ไลฟ์สไตล์

เปิดปมโศกนาฏกรรมสุดพลิกล็อกของชีวิตรัก "นางงาม" เมืองคอน 2479

ศิลปวัฒนธรรม
อัพเดต 16 ม.ค. 2566 เวลา 04.14 น. • เผยแพร่ 15 ม.ค. 2566 เวลา 23.05 น.

โศกนาฏกรรมที่จังหวัดนครศรีธรรมราชเมื่อปี 2480 นับเป็นข่าวใหญ่ของประเทศ เพราะเป็นคดีฆาตกรรมนางงามคดีแรกของไทย หญิงสาวผู้น่าเห็นใจผู้นั้นคือ นางสาวยินดี มกติ นางงามนครศรีธรรมราช ประจำปี 2479 เธอผู้ต้องจบชีวิตด้วยน้ำมือชายผู้เป็นที่รัก

สานสัมพันธ์ฉันหนุ่มสาว

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

นางสาวยินดี มกติ อายุ 20 ปี บุตรสาวคนโตของนายกี้กับนางส้มเอี่ยม มกติ เป็นชาวตำบลท่าวัง อำเภอเมือง จังหวัดนครศรีธรรมราช นางสาวยินดีเป็นครูอยู่ที่โรงเรียนสตรีประจำจังหวัด (ปัจจุบันคือโรงเรียนกัลยาณีศรีธรรมราช) เธอพบรักกับนายเฉลิม สรวิสูตร์ ข้าราชการหนุ่มจากเมืองกรุงฯ ที่ย้ายมารับราชการที่ภาคใต้

นายเฉลิม อายุ 30 ปี เป็นบุตรคนที่ 4 จาก 6 คน ของหลวงขยันสรการกับนางขยันสรการ อาศัยอยู่ย่านสะพานเทเวศร์ กรุงเทพฯ นายเฉลิมเป็นคนมีลักษณะนิสัยสงบเสงี่ยม เรียบร้อย พูดน้อย เขามีความสามารถในด้านบัญชีระดับหัวแถว เป็นข้าราชการหนุ่มผู้มากความสามารถ ในปี 2478 ได้มารับราชการเป็นเจ้าหน้าที่ประจำแผนกตรวจเงินแผ่นดินภาค 4 (จังหวัดสงขลา) โดยเขาได้ดูแลพื้นที่จังหวัดนครศรีธรรมราช ด้วยเหตุนี้เองจึงทำให้นายเฉลิมกับนางสาวยินดีมีโอกาสรู้จักสนิทสนมกัน

แม้ว่าระยะทางจังหวัดนครศรีธรรมราช-สงขลาจะอยู่ห่างกัน แต่นั่นก็ไม่ได้เป็นอุปสรรคความรักของหนุ่มสาวทั้งสอง เมื่อใดที่มีเวลาว่าง นายเฉลิมจะรีบเดินทางมาหานางสาวยินดีเสมอ การมาหาคนรักนั้น นายเฉลิมจะใช้เวลาอยู่กับเธอทั้งวันที่บ้านของฝ่ายหญิง เมื่อถึงเวลาค่ำก็จะไปนอนพักตามบ้านเพื่อนหรือโรงแรมบ้าง นายเฉลิมกระทำการเช่นนี้เสมอมาจนได้รับความไว้วางใจจากบ้านของฝ่ายหญิง ในที่สุดนายเฉลิมจึงขอหมั้นนางสาวยินดี และกำหนดจัดงานแต่งงานในเดือนมีนาคมในปีหน้า คือปี 2480

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

นางสาวสยาม-นางงามเมืองคอน

หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง รัฐบาลได้จัดให้มีงานฉลองรัฐธรรมนูญ และประกวด “นางสาวสยาม” ทำให้หลายจังหวัดริเริ่มจัดประกวดนางงามประจำจังหวัดเพื่อส่งเป็นตัวแทนเข้าร่วมประกวดนางสาวสยามที่กรุงเทพฯ ในช่วงเดือนธันวาคมของทุกปี จังหวัดนครศรีธรรมราชก็ได้จัดประกวดนางงามประจำจังหวัดเช่นกัน โดยจัดประกวดนางงามในงานเทศกาลประเพณีสารทเดือนสิบ ซึ่งมักจะตรงกับเดือนกันยายน

