ทั่วไป

หนีเสือปะจระเข้ “สำเพ็งซบเซา” ทุนจีนรุกพื้นที่ สู้ออนไลน์ยาก ชนยักษ์อี-คอมเมิร์ซ

TODAY
อัพเดต 16 ก.ค. 2562 เวลา 04.41 น. • เผยแพร่ 16 ก.ค. 2562 เวลา 04.40 น. • Workpoint News

ลงพื้นที่สำรวจตลาดสำเพ็ง หลังจากภาพ "ตลาดร้าง" แชร์ไปอย่างกว้างขวาง พบ "เศรษฐกิจตกต่ำ" กับ "การรุกของตลาดจีน" สองปัจจัยหลักที่ทำให้ยอดขายลดลง

ตลาดสำเพ็ง ความคึกคักทางเศรษฐกิจ

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

ตลาดสำเพ็งเดิมเป็นชุมชนของชาวจีนอพยพที่ย้ายมาตั้งรกรากตั้งแต่ตอนต้นรัตนโกสินทร์ จนภายหลังได้กลายมาเป็นแหล่งการค้าสำคัญของกรุงเทพฯ โดยตลาดนี้ตั้งอยู่ที่ถนนมังกรติดกับถนนผลิตผล อยู่ใกล้กับเยาวราชและถนนวานิช 

ด้วยความเป็นตลาดค้าส่งและค้าปลีกสินค้าแหล่งใหญ่ เป็นจุดหมายสำคัญของคนที่ต้องการได้สินค้าในราคาที่ถูกกว่าที่อื่น หรือเหมาของในปริมาณมากเพื่อนำไปขายต่อ สินค้าที่นี่มีมากมายให้ลูกค้าเลือกสรร ไม่ว่าจะเป็นสินค้ากิ๊ฟช็อปอย่างตุ๊กตาของเล่น เครื่องเขียน และเครื่องประดับ สิ้นค้าประเภทกระเป๋า รองเท้า รวมไปถึงอุปกรณ์ของใช้ในบ้าน และอาหารแห้ง

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

ตลาดสำเพ็ง ยังมีคนเดินอยู่ แต่บางตาลงไปมาก ภาพโดยศรุต รัตนวิจิตร

ไม่ร้างผู้คนแต่ซบเซาลงจริงๆ 

หลังจากที่เหยียบเท้าเข้าตลาดสำเพ็งในวันธรรมดาพบว่า ตลาดไม่ได้เหงียบเหงาร้างผู้คน ถึงขนาดตามภาพข่าวที่ปรากฎ ยังมีลูกค้าเดินจับจ่ายใช้สอยตามร้านรวงต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นคนไทยเอง รวมถึงนักท่องเที่ยวที่เดินจับกลุ่มกันเลือกซื้อของกระจุกกระจิกอยู่ด้วย รถเวสป้าสองคันแล่นผ่านไปพร้อมกล่องบรรจุสินค้าที่ต้องส่งไปยังมือลูกค้า ทิ้งไว้แต่เสียงจากท่อไอเสียอันเป็นเอกลักษณ์

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

จากการพูดคุย พ่อค้าขายส่งข้าวของเครื่องใช้เกี่ยวกับเด็กทารกบอกว่า “ที่คุณเห็นในสื่อว่าไม่มีคนมานั้น มันเกินจริงไป คือยังมีคนมาเดินอยู่ แต่ช่วงนี้มันเป็นหน้าฝน ก็อาจทำให้คนเขาไม่ค่อยออกมาเดินกันนัก” 

ก่อนทำหน้าซีเรียสมากขึ้นเป็นการบอกว่าเรื่องจะได้ยินต่อไปนั้นไม่ใช่เรื่องดีเลย 

“แต่ก็ต้องยอมรับว่า ตลาดสำเพ็งซบเซาลงไปอย่างมาก ลูกค้ามาซื้อของน้อยลงเรื่อยๆ รายได้ของร้านเราไม่ทรงตัว ก็ลดลง กำไรนั้นแทบไม่มีทางเป็นไปได้ มันเป็นมาได้ 4-5 ปีมาแล้ว”

