ไลฟ์สไตล์

กระดาษเปื้อนเลือดแห่งสันติภาพ - วินทร์ เลียววาริณ

THINK TODAY
เผยแพร่ 15 ก.ค. 2562 เวลา 10.00 น.

วันที่ 30 มกราคม 1948 มหาตมะ คานธี ก้าวออกจากบ้านเบอร์ลาใจกลางกรุงนิวเดลี สถานที่เขาและประชาชนกลุ่มใหญ่ทำพิธีสวดมนต์ ชายคนหนึ่งเดินออกจากฝูงชนเข้าหาคานธี ลั่นกระสุนสามนัด คานธีล้มลงบนพื้นและถึงแก่ความตายทันที

มหาตมะ คานธี เป็นบุคคลสำคัญชาวอินเดียที่ชาวโลกรักและยกย่อง ทั้งชีวิตกระทำแต่เรื่องที่เกี่ยวข้องกับสันติภาพ ด้วยหลักอหิงสา

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

ยี่สิบปีต่อมา ในวันที่ 4 เมษายน 1968 มาร์ติน ลูเธอร์ คิง จูเนียร์ นักรณรงค์ต่อต้านการแบ่งสีผิวและการเหยียดผิว ถูกยิงที่ ลอร์เรน โมเต็ล ในเมมฟิส รัฐเทนเนสซี เสียชีวิต

วันที่ 6 ตุลาคม 1981 ประธานาธิบดี อันวาร์ ซาดัต แห่งอียิปต์และประชาชนจำนวนมาก เข้าร่วมชมพิธีเฉลิมฉลองสำแดงแสนยานุภาพทางทหาร ขบวนพาเหรดประกอบด้วยแถวทหารและรถบรรทุกอาวุธยุทโธปกรณ์ บนฟ้ามีการ

แสดงของเครื่องบิน ทันใดนั้นรถบรรทุกคันหนึ่งแตกแถวออกจากขบวนพาเหรด พุ่งตรงเข้าไปที่ปะรำพิธี ทหารในรถขว้างระเบิดมือและกราดปืนกล AK-47 ใส่ สังหารประธานาธิบดีพร้อมกับคนอีกสิบกว่าคน

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

อันวาร์ ซาดัต เป็นผู้มีบทบาทเจรจาสันติภาพกับฝ่ายศัตรูคืออิสราเอล

วันที่ 4 พฤศจิกายน 1995 ยิตซัก ราบิน นายกรัฐมนตรีอิสราเอล ร่วมการเดินขบวนต่อต้านความรุนแรง และสนับสนุน Oslo Accords สนธิสัญญาสันติภาพระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ ที่กรุงเทล อาวิฟ หลังจากเสร็จงาน เขาเดินไปที่รถ ชายคนหนึ่งตรงเข้าไปยิงเขาสามนัด เสียชีวิตในเวลาต่อมา

ทั้งสี่คนเป็นบุคคลที่เกี่ยวข้องกับสันติภาพ สามคนหลังได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ เกิดอะไรขึ้น? ทำไมจึงมีคนฆ่าผู้ที่กระทำเรื่องดีงามต่อมนุษยชาติ?

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

……………

ย้อนหลังไปสิบแปดปีก่อน มหาตมะ คานธี ถูกลอบสังหาร เขานำชาวอินเดียไปทำเกลือ

เวลานั้นอังกฤษปกครองอินเดียมาเกือบสองร้อยปีแล้ว ออกกฎหมายภาษีเกลือ ให้ผู้ทำเกลือทุกคนต้องจ่ายภาษีเหลือแก่รัฐ ทั้งที่การทำเกลือเป็นวิถีชีวิตของชาวบ้านมานานนม

ชาวบ้านไม่พอใจ แต่ทำอะไรไม่ได้ จนกระทั่งในปี 1930 มหาตมะ คานธี ประท้วงโดยเดินเท้าไปกับชาวบ้านหลายพันคน ขบวนยาวเหยียดหลายกิโลเมตร ไปยังหมู่บ้านริมทะเลแห่งหนึ่งชื่อ ตันติ ห่างไป 390 กิโลเมตร นาน 23 วัน เพื่อผลิตเกลือจากน้ำทะเล

การทำเกลือเองคือการตบหน้าอังกฤษ ทำให้รายได้หายไปมหาศาล มิใช่เรื่องที่อังกฤษถือเป็นเรื่องเล่นๆ จำเป็นต้องจัดการขั้นเด็ดขาด มหาตมะ คานธี พร้อมกับคนนับหมื่นทั่วประเทศจึงถูกจับเข้าคุก

เหตุการณ์นี้เรียกว่า สัตยาเคราะห์แห่งเกลือ (The Salt Satyagraha) เป็นจุดเริ่มต้นของอารยะขัดขืนแบบอหิงสา และเป็นจุดเริ่มต้นของประวัติศาสตร์หน้าใหม่ มิเพียงทำเกลือ หากยังสามารถปลดแอกอินเดียจากอังกฤษในเวลาต่อมา