ในปี 2479 นี้เอง การประกวด “นางสาวนครศรีธรรมราช” จัดขึ้นในช่วงวันที่ 12-16 กันยายน ตัวแทนสาวงามจากหลายพื้นที่ถูกส่งเข้ามาประชันกันอย่างคึกคัก สร้างกระแสความตื่นตัวให้กับการประกวดนางงามในพื้นที่อย่างมาก สาวงามหลายคนที่มาจากหลายหน่วยงานถูกหมายตาและร้องขอให้เข้าร่วมประกวด หนึ่งในนั้นคือ นางสาวยินดี ครูสาวแห่งโรงเรียนสตรีประจำจังหวัด

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

ในการประกวดนางสาวนครศรีธรรมราชมีสาวงามเข้ารวมประกวดกว่า 17 คน ด้วยความที่นางสาวยินดีมีรูปร่างหน้าตาสะสวยและผิวพรรณขาวนวล เธอจึงคว้ามงกุฎนางสาวนครศรีธรรมราช ประจำปี 2479 ไปครอง และเป็นตัวแทนของจังหวัดเข้าร่วมประกวดนางสาวสยามที่กรุงเทพฯ

การประกวดนางงามในยุคนั้นนอกจากจะสร้างเกียรติยศชื่อเสียงแก่ครอบครัวและวงศ์ตระกูลแล้ว ยังช่วยสร้างชื่อให้กับจังหวัด เพราะถือเป็นการส่งเสริมและสนับสนุนรัฐธรรมนูญและการปกครองระบอบประชาธิปไตยของรัฐบาล ซึ่งนายเฉลิมก็ทราบในเรื่องนี้เป็นอย่างดี และได้ยินยอมให้คู่หมั้นเข้าร่วมประกวดนางสาวสยาม

การประกวดนางสาวสยามมีขึ้นในช่วงวันรัฐธรรมนูญในเดือนธันวาคม โดยแบ่งการประกวดออกเป็น 4 ภาค คือ ภาคที่ 1 ประกวดนางงามจากภาคใต้และภาคกลาง, ภาคที่ 2 ประกวดนางงามจากภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ, ภาคที่ 3 ประกวดนางงามธนบุรี และภาคที่ 4 ประกวดนางงามพระนคร จากนั้น นางงามที่ชนะเลิศประกวดนางงามประจำภาคทั้ง 4 คน จะเข้าประชันกันในรอบสุดท้ายว่าใครจะได้เป็นนางสาวสยาม

วันที่ 8 ธันวาคม ปี 2479 นางสาวยินดีคว้าชัยชนะได้เป็นนางงามประจำภาคที่ 1 ต่อมาในค่ำคืนของวันที่ 12 ธันวาคม อันเป็นวันประกวดนางสาวสยาม นางสาวยินดีมีคู่แข่งคือ นางสาวเจริญศรี (ภาคที่ 2 นางสาวชัยภูมิ), นางสาววิชิต (ภาคที่ 3 นางสาวธนบุรี) และนางสาววงเดือน (ภาคที่ 4 นางสาวพระนคร) หนังสือพิมพ์ไทยใหม่ ลงข่าวบรรยากาศการประกวดในวันนั้นว่า

“…ผ่านสายตาครั้งแรกจะเห็นได้ว่า นางสาววงเดือนไม่ได้เด่นกว่านางสาวยินดีมากนัก และนางสาวเจริญศรีก็ไล่เลี่ยกับนางสาวยินดีเหมือนกัน ฉะนั้นนางสาววิชิตพอเป็นอันมองเห็นได้ว่าหมดหวัง สายตาประชาชนจึงมองเห็นผู้เด่นได้ 2 คน คือ นางสาวพระนคร กับนางสาวนครศรีธรรมราช…นางสาวยินดี มกติ แห่งนครศรีธรรมราช (หมายเลข 2) ผู้มีรูปอันอวบท้วมมีฉวีอันขาวเป็นยองใย ห่มสไบสีแดง เมื่อสีแดงเมื่อปรากฏบนพื้นผิวสีขาว และโคมฉายส่องกราดอยู่จ้าเช่นนั้นย่อมดูขึ้นนัก และเพราะเหตุนี้ทำให้พิศวงกันครันอยู่…”

