ธุรกิจ-เศรษฐกิจ

สรุป PM2.5 ของไทย และทั่วโลก

ลงทุนแมน
อัพเดต 16 ม.ค. 2562 เวลา 03.21 น. • เผยแพร่ 16 ม.ค. 2562 เวลา 03.10 น. • ลงทุนแมน

สรุป PM2.5 ของไทย และทั่วโลก / โดย ลงทุนแมน

อากาศภายนอกที่มีมลพิษ ทำให้คนกว่า 4.2 ล้านคนต้องเสียชีวิตลงในปี 2016
โดยตัวการสำคัญคือ PM2.5
หลายคนอาจยังไม่รู้ว่า PM2.5 อันตรายแค่ไหน
วันนี้ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง แบบเข้าใจง่ายๆ

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

Particulate Matter 2.5 (PM2.5) คือ ฝุ่นละอองขนาดเล็กกว่า 2.5 ไมครอน และมีขนาดเล็กกว่าเส้นผมกว่า 20 เท่า

ด้วยความที่ขนาดนั้นเล็กมาก ทำให้ PM2.5 สามารถเข้าสู่ร่างกายลงไปถึงระบบหายใจส่วนล่างของคนเรา เช่น ปอด ถุงลม หรือแม้แต่เส้นเลือดฝอย ซึ่งส่งผลเสียอย่างร้ายแรงต่อระบบทางเดินหายใจของมนุษย์ ซึ่งอาจนำไปสู่มะเร็งปอด

แล้ว PM2.5 มาจากไหน?

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

PM2.5 เกิดจากการเผาไหม้ทั้งจากควันรถยนต์, ควันจากการหุงต้มอาหารที่ใช้ฟืน, การเผาหญ้าหรือเผาขยะ

ที่น่าตกใจคือ ด้วยขนาดที่เล็กมาก จึงทำให้มันสามารถลอยไปไกลถึงขนาดข้ามประเทศได้

เราคงเคยได้ยินว่าในอดีตนั้น เคยมีเหตุการณ์ไฟไหม้ป่าในอินโดนีเซีย จนส่งผลต่อคุณภาพอากาศของประเทศมาเลเซีย สิงคโปร์ รวมทั้งประเทศไทย

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

ในประเทศไทยนั้น กรมควบคุมมลพิษมีการจัดทำดัชนีคุณภาพอากาศ (Air Quality Index : AQI) ซึ่งจะแบ่งออกเป็น 5 ระดับ โดยใช้สัญลักษณ์สีแทนคุณภาพของอากาศ

ระดับที่ 1 สีฟ้า มีฝุ่นละออง 0 – 25 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร เป็นระดับคุณภาพอากาศดีมาก

ระดับที่ 2 สีเขียว มีฝุ่นละออง 26 – 50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร เป็นระดับคุณภาพอากาศดี

ระดับที่ 3 สีเหลือง มีฝุ่นละออง 51 – 100 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร เป็นระดับคุณภาพอากาศปานกลาง

ระดับที่ 4 สีส้ม มีฝุ่นละออง 101 – 200 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร เป็นระดับคุณภาพอากาศเริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ

ระดับที่ 5 สีแดง มีฝุ่นละอองสูงกว่า 200 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร เป็นระดับคุณภาพอากาศที่มีผลกระทบต่อสุขภาพ

ค่ามาตรฐานของกรมควบคุมมลพิษอยู่ที่ 50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ซึ่งสูงกว่าค่าปกติขององค์การอนามัยโลกที่ 25 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร

แล้วในทั่วโลก ประเทศไหนมีอากาศแย่ที่สุด?

เมืองที่มีค่า PM2.5 มากที่สุดในโลกนั้นอยู่ที่อินเดีย

เมืองนั้นมีชื่อว่าเมืองคันเปอร์ (Kanpur) เป็นเมืองศูนย์กลางอุตสาหกรรมสิ่งทอ และหนังสัตว์ ซึ่งมีค่า PM2.5 เฉลี่ยกว่า 173 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร

แต่ที่น่าตกใจคือ ในบรรดา 50 เมืองทั่วโลกที่มีค่า PM2.5 สูงที่สุดนั้น
37 เมืองมาจากจีนและอินเดีย..

