ทั่วไป

‘วันลอยกระทง’ ขอขมา ‘พระแม่คงคา’ คืนวันเพ็ญ เดือนสิบสอง

The Bangkok Insight
อัพเดต 26 พ.ย. 2566 เวลา 18.43 น. • เผยแพร่ 26 พ.ย. 2566 เวลา 23.00 น. • The Bangkok Insight

"วันลอยกระทง" ตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12 เป็นประเพณีที่แพร่หลายอยู่ในหลายประเทศเอเชีย ถูกกำหนดขึ้น โดยเชื่อว่า เพื่อเป็นการสะเดาะเคราะห์ และขอขมาต่อพระแม่คงคา ซึ่งเป็นเทพในคติฮินดู

แต่เทศกาลนี้มีร่องรอยหลักฐานย้อนไปถึงจีน และอินเดียโบราณ และมีชื่อเรียกที่แตกต่างกันไปในแต่ละประเทศ อย่างเมียนมา ใช้ชื่อว่า "เทศกาลตาซองได" และจีน ใช้ว่า "เทศกาลโคมลอย"

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

วันลอยกระทงในไทย

ประเพณีลอยกระทง เป็นประเพณีโบราณของอินเดีย ที่ไทยรับเข้ามาปฏิบัติ แต่ไม่ปรากฏหลักฐานชัดเจนว่า ทำกันมาตั้งแต่เมื่อไหร่ เท่าที่ปรากฏกล่าวได้ว่า มีมาตั้งสมัยสุโขทัยเป็นราชธานี

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงสันนิษฐานว่า เดิมนั้นน่าจะเป็นพิธีของพราหมณ์กระทำเพื่อบูชาพระผู้เป็นเจ้าทั้งสาม คือ พระอิศวร พระนารายณ์ และพระพรหม ต่อมาได้ถือตามแนวทางพระพุทธศาสนา มีการชักโคมเพื่อบูชาพระบรมสารีริกธาตุพระจุฬามณีในชั้นดาวดึงส์ และลอยโคมเพื่อบูชารอยพระพุทธบาท ซึ่งประดิษฐาน ณ หาดทรายแม่น้ำนัมมทา ที่คู่ขนานกับทิวเขาวินธัย ไหลลงภาคตะวันตกของอินเดีย แบ่งเขตอินเดียออกเป็นภาคเหนือและภาคใต้

ตำนานของไทย ระบุไว้ว่า ในรัชสมัยพ่อขุนรามคำแหง มีนางนพมาศ หรือท้าวศรีจุฬาลักษณ์ เป็นผู้ประดิษฐ์กระทงขึ้นครั้งแรก โดยแต่เดิมเรียกว่า พิธีจองเปรียง ที่ลอยเทียนประทีป และนางนพมาศได้นำดอกโคทม ซึ่งเป็นดอกบัวที่บานเฉพาะวันเพ็ญเดือนสิบสอง มาใช้ใส่เทียนประทีป

ดังปรากฏในตำรับท้าวศรีจุฬาลักษณ์ กล่าวถึงพระดำรัสของพระร่วงว่า "แต่นี้สืบไปเบื้องหน้า โดยลำดับกษัตริย์ในสยามประเทศ ถึงกาลกำหนดนักขัตฤกษ์ วันเพ็ญเดือน 12 ให้ทำโคมลอยเป็นรูปดอกบัว อุทิศสักการบูชาพระพุทธบาทนัมมทานทีตราบเท่ากัลปาวสาน"

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

แต่ปัจจุบันมีหลักฐานว่า ประเพณีไม่น่าจะเก่ากว่าสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น โดยอ้างอิงหลักฐานจากภาพจิตรกรรมการสร้างกระทงแบบต่าง ๆ ในสมัยรัชกาลที่ 1

จากนั้นในสมัยรัชกาลที่ 2 ได้เปลี่ยนแปลงจากการทำจากดอกบัวเป็นต้นกล้วย เพราะดอกบัวดังกล่าวหายาก และมีน้อย จึงใช้ต้นกล้วยทำแทนแล้วดูไม่สวย จึงใช้ใบตองมาพับแต่งจนสวยสืบทอดมาจนถึงปัจจุบัน

