ไลฟ์สไตล์

“กระดาษกับคนเรา ของคู่กัน” มากกว่าจดบันทึก คือวัฒนธรรมที่สืบต่ออย่างบรรจง

ศิลปวัฒนธรรม
อัพเดต 03 มิ.ย. เวลา 05.44 น. • เผยแพร่ 02 มิ.ย. เวลา 17.08 น.

แม้ว่าระบบการเขียน และความต้องการที่จะจดบันทึกจะเป็นแรงผลักสำคัญที่ก่อให้เกิดการผลิต “กระดาษ” ขึ้น แต่ในทุกวันนี้เราไม่ได้ใช้ “กระดาษ” เพียงเพื่อจดบันทึกอย่างเดียว แต่เรายังใช้ชีวิตอยู่คู่กับมัน สร้างคุณค่าทางวัฒนธรรมขึ้น

ย้อนกลับไปถึงจุดเริ่มต้นของกระดาษ ชนชาติแรก “ชาวอียิปต์โบราณ” ได้ผลิตกระดาษขึ้นจากพืชกกชื่อว่า ต้นปาปิรัส (Papyrus) เป็นรากศัพท์ของคำว่า paper ในภาษาอังกฤษ

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

นักประวัติศาสตร์เชื่อว่า มีการใช้กระดาษปาปิรัสในการจารึกบทสวดและคำสาบาน ที่ถูกบรรจุไว้ในพีระมิดอียิปต์ มาตั้งแต่ราว 3,000 ปีก่อนคริสตกาล

แต่เนื่องจากวิธีการผลิตที่นำเยื่อมาติดซ้อนๆ กัน และมีลักษณะที่ไม่เป็นเนื้อเดียว ทำให้นักวิจัยรุ่นหลังกลับไม่ยอมรับว่าสิ่งนี้ คือ “กระดาษ” เนื่องจากวัสดุที่ใช้ไม่ได้เป็นแผ่นเนื้อเดียวกัน เพียงแต่นำเยื่อมาติดซ้อนๆ กัน และให้การยอมรับว่า กระดาษของชนชาติจีน คือกระดาษที่แท้จริง เพราะเป็นเนื้อเดียวกัน

กระดาษของชนชาติจีน เกิดขึ้นในรัชสมัย พระเจ้าจักรพรรดิโฮตี ใน ค.ศ. 105 โดยชาวจีนนามว่า ไซลุง ผู้สามารถผลิตกระดาษจากการใช้เปลือกไม้และเศษแหอวนเก่าๆ นำมาต้มจนได้เยื่อกระดาษ แล้วนำไปเกลี่ยบนตะแกรงและปล่อยให้แห้ง เวลาดำเนินมาถึงจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญ ภายหลังจากการสู้รบระหว่างกองทัพจีนกับมุสลิมในสงครามทัลลัส เมื่อ ค.ศ. 751 ที่เชลยศึกชาวจีน 2 คน เป็นผู้เปิดเผยวิธีการทำกระดาษแบบจีนให้ชาวมุสลิม

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

แต่สิ่งที่แตกต่างกันระหว่างกระดาษของชาวมุสลิมกับของชาวจีน คือ ชาวมุสลิมได้ปรับปรุงวิธีการทำกระดาษ โดยใช้ผ้าลินินแทนเปลือกไม้ของต้นหม่อน โดยนำผ้าลินินไปหมักในน้ำ ซึ่งมันจะไม่เน่าเปื่อย และจะนำเศษผ้าที่ต้มเสร็จแล้ว ซึ่งปราศจากกากที่เป็นด่างและสิ่งสกปรก มาตอกด้วยค้อน เพื่อทำให้กลายเป็นเยื่อกระดาษขึ้น และถือเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยทำให้การพัฒนาศิลปวิทยาการในโลกมุสลิมสมัยกลางเจริญก้าวหน้าอย่างมากอีกด้วย

ย้อนกลับมาที่ประเทศไทย คำว่ากระดาษที่เราใช้เรียกกันอยู่ทุกวันนี้ไม่ใช่คำไทย แต่เป็นคำที่แปลงมาจากภาษาโปรตุเกส คือ “Cartas” ทำให้เข้าใจว่าโปรตุเกสเป็นผู้นำกระดาษแบบฝรั่งเข้ามาตั้งแต่ก่อนสมัยอยุธยา คำว่ากระดาษจึงติดปากใช้กันมาตั้งแต่สมัยนั้น [1]

อย่างไรก็ตาม แม้ไทยเราจะไม่ปรากฏหลักฐานของการผลิตกระดาษว่าเกิดขึ้นตั้งแต่เมื่อใด แต่คาดว่ามีการใช้กระดาษจดบันทึกมาตั้งแต่สมัยสุโขทัยแล้ว เพียงแต่ไม่ได้ใช้คำว่า “กระดาษ” ในการเรียก โดยจะเรียกว่า ใบสมุด แทน เพราะคำว่าสมุดหมายถึงเล่ม เช่น สมุดข่อย สมุดไทย [2] เป็นต้น

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

ความสามารถในการผลิตกระดาษได้ นอกจากจะสะท้อนให้เห็นถึงภูมิปัญญาของชนชาตินั้นๆ ยังก่อให้เกิดวัฒนธรรมอีกด้วย เช่น วัฒนธรรมการพับกระดาษของจีน ที่ถือเป็นส่วนหนึ่งในพิธีกรรมการไหว้เจ้า คือการเผา “กระดาษเงินกระดาษทอง หรือ ค้อซี” ไปให้บรรพบุรุษที่เสียชีวิตไปแล้ว อันถือเป็นการแสดงความกตัญญู เปรียบเสมือนกับการส่งเงินทองไปให้ [3]

