ในความเคลื่อนไหว BEV อันครึกโครมในเมืองไทย มีบางปรากฏการณ์เกี่ยวกับนวัตกรรมที่แตกต่าง
สังคมไทยปี 2566 เป็นปี BEV (Battery Electric Vehicle) อย่างแท้จริง พิจารณาจากยอดจดทะเบียนล่าสุดกับกรมการขนส่งทางบกในช่วง 11 เดือน (มกราคม-พฤศจิกายน 2566) มีมากถึง 67,056 คัน
คิดเป็นสัดส่วนถึง 11.21% ของยอดจดทะเบียนรถยนต์ทุกชนิดในช่วงเดียวกันรวมกัน 598,417 คัน
โดยเฉพาะเดือนหลังๆ BEV มีสัดส่วนเพิ่มขึ้นๆ อย่างน่าตื่นเต้น
ผู้คนส่วนใหญ่ให้ความสนใจกับ BEV จีน ด้วยครองส่วนแบ่งเกือบเบ็ดเสร็จ คิดอย่างคร่าวๆ มากกว่า 80% แต่ในนั้นมีบางความเคลื่อนไหวน่าติดตามอยู่ด้วย โดยเฉพาะเกี่ยวกับ Tesla
Tesla กับครบรอบ 1 ปี ในการเปิดตัวในไทย (7 ธันวาคม 2565) เดินหน้าไปได้ดีพอสมควร
ยอดจดทะเบียนในช่วงที่อ้างข้างต้น (1 มกราคม-30 พฤศจิกายน 2566) ด้วยจำนวน 7,177 คัน
คำนวณคร่าวๆ เทียบเคียงราคา/คัน พอประเมินยอดขาย เทียบเคียงกับ BEV จีน ผู้นำตลาดไทยมาแรงได้บ้าง
ขณะมีความเคลื่อนไหวข้างเคียงแตกต่าง อย่างค่อยเป็นค่อยไป ด้วยการเปิด Supercharger กระจุกตัวอยู่ในกรุงเทพฯ และปริมณฑล 11 แห่ง รวม 96 หัวชาร์จ ทั้งนี้ เปิดศูนย์บริการอย่างเป็นทางการเพียงแห่งเดียว
ว่าไปแล้ว ความร้อนแรงดูเหมือนลดลงไปบ้าง เมื่อเทียบกับกระแสและความคาดหวังในช่วงต้นๆ
“…สังคมธุรกิจไทย การมาของ Tesla ได้สร้างปรากฏการณ์อันสั่นสะเทือนไม่น้อยเลย” อย่างที่เคยนำเสนอไว้ (จากเรื่อง TESLA มติชนสุดสัปดาห์ มิถุนายน 2565) ด้วยเชื่อว่าในบางมิติมีความเชื่อมโยง “…ในฐานะ ‘ชิ้นส่วน’ ความสัมพันธ์กับกระแสและบริบทอย่างน่าทึ่ง เกี่ยวกับคนคนหนึ่ง ผู้มีบทบาทโดดเด่นที่สุดแห่งยุค อีลอน มัสก์ (Elon Musk) นักธุรกิจอเมริกันคนล่าสุดก็ว่าได้ ผู้สร้างปรากฏการณ์ใหม่ๆ เป็นกระแสและอิทธิพลระดับโลก โดยใช้เวลาไม่นานเลยในการก้าวเข้ามากับ Tesla Inc.”
