สภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวจังหวัดเชียงใหม่ ชง 5 ยุทธศาสตร์ “Chiang Mai the BIG 5” เสนอนายกฯลงพื้นที่ ประเด็นดึงนักท่องเที่ยวจากจีนตอนใต้ข้ามแดนสู่ภาคเหนือผ่านเส้นทาง R3A โดยใช้โมเดล Cross Border ของด่านสะเดา จังหวัดสงขลา พร้อมดันขยายเวลาให้บริการท่าอากาศยานเชียงใหม่เป็น 24 ชั่วโมง
วันที่ 15 กันยายน 2566 นายพัลลภ แซ่จิว ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ได้เตรียมประเด็นเสนอต่อนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ที่จะเดินทางลงพื้นที่จังหวัดเชียงรายและเชียงใหม่ระหว่างวันที่ 15-17 กันยายน 2566 นี้
ประเด็นที่ 1
คือ แผนยุทธศาสตร์การท่องเที่ยวจังหวัดเชียงใหม่ โดยภาคเอกชน 2567-2570 หรือ Chiang Mai the BIG 5 จัดทำโดยสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวจังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งได้บรรจุเข้าแผนปฏิบัติราชการของจังหวัดเชียงใหม่เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ได้แก่
ยุทธศาสตร์ที่ 1 เชียงใหม่เป็นเมืองมรดกโลก และศูนย์นานาชาติด้านศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้าน ยุทธศาสตร์ที่ 2 เชียงใหม่เป็นจุดหมายปลายทางท่องเที่ยวเทศกาลและการประชุมระดับโลก ยุทธศาสตร์ที่ 3 เชียงใหม่เป็นศิลปะวิทยาการด้านอาหารระดับสากล
ยุทธศาสตร์ที่ 4 ส่งเสริมให้เชียงใหม่เป็นจุดหมายปลายทางเชิงสุขภาพ เมืองพำนักระยะยาวและอยู่สบาย และยุทธศาสตร์ที่ 5 ส่งเสริมให้เชียงใหม่เป็นจุดหมายปลายทางเมืองท่องเที่ยวธรรมชาติและสันทนาการ
โดยสิ่งที่จะขอรับการสนับสนุนจากนายกรัฐมนตรี ได้แก่ 1.แต่งตั้งผู้ทรงคุณวุฒิจากภาคเอกชน และนักวิชาการ ให้คำปรึกษาแก่จังหวัดในการออกแบบโครงการที่ตอบโจทย์ยุทธศาสตร์ทั้ง 5 และ 2.สนับสนุนงบประมาณแก่ยุทธศาสตร์ทั้ง 5 ในช่วงบูรณาการปี 2567-2570
ประเด็นที่ 2
ได้แก่ 1.ยกระดับขีดความสามารถของศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติฯ โดยมีการจัดการด้านการตลาดอย่างมืออาชีพสูงสุด หรือให้เอกชนรับสัมปทานบริหารจัดการ เพื่อสร้างดีมานด์ สู่รายได้ที่ก้าวกระโดด 2.ยกระดับอุทยานหลวงราชพฤกษ์ ให้เป็นแม่เหล็กในการสร้างรายได้จากนักท่องเที่ยว เป็นสถานที่จัดงานอีเวนต์อย่างแท้จริง และดึงดูดเอกชนให้ลงทุนจัดงานอีเวนต์ขนาดใหญ่ตลอดปี
3.ยกระดับเชียงใหม่ไนท์ซาฟารี สู่ version 2 เป็นแหล่งท่องเที่ยวระดับโลก เทียบเท่ากับของเอกชนในพัทยาและภูเก็ต โดยต่อยอดการสร้างกระเช้าลอยฟ้าไปยังดอยสุเทพ และเชื่อมโยงอื่น ๆ ไม่ด้อยไปกว่าสิงคโปร์
