สุขภาพ

คัดจมูกน้ำมูกไหล ลองใช้ไซรินจ์ + น้ำเกลือ = ล้างจมูก

The Momentum
อัพเดต 17 ส.ค. 2561 เวลา 18.30 น. • เผยแพร่ 17 ส.ค. 2561 เวลา 07.18 น. • ชนาธิป ไชยเหล็ก

In focus

  • ประสบการณ์ส่วนตัวของผมและงานวิจัยยืนยันว่า ‘การ (สวน) ล้างจมูกด้วยน้ำเกลือ’ ช่วยลดอาการคัดแน่นจมูกได้ชนิดที่ต้องร้องอุทานว่า “โอ้! ซาร่า มันยอดมาก”

  • สิ่งที่ต้องใช้ประกอบด้วย ไซรินจ์(syringe-กระบอกฉีดยา) น้ำเกลือความเข้มข้น 0.9% ของโซเดียมคลอไรด์แบบเดียวกับที่ใช้ล้างแผล และหัวจุกเสียบหัวกระบอกฉีดยาเพื่อช่วยให้กระชับกับรูจมูกมากขึ้น

  • “จะรู้สึกเหมือนสำลักน้ำหน่อยๆ” หมอรุ่นพี่บอกให้เตรียมทำใจไว้ก่อนล่วงหน้า จะได้ไม่ตกใจตอนฉีดน้ำเกลือเข้าไปแล้ว ซึ่งก็เป็นเช่นนั้นจริงๆ แบบเดียวกับตอนฝึกว่ายน้ำหรือเผลอหายใจเข้าตอนล้างหน้า

“ล้างจมูกเป็นไหมครับ” ผมถามคนไข้ เพราะผมเป็นคนหนึ่งที่เคยเป็นผู้ประสบภัยจากอาการคัดจมูกน้ำมูกไหลที่คนป่วยเป็นหวัดกันเยอะช่วงนี้ประสบ ซึ่งไม่ว่าจะสั่งน้ำมูกแรงอย่างไร น้ำมูกเจ้ากรรมก็ออกมาไม่หมดเสียที ถึงจะกินยาแก้แพ้ชนิดง่วง (ต้องเป็นชนิดง่วงเท่านั้น) เช่น คลอเฟนิรามีน หรือ CPM ช่วยให้จมูกแห้งลงแล้ว แต่บางครั้งจมูกยังแน่นจนต้องหายใจทางปากบ้างก็มี

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

นอกเหนือจากเพิ่มการกินยากลุ่มลดอาการบวมของจมูก เช่น ฟินิลเอฟรีน (phenyleprine) ที่ผสมอยู่ในทิฟฟี่เดย์ ดีคอลเจนพริน หรือนาโซแท็ปแล้ว ทั้งประสบการณ์ส่วนตัวของผมและงานวิจัยยืนยันว่า ‘การ (สวน) ล้างจมูกด้วยน้ำเกลือ’ หรือ saline nasal irrigation ช่วยลดอาการคัดแน่นจมูกได้ชนิดที่ต้องร้องอุทานว่า “โอ้! ซาร่า มันยอดมาก”

แต่คนไข้ผู้ใหญ่หลายคนมักจะส่ายหัว

ในขณะที่ผู้ปกครองของเด็กวัย 3-5 ขวบเริ่มรู้จักวิธีการนี้มากขึ้น ซึ่งอย่ากระนั้นเลย เด็กต่างจังหวัดอย่างผมเองก็เพิ่งรู้จักการล้างจมูกเมื่อเข้ามาเรียนหมอตอนชั้นปีที่ 4 นี้เอง

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

“ลองล้างจมูกดูมั้ย” คงได้ยินเสียงผมหายใจฟึดฟัดจากหวัดอยู่ พี่ที่มาเรียนต่อกุมารแพทย์เลยแนะนำผมระหว่างที่เขียนรายงานความก้าวหน้าทางการรักษาอยู่ในเคาน์เตอร์พยาบาล “แบบที่อาจารย์… สอนไง”