สินค้าที่วางขายในตลาดสำเพ็ง ไม่น้อยมีให้หาซื้อในตลาดออนไลน์แล้ว ภาพโดยศรุต รัตนวิจิตร

ภาวะเศรษฐกิจมรสุมลูกแรกกระทบตลาดสำเพ็ง

แม้ยังมีลูกค้ามาเดินตลาดสำเพ็งอยู่อย่างไม่ขาดสาย แต่กล่าวได้ว่าปริมาณของคนที่เห็น ถ้าเทียบกับสมัยก่อนนั้น น้อยลงไปอย่างถนัดตา 

แม่ค้าขายผ้าวัย 60 กว่าปีที่กำลังนั่งคุยกับสามีของเธออยู่ โดยที่หน้าร้านของเธอเปิดขายของประเภทกิ๊ฟช็อปด้วย เธอเล่าให้ฟังว่า “น้องดูสิ แม้จะเห็นว่ามีคนมาเดินตลาดสำเพ็ง แต่ต้องถามว่าพวกเขาได้ซื้อของกลับไปกี่ชิ้น แค่ชิ้นสองชิ้นเท่านั้น แล้วแบบนี้ร้านจะรายได้ไม่ลดลงได้อย่างไรละ” 

“เป็นเพราะเศรษฐกิจไม่ดี” เธอตอบโดยไม่ลังเลเมื่อถูกถามถึงสาเหตุ และเล่าต่อว่า ร้านของเธอเปิดมาได้กว่า 70 ปีแล้ว รายได้ส่วนใหญ่ของทางร้านจะมาจากสองทาง คือ หนึ่ง ออเดอร์ผ้าจากโรงงานผลิตเสื้อผ้าและรองเท้า กับสอง คือร้านขายผ้าตามต่างจังหวัดจะสั่งซื้อผ้าจากร้านเธอไปขายต่อ ที่เหลือก็จะมาจากการขายตามหน้าร้าน โดยรายได้รวมกันทั้งหมดจะตกต่อเดือนถึง 3 แสนบาท เรียกได้ว่าธุรกิจรุ่งเรืองจนมีลูกน้องคอยช่วยงานในร้านกว่า 10 คน แต่ด้วยเศรษฐกิจที่ไม่ค่อยสู้ดีนักทั่วโลกในช่วง 5 ปีหลัง จนส่งผลต่อกันมาถึงไทยเป็นลูกโซ่ ทำให้ปัจจุบันกำลังซื้อของคนหายไป ออเดอร์จากทั้งสองแห่งไม่ว่าจะเป็นจากโรงงานและร้านต่างจังหวัดที่สั่งของลดลง ตอนนี้ลูกค้าประจำมีเพียงไม่กี่ราย รายได้เหลือวันละไม่ถึงหมื่นบาท จากลูกน้องนับสิบ ต้องเลิกจ้างไปจนเหลือเพียงแค่คนเดียว

“เมื่อก่อนต้องตื่นตี 3 มาเปิดร้านเพื่อเตรียมส่งผ้าตามออเดอร์ได้ทัน แต่เดี๋ยวนี้ไม่ต้องแล้ว” เธอกล่าวก่อนรับโทรศัพท์จากลูกค้าเจ้าประจำที่โทรมาสั่งผ้า

ทุนจีนมาหลงหลักปักฐาน เปิดร้านแย่งลูกค้า ภาพโดยศรุต รัตนวิจิตร

จีนตีตลาดมรสุมลูกใหญ่

การรุกคืบของพ่อค้าแม่ค้าจีนส่งผลกระทบโดยตรงกับยอดขายในสำเพ็ง หนึ่งในร้านขายของเล่นเด็กเล่าให้ฟังว่า นอกจากเรื่องเศรษฐกิจที่ส่งผลต่อรายได้ของทางร้านแล้ว การเข้ามาของพ่อค้าแม่ค้าจีนที่ทั้งเปิดหน้าร้านและขายออนไลน์ ก็เป็นปัจจัยสำคัญอีกอันหนึ่ง

