ไลฟ์สไตล์

บันทึกเรื่อง “ทุเรียน” ในประวัติศาสตร์ไทย ลาลูแบร์บอก “กลิ่นเกินทน”

ศิลปวัฒนธรรม
อัพเดต 04 เม.ย. 2566 เวลา 02.39 น. • เผยแพร่ 03 เม.ย. 2566 เวลา 11.07 น.
ทุเรียน ผลไม้ที่หลายคนชื่นชอบ (ภาพจาก https://www.matichon.co.th)

ความดีงามของฤดูร้อนอย่างหนึ่งก็คือมีผลไม้หลายชนิดให้เลือกกิน ซึ่ง “ทุเรียน” คือหนึ่งในผลไม้ยอดฮิต มีความแรงทั้งเรื่องราคาและกลิ่น หากใครไม่ชอบก็ถึงขั้นเบือนหน้าหนีเอาได้ง่ายๆ อย่าง “ลาลูแบร์” ที่บอกว่า ทุเรียนนั้นมีกลิ่นเกินทน!

ทุเรียน เป็นผลไม้ที่เป็นที่รู้จักและบริโภคในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มาตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์ แต่ในโลกตะวันตกนั้น ทุเรียนกลับเป็นที่รู้จักมาเพียงระยะเวลา 600 ปีเท่านั้น โดยครั้งแรกสุดชาวยุโรปรู้จักทุเรียนจากบันทึกของนิกโกเลาะ ดา กอนตี (Niccolò Da Conti) ที่เดินทางท่องเที่ยวไปในภูมิภาคดังกล่าว ในช่วงระยะเวลาคริสต์ศตวรรษที่ 15 [1]

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

ในเมืองไทย คนไทยกินทุเรียนกันมานาน อย่างน้อยที่สุดก็ตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา โดยมีบันทึกของ ลาลูแบร์ ราชทูตจากฝรั่งเศส เป็นหลักฐาน เขาเขียนถึงทุเรียนไว้ตอนหนึ่งว่า [2]

“ผล Durion ในภาษาสยามว่า ทุเรียน (Tourien) เป็นผลไม้ที่มีผู้ชอบบริโภคกันมากในชมพูทวีป แต่ข้าพเจ้ารู้สึกว่าทนไม่ไหวเพราะกลิ่นอันเลวร้ายของมัน ผลไม้ชนิดนี้มีขนาดเท่าๆ กับแตงไทยของเราหุ้มด้วยเปลือกมีหนามเหมือน ผลเซท์นัท (châtaigne) มีพูหลายพูเหมือนขนุน แต่ใหญ่ขนาดเท่าไข่ไก่ เป็นเนื้อผลไม้ที่เขาใช้บริโภคกัน ข้างในมีเมล็ดอีกเมล็ดหนึ่ง ในทุเรียนผลหนึ่งยิ่งมีจํานวนพูน้อยลงเท่าใด ก็จะยิ่งมีรสชาติดีมากขึ้นเท่านั้น แต่ไม่มีน้อยกว่า 3 พูเลย” [เน้นโดยผู้เขียน]

ส่วนการแพร่กระจายพันธุ์ของทุเรียนในสมัยธนบุรีถึงรัตนโกสินทร์นั้น สารานุกรมฉบับเยาวชน [3] บันทึกไว้ว่า

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

“พระยาแพทย์พงศาวิสุทธาธิบดี (สุ่น สุนทรเวช) ได้กล่าวถึงการแพร่กระจายพันธุ์ของทุเรียน จากจังหวัดนครศรีธรรมราช มายังกรุงเทพฯ ตั้งแต่ประมาณ พ.ศ. 2318 และมีการทำสวนทุเรียนในตำบลบางกร่าง ในคลองบางกอกน้อยตอนใน มาตั้งแต่ พ.ศ. 2397 ในระยะต้น เป็นการขยายพันธุ์ด้วยเมล็ด และพัฒนามาเป็นการปลูกด้วยกิ่งตอน จากพันธุ์ดี 3 พันธุ์ คือ อีบาตร ทองสุก และการะเกด”

แต่ชาวสวนจำนวนหนึ่งก็พบปัญหาว่าไม่สามารถหากิ่งตอนจากพันธุ์ดีได้ จึงต้องขยายพันธุ์ด้วยเมล็ดมาตั้งแต่ พ.ศ. 2397 จนกระทั่งก่อนเกิดน้ำท่วมใหญ่ใน พ.ศ. 2485 รวมระยะเวลากว่า 80 ปี ทำให้เกิดทุเรียนพันธุ์ลูกผสมจำนวนมาก และมีการขยายพันธุ์ปลูกในที่ต่างๆ