ใจหนึ่งก็ลังเลเพราะไม่เคยทำมาก่อน ใจหนึ่งก็อยากให้จมูกโล่ง

ส่วนอีกใจก็นึกขำตอนพี่เอ่ยชื่ออาจารย์ที่เชี่ยวชาญด้านโรคภูมิแพ้ขึ้นมา เพราะถ้าอาจารย์ท่านนี้รับผิดชอบดูแลหอผู้ป่วยเดือนไหน หอผู้ป่วยในเดือนนั้นก็จะกลายเป็นหอผู้ป่วยภูมิแพ้ไปโดยปริยาย ไม่ว่าคนไข้จะนอนโรงพยาบาลด้วยโรคอะไรก็ตาม แต่เมื่อสายตาประดุจเหยี่ยวจ้องหนูตัวเล็กจากบนท้องฟ้าของอาจารย์ได้ตรวจคนไข้แล้ว ก็มักจะพบภาวะน้ำมูกไหลลงคอ อันเป็นอาการแสดงของโรคภูมิแพ้จมูกร่วมด้วยเกือบทุกราย คนไข้เกือบทุกคนจึงได้รับการสอนให้ล้างจมูกเพื่อรักษาอาการภูมิแพ้ และยังนำมาใช้กับการรักษาโรคหวัดได้อีกด้วย

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

ผู้ปกครองของเด็กวัย 3-5 ขวบเริ่มรู้จักวิธีการนี้มากขึ้น ส่วนเด็กต่างจังหวัดอย่างผม เพิ่งรู้จักการล้างจมูกเมื่อเข้ามาเรียนหมอตอนชั้นปีที่ 4 นี้เอง

“จะได้บอกคนไข้ได้ถูกไง” พี่คนเดิมชวนให้ลองทำ พร้อมเสียงยุยงจากเพื่อนๆ ที่นั่งอยู่ด้วยกัน “ไซรินจ์ (syringe-กระบอกฉีดยา) ก็มีอยู่ที่รถฉีดยา”

น้ำเกลือก็ขอยืมที่หอผู้ป่วยไปก่อน” โดยจะต้องใช้น้ำเกลือที่มีความเข้มข้น 0.9% ของโซเดียมคลอไรด์แบบเดียวกับที่ใช้ล้างแผล เนื่องจากมีความเข้มข้นเท่ากับภายในเซลล์ของร่างกาย

ขาดก็แต่หัวจุกเสียบหัวกระบอกฉีดยาที่ต้องซื้อเอง ซึ่งก็สามารถซื้อได้จากหอผู้ป่วยได้เลย เพราะเตรียมไว้ขายคนไข้อยู่แล้ว แต่ถ้าไม่สามารถหาซื้อได้ก็ไม่จำเป็นต้องใช้ เพราะจุกช่วยให้กระบอกฉีดกระชับกับรูจมูกมากขึ้นเท่านั้น

ตัดสินใจได้แล้วผมก็เดินไปซื้อจุกเสียบจากพี่พยาบาลทางด้านหลังเคาน์เตอร์ เป็นอันว่ามีอุปกรณ์ครบแล้ว จึงทบทวนวิธีการกับพี่อีกครั้งเพื่อความมั่นใจ

  • ล้างมือให้สะอาด
  • เทน้ำเกลือลงแก้วน้ำ เสียบจุกยางเข้ากับไซรินจ์ แล้วดูดน้ำเกลือเข้ามาเต็มหลอดขึ้นกับขนาด 10-20 มิลลิลิตร
  • ถ้ายังไม่เคยใช้ไซรินจ์มาก่อน แนะนำให้ลองดูด-ฉีดน้ำเกลือลงแก้วให้คุ้นมือก่อน จะได้ประมาณความแรงและความเร็วในการฉีดน้ำเกลือให้พุ่งเป็นสายต่อเนื่องกันได้
  • ก้มหน้าเข้าหาอ่างล้างหน้า เสียบจุกหรือปลายไซรินจ์เข้ากับรูจมูก ชี้ออกด้านข้างหรือชี้ไปทางหางตาข้างเดียวกัน มิฉะนั้นเวลาฉีดน้ำเกลือจะไปชนกับผนังกั้นจมูกแทนที่จะตรงเข้าไปในโพรงจมูก
  • กลั้นหายใจ (บางตำราให้หายใจทางปาก) แล้วฉีดน้ำเกลือเข้ารูจมูกทีละข้างตามที่ได้ซักซ้อมจนคุ้นมือแล้ว ซึ่งถ้าใครยังไม่เคย เช่น ผมเคยสอนคุณแม่ล้างจมูก ท่านก็จะกล้าๆ กลัวๆ ในขั้นตอนนี้ ทำให้ฉีดน้ำเกลือไม่แรงพอที่จะชะล้างน้ำมูกออกมาทางรูจมูกอีกข้างหนึ่ง
  • ทำเช่นเดียวกันนี้กับจมูกอีกข้างหนึ่ง และทำซ้ำได้จนกว่าจะรู้สึกโล่ง

