ทั่วไป

จาก ‘นิตยสารปิดตัว’ สู่การปิดอนาคตการเมือง ‘ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ’

The Momentum
อัพเดต 24 เม.ย. 2562 เวลา 12.05 น. • เผยแพร่ 24 เม.ย. 2562 เวลา 12.05 น. • ณัชปกร นามเมือง

In focus

  • กกต.มีมติแจ้งข้อกล่าวหาและดำเนินการสืบสวนและไต่สวนธนาธร ว่าเป็นผู้ถือหุ้นในบริษัทสื่อชื่อ บริษัท วี-ลัค มีเดีย จำกัด และถือหุ้นเป็นจำนวน 675,000 หุ้น  เรื่องนี้อาจบานปลายให้ธนาธรถูกตัดสินว่าคุณสมบัติไม่เหมาะสม
  • บริษัท วี-ลัค มีเดีย คือบริษัทต้นสังกัดของนิตยสาร Who  นิตยสารที่นำเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับคนดังในแวดวงต่างๆ ของเมืองไทย นิตยสารฉบับสุดท้ายตีพิมพ์ฉบับวันที่ 15 ตุลาคม 2559 ก่อนจะปิดตัวลง
  • แนวคิดเรื่องแยกนักการเมืองกับสื่อออกจากกันที่ปรากฎอยู่ในรัฐธรรมนูญปี 2550 และ 2560 มีเจตนารมณ์ที่ต้องการป้องกันไม่ให้มีการแทรกแซงสื่อมวลชน จึงนำมาสู่การออกมาตรการห้ามผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเป็นเจ้าของกิจการหรือถือหุ้นในกิจการสื่อสารมวลชน เพื่อให้สื่อเป็นอิสระ กล้าที่จะวิพากษ์การทำงานของรัฐบาลอย่างตรงไปตรงมา
  • สิ่งที่น่าสนใจในการจับประเด็นการถือครองหุ้นสื่อของ ‘ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ’ ไม่ได้พุ่งเป้าจากประเด็นเสรีภาพของสื่อมวลชนในการทำหน้าที่ตรวจสอบ รวมถึงเสรีภาพของประชาชนในการรับรู้ข้อมูลข่าวสาร แต่เป็นอาการนิติศาสตร์นิยมล้นเกิน (hyper-legalism)

เมื่อพูดถึง บริษัท วี-ลัค มีเดีย หลายคนอาจไม่รู้จัก แต่หลายคนอาจจะรู้จักนิตยสาร Who  นิตยสารที่นำเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับคนดังในแวดวงต่างๆ ของเมืองไทย นิตยสารฉบับสุดท้ายตีพิมพ์ฉบับวันที่ 15 ตุลาคม 2559 ก่อนจะปิดตัวลง

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

ในช่วงต้นเดือนเมษายน 2562 ที่ผ่านมา ชื่อบริษัทนี้กลายเป็นที่รู้จักอีกครั้ง เนื่องจากหนึ่งในผู้ถือหุ้นในบริษัทดังกล่าว คือ ‘ธนาธร จึงรุ่งเรื่องกิจ’ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ และอาจเป็นเงื่อนไขที่ทำให้เขาถูกตัดสิทธิ์ทางการเมืองจากข้อกล่าวหา ‘ถือครองหุ้นสื่อ’

อย่างไรก็ดี สิ่งที่น่าสนใจในเรื่องนี้ ไม่ใช่แค่เรื่องอนาคตทางการเมืองของหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ แต่รวมไปถึงปรากฎการณ์ ‘สองมาตรฐาน’ ต่อเสรีภาพสื่อ ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญในการแยกนักการเมืองออกจาการสื่อ

บริษัท วี-ลัค มีเดีย บริษัททำนิตยสารวงการไฮโซ

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

นิตยสาร WHO จดทะเบียนจัดตั้งในนามบริษัท โซลิค มีเดีย จำกัด เมื่อวันที่ 10 มกราคม 2551 ต่อมา ปี 2555 เปลี่ยนชื่อเป็น บริษัท วี-ลัค มีเดีย จำกัด ทุนปัจจุบัน 45 ล้านบาท ประกอบธุรกิจสื่อนิตยสาร ที่ตั้งเลขที่ 1768 อาคารไทยซัมมิท ถนนเพชรบุรีตัดใหม่ แขวงบางกะปิ เขตห้วยขวาง กรุงเทพมหานคร

