ไลฟ์สไตล์

แม้ว่าเกลียดกัน แต่ควรให้เกียรติกัน - เพจมนุษย์กรุงเทพฯ

TALK TODAY
เผยแพร่ 02 ก.ย 2562 เวลา 17.05 น. • มนุษย์กรุงเทพฯ

เดือนมิถุนายน 2557 ผมเริ่มทำ ‘มนุษย์กรุงเทพฯ’ โดยไม่ได้คิดอะไรซับซ้อน ตัวเองพอมีทักษะในการสัมภาษณ์และเรียบเรียงเนื้อหา เมื่อไปเจอ ‘Humans of New York’ ของแบรนดอน สแตนตัน (Brandon Stanton) ที่เล่าเรื่องคนธรรมดาของเมืองนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา ได้อย่างเรียบง่ายและมีพลัง ผมเลยอยากทำแบบนั้นที่กรุงเทพฯ บ้าง (ตอนนั้นมีเพจชื่อ Humans of Bangkok แล้ว เลยตัดสินใจใช้ชื่อบ้านๆ ไปเลย)

แม้ว่าจุดเริ่มต้นไม่ได้ซับซ้อนอะไร ทำทั้งที่ไม่ได้พร้อมเท่าไรด้วย แต่พอต้องเขียนอธิบายความเป็นมาในหน้า About ผมเลยต้องกลับมาคุยกับตัวเอง จนกระทั่งออกมาเป็นเป้าหมายในการทำเพจ 3 ข้อ คือ  

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

1. เราสนใจออกไปเรียนรู้ชีวิตของผู้คนผ่านบทสนทนาอันหลากหลาย และมันคงจะดีไม่น้อยหากสามารถนำมาถ่ายทอดให้คนทั่วไปได้รับรู้ด้วย

2. จากการพูดคุยกับผู้คนหลากหลาย ความจริงประการหนึ่งที่เราได้รับก็คือ ทุกคนมีความน่าสนใจในแบบตัวเอง เรื่องเล่าของคนธรรมดาๆ สามารถมีพลังได้ไม่ต่างจากบุคคลมีชื่อเสียง หากนำถ้อยคำนั้นมาขยายให้กว้างขึ้น บางทีคนรอบๆ ตัวที่เราเคยละเลยอาจเปลี่ยนเป็นคนสำคัญขึ้นมาก็เป็นได้

3. จะด้วยที่มาอย่างไรก็ตาม เรารู้สึกว่าเดี๋ยวนี้ผู้คนฟังกันน้อยลง เมื่อฟังกันน้อยลง เราจึงเผลอเข้าใจว่าสิ่งที่ตัวเองคิดถูกต้องที่สุด ถ้าพื้นที่นี้จะจุดประกายให้คนฟังกันมากขึ้น ยอมรับความคิดเห็นที่หลากหลายได้มากกว่าเดิม เราคงยินดีเป็นที่สุด

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

พอได้คุยกับตัวเองอย่างจริงจัง มันไม่ใช่แค่ 3 ข้อ บางครั้งผมบอกเหตุผลที่อยู่ในใจลึกๆ กับบางคนด้วย

ท่ามกลางสถานการณ์ทางการเมืองสีเสื้อที่ดุเดือด ผมพบว่าบรรยากาศในโซเชียลมีเดียกำลังดุเดือดเช่นกัน ทั้งที่เป็นข่าวเดียวกัน แต่เมื่อเปลี่ยนพื้นที่สื่อสาร ความดี-ความเลว เรื่องถูก-เรื่องผิด ถูกตีความให้สอดคล้องกับความเชื่อของตัวเอง ตัวอักษรที่ฉาบทาด้วยความเกลียดชังพุ่งเป้าหาคนในข่าวราวกับไม่ใช่มนุษย์ ซึ่งแน่นอนว่าไม่ใช่แค่เรื่องการเมืองหรอก แต่รวมไปถึงหลายต่อหลายเรื่องที่ไต่เส้นศีลธรรมอันดีด้วย

ผมหดหู่กับคอมเมนท์เหล่านั้น เลยอยากสร้างพื้นที่ที่มีความแตกต่างหลากหลาย (ไม่นับเรื่องที่ ‘ผิด’ อย่างชัดเจน เช่นการสร้างความเดือดร้อนให้คนอื่น) แต่ผู้คนยังถ้อยทีถ้อยอาศัยกันได้ ซึ่งตอนบอกเหตุผลนี้กับคนอื่น ผมยังไม่รู้เลยว่าพื้นที่แบบนั้นจะเกิดขึ้นได้ยังไง

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

หลังจากลองผิดลองถูกอยู่สักพัก ผมพบว่าสิ่งสำคัญคือบทสนทนาต้องไม่ใช่เพียงบอกว่า ใครดี-ใครเลว อะไรถูก-อะไรผิด แต่เป็นการถามที่มาของสิ่งที่เกิดขึ้นว่า ‘ทำไม’ และ ‘อย่างไร’ อีกทั้งให้ความสำคัญกับความรู้สึกของมนุษย์คนหนึ่งด้วย