ขณะที่หนังสือพิมพ์ประมวญวัน กล่าวถึงนางสาวยินดีว่าเป็นตัวเต็งในการประกวดนางสาวสยามครั้งนี้ตีคู่มากับนางสาววงเดือน และกล่าวถึงความงามของเธอว่า

“นางสาวยินดี มุกติ จากนครศรีธรรมราช ร่างใหญ่ท้วม ผิวงาม เดินดี ขามีตำหนิเล็กน้อย ใบหน้าได้รูปและงามเกลี้ยงเกลา นัยน์ตาหวาน เสียตรงจมูกใหญ่และริมฝีปากกว้างไปนิด ส่วนวงเดือนร่างเล็กบาง แต่ไม่เสียส่วน ผิวงามมาก ทรวดทรงดีที่สุด น่องสะอาดเรียวงาม เดินดีกว่า ใบหน้าค่อนข้างกลม ตาแจ๋ว ทุกส่วนดีหมด คาดว่าตำแหน่งนางสาวสยามน่าจะได้แก่วงเดือนภูมิรัตน์”

ในคืนวันตัดสินนอกจากจะมีคณะรัฐบาล เชื้อพระวงศ์ และแขกผู้มีเกียรติมาร่วมชมการตัดสินแล้ว ปรากฏว่ามีชายชาวต่างชาติเข้าร่วมชมการประกวดอีก 2 ท่านด้วย ซึ่งพวกเขาต่างคาดคะเนกันว่านางสาวยินดีจะสามารถคว้ามงกุฎนางสาวสยามประจำปีนี้ไปได้อย่างแน่นอน ดังที่หนังสือพิมพ์ไทยใหม่รายงานว่า

“ที่จริงก็ไม่น่าสงสัย ถ้าหากว่าการประกวดคราวนี้ทำกันในอเมริกาหรือยุโรป นางสาวยินดี มกติ น่าจะได้เป็นที่ 1 เพราะเธอมีรูปทรงงาม สูงใหญ่และอวบท้วม ทั้งมีผิวขาวประหนึ่งสีงา แต่ถึงกระนั้น ในขณะปรากฏตัวออกมาด้วยกันในทีแรก ดวงตาอันคมเป็นมันขลับของนางสาววงเดือนก็มีประกายสะดุดตาผู้ดูแค่ในอึดใจแรกเสียแล้ว…”

ที่สุดนางสาววงเดือนคว้ามงกุฎนางสาวสยามประจำปี 2479 ไปครอง แม้นางสาวยินดีจะพลาด “มงใหญ่” ไป แต่เธอก็คว้า “มงเล็ก” ในตำแหน่งนางงามประจำภาคที่ 1 มาครองอย่างสง่างาม ซึ่งสร้างชื่อเสียงให้กับเธอไม่น้อย

หลังการประกวดเสร็จสิ้น นางสาวยินดีพักผ่อนอยู่ในกรุงเทพฯ ชั่วเวลาหนึ่ง นายเฉลิมเห็นว่าเป็นโอกาสอันดี เขาจึงร้องขอให้พี่สาวช่วยเป็นธุระจัดการพานางสาวยินดีไปแนะนำตัวทำความรู้จักกับแม่ของตน แม้พี่สาวของนายเฉลิมจะพยายามทำตามคำร้องขอของน้องชาย แต่สุดท้ายนางสาวยินดีก็ไม่ได้พบจวบจนเดินทางกลับจังหวัดนครศรีธรรมราช

โศกนาฏกรรม

เมื่อนางสาวยินดีกลับสู่บ้านเกิด ได้มีการจัดงานเฉลิมฉลองขึ้นในวันที่ 30 ธันวาคม ณ จวนข้าหลวงประจำจังหวัด มีผู้คนมาเลี้ยงต้อนรับอย่างคับคั่ง เธอได้สร้างความภูมิใจให้กับชาวเมืองคอนอย่างมาก เพราะนี่เป็นครั้งแรกที่หญิงสาวจากจังหวัดนครศรีธรรมราชสามารถคว้ารางวัลจากการประกวดนางงามในงานฉลองรัฐธรรมนูญ

