SMEs-การเกษตร

เลี้ยงกวางเป็นสัตว์เศรษฐกิจ เพื่อนำเขาอ่อนกวางไปใช้ประโยชน์ ตอบโจทย์คนรักสุขภาพ

เทคโนโลยีชาวบ้าน
อัพเดต 26 ก.ย 2564 เวลา 02.07 น. • เผยแพร่ 26 ก.ย 2564 เวลา 01.58 น.

การเลี้ยงกวางเชิงพาณิชย์นั้น ผู้เลี้ยงไม่ต้องการเพียงแค่ขายหนังกับเนื้อที่นำมาใช้ประโยชน์เท่านั้น แต่ต้องการนำเขากวางอ่อนมาแปรรูปด้วยการหมักในแอลกอฮอล์และการผลิตเป็นเม็ดแคปซูลเพื่อป้อนตลาด “คนรักสุขภาพ” เพิ่มมากขึ้น เนื่องจากเขากวางอ่อนอุดมด้วยแร่ธาตุ วิตามิน แคลเซียม ฮอร์โมน และกรดที่จำเป็นต่อร่างกายมากมาย ช่วยบำรุงร่างกาย รวมทั้งรักษาอาการป่วยบางชนิดได้ ธุรกิจการเลี้ยงกวางจึงตอบโจทย์ตลาดลูกค้าในกลุ่มนี้ได้อย่างตรงเป้า

นายสัตวแพทย์วิศุทธิ์ เอื้อกิ่งเพชร หัวหน้างานศึกษาและพัฒนาด้านปศุสัตว์ ศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพาน อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดสกลนคร กล่าวว่า ที่ผ่านมามีชาวบ้านออกล่ากวางป่าเพื่อนำมาใช้ประโยชน์ในการเป็นอาหาร แล้วยังนำเขากวางไปปรุงเป็นยาเพิ่มสมรรถภาพทางเพศตามความเชื่อโบราณ หากปล่อยให้เป็นเช่นนี้ต่อไปนอกจากจะเป็นการทำผิดกฎหมายแล้ว อีกไม่นานประชากรกวางในป่าคงไม่เหลือแน่นอน

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

กรมปศุสัตว์ให้การสนับสนุนกวางพันธุ์รูซ่าจากต่างประเทศที่มีขนาดใหญ่ ให้ศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพานฯ นำไปเลี้ยงสาธิต เพื่อศึกษาความเป็นไปได้ในการเลี้ยงกวางของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และศึกษาหาความคุ้มทุนในการเลี้ยง เพื่อเป็นทางเลือกสำหรับเกษตรกรที่มีความพร้อมด้านทุนทรัพย์แต่มีพื้นที่จำกัด พร้อมถ่ายทอดความรู้ในกระบวนการแปรรูปเขากวางอ่อนเชิงพาณิชย์ด้วย

กวางพันธุ์รูซ่า มีจุดเด่นเรื่องเนื้อกวางที่มีไขมันปริมาณค่อนข้างต่ำและมีไขมันประเภทอิ่มตัว คอเลสเตอรอลที่เป็นสาเหตุไขมันอุดตันในเส้นเลือดน้อยมาก แถมในเนื้อกวางยังมีกรดไขมันที่จำเป็นต่อร่างกายในปริมาณค่อนข้างสูงเหมาะกับการนำมาเลี้ยงบริโภคเชิงพาณิชย์

หลังทดลองเลี้ยงเป็นเวลา 2 ปี กวางรูซ่าสามารถให้ลูกได้ปีละ 1 ตัว ปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมได้ดีอย่างมีคุณภาพ ทางศูนย์จึงเลี้ยงกวางพันธุ์รูซ่าร่วมกับกวางม้าของไทย เพื่อนำมาผสมพันธุ์เพื่อจะได้สายพันธุ์ไทย-เทศเกิดขึ้น ทำให้เลี้ยงได้ง่ายแบบไทยๆ แล้วมีขนาดใหญ่แบบกวางเทศ พร้อมกับได้เขากวางที่มีคุณภาพอีกด้วย