เป็นไปตามจังหวะและโอกาสอย่างหลักแหลม กับตลาดรถยนต์ไฟฟ้าไทย เพิ่งโหมโรง เป็นไปอย่างคึกคัก มีแรงกระตุ้นจากนโยบายรัฐไทย เข้ากับแผนการและกระแสบุกตลาดอย่างแข็งขันโดย BEV จีน
โดยใช้เวลาไม่นาน เริ่มต้นจดทะเบียนบริษัทในไทย ตามแบบแผน Tesla ที่มาเอง และไม่อาศัย “ตัวแทน” ในท้องถิ่น
บริษัท เทสลา (ประเทศไทย) จำกัด จดทะเบียนขึ้นเมื่อ 25 เมษายน 2565 ด้วยแผนการธุรกิจประกาศไว้อย่างครอบคลุม
“ประกอบกิจการขายรถยนต์ไฟฟ้า ระบบเก็บพลังงานแบบติดตั้งและอุปกรณ์ที่ใช้กับระบบเก็บพลังงานแบบติดตั้ง ระบบผลิตพลังงานและอุปกรณ์ที่ใช้กับระบบพลังงาน”
ตามมาด้วยแผนการจริงจัง นำ Tesla จาก Gigafactory Shanghai มาสู่และสามารถปักหลักในตลาดไทย แม้ไม่เข้าเงื่อนไข ไม่ได้แพ็กเกจจากรัฐไทย ทว่า มาตามเส้นทางสะดวกพอสมควร ภายใต้เงื่อนไขการค้าเสรี (FTA) ไทย-จีน
Tesla ทำตลาดในไทย ด้วย BEV เพียง 2 โมเดลซึ่งอยู่ในตลาดโลกมาสักพัก (Model 3 เปิดตัวปี 2560 และ Model Y เปิดตัวปี 2563) ตามยุทธศาสตร์ธุรกิจซึ่งยอมรับกัน ในฐานะผู้นำในการพลิกโฉมอุตสาหกรรมยานยนต์โลก
หรือเป็นไปตามแนวทางที่กล่าวว่า “การเข้าสู่ยุคของการเดินทางที่ยั่งยืน (Accelerate the World’s Transition to Sustainable Transport)” พลังขับเคลื่อนทรงอิทธิพล ขยายวงเป็นยุทธศาสตร์และแผนการระดับโลก
เทสลา มอเตอร์ (Tesla Motors, Inc.) เปิดฉากอย่างจริงจังในฐานะ Start up เมื่อปี 2549 ใช้เวลาพอสมควรกว่าจะเปิดตัว BEV โมเดลแรกๆ สู่ตลาดอย่างจริงจัง (Model S ปี 2555)
แม้ว่าราคาค่อนข้างสูง แต่มียอดจองถล่มถลาย เข้าคิวยาวเหยียดข้ามปี ก่อนขยับไปสู่เป้าหมาย เปิดตลาดกว้าง ส่งผลสะเทือนมากขึ้นอีกในราว 5 ปีต่อมาด้วย Model 3 และ Model Y จากจุดตั้งต้นการผลิต ณ โรงงานยักษ์ใหญ่ (Gigafactory ) ใน Fremont, California สหรัฐอเมริกา (ปี 2453) เป็นจุดเปลี่ยนสู่ตลาดโลกอย่างแท้จริง เมื่อเปิด Gigafactory Shanghai สาธารณรัฐประชาชนจีน (ปี 2563)
“Tesla ไม่ใช่แค่รถยนต์ (ใช้พลังงาน) ไฟฟ้า หากเป็นแบบแผนผสมผสาน (เป็นทั้งสินค้า บริการ และระบบ) ใหม่ ก้าวพ้นสิ่งที่เป็นมาแบบเดิม (โครงสร้างอุตสาหกรรม และระบบธุรกิจ) เชื่อมโยงเทคโนโลยีสมัยใหม่ และการออกแบบอย่างแตกต่าง (Minimalism) เข้ากับ เข้าถึง (ล่วงรู้และปรับเปลี่ยน) วิถีชีวิตและการเดินทางของผู้คนยุคจากนี้ไป” ได้วาดภาพกว้างๆ ไว้ (คอลัมน์ “วิรัตน์ แสงทองคำ” มติชนสุดสัปดาห์ 16 ธันวาคม 2565) ได้เวลาขยายความให้มากขึ้น
เป็นที่ยอมรับกัน Tesla มีฐานะผู้นำ BEV และเป็น Tech company ทำนองเดียวกับบริษัทอเมริกันระดับโลก อย่าง Microsoft Apple หรือ Google