ชื่อเสียงและความงดงามของนางสาวยินดีย่อมทำให้มีชายหนุ่มมากด้วยรูปทรัพย์และสมบัติเข้ามาหมายปอง นั่นอาจทำให้นายเฉลิมรู้สึกหวั่นใจจึงพยายามรบเร้านางสาวยินดีให้เร่งรัดแต่งงานให้เร็วที่สุด แต่นางสาวยินดีอยากจะขอเลื่อนงานแต่งงานออกไปก่อน 1-2 ปี เพราะเธอเพิ่งรับตำแหน่งนางงาม อาจทำให้เธอต้องมีธุระหรือภาระต่าง ๆ มากขึ้น เช่น ช่วยงานการกุศลต่าง ๆ แต่นายเฉลิมเห็นว่าเป็นเวลานานเกินไปจึงมาปรึกษากับบ้านของฝ่ายหญิง ที่สุดจึงสรุปให้เลื่อนงานแต่งงานจากกำหนดเดิมในเดือนมีนาคมไปเป็นเดือนพฤษภาคม ปี 2480

วันที่ 5 กุมภาพันธ์ ปี 2480 นายเฉลิมลางานมาเยี่ยมนางสาวยินดี เขามาหาเธอคราวนี้ด้วยความร้อนอกร้อนใจมาก เพราะเขาทราบข่าวมาว่าอาจถูกย้ายไปรับราชการที่จังหวัดอื่นซึ่งไกลจากจังหวัดนครศรีธรรมราชมาก วันนั้นเขาชวนนางสาวยินดีออกไปดูหนังนอกบ้าน แต่นางสาวยินดีรู้สึกไม่สบาย ปวดหัวและปวดฟัน เธอจึงปฏิเสธคู่หมั้น และทำได้เพียงแค่พูดคุยกันอยู่ที่บ้านเท่านั้น

เช้าวันที่ 7 กุมภาพันธ์ นายเฉลิมมาหานางสาวยินดีที่บ้าน ครั้งนี้พบความผิดปกติวิสัยของนายเฉลิม คือ เขาขออนุญาตพ่อของนางสาวยินดีขึ้นไปหานางสาวยินดีบนห้องนอน ทั้งที่ผ่าน ๆ มา นายเฉลิมไม่เคยล่วงเกินถึงขั้นนี้มาก่อน นายเฉลิมดูร้อนรนจนอาจสันนิษฐานได้ว่าคงจะไปทราบความอะไรที่ไม่ดีต่อคู่หมั้นของตนเองเป็นแน่ เมื่อไม่พบนางสาวยินดีข้างบนบ้าน จึงเดินไปตามหาที่หลังบ้าน ก็พบนางสาวยินดีนั่งดูน้องสาวซักผ้าเช็ดหน้า จากนั้นทั้งสองจึงเดินมาพูดคุยกันตรงทางเดินใกล้กับห้องครัวหลังบ้าน

ระหว่างที่เจรจาพูดคุยกันอยู่นั้น แม่ของนางสาวยินดีผ่านมาพบและเห็นอาการไม่สู้ดีของลูกสาวจึงสอบถามด้วยความห่วงใย แต่คำพูดของนางสาวยินดีที่ตอบแม่นั้นกลับทำให้เกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝันตามมา นางสาวยินดีพูดขึ้นว่า “ปวดหัว ปวดฟันจะตายเสียให้ได้ แล้วคุณเฉลิมก็พูดมาไม่รู้สิ้นรู้จบ กวนใจจริง พูดไม่รู้แล้ว รำคาญเหลือเกิน แม่บอกโมทย์ (น้องสาว) ให้เอาแหวนคืนให้คุณเฉลิมเสียที”

นายเฉลิมได้ยินเช่นนั้นอาจเกิดความรู้สึกไม่พอใจแล้วบันดาลโทสะชักปืนออกมายิงนางสาวยินดี 2 นัด กระสุนลูกหนึ่งฝังอยู่กลางสมอง อีกลูกหนึ่งติดอยู่ที่กระโหลกหน้าผากเกือบทะลุ สิ้นเสียงปืนร่างของเธอล้มลงกับพื้น นายเฉลิมรีบเข้าประคองคนรัก และพยายามจะลั่นไกฆ่าตัวตายตามแต่ไม่สำเร็จเพราะกระสุนขัดลำกล้อง