เมื่อเกิดน้ำท่วมใหญ่ใน พ.ศ. 2485 ทุเรียนหลายสายพันธุ์ ในเขตจังหวัดนนทบุรี และธนบุรีสูญหาย เพราะสวนล่ม บางสวนที่รอดจากน้ำท่วมกลายเป็นแหล่งพันธุ์ แต่เนื่องจากการขยายพันธุ์ปลูก ทำได้ไม่รวดเร็วพอ เกษตรกรจึงต้องใช้เมล็ดเป็นพันธุ์ปลูก ทำให้ได้ทุเรียนพันธุ์ลูกผสมเพิ่มเติม

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

คาดว่า “ทุเรียน” คงเป็นผลที่ได้รับความนิยมมาก “วชิรญาณวิเศษ” จึงเตือนให้ระมัดระวัง “การเรอ” หลังจากกินทุเรียนไว้ [4]

“ประการหนึ่ง ควรที่ไทยผู้ดีจะรวังตนจงหนัก ในเวลาที่เข้าไปอยู่ในพวกผู้ดี ห้ามอย่าให้เรอส่งกลิ่นอาหารซึ่งได้บริโภค โดยถือว่าโอชารส แต่เปนที่รังเกียจแก่ท่านผู้อื่น เช่นกระเทียมดองหรือทุเรียนเปนต้นนั้นจงกวดขัน ถ้าเวลามีกิจจะเข้าไปในที่ประชุม ก็ควรจะงดเว้นเสียไม่บริโภค หรือชำระอย่าให้มีกลิ่นฟุ้งไปให้ปรากฎแก่มหาชนได้” [เน้นโดยผู้เขียน]

ถึงวันนี้ “ทุเรียน” ที่คนส่วนใหญ่กินและคุ้นเคยมักเป็น หมอนทอง, ชะนี และก้านยาว ทว่า เรายังมีทุเรียนรสดี, เนื้อละเอียด, กลิ่นหอมชวนกินอีกหลายชนิด แต่มีขายน้อยหรือไม่มีขายเลย เพราะไม่ค่อยรู้จักขายยาก, มีผลผลิตน้อยไม่พอส่งมาขายในตลาดขนาดใหญ่ ฯลฯ

พระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร) บันทึกไว้ใน “พรรณพฤกษากับสัตวาภิธาน” [5] ลองดูว่ามีกี่ชนิดที่ท่านผู้อ่านเคยล้มลองมาแล้ว

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่

เชิงอรรถ :

[1] เว็บไซต์คลังข้อมูลสารสนเทศระดับภูมิภาค (ภาคใต้) สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์กรมหาชน) สืบค้นเมื่อ 10 เมษายน 2563

[2] มองซิเออร์ เดอ ลาลูแบร์ (เขียน), สันต์ ท.โกมลบุตร (แปล), จดหมายเหตุ ลาลูแบร์ ราชอาณาจักรสยาม, สำนักพิมพ์ศรีปัญญา, พิมพ์ครั้งที่ 4 พ.ศ. 2557

[3] เว็บไซต์สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ สืบค้นเมื่อ 10 เมษายน 2563

[4] วชิรญาณวิเศษ, เล่มที่ 9 แผ่นที่ 37 วันที่ 12 กรกฎาคม ร.ศ. 113

[5] พระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร), พรรณพฤกษากับสัตวาภิธาน, โรพิมพ์พิพรรฒธนากร พ.ศ. 2471

เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 10 เมษายน 2563

ดูข่าวต้นฉบับ
ความเห็น 5
  • ปีนี้ทุเรียนคงจะถูกลงนะจะกินให้หนำใจเลย
    10 เม.ย. 2563 เวลา 14.59 น.
  • ยาที่มาขายกันทุกวันนี้แก้. โรค. จะบอกให้ว่า ถ้าพวกคุณหันมากินพักสดผักต้ม. ปลา. ไม่กินข้าว ไม่กินขนม. แป้ง. และจิตวิญญาณ. ตั้งใจจริง. โรคเบาหวานความดันเก๊าท์. ความอ้วนหายสิ้น. อยู่ที่ปาก. เรา. อย่าซื้อ ยาอะไรทั้งนั้นที่มันขาย. มี. คนทำได้แล้ว. ทุกโรคเขาหายหมด
    10 เม.ย. 2563 เวลา 12.16 น.
  • Anonymous
    สมัยนั้นไข่ไก่ท่าจะฟองใหญ่เท่าทุเรียน
    10 เม.ย. 2563 เวลา 15.46 น.
  • CHENLIYU
    เพิ่งออกเงาะโลละ40 อร่อยพอใช้ลูกใหญ่เปลือกหนา ที่ขอนแก่น
    10 เม.ย. 2563 เวลา 15.16 น.
  • รอกินเงาะกับมังคุด รอดูด้วยว่าจะกิโลละเท่าไหร่ 🤣🤣🤣🤣🤣
    10 เม.ย. 2563 เวลา 15.10 น.
ดูทั้งหมด