ไอที ธุรกิจ

“กอง High Yield”...ตั้งได้ ถ้ามี ‘ซัพพลาย’ มากเพียงพอ

Wealthy Thai
อัพเดต 17 ต.ค. 2562 เวลา 17.21 น. • เผยแพร่ 17 ต.ค. 2562 เวลา 17.21 น. • wealthythai

“บาทแข็ง”…ทุบสถิติในรอบ 6 ปี เหตุผลสำคัญมาจากพื้นฐานที่แข็งแกร่งของเศรษฐกิจไทยเอง ที่มีการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดในเดือนก.ค. เกินดุลอยู่ 1,768 ล้านดอลลาร์

“มูลค่าคงค้างตราสารหนี้ภาคเอกชน (ณ 28 มิ.ย. 19) อยู่ที่ 3.9 ล้านล้านบาท มีหุ้นกู้กลุ่ม ‘High Yield’ ประมาณ 47,890 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนเพียง 1% ของหุ้นกู้ทั้งหมด ถือว่า ‘น้อยมาก’

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

โอกาสที่จะเห็นการจัดตั้ง ‘กองทุน High Yield’ เพื่อเป็นอีกทางเลือกให้กับนักลงทุนไทยนั้น จึงไม่ง่ายนัก ด้วยบริบทแห่งสภาพแวดล้อมที่เป็นไปในปัจจุบัน
ทีมงาน ‘Wealthythai’ มีเรื่องราวที่น่าสนใจมาฝากกันเช่นเคย

 

 

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

“บาทแข็ง”…เพราะ ‘เงินต่างชาติไหลเข้า’ เป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน

เวลามีข่าว ‘ค่าเงินบาท’ แข็งค่า มักจะมีคำอธิบายสุดฮิตหนึ่งตามมาด้วยเสมอๆ นั่น ก็คือ ‘เงินต่างชาติไหลเข้า’ ในเรื่องนี้ “พงค์ธาริน ทรัพยานนท์” หัวหน้าฝ่ายการลงทุน-ตราสารหนี้ บลจ.อเบอร์ดีน สแตนดาร์ด (ประเทศไทย) จำกัด มองว่า เป็นเรื่องของความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนอยู่พอสมควร ในปีนี้ ‘ค่าเงินบาท’ เป็นสกุลเงินที่ outperform ในตลาดโลกเลยทีเดียว เหตุผลหนึ่งคือการสวอพจากเงินดอลลาร์ หรือเงินยูโรมาเป็นบาททำแล้วยังน่าลงทุนอยู่ ทำแล้วมี ‘พรีเมี่ยม’ แต่เหตุผลพื้นฐานจริงๆ ที่ทำให้ ‘ค่าเงินบาท’ แข็งมาจากปัจจัยพื้นฐานของไทยเอง ไม่ใช่เรื่องของ ‘เงินต่างชาติไหลเข้า’ แต่ประการใด

 

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

(พงค์ธาริน ทรัพยานนท์)

 

ในปีนี้ในภาพรวมตั้งแต่ต้นปีมา ‘เงินต่างชาติไหลออกสุทธิ’ ด้วยซ้ำ แต่เงินบาทก็ยัง ‘แข็งค่า’ ด้วยพื้นฐานของไทยเองที่มักจะมีการ ‘เกินดุลการค้า’ ทำให้เรา outperform ประเทศเพื่อนบ้านอื่นๆ ดุลการค้าของเราเป็นบวกตลอดเวลา ค่าเงินบาทจึงแข็ง ต่างชาติก็มอง ‘เงินบาท’ เป็น Safe Haven กว่าเงินสกุลอื่นๆ

 

 

“ทางแบงก์ชาติเองก็สนับสนุนให้เงินทุนเคลื่อนย้ายออกไปลงทุนในต่างประเทศได้สะดวกยิ่งขึ้น เพื่อลดแรงกดดันค่าเงินบาท ก็เป็นจังหวะที่ดีในการกระจายการลงทุนไปในต่างประเทศของนักลงทุนไทย และเรามองว่าธนาคารกลางสหรัฐ (FED) จะปรับลดดอกเบี้ยลงอีก 2 ครั้งๆ ละ 0.25% ในช่วง 6 เดือนข้างหน้า ปัจจัยนี้ยังหนุนให้มีเงินไหลเข้ามาในภูมิภาคตลาดเกิดใหม่ได้ และ ‘ตราสารหนี้ตลาดเกิดใหม่’ ก็ยังคงน่าสนใจกว่า ‘ตราสารหนี้ตลาดพัฒนาแล้ว’ เช่นกัน”

 

 

ความรู้ความเข้าใจ “ผู้ออก-นักลงทุน”… โจทย์ยากตลาด ‘High Yield’

