ไลฟ์สไตล์

งานวิจัยเผย ผู้สูงอายุเรียนรู้ทักษะใหม่ ลดอายุสมองได้ 30 ปี

THE STANDARD
อัพเดต 23 ก.ค. 2562 เวลา 02.54 น. • เผยแพร่ 23 ก.ค. 2562 เวลา 02.54 น. • thestandard.co
งานวิจัยเผย ผู้สูงอายุเรียนรู้ทักษะใหม่ ลดอายุสมองได้ 30 ปี

งานวิจัยชิ้นใหม่จากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ริเวอร์ไซด์ (UCR) เผยว่า หากผู้สูงอายุเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ เพียง 6 สัปดาห์ จะช่วยให้สมองมีอายุน้อยลงถึง 30 ปี

 

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

คณะนักวิทยาศาสตร์ค้นพบว่า การทำกิจกรรมหลายๆ อย่างในช่วงเวลาเดียวกัน จะช่วยเพิ่มพลังทางจิตใจและป้องกันโรคอัลไซเมอร์ได้ โดยทักษะต่างๆ ดังกล่าว อาจฝึกฝนได้จากการเรียนภาษาใหม่ๆ หัดใช้ไอแพด แต่งเพลง ไปจนถึงวาดภาพระบายสี

 

ราเชล วู นักจิตวิทยาจากมหาวิทยาลัยดังกล่าว กล่าวว่า วิธีหนึ่งที่สำคัญในการหลีกเลี่ยงภาวะสมองเสื่อมถอย (Cognitive Decline) คือการเรียนรู้ทักษะใหม่ๆ เหมือนอย่างที่เด็กๆ ทำ

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

 

วูสนับสนุนให้ผู้สูงอายุทำตัวเหมือน ‘ฟองน้ำ’ ซึ่งหมายถึงให้เรียนรู้ทักษะใหม่ ใช้แรงผลักดันเป็นตัวกระตุ้น มีครูช่วยเสริมกำลังใจและนำทาง รวมถึงอยู่ในสภาพแวดล้อมที่มีมาตรฐานสูง

 

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

การศึกษาในอดีตเกี่ยวกับการเรียนรู้ตลอดชีวิต (Lifelong Learning) เผยว่า ผู้สูงอายุรับรู้ได้ดีขึ้นเมื่อเรียนรู้ทักษะใหม่ๆ แต่จะต้องเรียนรู้ทีละทักษะไปตามลำดับ

 

แต่ในการศึกษาครั้งนี้ คณะนักวิจัยกำหนดให้ผู้มีอายุ 58-86 ปี เข้าเรียนใน 3-5 ชั้นเรียนไปพร้อมๆ กัน สัปดาห์ละ 15 ชั่วโมง เป็นเวลา 3 เดือน โดยงานต่างๆ ในหลักสูตรที่กลุ่มทดลองเข้าร่วม ใกล้เคียงกับงานของนักศึกษาระดับปริญญาตรี

 

หลังจากนั้น 6 สัปดาห์ นักวิจัยพบว่า กลุ่มทดลองมีความสามารถในการรับรู้ที่ดีขึ้นถึงระดับที่ใกล้เคียงกับผู้ใหญ่วัยกลางคน เท่ากับว่าอายุสมองลดลงกว่า 30 ปี ในขณะที่ความสามารถของกลุ่มทดลองอีกกลุ่มที่ไม่ได้เข้าชั้นเรียนต่างๆ ไม่แตกต่างจากเดิม

 

“ผู้เข้าร่วมทดลองที่เข้าชั้นเรียนมีความสามารถทางการรับรู้แตกต่างจากเดิมถึง 30 ปี หลังจากใช้เวลา 6 สัปดาห์ และยังรักษาความสามารถนั้นไว้ได้เมื่อเรียนรู้ทักษะใหม่อื่นๆ เพิ่มเติม” วูกล่าว พร้อมเสริมว่า การศึกษานี้พิสูจน์ได้ว่าประสบการณ์การเรียนรู้ที่เข้มข้น ซึ่งใกล้เคียงกับสิ่งที่คนวัยเยาว์เรียนรู้ เป็นเรื่องที่ผู้สูงอายุสามารถทำได้ และยังช่วยเพิ่มความสามารถในการรับรู้ได้อีกด้วย

 

ทั้งนี้ ข้อมูลจากองค์การอนามัยโลก (WHO) ระบุว่า ทั่วโลกมีผู้ป่วยโรคสมองเสื่อมราว 50 ล้านคน และโรคอัลไซเมอร์เป็นโรคสมองเสื่อมที่พบได้บ่อยที่สุด ราวร้อยละ 60-70 ของการรักษา โดยขณะนี้ยังไม่มีวิธีรักษาภาวะสมองเสื่อมหรือเปลี่ยนแปลงแนวทางการลุกลามของโรค

 

พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล

อ้างอิง:

  • สำนักข่าวซินหัว
ดูข่าวต้นฉบับ