โดยมี สมพร จึงรุ่งเรืองกิจ  มารดาธนาธร ถือหุ้นใหญ่ 3,600,000  หุ้น (80%) และ รุจิรพรรณ จึงรุ่งเรืองกิจ บุตรสาว ถือหุ้น 765,000 หุ้น (17%)

ต่อมาวันที่ 12 มกราคม 2558 ธนาธร และ รวิพรรณ จึงรุ่งเรืองกิจ (ภรรยาของธนาธร) ปรากฎชื่อเป็นผู้ถือหุ้น วี-ลัค มีเดีย ครั้งแรก โดย ธนาธร ถือ 675,000 หุ้น และ รวิพรรณ ถือ 225,000 หุ้น พร้อมๆ กับการที่ สมพร จึงรุ่งเรืองกิจ ลดจำนวนการหุ้นเหลือเพียง 675,000 หุ้น

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

โดยเนื้อหาของการทำนิตยสารคือการติดตาม บอกเล่าเรื่องราวชีวิตของคนดัง โดยมีคนดังเคยขึ้นหน้าปกนิยตสารมากมาย อย่างเช่น ‘เสี่ยหนู’ อนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย “มาดามแป้ง” นวลพรรณ ล่ำซำ หรือ เอกนัฏ พร้อมพันธุ์ อดีต ส.ส. พรรคประชาธิปัตย์ ฯลฯ

อย่างไรก็ดี บริษัท วี-ลัค มีเดีย จำกัด โบกมือลาจากแผง โดยนิตยสาร WHO ตีพิมพ์ฉบับสุดท้ายเมื่อเดือนตุลาคม 2559 ส่วนสื่อสิ่งพิมพ์อื่นๆ ได้แก่ นิตยสารของนกแอร์ และธนาคารไทยพาณิชย์นั้น ปิดตัวลงตามสัญญาที่ทำไว้กับผู้ว่าจ้างตามลำดับ โดยฉบับสุดท้ายพิมพ์เมื่อเดือนธันวาคม 2561

ธนาธร กับการโอนหุ้น วี-ลัค จากช่องโหว่เล็กสู่ปัญหาใหญ่

กรณี  ‘หุ้น วี-ลัค’ ของ ธนาธร หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ถูกเปิดประเด็นโดยสำนักข่าวอิศราโดยอิศราตั้งข้อสังเกตว่า บริษัท วี-ลัค มีเดีย มีการแจ้งเปลี่ยนผู้ถือหุ้นต่อนายทะเบียน เมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2562 ซึ่งเกิดขึ้นก่อนวันเลือกตั้ง 3 วัน และเกิดขึ้นหลังวันสมัครรับเลือกตั้งเมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2562

ทั้งที่ รัฐธรรมนูญ 2560 ในมาตรา 98 (3) กำหนดลักษณะต้องห้ามของผู้สมัครรับเลือกตั้งไว้ว่า จะต้องไม่เป็นเจ้าของหรือผู้ถือหุ้นในกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนใดๆ

ต่อมา มีผู้แย้งสำนักข่าวอิศราว่า เอกสารที่นำมาแสดงเป็น บอจ.5 ที่บริษัท วี-ลัคฯ ใช้ยื่นต่อกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เพื่อแจ้งการเปลี่ยนแปลงกรรมการบริษัทและผู้ถือหุ้น ซึ่งตามกฎหมายให้แจ้งเพียงปีละครั้ง ไม่ใช่ใบตราสารโอนหุ้น และธนาธรก็โชว์ใบตราสารโอนหุ้นในเพจส่วนตัวว่า เกิดขึ้นตั้งแต่วันที่ 8 มกราคม 2562 เกิดขึ้นก่อนวันที่ไปสมัคร ส.ส. ช่วงต้นเดือนกุมภาพันธ์

