ตอนผ่านเมืองแพร่ ได้แวะบ้านปิน ที่มีสถานีรถไฟสวยๆ
ยังไม่พอ คนพาไปเขายังบอกว่า ต้องแวะซื้อ
ขนมเปี๊ยะด้วย
ชื่อขนมเปี๊ยะบ้านปิน
ผมกินแล้วติดใจทั้งจำง่าย
คนเมืองแพร่บอกผมว่า แพร่ไม่เนิบนะ
ถ้าเป็นน่าน น่ะ อาจจะ เนิบ เนิบ
แต่แพร่ไม่ใช่
แพร่มันคาวบอยแห่งล้านนา
แพร่เข้มข้น
ตอนผมจะแต่งเพลงให้เมืองแพร่
ผมก็ไม่นึกอยากจะแต่งเพลงช้า
ผมอยากแต่งเพลง ลีลาศ เพราะทราบมาว่า เมืองแพร่ก่อนนี้
เคยมีไนท์คลับสำหรับเต้นรำ
ภาพจำของแพร่ จึงเป็นแบรนด์ที่แตกต่างไปจากเมืองน่านหรือเมืองอื่นๆ
ผ่านเมืองแพร่ ต่อไปเมืองน่าน
ผมเดินท่อมๆ จากเกสเฮ้าส์ ไปเยือนมิตรสหายที่สปา
เขาชวนให้ลองชิมกาแฟ ที่สั่งมาจากบนดอย บ้านมณีพฤกษ์
ผมรู้สึกว่า ชื่อเหมือนบ้านจัดสรร
แต่พอเขานำเสนอ ว่าชวนดื่ม กาแฟเดอะม้ง
และให้พนักงานชาวม้งมาชง กาแฟ ชั้นดีชื่อเกอิชา ซึ่งเอาเมล็ดพันธ์ุมาจาก เอธิโอเปีย
โอ้แม่จ้าว กลิ่นละมุน หอมจางๆ ราวกับว่ามีชาผสมอยู่
การสร้างความรับรู้ สร้างความจดจำ หรือเรียกรวมๆ ว่าแบรนด์ เป็นสิ่งที่สำคัญยิ่ง
ที่ผมสนใจไม่แพ้รสกาแฟคือ คนชงกาแฟ ซึ่งเป็นสาวม้งจากแม่ฮ่องสอน
เหตุใดทำไมเธอจึงพูดภาษาไทยชัดถ้อยชัดคำได้ขนาดนี้
(พอดีตัวเองกำลังสนใจหลักสูตรพูดเขียนพอดี ก็เลยสนใจเป็นพิเศษ)
ทุกห้างร้านอุดมไปด้วยสารพัดกาแฟ เพื่อรองรับความต้องการของมวลมหาประชาชน
มิตรสหายชวนว่า โอกาสหน้าจะพาขึ้นไปชิมถึงบนดอย
และตอนนี้ กาแฟบางสายพันธ์ุ กิโลนึงราคาสูงถึงหลักพัน
ตอนลากลับเขาเอ่ยว่า ขับรถไปส่งไหม
ผมว่า ไม่เป็นไรเดินเอาก็ได้ ไม่ไกลเท่าไหร่
เขาว่างั้น เอาจักรยานไปปั่นดีกว่า เดินไปเดินมาแบบนี้ เสียแบรนด์ยูนิตี้หมด
ผมอึ้งไปสองวิ แล้วฟังเขาเอ่ยต่อ
ว่า ให้เอาจักรยานไปถีบเถอะ อย่าเดินไปเดินมาเลย
เดี๋ยวมันเสีย แบรนด์
ผมรู้สึกแปลกประหลาด วูบวาบขึ้นมา
ตั้งแต่ทำงาน ทำการมา แทบจะไม่เคยนึกถึง การสร้างแบรนด์
หรือที่เขาว่า อัตลักษณ์
ไม่ใช่ไม่เข้าใจ พอเรียนพอศึกษา พอได้ยินได้ฟังมา กระทั่งสนใจเสียด้วย
แต่ ที่ผ่านมา เวลาทำอะไรก็ไม่เคยนึกหรอกว่า
อันไหนมัน ช่วยสร้างหรือช่วยทำลายแบรนด์
ได้แต่ ทำๆ ไป ชอบอะไรก็ทำ
ไม่ชอบอะไรก็ไม่ทำ
อะไรฝืนใจทำ ก็หาทางเลิกทางลง
ไม่เคยงง สงสัย ในทิศทางที่เดินมา
แล้วการขี่จักรยานมันจะช่วยให้แบรนด์ของเรา
ชัดเจนสอดคล้องกันแค่ไหน กับการเดินแค่นี้
แค่นึกภาพตามว่า การเดินโต๋เต๋ กับถีบจักรยานโบกมือทักทาย
มันก็จะดูเท่กว่า ขึ้นมาอีกนิด
เลยลองถ่ายภาพ ส่งให้เพื่อนๆดูเล่นๆ
เพื่อนคนหนึ่งบอกว่า หน้ากากนักร้อง
ผมก็ว่า เออ เข้าท่า ผมเป็นนักร้องที่ต้องสวมหน้ากากเวลาไปไหนมาไหน
เพราะแพ้ฝุ่นแพ้ควัน อันนี้เป็นภาพติดตัวเวลาไปเดินงานสัปดาห์หนังสือ หรือตามที่ซึ่งมีคนและฝุ่นเยอะ