ประเด็นที่ 3
นายพัลลภกล่าวต่อว่า ประเด็นนำเสนอที่ 3 ผลักดันให้เชียงใหม่เป็นศูนย์กลางทางด้านคมนาคมทางบก รองรับนักท่องเที่ยวจากจีนตอนใต้ ด้วยเส้นทาง R3A การคมนาคมเพื่อการท่องเที่ยวแม่น้ำโขง การคมนาคมทางบกจากอินเดียสู่อำเภอแม่สอด
ด้วยการปรับกฎระเบียบขั้นตอนราชการ เพื่อให้นักท่องเที่ยวเข้ามายังภาคเหนือได้สะดวก และส่งเสริมด้านสัมปทานให้เอกชนเดินรถ เดินเรือ เพื่อดึงนักท่องเที่ยวเข้าสู่เชียงใหม่และภาคเหนือตอนบนได้อย่างสะดวกขึ้น โดยติดขัดข้อกฎหมายให้น้อยที่สุด
ทั้งนี้ ประเด็นดึงนักท่องเที่ยวจากจีนตอนใต้ข้ามแดน (Cross Border) สู่ภาคเหนือผ่านเส้นทาง R3A ที่อำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย อาจใช้โมเดล Cross Border ของด่านสะเดา จังหวัดสงขลา ที่นักท่องเที่ยวมาเลเซียสามารถเดินทางข้ามแดนมายังจังหวัดสงขลา-หาดใหญ่ได้สะดวก
ซึ่งประชากรในจีนตอนใต้มีจำนวนมาก เฉพาะเมืองคุณหมิงมีมากกว่า 100 ล้านคน แต่กฎหมายต่าง ๆ ในการเดินทางข้ามประเทศเป็นอุปสรรค จำเป็นต้องปรับข้อกฎหมายให้สะดวกขึ้น โดยรัฐบาลทั้ง 2 ประเทศต้องลดอุปสรรคดังกล่าวลง เพื่อดึงนักท่องเที่ยวกลุ่มนี้เข้ามา ซึ่งจะสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจการท่องเที่ยวได้เพิ่มมากขึ้น
ประเด็นที่ 4
สำหรับประเด็นนำเสนอที่ 4 คือ ข้อเสนอการแก้ปัญหาปริมาณนักท่องเที่ยวน้อยในช่วงนอกฤดูกาลท่องเที่ยว (Low Season) ด้วยการใช้โอกาสจากนักท่องเที่ยว 8 ประเทศ เช่น จีน ฮ่องกง ญี่ปุ่น เกาหลี ไต้หวัน เวียดนาม สิงคโปร์ และมาเลเซีย ที่มีเที่ยวบินตรงสู่เชียงใหม่ และปิดเทอมภาคเรียนพร้อมกัน 45-50 วัน ในช่วงเดือนกรกฎาคม-สิงหาคม ด้วยการจัดอีเวนต์ดีไซน์ในระดับสากลเพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวกลุ่มนี้
โดยเฉพาะการชูผลไม้เด่น อาหารพื้นเมือง MICHELIN GUIDE ศิลปวัฒนธรรม ภูมิปัญญาหัตถกรรม และการแสดง และสิ่งที่จะขอรัฐบาลสนับสนุนคือ จังหวัดเชียงใหม่และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน ร่วมกันเป็นเจ้าภาพจัดงาน และประชาสัมพันธ์ล่วงหน้า 6 เดือน ผ่าน ททท.ใน 8 ประเทศ และกลไกของรัฐบาลใน 8 ประเทศดังกล่าว
นายพัลลภกล่าวอีกว่า นอกจากนี้จะได้เสนอประเด็นการขยายเวลาให้บริการท่าอากาศยานเชียงใหม่เป็น 24 ชั่วโมง เพื่อให้ผู้โดยสารและสายการบินได้รับความสะดวกสบายยิ่งขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งจะสามารถรองรับสายการบินต่างประเทศได้เพิ่มมากขึ้นในอนาคต