ด้านสำนักข่าวอิศรา โต้กลับด้วยการตั้งข้อสังเกตต่อว่า หากธนาธรโอนหุ้นจริงตั้งแต่วันที่ 8 มกราคม แล้วเหตุใดในการประชุมผู้ถือหุ้นวันที่ 19 มีนาคม ถึงมีจำนวนผู้ถือหุ้นของบริษัท วี-ลัคฯ เท่าเดิม คือ 10 คน ไม่ได้ลดลงเหลือ 5 คน ตามที่ปรากฎในเอกสาร บอจ.5 รวมถึงมีข้อสังเกตว่า ในวันที่ 8 มกราคม ธนาธรหาเสียงอยู่ที่ อ.สตึก จ.บุรีรัมย์ ไม่น่าจะกลับมาทำเรื่องโอนหุ้นให้บุคคลอื่นๆ ได้ทัน

ต่อมา หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ยังชี้แจงการโอนหุ้นของเขาและภรรยาไปให้กับมารดา โดยเขาได้โอนไปให้มารดาตั้งแต่วันที่ 8 มกราคม ต่อมามารดาก็โอนไปให้หลาน 2 คน ก่อนที่หลาน 2 คนและบุคคลอื่นๆ อีก 3 คนจะร่วมกันโอนหุ้นคืนให้มารดา จนทำให้ผู้ถือหุ้น 10 คน เหลือเพียง 5 คน ตามที่ปรากฎใน บอจ.5

หลังจากนั้น ทีมกฎหมายของพรรคอนาคตใหม่ ตั้งโต๊ะแถลงข่าวชี้แจงข้อสงสัย โดยมี รศ.ดร.ปิยบุตร แสงกนกกุล อดีตอาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และเลขาธิการพรรคพรรคอนาคตใหม่ เป็นผู้ชี้แจง พร้อมทั้งแสดงหลักฐาน การใช้บัตรทางด่วน easy pass เพื่อเดินทางกลับ กทม. ของธนาธร และรายละเอียดการโอนหุ้นให้หลายของ ‘สมพร จึงรุ่งเรืองกิจ’

อย่างไรก็ดี หลังวิวาทะการโอนหุ้นในครั้งนี้ เมื่อวันที่ 23 เมษายน คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ก็มีมติแจ้งข้อกล่าวหาและดำเนินการสืบสวนและไต่สวนธนาธร ว่าเป็นผู้ถือหุ้นในบริษัทสื่อชื่อ บริษัท วี-ลัค มีเดีย จำกัด จริง และถือหุ้นเป็นจำนวน 675,000 หุ้น

แนวคิด ‘แยกนักการเมืองกับสื่อ’ เพื่อสร้างความอิสระในการตรวจสอบ

แนวคิดเรื่องแยกนักการเมืองกับสื่อออกจากกันที่ปรากฎอยู่ในรัฐธรรมนูญปี 2560 ในมาตรา 98 (3) ที่ระบุคุณสมบัติของส.ส.ว่า “ห้ามเป็นเจ้าของหรือผู้ถือหุ้นในกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนใดๆ” ใจความค้ายกันนี้ เกิดขึ้นครั้งแรกในรัฐธรรมนูญปี 2550 ซึ่งอยู่ในมาตรา 48 ที่ระบุว่า ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองจะเป็นเจ้าของกิจการหรือถือหุ้นในกิจการหนังสือพิมพ์ วิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ หรือโทรคมนาคม มิได้

โดยแนวคิดดังกล่าวเป็นเจตนารมณ์อย่างหนึ่งของรัฐธรรมนูญปี 2550ที่ต้องการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของสื่อมวลชน จึงห้ามให้มีการแทรกแซงสื่อมวลชนไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม นำมาสู่การออกมาตรการห้ามผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเป็นเจ้าของกิจการหรือถือหุ้นในกิจการสื่อสารมวลชน เพื่อให้สื่อเป็นอิสระ กล้าที่จะวิพากษ์การทำงานของรัฐบาลอย่างตรงไปตรงมา เพราะสื่อมีหน้าที่ตรวจสอบการทำงานของรัฐแล้วนำเสนอให้ประชาชนได้รับทราบ

