ทั่วไป

โอ้ชีวิต! คนปกติเดินทางในกรุงเทพฯ ยังลำบาก! แล้ว “คนนั่งวีลแชร์” จะลำบากขนาดไหน

TheHippoThai.com
เผยแพร่ 27 ส.ค. 2561 เวลา 05.00 น.

โอ้ชีวิต! คนปกติเดินทางในกรุงเทพฯยังลำบาก! แล้ว คนนั่งวีลแชร์” จะลำบากขนาดไหน

แค่พูดถึงคำว่า “การเดินทาง” ในกรุงเทพฯ หลายๆคนก็คงจะนึกถึงความเหนื่อยล้า เบื่อหน่าย การจราจรที่ติดขัด แท็กซี่ปฏิเสธผู้โดยสาร รถไฟฟ้า…มาช้านะเธอ วินมอร์เตอร์ไซค์โก่งค่ารถ…เรียกได้ว่าระบบการคมนาคมในประเทศเรานั้นห่างไกลจากคำว่า “สะดวกสบาย” มากนัก…แต่จะเป็นอย่างไร ถ้าหากเรามาลองให้ผู้ที่ลำบากในการเดินทางเช่นผู้ใช้วีลแชร์นั้นลองรีวิวการเดินทางในกรุงเทพฯดู 

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

วันนี้เราได้รับเกียรติจาก "จ๊ะจ๋า จิณจุฑา จุ่นวาที"สาวน้อยหน้าสวยรวยอารมณ์ขันที่มีดีกรีเป็นถึง รองอันดับสองมิสวีลแชร์ไทยแลนด์ 2012 และ คนพิการต้นแบบมารีวิวถึงประสบการณ์การใช้ชีวิตกับการเดินทางในกรุงเทพฯ ในฐานะตัวแทนผู้ใช้วีลแชร์ให้พวกเราได้รับรู้กัน 

ชีวิตที่ไม่ลงตัว  

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

“จ๊ะจ๋าเป็นโรคกระดูกเปราะค่ะ คือกระดูกจะหักง่ายกว่าคนอื่น สมมติว่าถ้านั่งอยู่บนโซฟาแล้วตกลงไป กระดูกก็อาจจะร้าว หรือไม่ก็หักได้เลย…ก็เลยต้องเป็นคนที่ระมัดระวังตัวมากเป็นพิเศษ” 

“วัยเด็กจะไม่ค่อยมีปัญหาเรื่องการเดินทางเท่าไหร่ เพราะเราตัวเล็ก คุณแม่ก็จะอุ้มออกจากบ้าน ขึ้นรถเมล์บ้าง ขึ้นเรือบ้าง พอโตขึ้น เราก็เข้าโรงเรียนเฉพาะทางสำหรับผู้พิการ เขาก็จะสอนวิธีใช้วีลแชร์อย่างถูกต้อง สอนให้เรารู้จักสภาพร่างกายของตัวเอง 

อย่างจ๊ะจ๋าเป็นโรคกระดูกเปราะ เวลาจะเดินทาง จะออกไปไหน เราก็เลยต้องเลือกการเดินทางที่มีความเสี่ยงน้อยที่สุดค่ะ” 

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

ทุกวันนี้เดินทางมาทำงานยังไง? 

“จ๊ะจ๋าทำงานอยู่กระทรวงอุตสาหกรรม…ส่วนใหญ่ก็มาทำงานด้วย Grab ค่ะ สลับกับรถไฟฟ้าบ้าง ถ้าเป็น Grab ค่าโดยสารก็จะแพงนิดนึง ส่วนถ้าเป็นรถไฟฟ้า BTS หรือ MRT เนี่ย เราจะมีสวัสดิการคนพิการ คือไม่เสียค่าเดินทาง ใช้บัตรคนพิการยื่นให้เขาแล้วบอกสถานีค่ะ”

 ปัญหาการเดินทางใน “กรุงเทพฯ” 

“จริงๆแล้วสวัสดิการคนพิการในเรื่องของการเดินทางถือว่าดีนะคะ เพราะว่าเราสามารถโดยสารรถไฟฟ้าได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย แต่ก็ยังมีบางอย่างที่เป็นอุปสรรคที่ทำให้เราไม่สามารถเดินทางอยู่บ้างค่ะ คือภาครัฐออกมาสนับสนุนให้คนพิการออกมาใช้ชีวิตนอกบ้านนะ แต่บางทีสภาพการคมนาคมมันไม่เอื้ออำนวยให้เราดำรงชีวิตด้วยตนเองเลย” 

