ไอที ธุรกิจ

ส่งออกข้าวไทยส่อ "วิกฤต" หนักสุดในรอบ 6 ปี

TNN ช่อง16
อัพเดต 21 พ.ย. 2562 เวลา 02.00 น. • เผยแพร่ 21 พ.ย. 2562 เวลา 02.00 น. • TNN Thailand
สถานการณ์การส่งออก “ข้าวไทย” เมื่อเทียบกับคู่แข่ง หลังจาก 9 เดือนของปีนี้การส่งออกข้าวไทยลดลง 28% และมูลค่าในรูปเงินบาทลดลง 24% จากสาเหตุหลักค่าเงินบาทแข็ง และคู่แข่งตีตลาด

ปีนี้นับเป็นที่ยากลำบากที่สุดอีกปีหนึ่ง สำหรับการส่งออก “ข้าวไทย” หลังจากล่าสุดปริมาณส่งออกข้าวของไทยลดลงอย่างหนัก และต่ำสุดในรอบ 6 ปี โดยมีสาเหตุจากค่าเงินบาทที่แข็งค่าและคู่แข่งรุกตีตลาดข้าวไทยอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ 9 เดือนแรกปีนี้ไทยสูญเสียตลาดไปแล้วมากกว่า 2 ล้านตัน

ขณะเดียวกัน ในการประชุมข้าวโลกปีล่าสุด (world rice conference 2019) ที่กรุงมะนิลา ประเทศฟิลิปปินส์ ปรากกฎว่า “ข้าวหอมมะลิไทย” ที่ขึ้นชื่อว่าเป็นข้าวที่ดีที่สุดในโลก พ่ายแพ้ให้กับข้าวหอมมะลิเวียดนาม พันธุ์ “เอสที 24”  หรือข้าวพันธุ์ “หลกเจ่ย 28” ที่ปีนี้คว้าตำแหน่งข้าวที่ดีที่สุดในโลกไป (the World's Best Rice award 2019) 

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

การสูญเสียตลาดส่งออกข้าวไทยให้กับ "คู่แข่ง" และการที่ “ข้าวหอมมะลิ” หล่นมาอยู่อันดับ 2 ในการประกวดข้าวโลกเป็นปีที่ 2 ติดต่อกัน หลังจากปีที่แล้วพ่ายแพ้ให้กับข้าวหอมมะลิกัมพูชา “ลีอังกอร์” และปีนี้พ่ายแพ้ให้กับข้าวมะลิเวียดนาม จากที่ก่อนหน้านี้ ข้าวหอมมะลิไทยคว้าแชมป์ข้าวที่ดีที่สุดในโลกในปี 2559-60 และปี 2552-54 รวมแล้ว 5 ปีจาก 10 ปีที่ผ่านมา   

สัญญาณตรงนี้สะท้อนว่าข้าวไทยกำลังเผชิญกับ “วิกฤติ” แล้วหรือไม่ หรือเป็นเพียงสถานการณ์ชั่วคราว และปีหน้าการส่งออกข้าวไทยจะกลับมาได้หรือไม่ เราจะมาวิเคราะห์กันครับ/ค่ะ

หากไม่นับปี 2556-57 ซึ่งเป็นรัฐบาลมีโครงการรับจำนำข้าวเปลือกทุกเม็ด จนข้าวสารส่วนใหญ่ไหลมาอยู่ในสต๊อกรัฐบาล และทำให้ไทยส่งออกข้าวไม่ถึง 7 ล้านตัน ลดลงจากปีก่อนหน้านี้ที่ไทยส่งออกข้าวได้สูงถึง 9-12 ล้านตัน

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

จะพบว่า 9 เดือนแรกของปี 62 (ม.ค.-ก.ย.62) ไทยส่งออกข้าวได้เพียง 5.93 ล้านตัน ลดลง 28.1% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ไทยส่งออกข้าวได้ 8.25 ล้านตัน หรือลดลง 2.32 ล้านตัน และมูลค่าอยู่ที่ 9.7 หมื่นล้านลดลง 24.6% เมื่อเทียบกับปีก่อนที่มูลค่าอยู่ที่ 1.32 แสนล้านบาท หรือเม็ดเงินหายไปมากกว่า 3.5 หมื่นล้านบาท

โดยสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย ระบุว่า สาเหตุที่ทำให้การส่งออกข้าวไทยลดลงอย่างมาก เป็นเพราะค่าเงินบาทที่แข็งค่า ทำให้ราคาข้าวไทยสูงกว่าคู่แข่ง และขายได้ยาก เพราะหากไปดูค่าเงินบาทจะพบว่า ณ สิ้นปี 61 ค่าเงินบาทอยู่ที่ 32.55 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ และแข็งค่าต่อเนื่องเป็น 31 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ และปัจจุบันเงินบาทแข็งค่ามาอยู่ที่ 30.18 บาท/ดอลาร์สหรัฐ แข็งค่ามากกว่า 2 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ หรือแข็งค่ามากกว่า 7% เมื่อเทียบกับต้นปี 

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

นอกจากนี้ เมื่อพิจาณาปริมาณการส่งออกข้าวเป็นรายประเทศ จะพบว่าคู่แข่งส่งออกข้าวรายสำคัญอย่างเวียดนาม สามารถส่งออกได้เพิ่มขึ้น 5.9% ในช่วง 9 เดือนแรกของปีนี้ และหากไปดูปริมาณการส่งออกจะพบว่าเวียดนามส่งออกข้าวได้ 5.2 ล้านตัน หรือเรียกได้ว่าไล่หลังไทยมาติดๆ และอาจแซงหน้าไทยได้ในปีนี้ 

เนื่องจากฟิลิปปินส์ ซึ่งเคยเป็นตลาดส่งออกข้าวอันดันต้นๆของไทย โดยปี 61 ฟิลิปปินส์นำเข้าข้าวไทย 1.1 ล้านตัน คิดเป็นมูลค่า 406 ล้านดอลาร์สหรัฐ 

แต่ในปีนี้ ฟิลิปปินส์กลับนำเข้าข้าวจากไทยไม่ถึง 3 แสนตัน และมูลค่าลดลงเหลือ 112 ล้าน หรือลดลง 72% ในขณะที่ปีนี้เวียดนามกลายเป็นผู้ส่งออกข้าวอันดับ 1 ของฟิลิปปินส์ไปแล้ว โดย 8 เดือนแรกของปี 62 (ม.ค.-ส.ค.62) เวียดนามส่งออกข้าวไปฟิลิปปินส์แล้ว 1.76 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 290% และมูลค่าส่งออกอยู่ที่ 720 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือมูลค่าเพิ่มขึ้น 260% 

ในขณะที่จีน ซึ่งเคยเป็นผู้นำเข้าข้าวรายใหญ่ของโลกและจากไทย ได้ทยอยระบายสต็อกข้าวที่มีอยู่กว่า 100 ล้านตัน ออกมาอย่างต่อเนื่องในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ส่งผลให้ในช่วง 9 เดือนแรกของปีนี้ จีน ส่งออกข้าวไปต่างประเทศแล้ว 2.15 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 56.3% เมื่อเทียบกับปีก่อน ขณะที่กระทรวงเกษตรฯสหรัฐ หรือ USDA ประเมินว่าปีนี้จีนจะส่งออกข้าว 3.2 ล้านตัน จากปีก่อนที่การส่งออกข้าวจีนอยู่ที่ 1.8 ล้านตัน 

โดยตลาดส่งออกข้าวที่สำคัญของจีน คือ ตลาดในแถบแอฟริกา ซึ่งมีไทยและอินเดียเป็นเจ้าตลาดอยู่เดิม แต่ด้วยราคาข้าวขาวจีนที่มีราคาถูกกว่าข้าวไทย 100 ดอลลาร์ฯ/ตัน ส่งผลให้จีนรุกคืบเข้ายึดตลาดข้าวในแถบแอฟริกาได้ไม่ยากเย็นนัก 