อีลอน มัสก์ เองเคยกล่าวว่าเป็น “Mobile computer” แม้ว่าช่วงแรกๆ มีกระแสวิพากษ์วิจารณ์พอสมควรถึงความเป็นไปได้ ทั้งนี้ ด้วยการพัฒนาเทคโนโลยีใหม่อย่างต่อเนื่อง จึงได้รับการตอบสนองมากขึ้นในฐานะผู้นำ โดยเฉพาะระบบขับขี่อัตโนมัติ (Autopilot)
ทั้งนี้ Tesla คงยึดมั่นมาตรฐานอุตสาหกรรมยานยนต์ที่เป็นมาด้วย เมื่ออ้างอิง EuroENCAP หรือ European New Car Assessment Programme (องค์กรอิสระ โดยสมาคมยานยนต์ของประเทศต่างๆ ในยุโรป มีหน้าที่ในการทดสอบความปลอดภัยของรถยนต์ใหม่ในยุโรป)
Tesla ทุกๆ โมเดลที่อยู่ในตลาด ไม่เพียงได้มาตรฐานสูงสุด หากอยู่ในระดับบนที่เรียกว่า Best in Class
อีกด้านหนึ่งปรากฏการณ์เกี่ยวกับ Tesla ที่ว่า “ภาวะร้อนแรงลดลง” ในตลาดไทย มีนัยยะที่น่าสนใจเช่นกัน เชื่อว่าอยู่ในภาวะการปรับตัวและเรียนรู้จากทั้งสองฝ่าย ทั้ง Tesla กับลูกค้าไทย ดูเหมือนฝ่ายหลังจะต้องทำมากกว่า ตามกฎว่าด้วยปฏิกิริยาจากความคุ้นชิน และปฏิสัมพันธ์กับนวัตกรรม
BEV จีน ประสบความสำเร็จอย่างสูงในตลาดใหม่ๆ ว่าด้วยภาพกว้างๆ เป็นทางเลือกเปิดกว้าง หลายระดับ ทั้งราคาและผลิตภัณฑ์ ในภาวะเฉพาะ ด้วยแพ็กเกจของรัฐไทย และการผลิตล้นเกินจากต้นแหล่ง
อีกมิติหนึ่งอันเนื่องมาด้วยโมเดลธุรกิจอันการผสมผสาน เข้ากับลูกค้าอย่างดี เป็นความสัมพันธ์ลงตัวระหว่างผลิตภัณฑ์ใหม่กับระบบธุรกิจ-บริการแบบเดิม
ขณะ Tesla มีมุมมองแตกต่าง สร้างสรรค์ใหม่ทั้งระบบ บางคนเรียกว่า Vertically integrated company เป็นโมเดลเดียว ระดับโลก กอปรด้วยระบบ บริการ และผลิตภัณฑ์ย่อยๆ ทั้งเกื้อกูลและแยกตัวได้
นอกจากระบบขับขี่อัตโนมัติที่ว่ามาแล้ว มาด้วยการออกแบบใหม่กลไกการขับขี่แตกต่างจากความเคยชิน มีบริการ Supercharger เป็นทั้งเทคโนโลยีระดับสูงเพื่ออ้างอิง และเป็นบริการพ่วงและเสริม
ที่น่าสนใจอีกอย่างหนึ่ง เรียกว่า Vehicle Servicing กรณีนี้เป็นแรงเสียดทานพอสมควรกับลูกค้าไทย ด้วยความคุ้นชินกับแบบแผนบริการแบบยานยนต์สันดาป เชื่อว่าเป็นผลมาจากบทวิเคราะห์โครงสร้างธุรกิจที่เปลี่ยนไปจากเดิม ด้วยประสบการณ์สักระยะ ผู้ใช้บริการจะเข้าใจความแตกต่าง
ทั้งนี้ แนวทาง Tesla เน้นแก้ไขและซ่อมแซมด้วยระบบทางไกลก่อน จะมาที่ศูนย์บริการ (มีจำนวนเท่าที่จำเป็น) หรือด้วย mobile services
นอกจากนี้ ที่งานแสดงยานยนต์ในกรุงเทพฯ ล่าสุด Tesla ตั้งใจโชว์บางสิ่ง อ้างอิงและตอกย้ำ ผู้นำด้านนวัตกรรม นั่นคือ Optimus หุ่นยนต์ร่างมนุษย์ เพิ่งเปิดตัวเมื่อปลายปีที่แล้ว ทำงานด้วยระบบอัตโนมัติโดยใช้ซอฟต์แวร์เดียวกันกับระบบ Autopilot
ทั้งนี้ ตามถ้อยแถลงของอีลอน มัสก์ ตั้งเป้าไว้ให้ผลิต Optimus ถึง 1 ล้านตัวภายในทศวรรษเดียว ไม่เพียงใช้ในการผลิต BEV หากรวมถึงด้านโลจิสติกส์ ภาคบริการ และการดูแลสุขภาพ •
วิรัตน์ แสงทองคำ | www.viratts.com