ไลฟ์สไตล์

“แมนสรวง” ชื่อพ่อ-เมือง “พระลอ” แท้จริงคือหลวงพระบาง?

ศิลปวัฒนธรรม
อัพเดต 10 ก.พ. เวลา 18.26 น. • เผยแพร่ 10 ก.พ. เวลา 18.26 น.
วัดใหม่สุวรรณภูมาราม, หลวงพระบาง (ภาพโดย DEZALB จาก Pixabay)

ชื่อ “แมนสรวง”ปรากฏอยู่ในวรรณคดีโบราณของไทยอย่าง “ลิลิตพระลอ” ทั้งในฐานะบ้านเกิดเมืองนอนของพระเอกในเรื่องอย่าง “พระลอ” และเป็นนามของพระบิดา คือ “ท้าวแมนสรวง”

ลิลิตพระลอ ถือเป็นคำบอกเล่าเก่าแก่ เป็นทั้งนิทานและตำนาน อาจเรียกว่าเป็น “นิยายโบราณ” ดี ๆ นี่เอง ความโดดเด่นคือการจบเรื่องแบบชวนสลดหดหู่ใจ เราไม่ทราบว่าบุคคลในเรื่องมีตัวตนอยู่จริงในประวัติศาสตร์หรือไม่ พอจะพิสูจน์ได้เพียงต้นกำเนิดของงานประพันธ์ ซึ่งสันนิษฐานว่าแต่งขึ้นในกรุงศรีอยุธยาตอนต้น ราว ๆ พุทธทศวรรษ 1990-2070 และเรื่องราวอาศัยเค้าโครงจากสังคมและการเมืองในยุคโบราณเมื่อราว พ.ศ. 1700

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

ลิลิตพระลอเล่าถึง พระลอ โอรสท้าวแมนสรวงกับพระนางบุญเหลือ นี่คือครอบครัวฝ่ายพระเอก มีบ้านเมืองชื่อเมือง “แมนสรวง” ชื่อเดียวกับเจ้าเมือง ส่วนฝ่ายนางเอกคือคู่พี่น้อง “พระเพื่อนพระแพง” เป็นธิดาหัวแก้วหัวแหวนของท้าวชัยพิษณุกรกับพระนางดาราวดี ฝั่งนี้มีชื่อบ้านนามเมืองว่า “สรอง”

ก่อนท้าวชัยพิษณุกรจะเถลิงราชย์เป็นเจ้าเมืองสรองนั้น พระบิดาของพระองค์ (ปู่ของพระเพื่อนพระแพง) คือ ท้าวพิมพิสาคร เคยรบทัพจับศึกกับท้าวแมนสรวง ด้วยฝ่ายหลังได้ยกทัพไปล้อมเมืองสรอง เกิดเป็นยุทธหัตถีชนช้างระหว่างสองเจ้า คือ ท้าวแมนสรวง-ท้าวพิมพิสาคร เป็นผลให้ท้าวพิมพิสาครสิ้นชีพในสนามรบ แต่พระโอรส (ท้าวชัยพิษณุกร) เข้ากันพระศพบิดากลับเมืองได้ ฝ่ายท้าวแมนสรวงแม้ปลิดชีพท้าวพิมพิสาครได้ ก็ไม่อาจตีหักเอาเมืองสรองได้ จึงยกทัพกลับเมืองแมนสรวงไป

ความร้าวฉานดังนี้ของผู้เป็นบุพการีย่อมส่งผลต่อพระ-นางอย่าง พระลอ พระเพื่อน-พระแพง อย่างมิอาจหลีกหนีไปได้ แม้ท้าวแมนสรวงจะสิ้นพระชนม์หลังสงครามครานั้นจบลงไม่นาน และพระลอขึ้นครองเมืองแทน แต่เมืองแมนสรวงกับเมืองสรองได้ขึ้นชื่อว่าเป็นอริกันโดยสมบูรณ์แล้ว

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

นี่คือปูมหลังอันร้าวฉานของมหากาพย์ความรักระหว่าง พระลอ กับสองนาง “พระเพื่อนพระแพง” ความขัดแย้งระหว่างสองตระกูล ทำให้พระ-นางตกอยู่ในสถานะความสัมพันธ์แบบ “รักต้องห้าม” ทันที แต่ด้วยความปรารถนาอันรุนแรงของพวกเขา ทำให้มีห้วงเวลาที่ได้สุขสมอารมณ์รัก แต่มิวายจบด้วยความตายแบบ “โศกนาฏกรรม” ที่สะเทือนอารมณ์ผู้อ่านทุกยุคทุกสมัย

กลับมาที่เมืองแมนสรวง อย่างที่กล่าวไปข้างต้นว่า ลิลิตพระลอ มีพื้นหลังเป็นบ้านเมืองสมัยต้นกรุงศรีอยุธยา หรือเก่ากว่านั้น สุจิตต์ วงษ์เทศชี้ว่า “พระลอ อยู่เมืองแมนสรวง คือ เมืองหลวงพระบางในลาว ดินแดนล้านช้าง หลักแหล่งของลาวในตระกูลไทย-ลาว” ส่วน “พระเพื่อน พระแพง อยู่เมืองสรอง คือ เมืองพะเยา ในจังหวัดพะเยา ดินแดนล้านนา หลักแหล่งของลัวะในตระกูลมอญ-เขมร แม่น้ำกาหลง คือ แม่น้ำโขง”

