“ปลาดุก” ถือเป็นปลาอีกชนิดที่คนนิยมบริโภคกันมาก “ฟาร์มปลาดุกหนองคาย” เป็นแหล่งผลิตสำคัญส่งขายครอบคลุมตลาด 5 จังหวัดในภาคอีสานตอนบนมากถึง 3 ตันต่อวัน ขณะที่ความต้องการสูงถึง 5 ตันต่อวัน
“กฤช มิคาระเศรษฐ์ เหมะรักษ์” หรือ “เสี่ยออย” เจ้าของ “ฟาร์มปลาดุกหนองคาย” บอกว่า ฟาร์มปลาดุกหนองคายนั้นอยู่ที่ ต.บ้านเดื่อ อ.เมือง จ.หนองคาย มีอยู่ 52 บ่อ ด้วยเงินลงทุนสูงกว่า 10 ล้านบาท สามารถผลิตปลาดุกขายได้สูงสุดวันละ 3 ตันหรือ 3,000 กิโลกรัมต่อวัน เฉลี่ยเดือนละประมาณ 100 ตัน ราคาขายกิโลกรัมละ 60 บาท ใน 1 บ่อ จะเลี้ยงปลาดุกได้ 10,000 ตัว ให้ผลผลิตน้ำหนักที่ 2,000 – 3,000 กิโลกรัม เป็นการเลี้ยงในบ่อผ้าใบ ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 5 เมตร สูง 1.20 เมตร บรรจุน้ำได้ 19.46 ลบ.ม. บนพื้นที่ 18 ไร่
“การเลี้ยงปลาดุกที่ฟาร์มแห่งนี้ จะนำลูกปลาดุกมาเลี้ยงที่บ่อดินที่เป็นบ่ออนุบาลก่อน พอได้ขนาดที่พอเหมาะจะนำเข้าไปเลี้ยงต่อในบ่อผ้าใบ ซึ่งมีเทคนิคในการให้อาหารคือ ให้ครั้งละไม่มาก แต่ให้บ่อย ๆ เพื่อปลาจะได้กินอาหารให้หมด ทำให้น้ำในบ่อไม่เสีย อีกทั้งยังได้นำการเลี้ยง “ระบบไบโอฟลอค” คือการนำจุลินทรีย์มาใส่ในบ่อ เพื่อให้จุลินทรีย์กินขี้ปลา แล้วเปลี่ยนเป็นโปรตีนกลับมาเลี้ยงปลา ทำให้น้ำในบ่อไม่เสียจึงไม่ต้องเปลี่ยนน้ำบ่อย”
ระยะเวลาในการเลี้ยงตั้งแต่เริ่มต้นถึงขายประมาณ 4 เดือน ส่งขายใน 5 จังหวัด ภาคอีสานตอนบน ประกอบด้วย หนองคาย อุดรธานี หนองบัวลำภู สกลนคร และบึงกาฬ ซึ่งขณะนี้ให้ผลผลิตสูงสุดวันละ 3 ตัน แต่ยังไม่เพียงพอกับความต้องการของตลาด ตอนนี้เตรียมขยายบ่อเลี้ยงเพิ่มเป็น 200 บ่อ เพื่อตั้งเป้าผลผลิตไว้ 5 ตัน/วัน ก่อนจับขายมีการปล่อยในบ่อที่มีการปรับสภาพน้ำให้มีสีขุ่น เพื่อให้ปลาดุกปรับตัวเป็นสีเหลืองสวยงามน่าซื้อ”
“เสี่ยออย” เล่าว่า ในอดีต ไม่เคยมีประสบการณ์ในการเลี้ยงปลาดุกเลย จึงได้มีการศึกษาหาความรู้เกี่ยวกับการเลี้ยงปลาดุก น้ำที่ใช้เลี้ยง ต้องมีความสัมพันธ์กัน และยังพบว่าปลาดุกเป็นปลาที่เลี้ยงง่าย คุณภาพน้ำไม่ต้องดีมากหรือไม่ต้องมีน้ำมากสามารถเลี้ยงได้ เมื่อเทียบกับการเลี้ยงปลานิลกระชังในแม่น้ำโขงแล้วพบว่าการเลี้ยงไม่มีอะไรแตกต่างกัน แต่การเลี้ยงปลาในบ่อผ้าใบง่ายต่อการควบคุมน้ำ ในขณะที่เลี้ยงในแหล่งน้ำธรรมชาติควบคุมอะไรไม่ได้เลย
