ไลฟ์สไตล์

‘รปภ.’ ก็สำคัญ เมื่อบทบาทของ รปภ.พิพิธภัณฑ์จะไม่ใช่แค่ยืนนิ่งๆ อีกต่อไป

The Momentum
อัพเดต 17 ก.ค. 2561 เวลา 11.14 น. • เผยแพร่ 17 ก.ค. 2561 เวลา 11.14 น. • Museum Minds

In focus

  • เมื่อแม่บ้านหรือ รปภ. เป็นกลุ่มคนที่จะได้พบกับผู้เข้าชมพิพิธภัณฑ์มากที่สุด จึงมีแนวคิดในพิพิธภัณฑ์ยุคใหม่ว่า น่าจะดี หากพวกเขาได้มีส่วนร่วมกับตัวพิพิธภัณฑ์มากกว่าแค่ยืนนิ่งๆ ขณะที่รู้สึกห่างไกลกับงานศิลปะและผู้เข้าชม
  • รปภ. ประจำพิพิธภัณฑ์ Baltimore Museum of Art รู้สึกว่าผู้คนมักมองข้ามรปภ. ในพิพิธภัณฑ์ เธอจึงตัดสินใจเป็นภัณฑารักษ์ จัดแสดงงานศิลปะที่สรรค์สร้างโดยรปภ.เสียเอง และมีคนซื้องานด้วย ซึ่งนั่นช่วยให้พวกเขาไม่รู้สึกเกรงกลัวศิลปะอีกต่อไป
  • ที่หอศิลป์กรุงเทพฯ (BACC) เองก็มีการจัดอบรม รปภ. เกี่ยวกับประวัติศาสตร์หอศิลป์ และเรื่องราวของผลงานที่จัดแสดง เพื่อให้พวกเขาสามารถเข้าไปพูดคุยกับผู้เข้าชมได้ ช่วยผ่อนคลายความตึงเครียดของหอศิลป์ได้มากขึ้น

ในช่วงปี 1990s บริษัทนวัตกรรม Cybermotion พยายามจะประดิษฐ์และจัดจำหน่ายหุ่นยนต์รักษาความปลอดภัยให้กับพิพิธภัณฑ์ในอเมริกา พวกมันมีระบบคลื่นเสียงและอินฟราเรดเพื่อวิเคราะห์ระดับความชื้นในห้องนิทรรศการให้คงที่สำหรับวัตถุจัดแสดง รวมไปถึงสามารถจับการเคลื่อนไหวที่ผิดปกติและส่งสัญญาณเตือนภัยได้ด้วย

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

แม้ว่าโปรเจคต์นี้จะไม่ได้รับความนิยมตามที่คาด (บริษัท Cybermotion ปิดตัวลงในปี 2001) แต่มันก็ชวนให้เราหันมาทบทวนภาพลักษณ์และบทบาทของเจ้าหน้าที่ในพิพิธภัณฑ์ ด้วยคำถามที่ว่า งานของพวกเขาในพิพิธภัณฑ์ สามารถทดแทนด้วยหุ่นยนต์ได้จริงหรือไม่?

หากมองตามลำดับขั้นความต้องการของมนุษย์ตามทฤษฎีของมาสโลว์ (Maslow’s hierarchy of needs) แล้ว ความต้องการขั้นพื้นฐานอย่างด้านกายภาพ และด้านความปลอดภัยหรือความมั่นคง ต้องได้รับการตอบสนองก่อน จึงจะสามารถไปสนใจสนองความต้องการลำดับที่ไกลกว่าได้ เช่น ความรู้สึกรัก หรือชื่นชอบ ไปจนถึงการคิดวิเคราะห์หรือเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ฯลฯ