ที่กล่าวดังนั้น เพราะสุจิตต์วิเคราะห์ว่า ความเป็นอริระหว่างเมืองแมนสรวงกับเมืองสรอง คือภาพสะท้อนความขัดแย้งของชาติพันธุ์สองฝั่งโขง เช่น ตระกูลมอญ-เขมร, ตระกูลไทย-ลาว หรือแม้แต่ตระกูลม้ง-เย้า ที่ต้องการอำนาจการควบคุมเส้นทางคมนาคมอย่างแม่น้ำโขง หรือดินแดนลุ่มน้ำโขงในสมัยโบราณ

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

บ่อเกิดความขัดแย้งก็ไม่ใช่เรื่องอื่นไกล แต่คือการเปลี่ยนแปลงและเติบโตทางการค้าทั่วภูมิภาค เมื่อจีนนำเรือสำเภาขนาดใหญ่ออกค้าขายทางทะเลโดยตรงแบบไม่ต้องผ่านพ่อค้าคนกลางดังเช่นในอดีต พ่อค้าชาวจีนที่มาถึงดินแดนแถบอุษาคเนย์ด้วยตนเอง จึงมีความต้องการสินค้าของป่ามากขึ้นตามไปด้วย

ลิลิตพระลอว่าไว้ชัดเจน พระลออยู่เมืองแมนสรวง “ฝั่งตะวันออกของแม่น้ำกาหลง”หากแม่น้ำกาหลงคือแม่น้ำโขง ย่อมหมายความว่า กษัตริย์หนุ่มรูปงามองค์นี้คือเชื้อสาย “แถน” แห่งล้านช้าง และแน่นอนว่า เมืองแมนสรวง คือหลวงพระบาง ศูนย์กลางแต่โบราณของลาวล้านช้าง

หากเราลองพิจารณาคำว่า “สรวง” ใน พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถานให้ความหมายว่า ฟ้า, สวรรค์ หรือ เทวดา แต่ พระยาอนุมานราชธน(ยง เสฐียรโกเศศ) พบว่า สรวง-สวง หมายถึง “ผี” หรือผีร้ายที่มีอำนาจมาก

สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ทรงมีความคิดสอดคล้องกัน ดังว่า “… แมนสรวง ก็แปลว่า ผีฟ้า คือ เทวดา คนเราถือผีเป็นที่ตั้ง god ก็คือผี ทั้งนี้ก็สมด้วยคาถาที่ว่า พหุํ เว สรณํ ยันติ ปัพพตานิ วนานิ จ ก็คือถือผีเข้าว่าเปนสรณะ…”

จะเห็นว่า “แมนสรวง” ยังหมายถึง “เมืองแห่งแถน” หรือเมืองเทวดา-เมืองฟ้าเมืองสวรรค์ได้ด้วย เพราะ “แมน”ก็แปลว่า เทวดา แมนสรวงจึงมีความหมายเดียวกับหลวงพระบาง มีประจักษ์พยานเช่นกันว่า “บาง”แปลว่า ฟ้า นั่นคือชื่อของ “พ่อขุนบางกลางหาว”

เมื่อเชื้อวงศ์เมืองหลวงพระบางเป็นเชื้อสายแถน เป็นผู้เคลื่อนย้ายมาจากเมืองแถน (เชื่อว่าคือบริเวณ เดียนเบียนฟู ภาคเหนือของเวียดนาม) ตามตำนานการอพยพของบรรพชนคนตระกูลไทย-ลาว ใน ตำนานขุนบรม ซึ่งเล่าว่า ขุนบรมเป็นเชื้อสายแถน มีบุตรชาย 7 คน ส่งไปครองเมืองต่าง ๆ บุตรคนโตครองเมืองหลวงพระบางชื่อ “ขุนลอ”

อดคิดไม่ได้จริง ๆ ว่า ผู้แต่ง “ลิลิตพระลอ” ได้แรงบันดาลใจนามพระลอมาจากชื่อในตำนานขุนบรม จึงให้ท้าวแมนสรวง เจ้าเมืองแมนสรวง มีลูกชายชื่อ “พระลอ” …

ความขัดแย้งระหว่าง 2 เมือง (แมนสรวง-สรอง) ในลิลิตพระลอ ยังสะท้อนความขัดแย้งระหว่างสองกลุ่มชาติพันธุ์ คือ ล้านช้างกับล้านนา โดยมีแม่น้ำโขง (แม่น้ำกาหลง) คั่นระหว่างกลางอย่างเหมาะเจาะอีกด้วย

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่

อ้างอิง :

ลิลิตพระลอ.ใน ห้องสมุดดิจิทัลวัชรญาณ. สืบค้นเมื่อ 30 สิงหาคม 2566. (ออนไลน์)

ลิลิตพระลอ, เนื้อเรื่องย่อ. ใน ฐานข้อมูลนามานุกรมวรรณคดีไทย สืบค้นเมื่อ 31 สิงหาคม 2566. (ออนไลน์)

สุจิตต์ วงษ์เทศ. พระลอ อยู่ล้านช้าง(ในลาว) พระเพื่อน พระแพง อยู่ล้านนา(ในไทย) แม่น้ำกาหลง คือ แม่น้ำโขง.วันที่ 3 พฤษภาคม 2564. จากhttps://www.silpa-mag.com/history/article_66656

เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 31 สิงหาคม 2566

อ่านข่าวต้นฉบับได้ที่ : “แมนสรวง” ชื่อพ่อ-เมือง “พระลอ” แท้จริงคือหลวงพระบาง?

ติดตามข่าวล่าสุดได้ทุกวัน ที่นี่
– Website : https://www.silpa-mag.com

ดูข่าวต้นฉบับ