สำหรับต้นทุนในการเลี้ยงปลาดุกต่อบ่อนั้น แยกเป็นบ่อผ้าใบและท่อทำระบบน้ำ ราคา 20,000 – 25,000 บาท พันธุ์ปลา 10,000 ตัว ตัวละ 1 บาท และอาหารที่ใช้เลี้ยง 30,000 – 40,000 บาทต่อการเลี้ยง 1 รอบ พันธุ์ปลาที่ใช้เลี้ยงต้องหาซื้อจากแหล่งที่เชื่อถือได้ แต่อย่างไรก็ตาม การเลี้ยงในบ่อผ้าใบ ปลาส่วนใหญ่จะได้กินอาหารใกล้เคียงกัน เห็นได้จากขนาดปลาที่เลี้ยงจะมีขนาดใกล้เคียงกันด้วย ซึ่งขนาดที่เป็นที่ต้องการของตลาดมีทั้งหมด 3 ขนาด คือขนาด 3 ตัวต่อ 1 กิโลกรัม หรือไซส์จัมโบ้หรือขนาดใหญ่ จะเป็นขนาดที่ร้านอาหารนิยมนำไปทำอาหาร สำหรับขนาด 4 – 6 ตัว/ 1 กิโลกรัม นิยมนำไปปิ้งขาย และไซซ์เล็ก ขนาด 6 – 8 ตัว/1กิโลกรัม จะเป็นขนาดที่นิยมนำไปปล่อยทำบุญหรือนำไปทำปลาป่น ซึ่งราคาปลาดุกทุกขนาดมีราคากิโลกรัมละ 60 บาท
“ก่อนที่จะเลี้ยงก็ต้องมีการเปลี่ยนความคิดก่อน คือไม่ใช่มองว่าต้องเป็นรวยเท่านั้นที่จะลงทุนเลี้ยงแล้วประสบความสำเร็จ แต่ให้คิดว่าเราจะเลี้ยงแบบใหม่ให้พร้อมทันกับการเปลี่ยนแปลงของโลก เมื่อเปลี่ยนความคิดแล้วก็ต้องเปลี่ยนวิธีทำ ทำอย่างไรให้ตอบโจทย์ของตลาด ของผู้บริโภคได้ อันดับแรกต้องศึกษาหาความรู้ก่อน อย่ากลัวการลงทุนเพราะทำอะไรก็ต้องลงทุน ซึ่งเราลงทุนเงินไปแล้วก็ต้องลงทุนความรู้ด้วย แล้วเดินให้สุดทางคือไม่ใช่เจอปัญหาแล้วเลิกแต่ต้องหาทางแก้ไขด้วย”
ด้านนายสุริยา จงโยธา ประมงจังหวัดหนองคาย กล่าวว่า การเลี้ยงปลาดุกในบ่อผ้าใบของฟาร์มปลาดุกหนองคาย ถือว่าเหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบันเป็นอย่างมาก เนื่องจากมีหลายพื้นที่ประสบปัญหาเรื่องภัยแล้งและมีน้ำน้อย เนื่องจากเป็นการเลี้ยงที่หนาแน่น แต่สัตว์น้ำที่เลี้ยงมีการเจริญเติบโตเต็มที่ ได้ผลผลิตเป็นที่น่าพอใจ สามารถเป็นต้นแบบให้กับเกษตรกรรายอื่น ๆ ได้เป็นอย่างดี ซึ่งนอกจากการเลี้ยงปลาดุกที่มีการใช้น้ำน้อยแล้ว จังหวัดหนองคาย ยังมีการเลี้ยงสัตว์น้ำอีกหลายชนิดที่ใช้น้ำน้อยเช่นกัน เช่นการเลี้ยงกบ เพราะกบและปลาดุกจะมีอวัยวะพิเศษในการเก็บออกซิเจน สามารถอยู่ในที่แออัดได้ ปริมาณออกซิเจนไม่ต้องสูงมากก็สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้