แต่เพื่อนผมอีกคนบอกว่า
ทำไมจักรยานที่ผมขี่ จึงไม่ใช่ ยี่ห้อที่เขาเป็นผู้ผลิต
เขายินดีจะจัดทำจักรยานให้ถ้าผมอยากขี่จริงๆ
เขามองเห็นเป็นโลกของการเป็นแบรนด์
ตอนมาน่านแรกๆ มีคนแนะนำเราว่าให้ไปกินที่ร้าน Hot Bread
( เราเห็นป้ายเล็กๆ แต่ตอนแรกไปไม่ถูก ซึ่งคนน่านที่เราสอบถาม ตอนนั้นก็ไม่มีใครรู้จัก )
เราดั้นด้นหาจนเจอ ถามเขาว่าทำไม ไม่ติดป้ายใหญ่ๆ
เขาบอกว่า มันจะรกรุงรัง
เอาป้ายเล็กๆ นี่แหละพอแล้ว
ไปแล้วก็กลายเป็นลูกค้าขาประจำ
บางทีร้านปิด
ก็จะเห็นติดป้ายไว้ บอกละเอียดเลยว่า
จะปิดนานแค่ไหน พาแม่ไปไหน
เป็นอีกร้านที่ประทับใจ ทุกคราเวลาไป
อีกแบรนด์ที่กำลังเอาใจช่วยชื่อ รวยบุญ
การคิดชื่อร้าน ชื่อสินค้า ชื่อหนัง หรือชื่ออัลบั้มนี่ไม่ใช่ง่ายนะ
ใครเปิดร้านกาแฟคงจะรู้ดี
แต่นี่ไม่ใช่ร้านกาแฟ
แต่เป็นร้านผ้า
ถ้าจะเอาชื่อ ฝ้ายคำ ไหมไทย อะไรๆ มันก็พร้อมจะซ้ำ
เจ้าของร้านบอกว่า เธอคิดอยู่นาน
เลยเอาชื่อพ่อกับชื่อแม่มาผสมกัน
คำว่า รวยเอามาจากชื่อ พ่อ และคำว่า บุญก็เอามาจากชื่อแม่นั่นไง
แล้วรวยบุญยังไง
ก็อยากรวยด้วย อยากทำบุญไปด้วย
ทำบุญด้วยการ ดึงคนมีฝีมือในชุมชนให้มีรายได้
และร่ำรวยด้วยการค้าขาย สิ่งที่ตัวเองสนใจ และมีความรู้
ร้านนี้ ย้อมสีธรรมชาติ
ตัวร้านเพิ่งเปิดไม่นาน
แต่พอลองแนะนำ ก็มีเพื่อนๆ บอกว่า เคยตามเฟซบุ๊กเขามาก่อน
จากงานบ้านและสวน
นั่นไง คนสมัยใหม่ เขาสร้างแบรนด์ ของเขาก่อนจะเปิดร้านด้วยซ้ำ
ครั้นเข้าไปในร้าน เห็นฝาร้านโล่งๆ
เลยแนะนำว่า อย่าลืมใส่ เรื่องเล่า หรือที่เขาเรียกว่า story เข้าไปในร้านด้วย
ช่วยย่นย่อความเข้าใจ ใส่เข้าไป
อาจเป็นภาพ มือไม้ที่เลอะครามตอนย้อม
อาจเป็นเรื่องราวของป้า ผู้ค้นคว้าสีสันจากพันธุ์ไม้และธรรมชาติ
เพราะนั่นคือการสร้างสตอรี่
การสร้างสตอรี่ไม่ใช่ เรื่องโกหก แต่การเลือกบางเรื่องราวมาเล่าให้เกิดความเข้าใจในผลงาน
การสร้างแบรนด์ จึงเป็นเรื่องสำคัญ
แต่การสร้างสตอรี่ ไม่ใช่ สตรอว์เบอร์รี หรือ สะตอแหลไป กับความมดเท็จที่เสกสรรปั้นแต่งขึ้นมา
อันนี้ มีแต่จะทำให้แบรนด์เสียหายในระยะยาว
ถ้าเรื่องเล่านั้น ไม่สมจริง
ยิ่งถ้าบอกว่า จะพาแม่ไปไหน ก็ต้องพาไปจริงๆ ไม่งั้นแบรนด์จะเสื่อมได้นะ
chalermkwan @พี่จุ้ย...ถีบรถจักรยาน ไม่ใช่คนใต้จะเข้าใจเราเปล่า...😁😁😁
24 เม.ย. 2562 เวลา 11.54 น.
เป็นผู้ชายที่เขียนบทความเหมือนผู้หญิง
หมายถึงใส่ใจในรายละเอียด และจุกจิก
25 เม.ย. 2562 เวลา 08.46 น.
ผมว่าพี่จุ้ยอธิบายเปรียบเทียบได้ดี พี่น่าจะไปทำงานในทางด้านการประชาสัมพันธ์ในด้านการตลาดของการท่องเที่ยวนะครับ รับรองมีคนสนใจเยอะแน่.
25 เม.ย. 2562 เวลา 01.37 น.
MooKarnchana ชอบจริงๆ สมจุ้ย
24 เม.ย. 2562 เวลา 11.32 น.
ดูทั้งหมด