เช่นเดียวกัน เมียนมาร์ อดีตมหาอำนาจส่งออกข้าวโลกเมื่อ 50 ปีก่อน มีการส่งออกข้าวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องหลังจากเปิดประเทศ ซึ่งล่าสุดเมียนมาร์ติด 1 ใน 10 ประเทศที่ส่งออกข้าวมากที่สุดในโลก และแม้ว่าปีล่าสุด (ต.ค.61-ก.ย.62) เมียนมาร์จะส่งออกข้าวได้เพียง 2.29 ล้านตัน ลดลง 36% เมื่อเทียบกับปีก่อน แต่ในช่วง 2 ปีหลังเมียนมาร์ส่งออกข้าวได้สูงถึง 3-3.6 ล้านตัน

นอกจากนี้ เมื่อพิจารณาข้อมูลย้อนหลังไป 3 ปี หรือตั้งแต่ปี 2559-61 จะพบว่าไทยเสียแชมป์ส่งออกข้าวไปให้กับอินเดียเป็นปีที่ 3 แล้ว และปี 62 อินเดียก็ส่งออกข้าวแซงหน้าไทยเช่นกัน โดยข้อมูลจากกระทรวงพาณิชย์ ระบุว่า ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.-18 ส.ค.62 อินเดียส่งออกข้าวไปแล้ว 7 ล้านตัน 

ขณะเดียวกัน สต็อกข้าวอินเดีย ณ วันที่ 1 ต.ค.62 ที่สูงถึง 27.63 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 40% เมื่อเทียบกับปีก่อนที่อยู่ที่ 19.74 ล้านตัน ทำให้อินเดียมีศักยภาพที่จะระบายข้าวออกสู่ตลาดเป็นจำนวนมากได้ต่อเนื่อง 

เหล่านี้สะท้อนได้ว่าการส่งออกข้าวไทยเผชิญกับการแข่งขันที่รุนแรงในทุกตลาด และเริ่มสูญเสียตลาดอย่างเนื่อง ที่สำคัญในขณะที่ข้าวขาวไทยราคาแพงกว่าข้าวคู่แข่งในเกรดเดียวกันไม่ว่าจะเป็นเวียดนาม ปากีสถาน อินเดีย และจีน อย่างน้อย 40-50 ดอลลาร์สหรัฐ บวกกับค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้น ยิ่งทำให้สถานการณ์ส่งออกข้าวไทยยังไม่มีสัญญาณดีขึ้น 

ขณะที่ "การพัฒนาพันธุ์ข้าว" จะพบว่าในขณะที่หลายประเทศเร่งพัฒนาพันธุ์ข้าวให้มีคุณภาพดี และมีผลผลิตเพิ่มขึ้น เช่น การพัฒนาข้าวขาวพื้นนุ่ม เช่น ข้าวนางฮวา, เอสที 21 ,เอสที 24, ดีที 8 พร้อมๆกับพันธุ์ข้าวหอมมะลิอย่างพันธุ์ "เอสที 26"

แต่ในส่วนของไทยกลับมีการพัฒนานาพันธุ์ข้าวขาวเพียงไม่กี่พันธุ์ ส่วนข้าวหอมมะลิ 105 จะพบว่า 10 ปีที่ผ่านมาแทบไม่มีการพัฒนาพันธุ์เลย จุดแข็งที่เคยมี เช่น มีกลิ่นหอม นุ่ม พองตัว และอร่อยเป็นเวลาสองชั่วโมงหลังจากที่ข้าวสุก เริ่มได้เปรียบข้าวหอมมะลิพันธุ์อื่นๆน้อยลง  

และด้วยคุณภาพข้าวเวียดนามที่มีพัฒนาการดีขึ้นต่อเนื่อง โดยเฉพาะการพัฒนาพันธุ์ข้าวหอมมะลิ "เอสที 24" ซึ่งมีเมล็ดยาวมีความเหนียวนุ่ม แม้ความหอมจะน้อยกว่าข้าวหอมมะลิไทย แต่มีความหวานมากกว่า จนชนะใจกรรมการในการประกวดข้าวโลกปีล่าสุด ประกอบกับข้าวหอมมะลิเวียดนามราคาถูกกว่าข้าวไทยแบบครึ่งต่อครึ่ง 

