ไอที ธุรกิจ

“เครื่องเร่งกระบวนการฯ เพิ่มมูลค่าข้าวฮางงอก” พิชิตรางวัลสุดยอดนวัตกรรม

เส้นทางเศรษฐี
อัพเดต 19 ส.ค. 2562 เวลา 07.34 น. • เผยแพร่ 19 ส.ค. 2562 เวลา 07.34 น.

“เครื่องเร่งกระบวนการฯ เพิ่มมูลค่าข้าวฮางงอก” พิชิตรางวัลสุดยอดนวัตกรรม

เมื่อเร็วๆ นี้ สำนักงานเลขานุการคณะกรรมการส่งเสริมกิจการอุทยานวิทยาศาสตร์ (สอว.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ร่วมกับอุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาค ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคใต้ จัดงาน Regional Science Park (RSP) Innovation Day 2019

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

โดยภายในงาน มีการประกาศผลรางวัลสุดยอดนวัตกรรมระดับประเทศ (MOST Innovation Awards 2019) สาขานวัตกรรมและกระบวนการเชิงพาณิชย์ ได้แก่ เครื่องเร่งกระบวนการแช่และเพาะเมล็ดพืชของ ผศ.ดร.สุพรรณ ยั่งยืน จากมหาวิทยาลัยมหาสารคาม ซึ่งเป็นนวัตกรรมเพื่อใช้เร่งการแช่และเพาะงอกเมล็ดพืชให้เกิดขึ้นในเวลารวดเร็ว โดยไม่ต้องทำการเติมสารเร่ง ปรับสภาพน้ำ ลดปริมาณการใช้น้ำ และลดแรงงานด้วยหลักการให้น้ำไหลผ่านร่วมกับการบ่มงอกให้เกิดขึ้นในภาชนะเดียวกัน

ผศ.ดร.สุพรรณ กล่าวว่า องค์ความรู้ในการผลิตข้าวฮางงอก เป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นของชาวเผ่าภูไทในภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่สืบต่อกันมากว่า 200 ปี มีกระบวนการผลิตหลายขั้นตอน และใช้เวลานานถึง 7 วัน กว่าจะได้ผลิตภัณฑ์ข้าวฮางงอกออกมาได้ ทางทีมวิจัยของมหาวิทยาลัยมหาสารคาม จึงนำเทคโนโลยีกระบวนการทางด้านวิศวกรรมเข้ามาช่วยพัฒนาปรับปรุงกระบวนการเพื่อลดระยะเวลาและเพิ่มคุณภาพผลิตภัณฑ์ ตลอดจนเพิ่มความสะดวกสบายในการปฏิบัติงาน

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

ทั้งนี้ การแปรรูปข้าวฮางงอกอินทรีย์คุณภาพสูง หรือที่เรียกว่า “ข้าวสปา” นั้น เป็นการพัฒนากระบวนการแปรรูปข้าวเปลือกแบบเพาะงอก หรือ “ข้าวฮางงอก” ตามภูมิปัญญาท้องถิ่นชาวภูไทที่มีขั้นตอนการผลิตรวม 7 วัน ให้เหลือเพียง 2 วัน มีความสะดวก รวดเร็ว และคุณภาพดีเด่น ด้วยการนำ นวัตกรรมเครื่องเร่งกระบวนการแช่และเพาะงอก ช่วยในกระบวนการสำคัญคือ การทำให้ข้าวเปลือกงอก เกิดการเปลี่ยนแปลงทางชีวเคมีโดยเฉพาะอย่างยิ่งการเพิ่มขึ้นของปริมาณสารกาบา ซึ่งเป็นสารอาหารที่มีประโยชน์แก่ร่างกายหลายด้าน นอกจากนี้ยังลดการใช้น้ำน้อยลง และสามารถนำน้ำเวียนกลับมาใช้ซ้ำได้ร่วมเดือน ลดการใช้พื้นที่ตากลดความชื้น และลดการปนเปื้อน ที่สำคัญลดต้นทุนแปรผัน ด้านเวลา แรงงาน ความสามารถหรือกำลังการผลิตสูงขึ้น

“การผลิตข้าวฮางงอก มีต้นทุนการผลิตเฉลี่ย กิโลกรัมละ 35 บาท สามารถขายปลีกได้ ในราคา 100-120 บาทต่อกิโลกรัม นอกจากนี้ ยังขยายฐานลูกค้าใหม่ เช่น เป็นอาหารทางเลือกสำหรับไก่ชน โดยขายปลีกได้ ในราคากิโลกรัมละ 50 บาท เพิ่มโอกาสในการแข่งขัน เนื่องจากผลิตได้รวดเร็ว และคาดการณ์ปริมาณผลผลิตได้ สามารถผลิตได้ตลอดทั้งปี ไม่ขึ้นกับสภาพอากาศ การแปรรูปข้าวดังกล่าว ทำให้ชาวบ้านมีรายได้เพิ่มจากการขายข้าว คิดเป็นร้อยละ 50  นอกจากนี้ ยังมีโอกาสพัฒนาต่อยอดผลิตภัณฑ์ข้าวฮางงอก เช่น ข้าวนึ่งฮางงอก ขนมจีนฮางงอก เป็นต้น” ผศ.ดร.สุพรรณ กล่าว

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง
ดูข่าวต้นฉบับ
ความเห็น 2
  • พงศ์ธร@สวนสยาม🌾🌿
    ข้าวฮางงอกที่ไหนใช้เวลานานตั้ง 7 วัน เกิน 6 ชั่วโมงมันก็เริ่มงอกแล้ว ข้อมูลดูงงๆนะ เสียดายงบ
    20 ส.ค. 2562 เวลา 02.37 น.
  • เก่งมากครับ ปรบมือให้คนไทยเก่ง 👏👏👏👏 ข่าวแบบนี้ สังคมไทยเงียบ 555
    19 ส.ค. 2562 เวลา 15.23 น.
ดูทั้งหมด