รถเมล์ไทย…ไม่ใช่ทางเลือกสำหรับผู้พิการ  

สำหรับผู้พิการในประเทศไทย การขึ้นรถเมล์เป็นเรื่องที่ยากมากนะคะ ทั้งๆที่เป็นการขนส่งมวลชนที่ควรจะเข้าถึงประชาชนได้ทุกคน เพราะไม่ใช่ทุกคนที่จะอยู่ใกล้สถานีรถไฟฟ้า ไม่ใช่ทุกคนที่จะมีเงินมากพอที่จะเรียก Grab หรือ Taxi ได้ตลอด แต่ปัญหาที่พบก็คือรถเมล์ยังไม่มีสิ่งอำนวยความสะดวกที่จะรองรับผู้พิการ, ผู้ใช้วีลแชร์ตรงนี้”  

“อย่างจ๊ะจ๋ากับคุณแม่เคยอยากลองประหยัดค่าเดินทางดู วันนั้นแทนที่จะเรียกแท็กซี่ ก็เลยลองขึ้นรถเมล์กัน ปรากฏว่าพอลองขึ้นจริงๆ  กระเป๋ารถเมล์มาบอกเราว่า ‘ลงไปได้ไหม’ แล้วก็ ‘ไปนั่งข้างหลังได้ไหม มันเกะกะ’ เพราะว่าเราใช้วีลแชร์ ซึ่งเราก็…(พูดไม่ออก) แต่จริงๆแล้วมันเป็นสิทธิของเรา…ก็เลยนั่งต่อไป แต่หลังจากวันนั้นก็ไม่ได้ใช้บริการรถเมล์อีกเลยค่ะ” 

แท็กซี่ไม่ค่อยรับต้องเรียกGrab ราคาสูง 

 “การเรียกแท็กซี่เป็นเรื่องที่ยากลำบากมากค่ะ สำหรับคนใช้วีลแชร์ บางคันเขาเห็นว่าเราใช้วีลแชร์เขาจะไม่รับเลย เพราะเขาต้องคอยมาพับแล้วยกขึ้นใส่ข้างหลัง ซึ่งเขาก็คงไม่ค่อยอยากจะมาบริการเรา บางคันก็กลัวเบาะขาด แล้วขนาดเรียก Grab ถ้าเกิดว่าเราบอกเขาว่าเราเป็นคนใช้วีลแชร์ บางคันก็จะขอให้เรากดยกเลิกเลยค่ะ หลายๆครั้งต้องรอเป็นชั่วโมงๆเลย” 

 BTS/ MRT บางสถานีไม่มีลิฟท์คนพิการ  

“BTS/ MRT บางสถานีเขาจะไม่มีลิฟท์คนพิการ หรือบางสถานีก็ลิฟท์เสีย ขัดข้องอะไรแบบนี้น่ะค่ะ เราไม่สามารถคาดเดาได้เลย…ส่วนเวลาขึ้นโดยสารบนรถก็อาจจะมีปัญหาบ้างตรงที่บางคนเขาจะไม่เข้าใจว่าทำไมต้องเว้นที่ไว้ให้คนพิการ คือที่จอดสำหรับผู้พิการเขาจะมีสายล็อกล้อรถเข็นให้น่ะค่ะ ซึ่งปกติแล้วเวลาเข้าไปเราก็จะได้จอดรถเข็นตรงนั้น แต่บางคนเขาไม่เข้าใจ เขาก็จะไม่เว้นที่ให้” 

ชีวิตที่ต่างประเทศแตกต่างอย่างไร 

“ตอนช่วงเรียนมหาลัยฯ จ๊ะจ๋าเคยไปแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมที่อินเดียในฐานะตัวแทนคนพิการประเทศไทย เป็นโครงการที่ให้คนพิการทั่วโลกมาประชุมกันเพื่อแลกเปลี่ยนความรู้กันค่ะ ก็ไปอยู่ที่นั่นสองสัปดาห์ เลยได้มีโอกาสใช้ชีวิตที่นั่น” 