รักพลิกล็อก

เรื่องราวที่เกิดขึ้นถือเป็นโศกนาฏกรรมความรักที่สะเทือนใจหลายคน ตอนบ่ายวันนั้นผู้คนจากทุกสารทิศมาร่วมพิธีรดน้ำศพนางสาวยินดีเป็นจำนวนมาก ด้านนายเฉลิมเองก็ยอมมอบตัวกับตำรวจโดยดี อย่างไรก็ตาม นายเฉลิมยังมีความลับบางอย่างปิดบังไว้ไม่ให้ใครรู้ แม้แต่ผู้หญิงที่เขารักก็ไม่อาจล่วงรู้ความลับนี้เลย หากเธอทราบเรื่องดังกล่าว ความรักระหว่างหนุ่มสาวคู่นี้คงไม่อาจเกิดขึ้น และอาจไม่ลงเอยด้วยโศกนาฏกรรมเช่นนี้

ความลับนั้นก็คือ นายเฉลิมไม่ใช่หนุ่มโสด เขาผ่านการจดทะเบียนสมรสและอยู่กินกับนางสมจิตต์ สารการ มีบุตรธิดาด้วยกัน 2 คน ทว่าบุตรสาวคนโตเสียชีวิตเมื่ออายุได้ 3 เดือน เหลือเพียงบุตรชายคนเล็กอายุ 2 ขวบ ถึงแม้นายเฉลิมจะอ้างว่าได้เลิกรากับนางสมจิตต์ไปแล้ว แต่ทั้งสองยังไม่ได้หย่าขาดจากกัน ในขณะเดียวกันนางสมจิตต์ก็ยังแวะเวียนมาหาครอบครัวของนายเฉลิมที่บ้านย่านเทเวศร์อยู่เสมอ และไม่เคยทราบเรื่องราวความสัมพันธ์ของสามีกับนางสาวยินดีเลย เนื่องจากแม่และญาติของนายเฉลิมปิดบัง ตั้งแต่ในช่วงที่นายเฉลิมไปรับราชการที่จังหวัดสงขลา

นายเฉลิมไม่ได้ส่งเงินให้นางสมจิตต์ใช้ในฐานะภรรยา แต่ส่งเงินให้เดือนละ 15 บาท สำหรับเป็นค่าเลี้ยงดูบุตร นายเฉลิมรักลูกมาก หากลูกเกิดเจ็บป่วยต้องทำการรักษาเขาจะรีบส่งเงินมาให้ โดยก่อนเกิดเหตุโศกนาฏกรรมครั้งนี้ นายเฉลิมก็เพิ่งส่งเงินเป็นค่ารักษาพยาบาลให้ลูกจำนวน 45 บาท อีกทั้งยังได้กำชับฝากฝังพี่สาวให้ช่วยเหลือเลี้ยงดูบุตรของตนอีกด้วย

ส่วนแม่ของนายเฉลิมนั้นก็ทราบเรื่องราวทั้งหมดของลูกชายเป็นอย่างดี เนื่องจากนายเฉลิมมักส่งจดหมายมาพรรณนาถึงความรักอันเปี่ยมล้นของเขาต่อนางสาวยินดีและคุณงามความดีต่าง ๆ ของเธอให้แม่ของตนรับรู้มาโดยตลอด ในบางครั้งครอบครัวของนายเฉลิมแจ้งข่าวว่าแม่ป่วยหรือไม่ก็บรรดาญาติพี่น้องทุกข์ยากประการใด นายเฉลิมไม่ได้ตอบรับทราบหรือแสดงความห่วงใยในเรื่องดังกล่าว แต่กลับพรรณนาถึงหญิงคนรักของตนผ่านเนื้อความจดหมายทุก ๆ ฉบับ อีกทั้งยังพร่ำบอกเสมอว่า “หากพลาดรักด้วยประการใดก็อาจจะไม่ได้อยู่เป็นคนอีกต่อไป”

