ทั่วไป

เหตุยิงพารากอน 5 ใน 7 เป็นผู้หญิง เปิดปม Femicide เจตนาเลือกเหยื่อเป็นหญิง

Khaosod
อัพเดต 04 ต.ค. 2566 เวลา 06.36 น. • เผยแพร่ 04 ต.ค. 2566 เวลา 04.49 น.

เหตุยิงพารากอน 5 ใน 7 เป็นผู้หญิง เปิดปม Femicide เจตนาเลือกเหยื่อเป็นผู้หญิง ไม่ใช่เพียงเรื่อง วัยรุ่นเลียนแบบเกม?

สถานการณ์รุนแรงที่เกิดขึ้นในสยามพารากอน ห้างสรรพสินค้าชั้นนำใจกลางกรุงเทพฯ สร้างความกลัว ความวิตกกังวล และความหวาดผวาไปทั่วโลก หลังมีเหตุคนร้ายใช้อาวุธยิงจนทำให้มีผู้เสียชีวิต 2 ราย เป็นนักท่องเที่ยวชาวจีนและชาวเมียนมา รวมถึงมีผู้บาดเจ็บอีก 5 ราย

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

หลังจากสื่อมีการเปิดปมคนร้ายดังกล่าว พบอาการหูแว่ว มีคนสั่งให้ทำ รวมถึงประวัติติดเกม ทำให้เกิดการถกเถียงในประเด็น #อย่าโทษเกมส์ เพราะเกมบางเกมไม่ได้ก่อให้เกิดอันตราย เกมทำให้มีความคิดสร้างสรรค์ สร้างความผ่อนคลาย และสามารถเป็นแรงบันดาลใจให้กับเยาวชนหลายคนได้ ดังนั้น อาจไม่ใช่เพียงประเด็นติดเกมเพียงอย่างเดียว ปมการก่อเหตุอาจมาจากจิตใต้สำนักที่ฝังลึกอยู่ภายในจิตใจ

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

รวมถึงในโลกออนไลน์เริ่มมีการพูดถึงปม Femicide ที่หลายคนสังเกตจากเพศของเหยื่อทั้ง 7 คนที่ 5 ใน 7 คือ เพศหญิง ซึ่งอาจเปลี่ยนจากการกราดยิงที่อาจไม่ระบุเป้าหมายไปเป็นเจตนาเลือกเหยื่อเป็นผู้หญิงแทนทันที หากมีการยืนยันว่า คนร้ายเริ่มก่อเหตุที่ห้องน้ำหญิงเป็นเรื่องจริง ไม่ใช่เพียงเรื่อง ‘วัยรุ่นเลียนแบบเกม’

ในสังคมมีค่านิยมผู้หญิงคือเพศแม่ เป็นเพศที่อ่อนแอ เปราะบาง และต้องได้รับการทะนุถนอมดูแล ทำให้เกิดการเหมารวมความเป็นหญิงที่เพศชายต้องมีหน้าที่ปกป้องและคุ้มครองเพศหญิง ดังนั้น ด้วยลักษณะทางกายภาพที่ผู้หญิงมีความแตกต่างกับผู้ชายจึงมีความเสี่ยงมากกว่าที่คิด

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

ดัง อิตถีฆาต (Femicide) ที่เป็นรูปแบบที่รุนแรงที่สุดของความรุนแรงจากเหตุแห่งเพศ (Gender-based violence: GBV) และถูกกำหนดให้เป็น "การจงใจฆาตกรรมผู้หญิงโดยเจตนาเพียงเพราะพวกเธอคือผู้หญิง" และเป็นพฤติกรรมที่มีปัจจัยทางเพศเป็นหนึ่งในแรงบันดาลใจ โดยส่วนใหญ่ผู้ก่อเหตุมักมีแนวโน้มเป็นผู้ชาย

