ทั่วไป

ห่วง! ไทยป่วยเบาหวานพุ่งสูงต่อเนื่อง ทะลุ 4.8 ล้านคน

กรุงเทพธุรกิจ
เผยแพร่ 09 พ.ย. 2562 เวลา 08.52 น.

เบาหวานเป็นหนึ่งในโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง หรือNon-Communicable diseases: NCDsที่คุกคามประชากรทั่วโลก มีสาเหตุจากพฤติกรรมเสี่ยงทางสุขภาพ 5 ปัจจัย ได้แก่ การรับประทานอาหารไม่ดีต่อสุขภาพ การมีกิจกรรมทางกายไม่เหมาะสม การสูบบุหรี่ ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และ ได้รับมลพิษทางอากาศ นำไปสู่กลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs)ได้แก่ โรคหลอดเลือดหัวใจและสมอง มะเร็ง ระบบทางเดินหายใจ เบาหวาน และ โรคทางจิตเวช

ในช่วงระยะเวลาที่ผ่านมาอุบัติการณ์ของโรคเบาหวานในกลุ่มประชากรเด็กวัยรุ่นและวัยหนุ่มสาว (10-19ปี) รวมทั้งผู้ใหญ่วัยต้น (Emerging adults)ซึ่งอยู่ในช่วงอายุประมาณ20-35ปี เพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ ทั่วโลก

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

การศึกษาในหลายประเทศ พบว่า สัดส่วนความชุกของเบาหวานชนิดที่เกิดจากพฤติกรรมการใช้ชีวิต ในเด็กวัยรุ่นและวัยหนุ่มสาวเพิ่มขึ้น ซึ่งสัมพันธ์กับความชุกของโรคอ้วนที่เพิ่มขึ้น จากข้อมูลของIDF Atlasพบว่า ความชุกของเบาหวานทั่วโลกในกลุ่มผู้ใหญ่วัยต้น (อายุ20-39ปี) เพิ่มจาก23ล้านคนในปี2543เป็น63ล้านคนในปี2556โดยกลุ่มประเทศที่มีอัตราความชุกเพิ่มขึ้นรวดเร็ว อยู่ในแถบแอฟริกา แปซิฟิกตะวันตก และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งรวมถึงประเทศไทย

สมาคมโรคเบาหวานแห่งประเทศไทย เผยว่า จากการสำรวจสุขภาพประชาชนไทยครั้งที่ 5 เมื่อปี พ.ศ.2557 ประชากรไทยวัยผู้ใหญ่ป่วยเป็นโรคเบาหวานถึง4.8ล้านคน และหลายรายเกิดภาวะแทรกซ้อนในเวลาต่อมา

ทั้งนี้ จากการเพิ่มขึ้นของวิถีชีวิตแบบเนือยนิ่ง โรคอ้วน และอายุที่มากขึ้น นำมาซึ่งการเกิดโรค ในจำนวนนี้ 10 คนที่เป็นเบาหวาน 4 คนไม่รู้ว่าตนเองป่วย ผู้ที่ได้รับการวินิจฉัยและดูแลรักษาเพียงร้อยละ54.1หรือเพียง2.6ล้านคน และเพียง 1 ใน 3 คนสามารถบรรลุเป้าหมายในการรักษา ทำให้อัตราการเสียชีวิตจากโรคเบาหวานในเมืองไทยมีมากถึง200รายต่อวัน

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

คาดการณ์ว่าความชุกของโรคเบาหวานจะยังเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง มีผู้ป่วยรายใหม่ประมาณปีละ 100,000 คน ซึ่งโรคเบาหวานที่ถูกดูแลรักษาได้ไม่ดีอาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนที่ส่งผลเสียต่อร่างกาย เช่น โรคไต และการถูกตัดเท้าหรือขา

สิ่งหนึ่งที่น่าเป็นห่วง คือ เบาหวานที่เกิดในวัยรุ่น วัยหนุ่มสาว และผู้ใหญ่วัยต้นนั้น มีข้อมูลชี้ชัดว่า การดำเนินโรคมีความรุนแรงกว่าเบาหวานที่เกิดในวัยกลางคนและผู้สูงอายุ รวมถึงตอบสนองต่อการรักษาได้น้อยกว่า นำไปสู่การเกิดโรคแทรกซ้อนต่างๆ ได้อย่างรวดเร็วและรุนแรงกว่า สร้างความสูญเสียอย่างมากทางเศรษฐกิจ เนื่องจากเป็นกลุ่มประชากรในวัยทำงาน

ดูข่าวต้นฉบับ
ความเห็น 8
  • s..k.56
    กินข้าวคือแป้งมากเก็บสะสมในรูปไขมัน..น้ำหวานสารพัดขนมหวานผสมไขมันทรานส์บ่เกิดแห่งภัยสุขภาพ ไม่มีแล้วภาพคนเดินไปมาหาสู่กันไปไร่ไปนาใช้รถแทนไม่ค่อยออกกำลังกาย อาหารผัดทอดทำง่ายใช้เวลาน้อยพฆติกรรมการกินเปลี่ยนไปมาก แถมงานวิจัยบางตัวบอกยาฆ่าหญ้าฆ่าแมลงบางตัวก่อให้เกิดโรคได้
    09 พ.ย. 2562 เวลา 11.41 น.
  • ธุรกิจเฟื่องฟู คนชอบกินมากโดยเฉพาะ ชานมไข่มุก เท่ห์....กาแฟสด.เย็นมีมากมาย หากินง่ายเต็มไปหมด เขาก็ทำหากินพูดยาก
    09 พ.ย. 2562 เวลา 10.59 น.
  • ธนิษฐา
    กาแฟสด ชานมโกโก้ กินมากเบาหวานพุ่ง
    09 พ.ย. 2562 เวลา 10.48 น.
  • อุทิศ คำปัน
    ทานเข้าไปสิน้ำตาล คนที่ชอบ ชา กาแฟ นมเย็น ที่ชอบหวานๆ โดยเฉพาะ กาแฟ ชา นมเย็น ใส่น้ำตาล นมข้นหวาน ไม่ตำ่กว่า10ช้อนชาต่อแก้วบางคนฟาดเข้าไป2-3แก้วต่อวัน ไม่ให้เบาหวานรับทานได้ไงครับ
    09 พ.ย. 2562 เวลา 10.41 น.
  • 📍Niwat Kaewking® 🍤
    หาเรื่องเข้าภาษี สระ ถุง
    09 พ.ย. 2562 เวลา 10.35 น.
ดูทั้งหมด