พี่สาวของนายเฉลิมเคยส่งจดหมายตักเตือนน้องชายให้ยับยั้งชั่งใจในเรื่องความสัมพันธ์กับนางสาวยินดี โดยให้เหตุผลไปว่า หากนางสาวยินดีทราบว่านายเฉลิมมีภรรยาและบุตรอยู่แล้ว อาจไม่ตกลงปลงใจแต่งงานด้วยก็ได้ ต่อมาในเดือนพฤศจิกายน ปี 2479 พี่สาวได้รับจดหมายจากน้องชายเขียนแจ้งมาว่าเขาได้หมั้นกับนางสาวยินดีด้วยแหวนเพชรหนึ่งวง และได้อ้างว่าบอกความจริงกับทางฝ่ายผู้หญิงไปหมดแล้วว่าตนเคยมีครอบครัวมาก่อน แต่ได้เลิกรากันไปนานแล้ว

ทั้งนี้นายเฉลิมยังขาดเงินค่าสินสอดซึ่งฝ่ายหญิงเรียกร้องเป็นจำนวน 2,000 บาท จึงใคร่ขอเงินแม่และพี่สาว อีกทั้งอยากให้ทั้งสองลงมาเป็นธุระจัดการงานแต่งให้ตนที่จังหวัดนครศรีธรรมราชอีกด้วย อย่างไรก็ตาม แม่ของนายเฉลิมยังคงยืนยันไม่ขอข้องเกี่ยวกับเรื่องนี้ ส่วนพี่สาวใจหนึ่งก็สงสารน้อง อีกทั้งสถานะการเงินขณะนั้นก็ยังลำบาก สุดท้ายจึงจัดส่งเงินไปช่วยเป็นจํานวนเงิน 300 บาท

ปลายเดือนพฤศจิกายน ปี 2479 นั้น พี่สาวของนายเฉลิมได้รับจดหมายตอบรับจากน้องชายว่า เขาได้รับเงินที่เธอส่งไปให้ พร้อมแจ้งให้ทางพี่สาวทราบว่านางสาวยินดีได้เป็นตัวแทนจังหวัดนครศรีธรรมราชเข้าประกวดนางสาวสยาม และร้องขอให้พี่สาวช่วยเป็นธุระพานางสาวยินดีไปพบแม่ที่บ้านย่านเทเวศร์ แต่เนื่องจากแม่ของนายเฉลิมไม่เห็นด้วยกับเรื่องนี้มาตั้งแต่ต้น จึงเป็นสาเหตุที่ทำให้นางสาวยินดีไม่ได้พบแม่ของนายเฉลิม ผู้จะเป็นว่าที่แม่สามีในอนาคต ทั้ง ๆ ที่นางสาวยินดีใช้เวลาพักอยู่ในกรุงเทพฯ นานหลายวัน

ส่งท้าย

โศกนาฏกรรมครั้งนี้เป็นข่าวดังไกลไปถึงต่างประเทศ หนังสือพิมพ์สิงคโปร์ถึงกับรายงานข่าวคดีนี้ เพราะนี่เป็นคดีฆาตกรรมนางงามที่เกิดขึ้นครั้งแรกในประเทศไทย ซึ่งประชาชนต่างให้ความสนใจเป็นอย่างมาก

นายเฉลิมลงเอยชีวิตในคุก ชดใช้กรรมที่ก่อขึ้นจากความขาดสติ เขาให้สัมภาษณ์กับนักข่าวว่าเกิดอารมณ์หุนหันพลันแล่นจนเกินไป จึงใช้ปืนยิงสาวผู้เป็นที่รัก

เพราะความขาดสติ ขาดความยับยั้งชั่งใจ หรือจะด้วยความหึงหวง และความเห็นแก่ตัวที่ปิดบังความลับของผู้ชาย สุดท้ายคนที่น่าสงสารที่สุดก็คือ นางสาวยินดี นางงามแห่งเมืองคอน

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่

อ้างอิง :

ณัฐธิดา ทองเกษม. อาชญารัก : เปิดคดีฆาตกรรมนางงามนครศรีธรรมราช พ.ศ. 2479. ใน วารสารรูสมิแล. ปีที่ 41 : ฉบับที่ 3 (กันยายน-ธันวาคม 2563).

เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 4 มิถุนายน 2564

ดูข่าวต้นฉบับ