วันลอยกระทง

ประเพณีในแต่ละท้องถิ่น

ภาคเหนือ

นิยมทำโคมลอย เรียกว่า "ลอยโคม" หรือ "ว่าวลม" หรือ "ว่าวไฟ" ทำจากผ้าบาง ๆ แล้วสุมควันข้างใต้ให้ลอยขึ้นไปในอากาศอย่างบอลลูน

ประเพณีของชาวเหนือนี้เรียกว่า ยี่เป็ง หมายถึงการทำบุญในวันเพ็ญเดือนยี่ (ซึ่งนับวันตามแบบล้านนา ตรงกับวันเพ็ญเดือนสิบสองในแบบไทย) หรือโคมลอยบนน้ำรูปทรงต่าง ๆ

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

ในอดีต เรียกประเพณีลอยกระทงในภาคอีสานว่า สิบสองเพ็ง หมายถึงวันเพ็ญเดือนสิบสอง ซึ่งจะมีเอกลักษณ์แตกต่างกันออกไป เช่น จังหวัดร้อยเอ็ด มีชื่องานประเพณีว่า "สมมาน้ำคืนเพ็ง เส็งประทีป" ตามภาษาถิ่นมีความหมายถึงการขอขมาพระแม่คงคาในคืนวันเพ็ญเดือนสิบสอง

จังหวัดสกลนคร ในอดีตจะมีการลอยกระทงจากกาบกล้วย ลักษณะคล้ายกับการทำปราสาทผึ้งโบราณ เรียกงานนี้ว่าเทศกาลลอยพระประทีปพระราชทาน สิบสองเพ็งไทสกล

วันลอยกระทง

ภาคกลาง

มีการจัดประเพณีลอยกระทงขึ้นทั่วทุกจังหวัด โดย กรุงเทพมหานคร จะมีงานภูเขาทอง เป็นรูปแบบงานวัด เฉลิมฉลองราว 7-10 วัน ก่อนงานลอยกระทง และจบลงในช่วงหลังวันลอยกระทง

ส่วนที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา มีการจัดงานประเพณีลอยกระทงกรุงเก่าขึ้นอย่างยิ่งใหญ่ บริเวณอุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา ภายในงานมีการจัดแสดงแสง สี เสียง อย่างงดงามตระการตา

ภาคใต้

อย่างที่อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ก็มีการจัดงานอย่างยิ่งใหญ่ นอกจากนั้น ในจังหวัดอื่น ๆ ก็จะจัดงานวันลอยกระทงด้วยเช่นกัน

นอกจากนี้ในแต่ละท้องถิ่นยังอาจมีประเพณีลอยกระทงที่แตกต่างกันไป และสืบทอดต่อกันเรื่อยมา

วันลอยกระทง

ลอยกระทงให้สนุกและปลอดภัย

จากสถิติในช่วงหลายปีที่ผ่านมาพบว่า ในวันนี้มักเกิดอุบัติภัยในรูปแบบต่างๆ เช่น อุบัติภัยทางน้ำ รวมถึงอุบัติภัยจากพลุ และดอกไม้ไฟ เพื่อช่วยลดอุบัติเหตุดังกล่าวที่อาจเกิดขึ้น จึงขอแนะนำวิธีปฏิบัติตนเพื่อให้ปลอดภัย

  • ควรลอยกระทงตามสถานที่ที่จัดเตรียมไว้โดยเฉพาะ
  • ไม่ปล่อยให้เด็กลอยกระทงตามลำพัง
  • เลือกสถานที่ ที่มีความปลอดภัย ตลิ่งไม่สูงชันจนเกินไป
  • ไม่ก้มลงหย่อนกระทงลงน้ำจนต่ำเกินไป เพราะอาจเสียหลักพลัดตกน้ำ
  • ห้ามจุดดอกไม้ไฟใส่ฝูงชน หรือโยนใส่กัน
  • หลีกเลี่ยงการจุดพลุใกล้สายไฟ หรือวัตถุไวไฟต่างๆ
  • หลีกเลี่ยงการปล่อยโคมลอยบริเวณชุมชน เพราะอาจทำให้เกิดเพลิงไหม้
  • ไม่ดื่มของมึนเมาหรือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์

ที่มา : วิกิพีเดีย

อ่านข่าวเพิ่มเติม

ดูข่าวต้นฉบับ