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

ปัจจุบันศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพานมีแม่พันธุ์กวางจำนวน 60 ตัว และพ่อพันธุ์จำนวน 40 ตัว กวางในศูนย์ภูพานทุกตัวถูกเลี้ยงในแบบธรรมชาติจากพืช ใบไม้ และหญ้าที่ล้วนมีแต่ความสะอาด ไม่มีปนเปื้อนสารเคมี และน้ำที่ใช้เลี้ยงกวางถูกส่งมาจากบนภูเขา จึงถือว่าเป็นการเลี้ยงกวางอย่างถูกต้อง ไม่ต้องเลี้ยงให้หรูหรา ขณะเดียวกัน ได้มีการส่งเสริมให้ชาวบ้านนำไปเลี้ยง พร้อมแนะนำการเลี้ยงที่ถูกต้องแบบประหยัดต้นทุนต่ำแล้วมีคุณภาพผลผลิตด้วย

คุณอุบล บุญศร เจ้าหน้าที่ประจำศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพาน บอกว่า สัดส่วนตัวผู้/เมีย ในการใช้ผสมพันธุ์ คือตัวผู้ 1 ตัว กับตัวเมียจำนวน 15-20 ตัว หลังจากนั้น ลูกที่เลี้ยงได้สัก 2 ปี จึงนำมาใช้ผสมพันธุ์ ทั้งนี้ พ่อพันธุ์ที่ใช้ผสมกับแม่พันธุ์จะต้องใช้วิธีสลับฝูงไม่ให้ซ้ำกัน จากนั้นจึงค่อยคัดตัวผู้ที่มีความสมบูรณ์ที่สุดต่อไป

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

คอกที่ใช้เลี้ยงเป็นลักษณะคอกรวมทั้งสายพันธุ์ อายุ และเพศ เพื่อให้กวางทุกตัวมีความสมบูรณ์ ภายในคอกเลี้ยงมีรางน้ำ รางอาหารไว้ให้กวางกินอย่างพอเพียง อาหารหลักของกวางคือใบไม้และหญ้า ส่วนอาหารข้นมักจะให้ช่วงหน้าแล้งที่ขาดแคลนพืช ข้อดีของกวางรูซ่าคือเลี้ยงง่าย ไม่มีโรคร้าย นอกจากชาวบ้านจะเลี้ยงกวางเพื่อใช้บริโภคหรือขายเป็นรายได้แล้ว การตัดเขาอ่อนเพื่อนำไปแปรรูปเป็นยาบำรุงร่างกาย เป็นอีกช่องทางหนึ่งที่ช่วงสร้างรายได้ที่ดี

คุณหมอวิศุทธิ์ เล่าว่า แต่เดิมชาวบ้านมักล่ากวางป่าแล้วตัดเขาไปดองสุราใช้ดื่มเพื่อเพิ่มพลังทางเพศ ซึ่งพฤติกรรมเช่นนี้ไม่เพียงส่งผลกระทบต่อความอยู่รอดของกวาง ยังรวมถึงจำนวนประชากรกวางป่าที่เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ในไม่ช้า

“โดยทั่วไปอาชีพหรือธุรกิจการเลี้ยงกวางเพื่อตัดเขาอ่อนจะต้องใช้เงินจำนวนหลักแสน หลักล้านบาทที่เป็นต้นทุนค่ากวางและค่าคอกตัด แต่สิ่งที่ทางศูนย์ภูพานฯ ดำเนินงานตามพระประสงค์ของในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่สนับสนุนให้ใช้เทคโนโลยีตลอดจนอุปกรณ์แบบง่ายๆ ที่สามารถหาได้ท้องถิ่น โดยไม่ต้องไปหาซื้อสิ่งของที่มีราคาแพง ฉะนั้น คอกตัดที่สร้างในศูนย์แห่งนี้จึงมีราคาถูกมาก ใช้เงินน้อยมาก ถือเป็นต้นทุนต่ำจริงในราคาหมื่นกว่าบาท อย่างวัสดุที่ใช้เป็นตาข่ายธรรมดา ใช้ไม้อัดเก่าที่เป็นเศษไม้หรือสังกะสีเก่า โดยไปหาซื้อมาจากร้านขายของเก่า”

ศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพานได้ทดลองนำเขากวางอ่อนมาใส่ในสุรา เนื่องจากต้องการใช้สุราเป็นตัวทำละลายที่ดีและดื่มได้ ควรใช้สุราขาวมากกว่าสุราสีเพราะสุราขาวมีประสิทธิภาพในการใช้ดองเขากวางอ่อนได้อย่างมีคุณภาพและปลอดภัย สำหรับสุราขาวต่างประเทศ ควรใช้ “เหล้าวอดก้า” เพราะมีคุณสมบัติเหมาะสมมากที่สุด หลังทำออกมาแล้วได้คุณภาพดี กลิ่นไม่แรง