“จะรู้สึกเหมือนสำลักน้ำหน่อยๆ” หมอรุ่นพี่บอกให้เตรียมทำใจไว้ก่อนล่วงหน้า จะได้ไม่ตกใจตอนฉีดน้ำเกลือเข้าไปแล้ว ซึ่งก็เป็นเช่นนั้นจริงๆ แบบเดียวกับตอนฝึกว่ายน้ำหรือเผลอหายใจเข้าตอนล้างหน้า แต่ด้วยสัญชาตญาณของร่างกาย เราก็จะสั่งน้ำเกลือที่ค้างอยู่ในโพรงจมูกพร้อมกับน้ำมูกที่ค้างอยู่ออกมาได้อย่างง่ายดาย

จำได้ว่าผมสวนล้างจมูกสลับกันเพียงข้างละรอบก็เป็นอิสรภาพจากอาการคัดแน่นจมูกอย่างเหลือเชื่อ และติดใจขอทำซ้ำอีกรอบให้จมูกโล่งขึ้นอีกเหมือนเป็นเรื่องสนุกมากกว่าจะกังวลแบบทีแรก (เสียดายน้ำเกลือที่เทเตรียมไว้แล้วก็ส่วนหนึ่ง ฮ่าๆ)

“จะรู้สึกเหมือนสำลักน้ำหน่อยๆ”

นับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา เวลาเป็นหวัดคัดจมูก ผมก็จะนึกถึง “ไซรินจ์ + น้ำเกลือ = ล้างจมูก” ก่อนตลอด และไม่ลืมที่จะแนะนำคนรู้จักหรือคนไข้โรคหวัดคัดจมูกให้ฝึกล้างจมูกด้วยทุกครั้งที่เข้ามาตรวจ เพราะนอกจากจะล้างเอาน้ำมูกออกมาแล้ว ยังเชื่อว่าช่วยกระตุ้นการทำงานของเยื่อบุโพรงจมูกได้ดีขึ้นอีกด้วย ยิ่งเดี๋ยวนี้มีขวดล้างจมูกสำเร็จรูปขายตามร้านขายยาก็ช่วยให้การล้างจมูกสะดวกยิ่งขึ้นไปอีก

“ล้างจมูกเป็นไหมครับ” ผมถามคนไข้ ถ้าเป็นอยู่แล้ว ผมก็จะสั่งอุปกรณ์กลับให้ไปทำเลย แต่อาจจะต้องลองถามเพิ่มหน่อยว่า “ล้างยังไง” เพราะบางคนอาจเข้าใจผิดว่าเพียงการใช้ผ้าเช็ดหน้าหรือกระดาษชำระเช็ดล้างในรูจมูก

ส่วนถ้าคนไข้ส่ายหัว ผมก็จะเปิดคลิปในอินเทอร์เน็ตพร้อมกับพูดสอนไปด้วย

สำหรับเด็กเล็ก 1-6 ขวบ ก็สามารถทำแบบเดียวกันนี้ได้ แต่ให้ผู้ปกครองเป็นคนช่วยฉีดน้ำเกลือให้

ในขณะที่เด็กอายุน้อยกว่านี้ให้ใช้น้ำเกลือหยอดรูจมูกทีละข้าง ข้างละ 2-3 หยด ให้น้ำเกลือละลายน้ำมูกที่ติดค้างอยู่ แล้วใช้ลูกยางแดงดูดน้ำมูกออกมาแทน

ว่าแล้วก็ลองทำตามกันดูได้เลยครับ

ดูข่าวต้นฉบับ
ความเห็น 10
  • Phimmie
    กล้าๆกลัวๆอยู่เหมือนกัน ไม่กล้าฉีดน้ำแรงกลัวสำลักน้ำมูกลงคอตนเอง แต่ขอบคุณสำหรับบทความค่ะ
    18 ส.ค. 2561 เวลา 14.41 น.
  • บอกวิธีเล่าวนไปวนมาชะยาวเลยยย
    17 ส.ค. 2561 เวลา 21.21 น.
  • เขียนยืดยาด ยืดยาว เยิ่นเย้อ ไม่เข้าเรื่องทั้งที่มีอยู่นิดเดียว ตัดท่อนกลางออกไปเลย
    18 ส.ค. 2561 เวลา 17.26 น.
  • ล้างให้ลูกสาวประจำตะ้งแต่4เดือนตอนนี้2ขวบกว่าเป็นหวัดก็ล้าง
    18 ส.ค. 2561 เวลา 16.14 น.
  • mom
    ดีจริงๆค่ะ ในโพรงจมูกจะเหม็นมาก ลูกชายเป็นภูมิแพ้ กลิ่นจะหายเหม็นคาว คนไม่เป็นก้อล้างได้
    20 ส.ค. 2561 เวลา 11.26 น.
ดูทั้งหมด