“ปกติแล้ว เวลาสั่งของเล่นจากจีน ร้านเราจะได้รับสินค้าได้เร็วกว่าร้านอื่นๆ ด้วยกันเอง แต่เมื่อ 6-7 ปีที่ผ่านมา ที่คนจีนเริ่มเข้ามาเช่าร้านขายของกันมากยิ่งขึ้น และเปิดร้านขายของเล่นด้วยตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นทั้งขายหน้าร้านและทางออนไลน์ แต้มต่อที่สำคัญของพ่อค้าแม่ค้าจีนก็คือ เขามีต้นทุนในการขายของที่ถูกกว่าจนสามารถมาตัดราคาร้านอื่นๆ ได้ วันหนึ่งเขาเดินมาดูร้านเราว่าขายอะไรบ้าง จากนั้นอีกวันต่อมา เขาก็สั่งของแบบเดียวกับที่เราขายอยู่นั้นมาขายแข่งกับเราด้วยราคาที่ถูกกว่า” เธอยอมรับว่าตั้งแต่ที่จีนเข้ามายังตลาดสำเพ็งบวกกับเศรษฐกิจที่ไม่ค่อยสู้ดี ทำให้รายได้เธอหายไปถึง 60%

นอกจากของเล่นเด็กแล้ว สินค้าอีกประเภทหนึ่งที่ได้รับผลกระทบเช่นเดียวกันก็คือ สินค้าอย่างกิ๊ฟช็อปและเครื่องประดับ 

แม่ค้าร้านกิ๊ฟช็อปพูดไปในทิศทางเดียวกับเจ้าของร้านขายของเล่นเด็กเกี่ยวกับการเข้ามาของทุนจีนว่า เมื่อเศรษฐกิจไม่ดีทำให้ร้านค้าบางแห่งแบกรับค่าใช้จ่ายไว้ไม่ไหว จึงปล่อยร้านให้เช่าต่อ บวกกับคนจีนเข้ามา ทำให้ตลาดสำเพ็งตอนนี้จึงเต็มไปด้วยร้านของคนจีนและมาตัดราคาร้านต่างๆ บางเจ้านำสินค้าไปขายออนไลน์มากขึ้น สิ่งเหล่านี้เองทำให้คนซื้อคิดว่าไม่จำเป็นต้องมาตลาดสำเพ็ง แค่อยู่บ้านก็สามารถรับของในราคาที่ถูกกว่าได้แล้ว นี่คือผลพวงของการกระทบต่อๆ กันมาจนมีส่งผลต่อรายได้ของร้านเธอ 

“ไม่เชื่อลองเดินดูแถวนี้ๆ ได้ แล้วจะเห็นว่าคนจีนเยอะขนาดไหน โดยเฉพาะแถวเสือป่า” แม่ค้าร้านกิ๊ฟช็อปกล่าวพร้อมกับชี้ไปยังทิศทางของสถานที่ที่เธอแนะนำให้ไปศึกษา

บรรยากาศที่เห็นกันมาชินตาในตลาดสำเพ็ง ภาพโดยศรุต รัตนวิจิตร

หนีเสือปะจระเข้ สู้ออนไลน์ก็เจอ อี-คอมเมิร์ซเจ้าใหญ่

“ตอนนี้เราหันไปขายออนไลน์บ้างแล้ว รวมทั้งลดการสั่งซื้อของเล่นบางอย่างลง หวังว่ามันจะช่วยเราได้” เจ้าของร้านขายของเล่นอธิบาย ขณะที่แม่ค้ากิ๊ฟช๊อปมองว่า แม้เธอจะลองใช้ออนไลน์มาช่วยเสริมการขายให้ถึงลูกค้ามากขึ้น แต่ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายเลยที่จะเพิ่มยอดขายได้ เนื่องจากในตลาดออนไลน์เอง ก็มียักษ์ใหญ่อีคอมเมิร์ชจากต่างประเทศมากดราคาสินค้าด้วยเช่นเดียวกัน “อีกทางหนึ่งเราก็ต้องปรับการขายของหน้าร้านด้วยการสั่งของใหม่ๆ และหลากหลายมาขาย ซึ่งก็ต้องปรับตัวกันต่อไป…ที่จริงเราก็อยากฝากไปถึงภาครัฐด้วยว่าให้อิสระกับทุนจีนมากไปหรือไม่”