โดยจีนติดลำดับถึง 23 เมือง และอินเดีย 14 เมือง

และหนึ่งในสาเหตุสำคัญคือ การเติบโตทางเศรษฐกิจของ 2 ประเทศนี้

ปี 2008 GDP ของจีน 151 ล้านล้านบาท GDP ของอินเดีย 39 ล้านล้านบาท
ปี 2017 GDP ของจีน 404 ล้านล้านบาท GDP ของอินเดีย 89 ล้านล้านบาท

เศรษฐกิจที่เติบโตอย่างรวดเร็ว นำมาซึ่งการลงทุน การบริโภคและการผลิตในระบบเศรษฐกิจ แต่หลายครั้งก็นำมาซึ่งปัญหา

อย่างกรณีของจีนนั้นระหว่างปี 2007 – 2017 จำนวนรถยนต์ในประเทศจีนเพิ่มขึ้นจาก 59 ล้านคัน มาอยู่ที่ 217 ล้านคัน จนส่งผลเสียต่อมลพิษทางอากาศ

ปิดท้ายด้วยข้อมูลที่น่าสนใจ

ทุกคนทราบดีกว่า กรุงเทพฯ และปริมณฑลนับเป็นพื้นที่ที่อากาศเป็นมลพิษ และมีค่าฝุ่นละอองในระดับสูง

หลายพื้นที่ในกรุงเทพฯ เฉลี่ยแล้วมีค่า PM2.5 สูงกว่า 100 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร

นั่นเป็นกรุงเทพฯ และปริมณฑล เป็นเมืองที่มีการเติบโตสูง ทำให้มีทั้งการก่อสร้าง และรถบนท้องถนน

กรุงเทพฯ มีจำนวนรถยนต์ไม่ต่ำกว่า 10 ล้านคัน ในขณะที่ จริงๆ แล้วถนนในกรุงเทพฯรองรับรถยนต์ได้เพียง 1.5 ล้านคัน

เมื่อรถมากเกินไป ควันเสียจากรถจึงมากตามไปด้วย

หลายคนอาจชอบเมืองหลวงเนื่องจากมีสิ่งอำนวยความสะดวก เป็นแหล่งทำมาหากิน

แต่ในอีกมุมหนึ่ง ความเจริญเหล่านี้ ก็ต้องแลกมาด้วยต้นทุนหลายอย่าง

นอกจากต้นทุนด้านค่าครองชีพที่สูงกว่าต่างจังหวัดแล้ว

คนกรุงเทพฯ ยังมีต้นทุนอื่นที่แฝงอยู่ และหนึ่งในนั้นก็คือ

ต้นทุนด้านสุขภาพและชีวิตของเรานั่นเอง..
———————-
อ่านเรื่อง ธุรกิจขายอากาศบริสุทธิ์ ได้ที่
https://www.blockdit.com/articles/5c3dc5b9a358e9177a7c8e8c

ติดตามเรื่องรอบตัวอื่นๆ ได้ที่เพจลงทุนแมน ในแอปพลิเคชัน blockdit โหลดฟรี blockdit.com
———————-

References
-http://air4thai.pcd.go.th/webV2/aqi_info.php
-https://en.wikipedia.org/wiki/Particulates
-https://news.bloombergenvironment.com/environment-and-energy/china-and-india-face-cleaning-up-a-dirty-legacy-of-growth
-http://www.balanceenergythai.com/ฝุ่นขนาดเล็ก-pm2-5/
-https://thethaiger.com/news/bangkok/bangkok-in-the-top-10-cities-in-the-world-with-the-worst-air-pollution
-https://en.wikipedia.org/wiki/List_of_most-polluted_cities_by_particulate_matter_concentration
-http://www.nationmultimedia.com/detail/national/30340775
-https://en.wikipedia.org/wiki/Historical_GDP_of_China
-https://www.statista.com/statistics/285306/number-of-car-owners-in-china/
-https://coconuts.co/bangkok/news/bangkok-drivers-wasting-97-million-baht-daily-gas-burned-while-stuck-traffic/

ดูข่าวต้นฉบับ
ความเห็น 3
  • ป้านิด
    หรือไม่ก็ให้เลิกผลิตรถยนต์ เลิกโรงกลั่นน้ำมันไปเลย จะได้ลดมลพิษที่คิดว่ามาจากรถยนต์ จะให้ไปซื้อรถใหม่ นายทุนคงรวยอีกรอบ ปชช จนยิ่งกว่าเดิม
    16 ม.ค. 2562 เวลา 06.28 น.
  • ป้านิด
    อยากลดฝุ่นที่มีเหตุผลน้อยมาก คือห้ามรถเก่าเกิน7 ปี วิ่งบนถนนคนเรากว่าจะซื้อรถได้สักคัน หาเงินมาเกือบทั้งชีวิต ทำไมไม่ห้ามรถ ขสมก รถบรรทุก โรงงาน ตัวทำฝุ่นที่เยอะ คนใช้รถส่วนตัวคงไม่วิ่งทั้งวัน
    16 ม.ค. 2562 เวลา 06.24 น.
  • Pramoat
    ควรใช้นโบายพอเพียง ทำเมื่อพร้อมจะพัฒนา
    16 ม.ค. 2562 เวลา 04.11 น.
ดูทั้งหมด