก 12 พันล้านตันภายในปี 2050

ดร.คอเร เฮลเก คาร์สเตนเซน หัวหน้านักวิทยาศาสตร์และผู้จัดการโครงการ OPTOCE SINTEF Community Norway เปิดเผยว่า สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และอุตสาหกรรมแห่งนอร์เวย์ หรือ SINTEF ได้จัดประชุมระดับภูมิภาค ว่าด้วยการจัดการพลาสติกในมหาสมุทรสร้างโอกาสในเศรษฐกิจหมุนเวียน หรือ The Ocean Plastic Turned into an Opportunity in Circular Economy (OPTOCE) Regional Forum เพื่อระดมแนวคิดการบริหารขยะพลาสติกทั้งในไทย จีน อินเดีย เมียนมาร์ และเวียดนาม ในวันที่ 27-28 ตุลาคม 2565

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง
ดร.คอเร เฮลเก คาร์สเตนเซน หัวหน้านักวิทยาศาสตร์และผู้จัดการโครงการ OPTOCE SINTEF Community Norway

SINTEF ดึงพันธมิตรทั้งภาครัฐและเอกชน รวมถึงเอ็นจีโอ ร่วมระดมแนวคิดการบริหารขยะพลาสติกทั้งในไทย จีน อินเดีย เมียนมาร์ และเวียดนาม ซึ่ง 5 ประเทศนี้ เป็นประเทศที่ผลิตขยะพลาสติกราว 217,000 ตันต่อวัน หรือ 79 ล้านตันต่อปี และมีการปล่อยพลาสติกสู่ทะเลในปริมาณสูงสุด ในขณะที่มีขยะพลาสติกน้อยมากที่ได้รับการจัดการอย่างถูกต้องในลักษณะที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

ขยะพลาสติกที่เกิดขึ้น ส่วนใหญ่เกิดจากอุตสาหกรรมประเภทปูนซีเมนต์ เหล็กกล้า และพลังงานไฟฟ้าที่มาจากเชื้อเพลิงฟอสซิลอย่างถ่านหิน ดังนั้น จึงมีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สู่ชั้นบรรยากาศในปริมาณสูงด้วยเช่นกัน

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

ในการประชุมวันแรก ตัวแทนจาก 5 ประเทศ ได้เปิดเผยถึงความคืบหน้าของโปรเจคนำร่องที่สำคัญ คือการใช้กระบวนการเผาร่วม หรือ Co-processing ในเตาเผาปูนซีเมนต์ ซึ่งเป็นการบริหารขยะอย่างบูรณาการ (Integrated Waste Management) และถือเป็นกลยุทธ์สำคัญ ที่จะทำให้ภาคอุตสาหกรรมซีเมนท์ สามารถลดการใช้ปริมาณถ่านหิน ลดค่ากำจัดขยะ และยังสามารถนำผลลัพธ์ที่ได้มาขายเป็นคาร์บอนเครดิต ซึ่งแนวโน้มราคาของคาร์บอนเครดิตจะสูงขึ้นเรื่อยๆ จากความน้องการของตลาดในอนาคต

"การจัดการขยะพลาสติกที่ไม่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่หรือรีไซเคิลได้ด้วยกระบวนการเผาร่วม ก่อให้เกิดโอกาสดีกับทุกฝ่าย ถือเป็น win-win ที่เจ้าของธุรกิจในอุตสาหกรรมซีเมนต์ สังคม และสิ่งแวดล้อม จะได้ประโยบน์ร่วมกัน โดยจะช่วยป้องกันไม่ให้พลาสติกรั่วไหลไปยังทะเลและมหาสมุทร ลดการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลถ่านหินลงได้เป็นจำนวนมาก และในทางอ้อม ก็ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยหลีกเลี่ยงการสร้างเตาเผาขยะใหม่หรือสร้างบ่อขยะเพิ่มขึ้น" ดร.คอเรกล่าว

นอกจากนี้ กระบวนการเผาร่วม ยังก่อประโยชน์อื่นๆ ตามมา ได้แก่

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

• ลดปริมาณขยะในทะเลและมหาสมุทร ที่ก่อกำเนิดขึ้นจากกิจกรรมบนบก

• ส่งเสริมการประสานงานและความร่วมมือระหว่างผู้มีส่วนได้ส่วนเสียและผู้มีส่วนร่วมทางธุรกิจต่าง ๆ

• ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของภาคเอกชน

• ส่งเสริมงานวิจัยเพื่อสนับสนุนนโยบายและการตัดสินใจบนพื้นฐานข้อมูลทางวิทยาศาสตร์

การประชุมระดับภูมิภาคทั้ง 2 วัน จะมีผู้เชี่ยวชาญจากทุกภาคส่วน ทั้งอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง องค์การที่ไม่แสวงหาผลกำไร ธุรกิจสตาร์ตอัพ สถาบันการศึกษา หน่วยงานรัฐบาล และสมาคมในอุตสาหกรรมต่าง ๆ ทั่วภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ร่วมประเมินผลลัพธ์การดำเนินโครงการ OPTOCE ในปัจจุบัน รวมถึงการพิจารณางานวิจัยขยะพลาสติกคุณภาพต่ำ มุมมองของผู้ถือประโยชน์ในเรื่องความร่วมมือ แนวทางความร่วมมือในการลดปริมาณขยะริมชายหาดและในท้องทะเล และวิธีการ เพื่อให้บรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ หรือ NET ZERO ของอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์

นอกจากนี้ ยังมีการเสวนาถึงโอกาสและอุปสรรคในการดำเนินงานด้านความร่วมมือของชาติพันธมิตรทั้ง 5 ซึ่งครอบคลุมถึงความร่วมมือและการวิจัยของสถาบันการศึกษา เพื่อกำหนดโซลูชันที่สามารถนำไปปฏิบัติได้จริงในการแก้ไขปัญหา

สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และอุตสาหกรรมแห่งนอร์เวย์ หรือ SINTEF ยังระบุว่า แต่ละปีมีขยะพลาสติกราว 13 ล้านตันเล็ดลอดลงสู่มหาสมุทร ซึ่งสร้างความเสียหายอย่างมหาศาลทั้งด้านความหลากหลายทางชีวภาพ เศรษฐกิจ และสุขภาพของผู้คน และยังคาดการณ์ว่าตัวเลขนี้จะทวีคูณเพิ่มเป็น 3 เท่าภายในปี ค.ศ. 2040

หากไม่มีการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพ ขยะพลาสติกราว 12 พันล้านตันจะทับถมหรือเล็ดลอดสู่ระบบนิเวศทางธรรมชาติในปี 2050 ความร่วมมือในระดับนานาชาติ จึงถือเป็นกุญแจสำคัญในการแก้ไขปัญหาการบริหารจัดการแหล่งสร้างขยะพลาสติกสู่ท้องทะเล ซึ่งขณะนี้ กำลังเจรจาขยายความร่วมมือไปสู่ประเทศอื่นๆ อาทิ อัฟริกา อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ศรีลังกา บังคลาเทศ ภูฐาน

ผลที่ได้จากการประชุม จะนำไปเป็นข้อมูลส่วนหนึ่งของการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 27 (COP 27) และการประชุมที่เกี่ยวข้อง ที่กำหนดจัดขึ้นระหว่างวันที่ 3-18 พฤศจิกายน 2565 ที่เมืองชาร์ม เอลเชค สาธารณัฐอาหรับอียิปต์

ดูข่าวต้นฉบับ