ส่วนแม่ค้าร้านขายผ้าบอกว่า “นอกจากนี้ขายผ้าแล้ว ตอนนี้ได้เอาสินค้าอื่นอย่างกิ๊ฟช็อปมาขายด้วย และตั้งไว้หน้าร้านเลยเผื่อจะได้เรียกลูกค้าได้ คือสุดท้ายถ้าไม่ไหวจริงๆ ก็คงต้องปิดร้าน”

บทสรุป ณ วันนี้คือหลายๆ สิ่งได้นำพาความเปลี่ยนแปลงมาสู่ตลาดสำเพ็ง และสัญญาณของการเปลี่ยนผ่านดังกล่าวเริ่มปรากฎเห็นชัดขึ้นเรื่อยๆ  หลังจากนี้คงอยู่ที่ว่า ใครสามารถปรับตัวให้รับกับกระแสของสิ่งใหม่ได้ดีกว่า ก็สามารถเอาตัวรอดจากความเปลี่ยนแปลงนี้ได้เท่านั้นเอง

ตลาดสำเพ็งวันอังคารที่ 9 กรกฎาคม 2562 ภาพโดยศรุต รัตนวิจิตร

รายงานโดย ศรุต รัตนวิจิตร 

ดูข่าวต้นฉบับ
ความเห็น 10
  • POP
    ดูตัวเองก่อน คนสำเพ็งฟังนะ 1.คนขายพูดจาเหมือนลูกค้ามาขอคุณกิน 2.จัดร้านล้ำออกมาจนเดินลำบาก 3.สินค้าไร้คุณภาพ อย่ามาอ้างว่าของถูก 4.คืน เครมยาก พวกคุณทำมาแบบนี้กี่ชั่วอายุคน ลูกค้าเค้าทน เพราะเค้าไม่มีทางเลือก วันนี้ เวรกรรม ตามทันล่ะ อย่าร้อง
    16 ก.ค. 2562 เวลา 05.50 น.
  • papa jar
    ตลาดเปลี่ยนไป เริ่มวายตามกาลเวลา ดูอย่างบางลำภู เมื่อก่อนใครก็ต้องไป เดี่ยวนี้เด็กรุ่นใหม่รู้จักไหม ละ
    16 ก.ค. 2562 เวลา 05.41 น.
  • สั้น ๆ อย่าโทษเศรษฐกิจ... ยามยากแค่ไหนคนก็จับจ่ายใช้สอยเหมือนเดิมแหละ จะมาก จะน้อย อีกเรื่อง สินค้าฟุ่มเฟือยยังขายดี ขายได้ คุยกับคนบวก ๆ มีพลังหน่อย ไม่ใช่หันไปมีแต่เรื่องหวย จับยีกี รายขั่วโมง ลุ้นแต่หวย
    16 ก.ค. 2562 เวลา 07.02 น.
  • มรกต
    อากาศร้อน เดินเหนื่อยเมื่อยขาเหม็นเหงื่อ หาที่จอดรถยาก หัองน้ำเน่า ของราคาพอได้ แต่ถ้าเทียบกับนั่งจิ้มที่บ้านแล้วต้นทุนถูกกว่าออกไปเดิน ไม่ต้องหอบหิ้วพะรุงพะรัง ยังไงก็ได้ของจีนเหมือนกัน
    16 ก.ค. 2562 เวลา 06.43 น.
  • 파차 라
    เมื่อก่อนไปซื้อของมาขายเหมือนไปขอถามแบ้วไม่เอาชักสีหน้าใส่ไม่ง้อไม่สนนี่แหละ..
    16 ก.ค. 2562 เวลา 07.30 น.
ดูทั้งหมด