การลงมือทำไม่ได้ง่ายเหมือนการวาดฝัน แม้หลายเรื่องที่หมิ่นเหม่จะมีคนรับฟังพอสมควร เช่น การทำแท้ง การฆ่าตัวตาย ฯลฯ แต่ทันทีที่ลงบทสัมภาษณ์เรื่องการเมือง รวมไปถึงบางเรื่องที่สะเทือนศีลธรรมอันดี คนจำนวนหนึ่งยังเข้ามาคอมเมนท์ด้วยความเกรี้ยวกราด บ้างใช้คำหยาบ แต่ถ้าหนักกว่านั้น เขาเลือกใช้คำดูถูกเหยียดหยาม ซึ่งถือเป็นการลดทอนความเป็นมนุษย์ไปเลย 

ไอ้โง่ ไอ้เลว ไอ้เหี้ย สายเหลือง เปลี่ยนทอมเป็นเธอ ง่อย เป๋ ควายแดง แมลงสาป ฯลฯ   

เวลาเราจะด่าทอใคร (ที่ไม่เคยรู้จักกัน) ได้รุนแรงขนาดนั้น คงต้องเริ่มต้นด้วยความรู้สึกว่า คนนั้นๆ ‘ต่ำกว่า’ แล้วคำด่าทอยิ่งทวีความรุนแรงมากขึ้น หากเรารู้สึกว่าคนนั้น ‘ต่ำกว่ามนุษย์’ มิหนำซ้ำเมื่อโซเชียลมีเดียเปิดโอกาสให้ทุกคนแสดงออกได้อย่างอิสระ อีกทั้งไม่จำเป็นต้องแสดงตัวตนก็ยังได้ หลายคนเลยปลดปล่อยด้านมืดโดยไม่ยับยั้งชั่งใจ

แต่จริงหรือไม่ว่า ‘ความแตกต่าง’ เป็นคนละเรื่องกับ ‘ความเลว-ความผิด’ ดังนั้นหากใครสักคนมีความเชื่อ อุดมการณ์ และวิถีชีวิตแตกต่างจากคนส่วนใหญ่ (พูดง่ายๆ ก็แตกต่างจากคุณนั่นแหละ) ไม่ได้แปลว่าเขาต่ำกว่ามนุษย์คนไหนเลย 

บทสัมภาษณ์หลายร้อยชิ้นในเพจ ‘มนุษย์กรุงเทพฯ’ ผมไม่เห็นด้วยอยู่หลายชิ้น แต่เขามีสิทธิ์ที่จะพูดความคิดของตัวเอง ขณะสัมภาษณ์ ผมทำได้เพียงรับฟัง ขณะเขียน ตราบที่ไม่ได้กล่าวร้ายใคร ผมทำได้เพียงให้เขาเป็นตัวเอง ซึ่งมันไม่ได้เลวร้ายภายใต้ความเชื่อนั้นๆ

หากมองพ้นไปความแตกต่างเหล่านั้น เราต่างเคยมีความสุข ดีใจ และภาคภูมิใจ เราต่างเคยมีความทุกข์ หวาดกลัว และหดหู่ เราต้องการการยอมรับ อยากเป็นคนสำคัญ และปรารถนาให้คนอื่นเห็นคุณค่า ฯลฯ เมื่อไม่เพ่งโทษซ้ำไปซ้ำมาสุดท้ายคุณอาจเห็น ‘เราในเขา’ และ ‘เขาในเรา’  

ไม่ได้บอกว่าต้องเปลี่ยนมามองทุกเรื่องให้สวยงาม เป็นธรรมดาที่มนุษย์ย่อมมีความรู้สึก ซึ่งในฐานะปุถุชนคงห้ามความเกลียดกันได้ยาก แต่ในฐานะพลเมืองบนโลกเสมือน ผมเชื่อว่าเราให้เกียรติกันได้ 

เพราะเราต้องการอะไร เขาคงต้องการไม่ต่างกัน 

ดูข่าวต้นฉบับ
ความเห็น 34
  • ถ้าคนเรารู้จักการมีมารยาทต่อสังคมแล้ว ก็ย่อมที่จะเข้าใจถึงในความหมายของคำว่า ให้เกียรติกัน.
    03 ก.ย 2562 เวลา 00.41 น.
  • จะทำสิงใดๆก็ตามขอเพียงมีสติยับยั้งชั่งใจสักนิด..รู้จักกาละเทศะ..จังหวะบุคคล..โอกาสสถานที่ ..แค่นี้ก็สุดยอดแล้วครับ
    03 ก.ย 2562 เวลา 09.24 น.
  • peace
    การให้เกียรติกัน เป็นมารยาทส้งคมที่ควรปลูกฝัง เพร่ะนั่นเป็นการเคารพตัวเอง และเคารพผู้อื่น รวมถึงการบ่งบอกถึงความเจริญในสังคมที่เราอยู่ และการเลี้ยงดูในครอบครัวของตนเองด้วย สังคมจะพัฒนาได้ถ้าเรามีจิตสำนึกที่ดี ไม่ควรละเมิดสิทธิ์ส่วนบุคคลของใคร.
    03 ก.ย 2562 เวลา 06.11 น.
  • puy
    คนก็คนเหมือนกัน ต่างกันที่ความคิดค่ะ
    03 ก.ย 2562 เวลา 09.24 น.
  • พูดง่ายทำยากแต่ผมคนหนึ่งทำได้ต่างจากคนส่วนใหญ่ ต้องเอาของจริงมาพูดมันอยู่ที่จิตสำนึกของคนคนนั้น
    03 ก.ย 2562 เวลา 03.20 น.
ดูทั้งหมด