สาเหตุของอิตถีฆาตอาจเกิดขึ้นจากการเลือกปฏิบัติต่อผู้หญิง, ความสัมพันธ์เชิงอำนาจที่ไม่เท่าเทียมกันระหว่างเพศชายและเพศหญิง, ความรุนแรงในครัวเรือน, บทบาททางเพศแบบเหมารวม, ความเป็นชายเป็นพิษ รวมถึงความเกลียดชังผู้หญิง (Misogyny)

สำนักข่าวมาเธอร์โจนส์ รายงาน การกระทำของผู้ร้ายแทบจะไม่สามารถอธิบายได้อย่างชัดเจนด้วยปัจจัยเดียว ดังนั้น การตอกย้ำแรงจูงใจเบื้องหลังเหตุกราดยิงครั้งใหญ่มักเป็นเรื่องยาก มือปืนส่วนใหญ่มักถูกขับเคลื่อนด้วยความคับข้องใจที่ฝังรากลึก, ความพ่ายแพ้ส่วนบุคคล, ความซึมเศร้า, ความโกรธ, ความอยากฆ่าตัวตาย, ความรุนแรงในครอบครัว และในบางกรณีความผิดปกติทางพฤติกรรมร้ายแรงหรือความเจ็บป่วยทางจิต

จากเอกสารคดี รายงานของสื่อ และการสัมภาษณ์ผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิต พบว่าในเหตุกราดยิงอย่างน้อย 22 ครั้งนับตั้งแต่ปี 2554 มากกว่าหนึ่งในสามของการโจมตีในที่สาธารณะในช่วงแปดปีที่ผ่านมา ผู้กระทำความผิดมีประวัติความรุนแรงในครอบครัวจึงมุ่งเป้าไปที่ผู้หญิงโดยเฉพาะ หรือสะกดรอยตามและคุกคามผู้หญิง

โดยมือปืนสองคนมีจุดเด่นของกลุ่มคนที่เรียกว่า "อินเซล(Incels) " ซึ่งเป็นวัฒนธรรมย่อยของกลุ่มคนที่มีรากฐานความคิดเกลียดชังผู้หญิงจากความเป็นชายเป็นพิษจึงแสดงความโกรธแค้นและจินตนาการแก้แค้นผู้หญิงทางออนไลน์

สำนักข่าวซีเอ็นเอ็นรายงาน อิวานา มิโลวาโนวิช ผู้พิพากษาชาวเซอร์เบียซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านความรุนแรงจากเหตุแห่งเพศ (GBV) กล่าวกับยูเอ็นวูเม็น ซึ่งเป็นองค์กรของสหประชาชาติที่สนับสนุนการเสริมสร้างศักยภาพของผู้หญิงและความเท่าเทียมทางเพศว่า "การฆ่าสตรีควรได้รับการยอมรับว่าเป็นความผิดทางอาญาโดยเฉพาะ"

“การฆ่าผู้หญิงแตกต่างจากการฆาตกรรมรูปแบบอื่น ๆ เพราะเป็นการฆ่าผู้หญิงที่เกี่ยวข้องกับเพศ เพียงเพราะว่าพวกเธอเป็นผู้หญิง สิ่งนี้บ่งชี้ว่าต้นตอของการฆ่าผู้หญิงนั้นแตกต่างจากการฆาตกรรมประเภทอื่น และเกี่ยวข้องกับตำแหน่งโดยทั่วไปของผู้หญิงในสังคม การเลือกปฏิบัติต่อผู้หญิง บทบาททางเพศ การกระจายอำนาจที่ไม่เท่าเทียมกันระหว่างชายและหญิง การเหมารวมทางเพศที่เป็นนิสัย อคติ และ ความรุนแรงต่อสตรี"

แม้ไม่อาจยืนยันอย่างชัดเจนว่า อิตถีฆาตเจตนาเลือกเหยื่อเป็นหญิงเป็นต้นตอของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นครั้งนี้หรือไม่ แต่คงปฏิเสธไม่ได้ว่า แนวคิดเชิงเพศชายเหนือกว่าเพศหญิงมักนำไปสู่ความรุนแรงต่อเพศหญิงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ขอบคุณที่มาจาก Cnn Mother Jones

ดูข่าวต้นฉบับ