หรือหากย้อนกลับไปในสมัยราชวงศ์ถัง ก็มี “กระดาษเรียกวิญญาณ” คือการตัดกระดาษเป็นรูปเรือใบ แล้วนำมาห่อยอดข้าวเกาเหลียง ซึ่งจะใช้สำหรับวิญญาณที่ตายไม่ปกติ เป็นการชักนำดวงวิญญาณให้หาทางกลับบ้านถูก และไปสู่สุขคติ

นอกจากใช้ในการพิธีกรรม วัฒนธรรมการตัดกระดาษยังกลายมาเป็นสิ่งที่ใช้ประเมินว่าใครจะเป็นเจ้าสาวที่ดีได้ด้วยเช่นกัน

ในช่วงยุคหลังสมัยหมิงและชิง ศิลปะการตัดกระดาษถูกนำมาใช้สอยอย่างกว้างขวาง มีการตัดกระดาษเพื่อนำมาใช้ตกแต่งบ้าน ประตู หน้าต่าง เพดาน ดั้งนั้นจึงทำให้การตัดกระดาษกลายมาเป็นงานฝีมือที่ผู้หญิงจำเป็นต้องมีความเชี่ยวชาญ [4] ในระดับหนึ่งเลยที่เดียว

ที่ประเทศญี่ปุ่น มีวัฒนธรรมการพับกระดาษเช่นกัน คือ “โอริกามิ” เป็นการนำกระดาษมาพับเป็นรูปร่างต่างๆ ที่นิยมที่สุดคือ รูปนกกระเรียน อันมีความหมาย คือ พันปี [5] และเป็นสัญลักษณ์ของการมีอายุยืนยาว ความหวัง ความโชคดีและความสุข ตามตำนานซุรุ หรือนกกระเรียน ที่เชื่อว่าถ้าพับนกกระเรียนครบ 1,000 ตัว แล้วนำมาร้อยเป็นของขวัญ จะทำให้คนที่ได้รับสามารถหายจากอาการเจ็บป่วย มีสุขภาพแข็งแรง อายุยืนยาว [6]

ดังจะเห็นได้จากเรื่องราวอันโด่งดังของ “ซาดาโกะ ซาซากิ” ที่มีอนุสาวรีย์อยู่ใจกลางสวนสาธารณะสันติภาพฮิโรชิม่า สร้างขึ้นเพื่อรำลึกถึงซาดาโกะและเด็กๆ อีกหลายคนที่เสียชีวิตจากระเบิดปรมาณู และเพื่อเป็นการตระหนักถึงพิษภัยของสงครามโลกครั้งที่ 2 [7]

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่

เชิงอรรถ :

[1] หอสมุดแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ นครพนม, ตำนานกระดาษ เข้าถึงเมื่อ 18 มิถุนายน 2561 จาก http://www.finearts.go.th/nakhonphanomlibrary/parameters/km/item/ตำนานกระดาษ

[2] สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน, วารสารส่งเสริมการลงทุน ธุรกิจการพิมพ์ กระดาษจากลุ่มแม่น้ำไนล์สู่สิ่งพิมพ์ดิจิตอล, เข้าถึงเมื่อ 15 มิถุนายน 2561 จาก http://www.boi.go.th/upload/content/BOI_Nov_2010_99373.pdf, หน้า 6-8.

[3] Myhome, ทำความรู้จักกระดาษไหว้เจ้าและวิธีการพับกระดาษเงินกระดาษทองอย่างถูกวิธี เข้าถึงเมื่อ 15 มิถุนายน 2561 จาก http://www.baanlaesuan.com/94218/diy/easy-tips/chinesenewyear-paper/

[4] Ingtimja, ศิลปะการตัดกระดาษจีน เข้าถึงเมื่อ 15 มิถุนายน 2561 จาก https://xingyun657.wordpress.com/

[5] Sanook, ตำนานนกกระดาษ เข้าถึงเมื่อ 15 มิถุนายน 2561 จาก https://guru.sanook.com/3917/

[6] มาเรียนรู้วัฒนธรรมญี่ปุ่นกันเถอะ! สัมผัสประสบการณ์ พับกระดาษโอริกามิของญี่ปุ่น เเละ โอริกามิอาร์ท เข้าถึงเมื่อ 15 มิถุนายน 2561 จาก http://soodyod-hokkaido.jp/tourisms/detail/T010033

[7] por_kk, ซาดาโกะกับนกกระเรียนพันตัว สัญลักษณ์แห่งสันติภาพและบทเรียนราคาแพงของมนุษย์โลก เข้าถึงเมื่อ 18 มิถุนายน 2561 จาก https://www.online-station.net/movie/view/36524

เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 18 มิถุนายน 2561

อ่านข่าวต้นฉบับได้ที่ : “กระดาษกับคนเรา ของคู่กัน” มากกว่าจดบันทึก คือวัฒนธรรมที่สืบต่ออย่างบรรจง

ติดตามข่าวล่าสุดได้ทุกวัน ที่นี่
– Website : https://www.silpa-mag.com

ดูข่าวต้นฉบับ