ทั่วไป

จัดอันดับมหา’ลัยโลก 2021 “ม.มหิดล” ขึ้นที่ 1 ไทย

สยามรัฐ
อัพเดต 03 ก.ย 2563 เวลา 08.30 น. • เผยแพร่ 03 ก.ย 2563 เวลา 08.22 น. • สยามรัฐออนไลน์

Times Higher Education World University Rankings 2021 จัดอันดับให้ได้คะแนนรวมดีสุดเป็นอันดับ 1 ของไทย ทั้งในภาพรวม-ด้านวิจัย ขณะติดอันดับโลกที่ 601-800

ศาสตราจารย์ นายแพทย์บรรจง มไหสวริยะ อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล เปิดเผยว่า Times Higher Education (THE) สถาบันจัดอันดับมหาวิทยาลัยโลกจากประเทศสหราชอาณาจักร ได้จัดอันดับมหาวิทยาลัยชั้นนำของโลกต่อเนื่องเป็นปีที่ 17 นับตั้งแต่ปี 2004 โดยพิจารณาจากตัวชี้วัดคุณภาพ 5 ด้าน คือ การเรียนการสอน (Teaching) ร้อยละ 30, การวิจัย (Research) ร้อยละ 30, การอ้างอิงงานวิจัย (Citations) ร้อยละ 30, รายได้ทางอุตสาหกรรม (Industry Income) ร้อยละ 2.5 และความเป็นนานาชาติ (International Outlook) ร้อยละ 7.5

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

ทั้งนี้ ผลจากการจัดอันดับ Times Higher Education World University Rankings 2021 ปรากฏว่า มหาวิทยาลัยมหิดลเป็นอันดับที่ 1 ของประเทศไทยในภาพรวม (Overall Ranking) โดยอยู่ในอันดับโลกที่ 601 – 800 ในช่วงคะแนน 30.2 – 36.3 และเป็นอันดับที่ 1 ของประเทศไทย ด้านวิจัย (Research Pillar) โดยอยู่ในอันดับโลกที่ 577 ด้วยคะแนน 22.3 (ดูรายละเอียดที่เว็บไซต์ https://www.timeshighereducation.com/news/world-university-rankings-2021…)

ในการอบรม “โครงการติดอาวุธให้นักวิจัยรุ่นใหม่ ผ่านโครงการ Multi Mentoring System” รุ่นที่ 5 เมื่อเร็วๆ นี้ ณ ห้องกันภัยมหิดล ศูนย์ประชุมมหิดลสิทธาคาร มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา จัดโดย กองบริหารงานวิจัย สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล เพื่อเสริมสร้างศักยภาพให้กับนักวิจัยรุ่นใหม่ ศาสตราจารย์ นายแพทย์บรรจง มไหสวริยะ อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล ได้เป็นประธานกล่าวเปิดอบรมและบรรยายในหัวข้อ “ความสำคัญของ University Ranking และบทบาทของนักวิจัยรุ่นใหม่” โดยได้กล่าวถึงการจัดอันดับ (Ranking) ว่า เป็นเพียงส่วนหนึ่งของการประเมินภาพรวมของมหาวิทยาลัยบนเวทีโลกเท่านั้น

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

ในความเป็นจริงแล้วภารกิจของมหาวิทยาลัยในฐานะสถาบันอุดมศึกษาคือ การเรียนการสอน การผลิตผลงานวิจัย และนวัตกรรม โดยมีการถ่ายทอดเทคโนโลยี (Knowledge Transfer) และผลิตผลงานวิจัย-นวัตกรรมตามความต้องการของสังคม (Social Contribution) เป็นหลัก เพื่อมุ่งสู่ความเป็นเลิศ (Excellence) ซึ่งในด้านการเรียนการสอนมหาวิทยาลัยได้ตระหนักถึง “คุณภาพ” ของหลักสูตรด้วย

เนื่องจากในการพัฒนามหาวิทยาลัยตามวิสัยทัศน์ของการมุ่งสู่มหาวิทยาลัยโลกนั้น ต้องมีหลักสูตรที่ได้รับการยอมรับในระดับนานาชาติ ซึ่งจะเป็นการเพิ่มโอกาสให้นักศึกษาในการศึกษาต่อระดับนานาชาติ นอกจากนี้ มหาวิทยาลัยยังมีภารกิจในการสร้างโจทย์วิจัยและพัฒนานวัตกรรมที่มีมาตรฐานสูง ให้ได้รับการตีพิมพ์ในระดับชาติและนานาชาติ และเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาประเทศ เพื่อมุ่งแก้ไขปัญหาของประเทศอีกด้วย

ดูข่าวต้นฉบับ