หากกระบวนการต่อสู้ของคานธีคือความรุนแรง บุกเข้าทำลายสถานที่ของอังกฤษ ย่อมสร้างความชอบธรรมให้อังกฤษจัดการขบวนการต่อต้านได้ง่ายดาย แต่เนื่องจาก มหาตมะ คานธี ต่อต้านจักรวรรดิอังกฤษด้วยหลักอหิงสา 

ใช้หลักอารยะขัดขืนที่ไม่มีความรุนแรงบรรลุเจตนารมณ์ทางการเมือง ทำให้ยักษ์ใหญ่ไม่สามารถอ้างความชอบธรรมในการปราบด้วยกำลัง

การประท้วงด้วยสันติวิธีทำให้ในที่สุดอินเดียก็เป็นอิสระจากอาณานิคมอังกฤษ จนกล่าวได้ว่า จักรวรรดิอังกฤษในอินเดียล้มเพราะคนทำเกลือ!

……………

มาร์ติน ลูเธอร์ คิง จูเนียร์ เป็นนักกิจกรรม รณรงค์ต่อต้านการแบ่งสีผิวและการเหยียดผิว เป้าหมายเพื่อความเสมอภาค เขาต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชน เขานำคนจำนวนมากประท้วง ต่อต้านความอยุติธรรม และความไม่ถูกต้อง

มาร์ติน ลูเธอร์ คิง เปลี่ยนสหรัฐอเมริกาไปสู่อีกหน้าหนึ่งที่ยกระดับความเสมอภาคของประชาชน ตลอดการประท้วง เขาใช้หลักอหิงสาของ มหาตมะ คานธี เปลี่ยนโลกให้ดีขึ้นอย่างสันติ นี่เองที่ทำให้เขาได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ 

เขาบรรลุเป้าหมายหลายประการ และทำให้โลกเห็นว่าสันติวิธีที่ดูอ่อนแอก็สามารถบรรลุผลได้

……………

อันวาร์ ซาดัต เป็นผู้นำอียิปต์ช่วงปี 1970-1981 ตลอดสิบเอ็ดปีในอำนาจ เขาเปลี่ยนอียิปต์หลายด้าน ทั้งการเมืองและเศรษฐกิจ ในยุคแรกหลังจากเขายกทัพยึดแหลมไซนายคืนมาจากอิสราเอล ทำให้เป็นขวัญใจของชาวอาหรับทั้งหลาย แต่ในเวลาต่อมา เขามองว่าการรบไม่อาจนำสันติภาพยั่งยืน

เขาทำในสิ่งที่ผู้นำอาหรับไม่มีวันทำเด็ดขาด คือเจรจาสันติภาพกับศัตรู เขากับนายกรัฐมนตรีอิสราเอล เมนาเคม เบกิน ทำสนธิสัญญาสันติภาพระหว่างสองประเทศ 

ผลจากเหตุการณ์นี้ทำให้ทั้งคู่ได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพร่วมกัน โลกอาหรับต่อต้านการเจรจาสันติภาพกับอิสราเอล และเป็นผลให้อียิปต์หลุดจากกลุ่มพันธมิตรอาหรับ

……………

ยิตซัก ราบิน นายกรัฐมนตรีอิสราเอล เคยเป็นทหาร เคยเข้าร่วมสงครามหลายครั้ง มีบทบาทใน ‘สงครามหกวัน’ อันเลื่องลือ ดำรงตำแหน่งทูตประจำสหประชาชาติ และต่อมาก้าวขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี

ตลอดสองช่วงเวลาที่เขาครองอำนาจ ราบินเดินหน้าสู่กระบวนการสร้างสันติภาพระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ เซ็นสนธิสัญญาสันติภาพหลายฉบับ

หลังจากนั้นเขาก็ได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพร่วมกับชีมอน เปเรส และ ยัสเซอร์ อาราฟัต

ราบินกลายเป็นสัญลักษณ์ของสันติภาพระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์

……………

รางวัลโนเบลสาขาสันติภาพมอบให้บุคคลผู้ทำงานเพื่อชาติต่างๆ ลดการสะสมแสนยานุภาพทางทหาร สร้างสันติภาพ บางครั้งมันก็มาพร้อมกับคำพิพากษาประหาร ทำให้เราอดคิดไม่ได้ว่าโลกสามารถมีสันติภาพได้จริงๆ 

หรือไม่ ในเมื่อมีคนไม่เห็นด้วยกับวิถีสันติภาพเสมอ หลายกรณีข้างต้น มีประชาชนไม่ต้องการปรองดอง ต้องการฆ่ากันให้ตายไปข้างหนึ่ง และโกรธแค้นถึงขั้นฆ่าผู้นำหากเลือกวิถีสันติภาพ

มนุษย์ทุกคนบอกว่ารักสันติภาพ แต่บ่อยครั้งเราต่อต้านมันโดยไม่รู้ตัว เราติดนิสัยตอบโต้และสะใจเมื่อชนะในวิธีของเรา

ใช่ไหมว่าสันติภาพเป็นสิ่งประดิษฐ์ของมนุษย์ที่ฝืนตัวตนของเรา? หรือเพราะความรุนแรงฝังลึกในตัวเรา? โดยสัญชาตญาณเราต้องการแก้ปัญหาด้วยความรุนแรง? มันสะใจกว่า?