ดังนั้นแล้ว หากพิพิธภัณฑ์หรือหอศิลป์ ต้องการที่จะนิยามตัวเองเป็น ‘พื้นที่ของการเรียนรู้’ อันเป็นความต้องการขั้นถัดออกไป นอกจากจะต้องออกแบบพื้นที่ให้น่าใช้แล้ว ตำแหน่งที่มักจะถูกมองข้ามในพิพิธภัณฑ์และหอศิลป์ อย่างแม่บ้านหรือเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย (รปภ.) ก็ถือว่ามีบทบาทสำคัญมาก ในการเติมเต็มประสบการณ์ของพิพิธภัณฑ์ เพราะพวกเขาคือกลุ่มบุคคลที่ผู้เยี่ยมชมจะต้องพบเจอเป็นอันดับแรกๆ (ซ้ำยังมีแนวโน้มจะได้สนทนาด้วยมากกว่าภัณฑารักษ์หลายเท่า) และมีอิทธิพลต่อความรู้สึกของผู้ชมต่อองค์กรโดยตรง ซึ่งจะดีแค่ไหนหากว่าพวกเขาไม่ได้ทำหน้าที่เพียงยืนนิ่งเพื่อมอบความรู้สึกปลอดภัย แต่พวกเขายังเป็นอะไรได้ยิ่งกว่านั้น

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

การสร้างบทบาทหน้าที่และให้ความสำคัญกับแม่บ้าน และรปภ. มีส่วนช่วยยกระดับให้เกิดความมั่งคงทางจิตใจแก่เจ้าหน้าที่ ทำให้พวกเขาเกิดความรักในงานของพวกเขาว่าไม่ได้ถูกมองข้าม ตระหนักถึงคุณค่าความเป็นมนุษย์ของตนระหว่างปฏิบัติงาน ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะส่งต่อไปถึงผู้ชมได้ด้วยเช่นกัน ผ่านการปฏิบัติหน้าที่ที่ใสใจต่อผู้คนและองค์กรมากขึ้น ผู้เยี่ยมชมเอง เมื่อความรู้สึกมั่นคงที่เป็นพื้นฐานได้รับการตอบสนองแล้ว แม่บ้านหรือ รปภ. ยังสามารถมีส่วนที่ทำให้เกิดทัศนคติและประสบการณ์ที่ดีในการเข้าพิพิธภัณฑ์ด้วย

ผู้รักษาความปลอดภัยอาจจะเป็นผู้ให้ข้อมูลเบื้องต้น ความเป็นมาของพิพิธภัณฑ์ ว่าในองค์กรมีบุคลากรฝ่ายไหนบ้าง แล้วตนอยู่ตรงไหน ไปจนถึงการปฏิสัมพันธ์กับผู้เข้าชม หรือมากไปกว่านั้น อาจอบรมให้ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับเนื้อหาของพิพิธภัณฑ์ ไม่ว่าจะเป็น ประวัติศาสตร์เบื้องต้น และสามารถแนะนำได้ว่าผลงานชิ้นไหน ในบริเวณไหนของพิพิธภัณฑ์ที่เป็นจุดเด่น เป็นต้น

ในต่างประเทศ เช่นสหรัฐอเมริกา บทบาทของรปภ.ไปไกลกว่าเพียงแค่รักษาความปลอดภัยมากโข ไดนิต้า ไบรอันท์ (Dynita Bryant) ประธานสหภาพเจ้าหน้าที่ รปภ.แห่งฟิลาเดเฟีย และเป็น รปภ.ประจำที่พิพิธภัณฑ์ Philadelphia Museum of Art กล่าวว่า เธอได้รับกำลังใจจากผู้ชม และได้แรงบันดาลใจจากภาพวาดในพิพิธภัณฑ์ กระตุ้นให้เธอได้คิดสร้างสรรค์สิ่งต่างๆ เธอจะชอบไปยืนใกล้ๆ ภาพเหล่านั้น ไม่ใช้เพราะหน้าที่ที่ต้องทำ แต่มันเป็นความสุข

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

ลินดา สมิตธ์ (Linda Smith) รปภ. ประจำพิพิธภัณฑ์ Baltimore Museum of Art รู้สึกว่าคนมักมองข้ามรปภ. ทั้งที่คนเหล่านี้ถูกพบเห็นได้มากที่สุด เธอจึงตัดสินใจเป็นภัณฑารักษ์ จัดแสดงงานศิลปะที่สรรค์สร้างโดยรปภ.เสียเอง มีทั้งผลงานของเพื่อนร่วมงานและของตัวเธอเอง ซึ่งมีคนซื้อกลับไปเสียด้วย! ซึ่งมันช่วยให้พวกเขาไม่รู้สึกเกรงกลัวกับงานศิลปะที่แสดงบนผนังพิพิธภัณฑ์อีกต่อไป