หากสื่อกับรัฐมีความสัมพันธ์ที่เกื้อกูลกัน สื่อก็จะเป็นเพียงกระบอกเสียงของรัฐที่ทำหน้าที่ในการรายงานข้อมูลข่าวสารอันจะก่อให้เกิดการส่งเสริมภาพลักษณ์ของรัฐบาลให้ดีขึ้นเพียงด้านเดียว กลไกการตรวจสอบความจริงก็จะไม่เกิดขึ้น เพราะรัฐได้เข้ามามีบทบาทและอิทธิพลในการทำงานของสื่อ

อย่างไรก็ดี แนวคิดดังกล่าวยังถูกท้าทายอยู่มาก เช่น ในมุมมองของ เถกิง สมทรัพย์ผู้อำนวยการสถานีบลูสกาย แชนแนล เคยกล่าวว่า เรื่องดังกล่าวเป็นสิ่งที่ฝืนธรรมชาติ พรรคการเมืองต้องสื่อสารกับประชาชน ถ้าเขารู้สึกว่าสื่อกระแสหลักไม่ทำหน้าที่ให้ดี สื่อสารไม่ได้อย่างที่เขาต้องการ เขาก็หาช่องทางใหม่ๆ ในขณะเดียวกัน เมื่อประชาชนรู้สึกว่า สื่อกระแสหลักที่นำเสนอข้อมูลด้านเดียวมีมากเกินไปก็จะเสาะหาแหล่งข้อมูล คือ สถานีโทรทัศน์ช่องอื่นๆ

ด้าน จารุพรรณ กุลดิลกส.ส.พรรคเพื่อไทย ผู้เคยถือหุ้น 1 หมื่นหุ้นของ Democracy News Network (DNN) ผู้ผลิตช่องเอเชีย อัพเดท ก็เห็นตรงกันว่า นักการเมืองควรมีสิทธิถือหุ้นและเป็นเจ้าของทีวีตราบใดที่ไม่ได้ไปพึ่งหรือเบียดเบียนภาษีของประชาชน แต่นักการเมืองและพรรคการเมืองก็สามารถทำรายงานรายรับรายจ่ายและจำนวนเงินที่ใช้ทำสื่อให้สังคมรับรู้ตรวจสอบได้

การปิดกั้นสื่อโดยรัฐ ‘เสรีภาพสื่อ’ ที่ไม่มีคนสนใจ

ย้อนกลับไปที่เจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญปี 2550 อีกครั้ง จะเห็นได้ว่า สิ่งสำคัญของการกำหนดให้นักการเมืองแยกออกจากสื่อ ก็เพื่อให้สื่อมี ‘เสรีภาพ’ ในการนำเสนอข้อมูลข่าวสาร และประชาชนมีเสรีภาพในการรับรู้ข้อมูลข่าวสาร โดยไม่ถูกครอบงำ หรือ ปิดกั้น จากผู้ที่ถือครองอำนาจรัฐ

แต่สิ่งที่น่าสนใจในการจับประเด็นการถือครองหุ้นสื่อของ ‘ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ’ ไม่ได้พุ่งเป้าจากประเด็นเสรีภาพของสื่อมวลชนในการทำหน้าที่ตรวจสอบ รวมถึงเสรีภาพของประชาชนในการรับรู้ข้อมูลข่าวสาร แต่เป็นอาการนิติศาสตร์นิยมล้นเกิน (hyper-legalism)อย่างที่ เข็มทอง ต้นสกุลรุ่งเรือง อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อธิบายว่า เป็นอาการหยิบกฎหมายมาใช้แต่ไม่สนเจตนารมณ์ในการใช้กฎหมาย มีการอ้างกฎหมาย แต่ไม่เกิดความยุติธรรม