กล่าวคือ ในขณะที่ข้าวหอมมะลิไทยมีราคา 1,200 ดอลลาร์สหรัฐ แต่ข้าวหอมมะลิเวียดนามราคาอยู่ที่เพียง 500-600 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน ส่งผลให้ข้าวหอมมะลิเวียดนามแย่งชิงส่วนแบ่งตลาดข้าวพรีเมียมไทยในหลายตลาด เช่น ตลาดฮ่องกงที่ข้าวหอมมะลิไทยเคยครองส่วนแบ่งตลาด 90-95% แต่วันนี้ส่วนแบ่งลดเหลือ 40-50% โดยมีข้าวหอมมะลิเวียดนามและกัมพูชาเข้ามาแทนที่ 

ขณะที่ในปีหน้า 2563 การส่งออกข้าวไทยน่าจะยังอยู่ในสถานการณ์ที่ไม่ค่อยสู้ดีนัก เนื่องจากค่าเงินบาทยังคงแข็งค่าต่อเนื่อง และมีแนวโน้มว่าเงินบาทอาจหลุด 30 บาท/ดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งจะทำให้ข้าวไทยแข่งขันได้ยาก ขณะเดียวกันการแข่งขันที่รุนแรงจะทำให้ข้าวไทยสูญเสียตลาดส่งออกข้าวอย่างต่อเนื่อง 

ทั้งนี้ กระทรวงเกษตรสหรัฐฯ หรือ USDA คาดว่า ในปี 63 แม้ว่าความต้องการข้าวโลกจะเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะจากแอฟริกาและตะวันออกกลาง แต่อินเดีย จีน เวียดนาม สหรัฐ เมียนมาร์ จะมีการส่งออกข้าวเพิ่มขึ้น โดยอินเดียจะเป็นผู้ส่งออกข้าวอันดับ 1 คือ อินเดีย 12 ล้าน ไทย 8.5 ล้านตัน เวียดนาม 6.7 ล้านตัน ปากีสถาน 4 ล้านตัน จีน 3.6 ล้านตัน สหรัฐฯ 3.1 ล้านตัน เมียนมา 2.5 ล้านตัน และกัมพูชา 1.4 ล้านตัน

แม้ว่าขณะนี้การส่งออกข้าวไทยยังไม่อยู่ในภาวะ "วิกฤต" รุนแรง แต่ต้องถือว่าวันนี้การส่งออกข้าวไทยและแม้แต่ข้าวไทยกำลังถูกผลักไปอยู่ปากเหว ซึ่งนั่นหมายถึงรายได้ของประเทศและชาวนาที่ได้จากการส่งออกไทยจะลดลงเรื่อยๆ และส่งผลกระทบต่อชาวนาไทยปัจจุบันที่มีจำนวนกว่า 4.1 ล้านครัวเรือน

เกาะติดข่าวที่นี่
website: www.TNNThailand.com 
facebook : TNNThailand
twitter : @TNNThailand
Line : @TNNThailand
Youtube Official : TNNThailand

ดูข่าวต้นฉบับ
ความเห็น 291
  • Buppha a
    เราผลิตข้าวเอง... แต่คนไทยกินข้าวแพง...ที่ดินที่ปลูกข้าวดีๆไม่ส่งเสริม ..เอาไปทำเป็นโรงงานอุตสาหกรรม..เห็นแล้วเสียดาย..
    23 พ.ย. 2562 เวลา 04.52 น.
  • THIRASAN
    กรมวิชาการการเกษตรคร้าบบบบ ตื่นได้แล้ววววว ทำงานนนนน อย่ามัวนอนอม......อยู่ ชาวนา ตะตายห่ากันทั้งประเทศแล้ววววว
    22 พ.ย. 2562 เวลา 05.21 น.
  • Kunchit
    ข้าวแพง คุณภาพกากๆ ใครจะซื้อแดก
    22 พ.ย. 2562 เวลา 02.11 น.
  • Rong
    มันไม่ใช่พึ่งมาหนักเอาในปีนี้ มันหนักมาเรื่อยไม่ตั้งแต่ปี 2558 แล้ว และก็จะหนักต่อไปจนกว่าคนไทยจะอดตายหมด
    22 พ.ย. 2562 เวลา 02.05 น.
  • Prakob Panichkul
    ก็ไม่เห็นแปลก,วิธีแก้ไขคือยุบกระทรวงเกษตร.!🤣🤣🤣🤣
    22 พ.ย. 2562 เวลา 02.00 น.
ดูทั้งหมด