ขั้นตอนการตัดเขากวางอ่อน เริ่มจากต้อนกวางที่มีความเหมาะสมเข้ามาภายในคอก ทำความสะอาดเขากวางให้เรียบร้อย เพราะหลังตัดแล้วต้องรีบเก็บทันทีเพื่อให้เกิดความสด ทั้งนี้ หลังจากตัดเขาอ่อนออกแล้วกวางยังคงใช้ชีวิตอยู่ได้ตามปกติ กวางแต่ละตัวสามารถตัดเขาได้นานถึง 10-12 ปี และใช้เขาอ่อนได้ 8-10 ครั้ง ทั้งนี้ ในปีหนึ่งตัดเขากวางจำนวนหลายสิบตัว

เขากวางอ่อนที่เพิ่งตัด ประกอบด้วยขนอ่อน กระดูกอ่อนและเลือด ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่ต้องการ  หลังจากตัดเขากวางอ่อนเรียบร้อยแล้ว แยกเลือดที่อยู่ในเขาอ่อนหยดลงในขวดเหล้าครั้งละ 3-5 ซีซี พร้อมกับนำชิ้นส่วนเขากวางอ่อนที่สไลซ์เป็นแผ่นแช่ลงไป 4-5 ชิ้นต่อขวด นำไปเก็บไว้ทิ้งไว้นานประมาณ 3 เดือนจึงนำมาใช้ได้

เขากวางอ่อนที่ผ่านกระบวนการดองกับสุรามีความเชื่อกันว่าเมื่อดื่มแล้วจะช่วยในเรื่องสมรรถนะทางเพศชาย แต่ความจริงแล้วจากผลการวิเคราะห์ทางห้องปฏิบัติการหรือแม้แต่การแพทย์แผนไทยพบว่าภายในเขาอ่อนของกวางมีคุณสมบัติเด่นช่วยเสริมสร้างความแข็งแรงในด้านการตกไข่ของเพศหญิง ตลอดจนช่วยในเรื่องการสร้างความแข็งแรงในการฝังตัวอ่อน

กล่าวโดยสรุปคือช่วยเรื่องการตั้งครรภ์ ในกรณีคนที่มีบุตรยาก นอกจากนี้ ยังมีสรรพคุณช่วยลดการอักเสบของเส้นเอ็นและกล้ามเนื้อได้ มีบางรายนำเขาอ่อนไปใช้รักษาอาการอัมพาต ที่นอนติดเตียงเป็นเวลานาน

นอกจากเขากวางอ่อนจะถูกผลิตออกมาในรูปแบบของเหลวแล้ว ยังนำไปบดเป็นผงใส่แคปซูลเพื่อสะดวกต่อการรับประทานอีกด้วย พบว่าลูกค้าหลายรายที่ซื้อไปรับประทานได้ผลจนมีทายาทตามความคาดหวังโดยไม่ต้องเสียเงินมากมาย เพียงแค่ลงทุนซื้อ ราคากระปุกละ 500 บาทเท่านั้น และผลสำเร็จที่เกิดขึ้นเช่นนี้ทำให้ทีมงานทุกคนมีความดีใจมากที่เป็นส่วนหนึ่งในการสร้างความสำเร็จสมหวัง

“สิ่งที่ทางศูนย์ภูพานมีความตั้งใจคือต้องการเผยแพร่หรือแนะนำให้เกษตรกรรู้จักการเพาะ-เลี้ยงกวางอย่างประหยัดและคุ้มค่า ตลอดจนนำเขากวางไปแปรรูปเพื่อเพิ่มมูลค่า ฉะนั้น ในทุกกระบวนการที่แสดงถึงวิธีการทำในแต่ละขั้นตอนจึงต้องการเผยแพร่ให้ชาวบ้านได้รับรู้อย่างเต็มที่” คุณหมอวิศุทธิ์ กล่าว

ผู้สนใจสามารถเข้าเยี่ยมชมศึกษาและดูงานกิจกรรมต่างๆ ของศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพาน อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ตั้งอยู่บ้านนานกเค้า ตำบลห้วยยาง อำเภอเมือง จังหวัดสกลนคร โทร. 042-712-975 โทรสาร 042-712-945

……………………………………..

เผยแพร่ในระบบออนไลน์เป็นครั้งแรก เมื่อวันที่ 12 เมษายน 2560

ดูข่าวต้นฉบับ