ไลฟ์สไตล์

สะพรึง!! ‘หมึกกรอบ’ ทั่วกทม.-ปริมณฑล ปนเปื้อนฟอร์มาลินเกินครึ่ง

The Bangkok Insight
อัพเดต 24 มิ.ย. 2566 เวลา 03.52 น. • เผยแพร่ 24 มิ.ย. 2566 เวลา 03.52 น. • The Bangkok Insight

ศูนย์ทดสอบฉลาดซื้อ เปิดผลสุ่มตรวจ "หมึกกรอบ" ทั่วกทม.-ปริมณฑล พบปนเปื้อนฟอร์มาลินถึง 57% แนะวิธีลดความเสี่ยงจากหมึกกรอบแช่ฟอร์มาลิน

หมึกกรอบ อาหารทะเลที่หลายคนชอบรับประทานเพราะรสชาตินุ่ม กรุบกรอบ พบในเมนูอาหารหลายแบบทั้ง เย็นตาโฟ ยำหมึกกรอบ ผัดใส่ไข่ และอีกสารพัด แต่ตอนนี้หากรับประทานต้องระวังกันให้มากขึ้นอีกสักนิด เพราะหมึกกรอบเป็นอาหารทะเลที่มีการปนเปื้อนฟอร์มาลินสูงมาก

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง
ปนเปื้อนฟอร์มาลิน

ในปี 2563 กรมอนามัย ได้เก็บตัวอย่างอาหารทะเลกว่า 14,046 ตรวจวิเคราะห์พบตัวอย่างปนเปื้อน ฟอร์มาลิน กว่า 705 ตัวอย่าง พบมากที่สุดคือ ในปลาหมึกกรอบ ถึง 31.35% รองลงมาคือ ปลาหมึก 2.36% แมงกะพรุน 1.55% และกุ้ง 0.14% ตามลำดับ

ช่วงเมษายน ปี 2566 ที่ผ่านมา ศูนย์ทดสอบฉลาดซื้อมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค สุ่มวิเคราะห์ หมึกกรอบ 14 ตัวอย่างสุ่มเก็บจาก ตลาดสด 8 แห่ง, ห้างสรรพสินค้า ซูเปอร์มาร์เก็ต 4 แห่ง, และ ร้านค้าออนไลน์ 2 แห่ง ครอบคลุมทั่วในเขตกรุงเทพและปริมณฑล

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

จากการส่งวิเคราะห์ในห้องปฏิบัติการที่ได้รับการรับรองมาตรฐาน พบว่าเกินกว่าครึ่งของตัวอย่างที่สุ่มตรวจ หรือกว่า 57% ปนเปื้อนฟอร์มาลิน ตัวอย่างที่ปนเปื้อนมากที่สุดคือตัวอย่างที่สั่งซื้อจากร้านค้าออนไลน์

สรุปผลการทดสอบ

จาก หมึกกรอบ จำนวน 14 ตัวอย่าง พบปนเปื้อนฟอร์มาลิน 8 ตัวอย่าง คิดเป็น 57.14% โดยปริมาณฟอร์มาลินสูงสุด 3 อันดับแรก คือ

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

1) 1576.63 มก./กก. จากตัวอย่างที่สั่งซื้อจากร้านค้าออนไลน์ ในแพลตฟอร์ม SHOPEE ร้าน PPN seafood wishing

2) 1238.63 มก./กก. จากตัวอย่างตลาด อตก. กรุงเทพฯ ร้านคุณจอย ไข่สด

3) 1072.17 มก./กก. จากตัวอย่างตลาด ปากน้ำ สมุทรปราการ ร้าน หญิง & เต๋อ

พระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ.2522 กำหนดให้สารละลายฟอร์มัลดีไฮด์หรือ ฟอร์มาลินห้ามใช้ในอาหาร ผู้ใช้สารนี้กับอาหาร หรือทำให้อาหารนั้นเกิดพิษภัยต่อผู้บริโภค จัดเป็นการผลิต จำหน่ายอาหารไม่บริสุทธิ์ และถ้าตรวจพบการกระทำดังกล่าวจะต้องถูกดำเนินการตามกฎหมาย มีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ฟอร์มาลินมีอันตรายต่อร่างกายหลายระดับ หากสัมผัสกับผิวหนังโดยตรง ทำให้เกิดผื่นคัน จนถึงผิวหนังอาจไหม้ หรือเปลี่ยนเป็นสีขาวได้

หากกินอาหารที่ปนเปื้อน ฟอร์มาลิน เข้าไปในปริมาณมาก อาจมีอาการปวดศีรษะรุนแรง หัวใจเต้นเร็ว แน่นหน้าอก ปากและคอแห้ง คลื่นไส้อาเจียน ถ่ายท้อง ปวดท้องอย่างรุนแรง ปัสสาวะไม่ออก หมดสติ ถ้าปล่อยทิ้งไว้อาจเสียชีวิตเพราะระบบหมุนเวียนเลือดล้มเหลว

วิธีลดความเสี่ยงจากหมึกกรอบแช่ฟอร์มาลิน

1. ไม่ซื้อหมึกกรอบที่มีกลิ่นฉุน แสบจมูก

2. ล้างให้สะอาดก่อนรับประทานด้วยการแช่น้ำนาน 5-10 นาทีแล้วล้างซ้ำด้วยน้ำอีกสองถึงสามครั้งหรืออาจแช่ด้วยน้ำที่ละลายด่างทับทิมเจือจาง (ในอัตราส่วน ด่างทับทิมประมาณ 20 เกล็ด ผสมน้ำ 4-5 ลิตร) ประมาณ 5-10 นาที แล้วล้างออกด้วยน้ำ

3. กรณีกินในร้านอาหารควรรับประทานในปริมาณไม่มาก หรือเลือกร้านที่มีการทำความสะอาดอาหารอย่างดีก่อนนำมาเสิร์ฟลูกค้า

อ่านข่าวเพิ่มเติม

ดูข่าวต้นฉบับ
ความเห็น 5
  • คนไทยเลยเป็นมะเร็งกันเยอะ
    24 มิ.ย. 2566 เวลา 15.59 น.
  • 🦄W.Thita Pholsree598
    เราไม่เคยกินเลย..แต่เห็นเพื่อนกิน ,,เวลาตักใส่จาน น้ำที่ติดมา จะเป็นสีชมพู,,
    24 มิ.ย. 2566 เวลา 14.03 น.
  • Jamkad BSK.
    กรรมคนกิน
    24 มิ.ย. 2566 เวลา 13.28 น.
  • Kampol
    มันแช่ฟอร์มาลิน ตายผ่อนส่ง
    24 มิ.ย. 2566 เวลา 08.39 น.
  • โอ๊ต539🥁
    ร้านชื่อขัด
    24 มิ.ย. 2566 เวลา 11.31 น.
ดูทั้งหมด