โลกพูดถึงสันติภาพมาหลายพันปี แต่ประวัติศาสตร์บันทึกว่า สันติภาพเป็นเพียงฉากคั่นสั้นๆ ระหว่างสงคราม ราวกับว่ามนุษยชาติไม่อาจอยู่กับสันติภาพได้นาน และมนุษย์อาจเป็นสัตว์โลกสายพันธุ์เดียวที่แสวงหาสันติภาพด้วยความรุนแรง

กระบวนการสันติภาพเป็นน้ำใสหยดเล็กๆ ในมหาสมุทรแห่งสงครามและการทะเลาะกัน

ประโยค “Give peace a chance.” อาจเป็นได้เพียงชื่อเพลง*

ทว่าต่อให้สันติภาพเป็นเพียงภาพลวงตาที่เราสร้างเอง เป็นภาพโอเอซิสกลางทะเลทราย เราก็ต้องไปทิศทางนั้น เพราะปราศจากความเชื่ออุดมการณ์แห่งสันติภาพ โลกจะมืดหม่นวุ่นวายกว่านี้

มหาตมะ คานธี กล่าวว่า “ไม่มีหนทางสู่สันติภาพ สันติภาพก็คือหนทาง !”

สันติภาพก็คล้ายระบอบประชาธิปไตย เป็นหนทางที่ดีที่สุด แต่ทำได้ยากที่สุด

……………

ในกระเป๋าเสื้อของ ยิตซัก ราบิน วันเสียชีวิต มีกระดาษเปื้อนเลือดแผ่นหนึ่งเป็นเนื้อเพลงอิสราเอลชื่อ Shir LaShalom แปลว่าเพลงเพื่อสันติภาพ เป็นเพลงที่พวกเขาร้องกันในงาน

หรือสันติภาพต้องมาคู่กับเลือดเสมอ?

* เพลง Give Peace a Chance แต่งโดย จอห์น เลนนอน ในปี 1969 เป็นเพลงต่อต้านสงคราม มันกลายเป็น ‘เพลงชาติ’ ของขบวนการต่อต้านสงครามของอเมริกาในยุค 1970s 

……………

วินทร์ เลียววาริณ

winbookclub.com

เฟซบุ๊ก https://www.facebook.com/winlyovarin/

ความเห็น 10
  • Tickety-Boo!!!🐈
    "สันติภาพ"ไม่จำเป็นเลยที่จะต้องเปื้อนเลือด!!! ถ้าทุกคน​ ทุกฝ่าย​ ทุกชนชั้น​ หาหน้าเข้าหากัน​ มองผล"ประโยชน์"ของประเทศเป็นหลัก!!! ถอยหลังกันคนละก้าว.​ ลดทิฐิในใจ​ "ตัวกู​ ของกู" ลงซะบ้าง!!! คำว่า​ "วีรบุรุษบนกองเลือด" คงจะไม่เกิดขึ้น!!! เพราะเป็นคำที่ฟังแล้ว"หดหู่ใจ"จริงๆ!!!🗿⚰️🥀
    16 ก.ค. 2562 เวลา 16.34 น.
  • PRACHAK U
    ขอบความเห็นของ คุณแมวพเนจรครับ
    17 ก.ค. 2562 เวลา 07.12 น.
  • Sitaphong
    ถ้าเปื้อนเลือดแบบประชาชนเพื่อประชาชนมันก็ดีไป...แต่เปื้อนเพราะนักการเมืองปลุกปั่นมันไม่ภูมิใจเอาซะเลย
    16 ก.ค. 2562 เวลา 17.33 น.
  • Platoo
    วินทร์ เอาคานธีมาหากินอีกแล้ว เห้อ
    16 ก.ค. 2562 เวลา 16.39 น.
  • คิดว่าถ้าหากว่าคนเรานั้นมีความยึดมั่นในหลักของความเป็นจริงและคิดวิเคราะห์ถึงในเหตุและผลให้รอบครอบดีแล้ว เชื่อว่าไม่ว่าจะเป็นปัญหาในด้านใดก็ตาม ต่างก็ย่อมที่จะมีทางออกหรือว่ามีหนทางที่จะแก้ไขให้ไปในทางทีดีได้อย่างแน่นอน.
    17 ก.ค. 2562 เวลา 02.02 น.
ดูทั้งหมด