ในขณะเดียวกัน เรื่องเสรีภาพสื่อในยุคปัจจุบัน ภายใต้รัฐบาลทหารที่นำโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กลับไม่ถูกสนใจ ทั้งที่เกือบ 5 ปี หลังการรัฐประหาร องค์กรฟรีดอมเฮาส์ (Freedom House)ซึ่งเป็นองค์กรเอกชนเพื่อประชาธิปไตยและสิทธิเสรีภาพระบุว่า สถานการณ์เสรีภาพของสื่อไทย ‘ไม่เสรี’

จากการวบรวมของศูนย์ข้อมูลกฎหมาลและคดีเสรีภาพองค์กรที่ติดตามเรื่องสถานการณ์เสรีภาพสื่อ พบว่า ตั้งแต่วันที่ 22 พฤษภาคม 2557 – 22 กุมภาพันธ์ 2562 พบว่า มีการออกมติให้ลงโทษสื่อมวลชนจากการนำเสนอเนื้อหาในประเด็นทางการเมือง  อย่างน้อย 59 ครั้ง โดยอาศัยหลักเกณฑ์ตามประกาศและคำสั่ง คสช. ฉบับที่ 97 และ 103/2557 รวมถึงบันทึกข้อตกลงระหว่างสื่อและกสทช. และมาตรา 37 ของ พ.ร.บ.ประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ.2551

อีกทั้งในช่วง 2-3 เดือนก่อนการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2562 มีการแทรงแซงสื่อในการนำเสนอข่าวสารต่อสาธารณชนไม่น้อยกว่า 3 ครั้ง ได้แก่ การปิดวอยซ์ ทีวี หลังวิจารณ์การเลือกตั้งภายใต้คสช. การงดขายนิตยสาร ดิ อีโคโนมิสต์ เนื้อหาแคนดิเดตนายกฯ ไทยรักษาชาติ และปลดพิธีกรรายการดีเบตเลือกตั้ง เหตุตั้งคำถามชี้นำให้โจมตีรัฐบาล

แต่ทุกเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นดังกล่าว ก็ไม่เคยถูกหยิบยกขึ้นมาพิจารณาโดย กกต. ผู้ซึ่งต้องทำหน้าที่ในการจัดการเลือกตั้งอย่าง ‘เสรีและเป็นธรรม’ เลย ในทางตรงกันข้าม กกต. กลับพุ่งเป้ามาให้ความสนใจตรวจสอบอิทธิพลของนักการเมืองที่มีต่อบริษัทสื่อที่ปิดตัวลงไปแล้ว

ดูข่าวต้นฉบับ
ความเห็น 49
  • ถ้าบริสุทธิ์ใจทำไมไม่ทำให้มันถูกต้องทำให้ตรงไปตรงมาตั้งแต่แรก กฏหมายเขามีเขาเขียนไว้ชัดเจน ตัวเองอยากแหกคอกทำให้ยุ่ง แล้วไปกล่าวหาว่าเขากลั่นแกล้ง ปากพาซวยเองให้ข่าวแก้ตัวรายวันแถทุกวัน ออกข่าวทุกวันคนเห็นทั้งประเทศ
    24 เม.ย. 2562 เวลา 12.51 น.
  • ใครอ่านจบ..โทรศัพท์บอกด้วยนะ!!
    24 เม.ย. 2562 เวลา 12.39 น.
  • ตี๋ไงจะคัยล่ะ
    ละครกรงกรรมใกล้อวสานแล้วครับ
    24 เม.ย. 2562 เวลา 12.47 น.
  • paitoon
    ผิดกฏระเบียบก็คือผิด ไม่เกี่ยวกับเจตนารมณ์คนละประเด็น
    24 เม.ย. 2562 เวลา 13.25 น.
  • Piyasuda🌷
    เขียนซะยาว สรุปจะบอกว่ารัฐธรรมนูญผิด ธนาธรถูก? แต่ก็ดี เพราะเป็นตัวอย่างชัดเจนว่าทำไมรัฐธรรมนูญถึงห้ามผู้สมัครถือหุ้นสื่อ
    24 เม.ย. 2562 เวลา 13.21 น.
ดูทั้งหมด