“การเดินทางค่อนข้างต่างจากที่บ้านเรานะคะ คือเหมือนที่อินเดียเขาจะเน้นให้ทุกคนเท่าเทียมกัน เขาก็เลยจะออกแบบทุกอย่างมาเพื่อให้เราสามารถช่วยเหลือตัวเองได้ อย่างเช่นเวลาขึ้นรถเมล์ รถเมล์ของเขาก็จะมีระบบไฮดรอลิก (ประตูอัตโนมัติ) ที่กางลงมาเพื่อรับเรา แล้วคนขับเขาก็จะไม่เร่ง คือจะรอจนกว่าเราจะขึ้นรถเสร็จเรียบร้อยก่อนโดยไม่มีการกดดัน” 

 “พื้นถนนบ้านเขาก็ค่อนข้างเรียบค่ะ เวลาเราจะเดินทางไปไหน บนทางเท้าก็เลยจะค่อนข้างสะดวกกว่า…แต่ที่แตกต่างก็อาจจะเป็นคนบ้านเขาก็จะไม่ได้มีน้ำใจมาคอยไต่ถาม ช่วยเหลือ จะค่อนข้างตัวใครตัวมัน อาจจะเป็นเพราะว่าเขาถือว่าเราเท่าเทียมกัน ก็เลยพยายามให้เราพึ่งพาตัวเองให้มากที่สุดค่ะ”

อะไรคือสิ่งที่ควรปรับปรุงเร่งด่วนที่สุดสำหรับ “ผู้ใช้วีลแชร์” ? 

“อยากได้ถนนค่ะ…ถนนที่เรียบ ที่พื้นถนนสม่ำเสมอกัน เพราะต่อให้การเดินทางจะสะดวกสบายแค่ไหน พอไปถึงที่แล้วพื้นถนนก็ยังขรุขระ ข้างหนึ่งเป็นทางต่างระดับ อีกข้างหนึ่งเป็นทางลาด บางที่ไม่มีสะพานลอยสำหรับข้าม บางที่เราต้องข้ามถนนกลางสี่แยก บางที่มีบ่อน้ำ มันก็ไร้ประโยชน์…สุดท้ายแล้วเราก็ต้องเดินทางโดยที่ไปลุ้นเอาอยู่ดีว่า เมื่อลงสถานีนี้แล้วเราจะเดินทางไปถึงที่หมายต่อได้หรือไม่” 

“สิ่งที่สำคัญที่สุด ไม่ใช่การที่ผู้พิการได้สิทธิพิเศษเหนือคนอื่น แต่เป็นการที่เราจะสามารถใช้ชีวิตร่วมกันได้อย่างเท่าเทียม อย่างที่สำหรับคนพิการ หรือลิฟท์สำหรับคนพิการ ก็ไม่ใช่ว่าคนทั่วไปจะใช้ไม่ได้ เราไม่อยากให้เกิดการแบ่งแยกกัน ถ้าเกิดจะมีการปรับปรุงสวัสดิการอะไรก็แล้วแต่ เราอยากให้ตั้งอยู่บนพื้นฐานของความคิดนี้ค่ะ”

ความเห็น 44
  • BREATH OF GAME
    ไม่ใช่เฉพาะอินเดีย ยุโรปยังคิดค้นรถเมล์เพื่อคนพิการเลยครับ มีแต่พี่ไทยเนี่ยละ เห็นที่จอดรถคนพิการไม่ได้รีบจอดเลย(ทั้งที่ไม่มีคนพิการ) แต่กุเห็นบินไปดูงาน ตปท.จริงๆ แต่บ้านเมืองทรุดลงๆ
    27 ส.ค. 2561 เวลา 02.49 น.
  • แดง
    ไม่เฉพาะคนพิการนะที่เดินทางลำบาก คนสูงอายุก็ขึ้นรถเมล์ยากมาก
    27 ส.ค. 2561 เวลา 03.06 น.
  • ประเทศไทยยังต้องพัฒนาอีกเยอะมากๆๆๆๆๆๆ
    27 ส.ค. 2561 เวลา 03.12 น.
  • นี่ไงที่ควรปรับปรุง ไม่ใช่แต่จะจ้องเพิ่มค่าปรับ มีหลายอย่างที่ต้องทพแต่แม่งไม่ทำ ถนนหลุมก็เยอะ ไม่รู้อันไหนทาวเท้าทางรถ มั่วไปหมดแต่ไม่ปรับปรุง ..คิดเยอะๆนะเจ้านาย
    27 ส.ค. 2561 เวลา 03.43 น.
  • NaaT
    เห็นแก่ตัว ขายชาติ บ้าอำนาจ
    27 ส.ค. 2561 เวลา 05.04 น.
ดูทั้งหมด