อีกตัวอย่างหนึ่งที่ใกล้ตัวเรามากขึ้น หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร (BACC) ก็เป็นอีกหนึ่งองค์กรที่ให้ความสำคัญกับบุคลากรทุกฝ่าย โดยมีการจัดการอบรมให้กับเจ้าหน้าที่รปภ. โดยเริ่มต้นจากการให้ความรู้ ทำความเข้าใจ ผ่านการล้อมวงคุย ไม่ยัดเยียดความรู้ทางศิลปะมากนัก แต่เน้นที่สิ่งที่ต้องนำไปใช้ โดยกำหนดเนื้อหาคร่าวๆ 4 ประเด็น ได้แก่

  • หอศิลปกรุงเทพฯ มีความเป็นมาอย่างไร (ประวัติศาสตร์ของพิพิธภัณฑ์)

  • หอศิลปกรุงเทพฯ มีอะไรให้ดูบ้าง

  • ผลงานศิลปะ ที่จัดแสดงอยู่ในหอศิลปะกรุงเทพฯ นั้น สำคัญอย่างไร

  • สามารถดูแลรักษาผลงานศิลปะ ที่จัดแสดงอยู่ในหอศิลปกรุงเทพฯ ด้วยวิธีการใดได้บ้าง

การอบรมนี้มีจุดมุ่งหมายก็เพื่อให้ รปภ.ทุกคนมีความมั่นใจที่จะเข้าไปพูดคุย แนะนำกับผู้ชมมากขึ้น ผ่อนคลายความตึงเครียดและความเป็นทางการของหอศิลป์ไปได้มาก พวกเขาอาจไม่จำเป็นต้องเข้าใจงานทุกชิ้นอย่างลึกซึ้ง แต่อย่างน้อย ‘มนุษย์’ ที่จะเข้าไปสื่อสารต่อกัน อาจช่วยสร้างทัศนคติที่ดีต่อพิพิธภัณฑ์ทั้งสำหรับผู้เข้าชมเอง รวมถึงตัวพวกเขาเอง ที่รู้สึกถึงการมีส่วนร่วมกับพิพิธภัณฑ์ที่มากไปกว่าการเฝ้าดูอย่างเคร่งเครียดราวกับหุ่นยนต์

อย่างที่เราพยายามเสนอในคอลัมน์ Museums NOWว่าในยุคที่ความรู้สามารถหาได้ง่ายและเร็ว (และฟรี) จากอินเตอร์เน็ต พิพิธภัณฑ์จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องนิยามตนเองใหม่ ไม่ใช่แค่การเลือก คัด และจัดแสดงเท่านั้น แต่จะต้องสร้างสภาพแวดล้อม และรูปแบบการเรียนรู้ที่แตกต่างออกไปจากเดิม ต้องทำให้พิพิธภัณฑ์เป็นสถานที่ที่สร้างประสบการณ์การเรียนรู้ที่สนุก สามารถประยุกต์ใช้ความรู้นั้นได้ในชีวิตประจำวัน และทำให้ผู้คนเห็นความสำคัญของการเรียนรู้ที่ได้จากการเข้าไปในพิพิธภัณฑ์อย่างไม่สิ้นสุด

แน่นอนว่าสิ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้นไม่ได้ หากพิพิธภัณฑ์มองข้ามฟันเฟือนสำคัญ และศักยภาพของบุคคล ที่สามารถสร้างความเป็นมนุษย์ให้กับองค์กร สร้างความรื่นรมย์ให้กับผู้ใช้ และที่สำคัญเป็นการแสดงให้เห็นถึงความเท่าเทียมในสังคม

ที่มา:

ขอบคุณภาพถ่าย และข้อมูล จาก อาจารย์อนิวัฒน์ ทองสีดา และหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร

https://th.wikipedia.org/wiki/ลำดับขั้นความต้องการของมาสโลว์

https://www.nytimes.com/2013/03/21/arts/artsspecial/museum-guards-on-life-beyond-the-galleries.html

ดูข่าวต้นฉบับ