แนวโน้มดอกเบี้ยขาลง ในยุคดอกเบี้ยต่ำเช่นนี้ ในกลุ่มตราสารหนี้กลุ่ม ‘High Yield’ ที่มีอันดับเครดิต ‘ต่ำกว่า BBB-‘  ลงมาและ ‘Non-rated’ ก็เป็นอีกกลุ่มที่สามารถจะเพิ่มผลตอบแทนให้กับนักลงทุนได้ ซึ่งบางบลจ.เองก็มีแนวคิดที่จะไปค้นหาตราสารหนี้ในกลุ่ม High Yield นี้มาตอบโจทย์นักลงทุนเช่นกัน

 

           

ด้านพงค์ธาริน ยอมรับว่า ตราสารหนี้ในกลุ่ม High Yield เป็นตราสารที่สามารถลงทุนได้ ไม่ใช่เป็นตราสารที่ไม่ดีแต่ประการใด ในช่วงเศรษฐกิจมีแนวโน้มชะลอตัวก็มี ‘ความระมัดระวัง’ มากขึ้น เพราะผลกระทบในแต่ละกลุ่มอุตสาหกรรมก็แตกต่างกันออกไป แต่ในช่วง ‘ดอกเบี้ยขาลง’ เช่นนี้ก็เป็นจังหวะที่ดีสำหรับบางบริษัทที่สามารถจะบริหารจัดการต้นทุนเงินกู้ของตัวเองได้เช่นกัน แต่คงไม่ใช่ทุกแห่ง หากสามารถ ‘กู้ใหม่’ ด้วยดอกเบี้ยที่ถูกลงเพื่อนำมา refinance ‘หนี้เดิม’ ที่ดอกเบี้ยสูงกว่า อย่างนี้ ‘ต้นทุนการเงิน’ ของบริษัทก็จะดีขึ้น ส่งผลให้ภาพรวมของบริษัทดูดีขึ้นได้เช่นกัน ดังนั้นคงไปเหมารวมไม่ได้ว่าเศรษฐกิจไม่ดีแล้วหุ้นกู้บริษัทเหล่านี้จะต้องแย่ไปหมด อาจจะดีก็ได้ ถ้าบริหารเป็น เป็นต้น
“แต่ประเด็นความยากในกลุ่ม High Yield ในการออกหุ้นกู้ขาย เป็นเรื่องของความรู้ความเข้าใจ ทั้งฝั่ง ‘ผู้ออก’ และ ‘ผู้ซื้อ’ ถ้าทำหุ้นกู้มาแล้วต้องจ่ายดอกเบี้ยแพงกว่า ‘กู้แบงก์’ เขาไปกู้แบงก์ไม่ดีกว่าหรือ เราไม่ต้องพูดถึงบริษัทขนาดใหญ่ที่เครดิตดีๆ เขาสามารถกู้แบงก์ได้ด้วยต้นทุนดอกเบี้ยที่ต่ำกว่าบริษัททั่วไปอยู่แล้ว”
ฝั่ง ‘ผู้ลงทุน’ เองก็ต้องมีความรู้ความเข้าใจด้วยเช่นกัน ไม่เช่นนั้น มีหุ้นกู้กลุ่ม ‘High Yield’  ออกมา เทติ้งต่ำกว่า BBB- ให้ผลตอบแทนสูง ก็ไปมองว่า ‘ไม่ดี’ เสี่ยงสูง ไม่น่าลงทุน แบบนี้ ‘ตลาดก็ไม่เกิด’ ออกมาก็ไม่มีใครซื้อ หรือถ้าต้องออกด้วยต้นทุนที่สูงกว่ากู้แบงก์ ใครจะมาออก

 

 

แม้มีแนวคิดว่า ควรให้นักลงทุนสถาบันอย่าง ‘กองทุนรวม’ เป็นผู้ที่จัดตั้งกองทุนเพื่อเข้าไปลงทุนในตราสารหนี้กลุ่ม ‘High Yield’ แทนนักลงทุน เพราะผู้จัดการกองทุนมีความรู้ความเข้าใจในการวิเคราะห์ตราสารเพื่อลงทุนอยู่แล้ว ส่วนนักลงทุนทั่วไปก็ค่อยมาลงทุนผ่านกองทุนแทน พงค์ธาริน มองว่า ในไทยทำได้ยาก หนึ่งคือความรู้ความเข้าใจทั้งของ ‘ผู้ออก’ และ‘นักลงทุน’ เอง ที่สำคัญ คือ ตลาดมีซัพพลาย ‘ไม่เพียงพอ’ ที่จะทำให้จัดตั้งกองทุนขึ้นมาเพื่อเข้าไปลงทุนได้อย่างมีประสิทธิภาพด้วย แต่ถ้ากระจายไปลงทุนเพียงบางส่วนยังสามารถทำได้
สำหรับนักลงทุนที่มีความรู้ความเข้าใจ และรับความเสี่ยงได้สูง กลุ่มกองทุน ‘Global High Yield’ น่าจะเป็นอีกทางเลือกที่ตอบโจทย์ความต้องการของคุณได้ไม่มากก็น้อย ในขณะที่ ‘ตลาด High Yield’ ในไทยยังค่อนข้างจำกัดในปัจจุบัน

ดูข่าวต้นฉบับ