ทั่วไป

ครม. เคาะเยียวยาผู้ประสบภัยน้ำท่วม 1 ล้านครัวเรือน สูงสุด 9 พันบาท

ThaiNews - ไทยนิวส์ออนไลน์
อัพเดต 29 พ.ย. 2565 เวลา 09.51 น. • เผยแพร่ 29 พ.ย. 2565 เวลา 09.43 น.

ครม. มีมติเห็นชอบหลักเกณฑ์ เงื่อนไขและวิธีการจ่ายเงินช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยในช่วงฤดูฝนปี 2565 พร้อมอนุมัติกรอบวงเงิน 6,258.54 ล้านบาท สำหรับจ่ายเงินช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยจำนวน 1,046,460 ครัวเรือน

ครม. เคาะเยียวยาผู้ประสบภัยน้ำท่วม 1 ล้านครัวเรือน สูงสุด 9 พันบาท

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

นาย อนุชา บุรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ระบุ ที่ประชุม ครม. มีมติเห็นชอบหลักเกณฑ์ เงื่อนไขและวิธีการจ่ายเงินช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยในช่วงฤดูฝนปี 2565 พร้อมอนุมัติกรอบวงเงิน 6,258.54 ล้านบาท สำหรับจ่ายเงินช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยจำนวน 1,046,460 ครัวเรือน ซึ่งเป็นจำนวนครัวเรือนจากการสำรวจเบื้องต้นในพื้นที่กรุงเทพมหานคร และ 66 จังหวัด ที่อยู่ในพื้นที่ได้ประกาศเขตพื้นที่ประสบสาธารณภัย หรือประกาศเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยกรณีฉุกเฉินในกรณีใด กรณีหนึ่งใน 3 กรณี ดังต่อไปนี้

1. กรณีที่อยู่อาศัยประจำอยู่ในพื้นที่น้ำท่วมขัง ติดต่อกันตั้งแต่ 1 วัน (24 ชม.) แต่ไม่เกิน 7 วัน และทรัพย์สินได้รับความเสียหาย หรือที่อยู่อาศัยประจำถูกน้ำท่วมขังเกินกว่า 7 วัน แต่ไม่เกิน 30 วัน ให้ความช่วยเหลือ ครัวเรือนละ 5,000 บาท

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

2. กรณีที่พักอาศัยอยู่ในพื้นที่น้ำท่วมขัง ติดต่อกันเกินกว่า 30 วัน แต่ไม่เกิน 60 วัน ให้ความช่วยเหลือ ครัวเรือนละ 7,000 บาท

3. กรณีที่พักอาศัยอยู่ในพื้นที่น้ำท่วมขัง ติดต่อกันเกินกว่า 60 วันขึ้นไป ให้ความช่วยเหลือครัวเรือนละ 9,000 บาท

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

สำหรับหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการจ่ายเงินช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยในช่วงฤดูฝนปี 65 ดังนี้
หลักเกณฑ์

1. ต้องเป็นกรณีอุทกภัยที่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อที่อยู่อาศัยในช่วงฤดูฝนปี 65 ตั้งแต่ 13 พ.ค.-28 ต.ค. 65 ทั้งกรณีน้ำท่วมโดยฉับพลัน น้ำไหลหลาก น้ำล้นตลิ่ง รวมถึงการระบายน้ำจนส่งผลกระทบทำให้ไม่สามารถดำรงชีวิตได้
2. ต้องเป็นที่อยู่ที่ประสบอุทกภัยตามที่กรมป้องกัน และบรรเทาสาธารณภัยประกาศเป็นเขตพื้นที่ประสบสาธารณภัย หรือประกาศเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยกรณีฉุกเฉิน ซึ่งได้รับผลกระทบกรณีใดกรณีหนึ่ง คือ ที่อยู่อาศัยประจำถูกน้ำท่วมขัง ตั้งแต่ 1 วัน (24 ชม.) แต่ไม่เกิน 7 วัน และทรัพย์สินได้รับความเสียหาย หรือที่อยู่อาศัยประจำถูกน้ำท่วมขังเกินกว่า 7 วันขึ้นไป

เงื่อนไข

1. ต้องเป็นบ้านที่อยู่อาศัยประจำในพื้นที่ที่ได้ประกาศเขตพื้นที่ประสบสาธารณภัย และหรือประกาศเขตการให้ความช่วยเหลือ ผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน โดยมีหนังสือรับรองผู้ประสบภัยที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นออกให้ และต้องผ่านการประชาคมหมู่บ้านของแต่ละพื้นที่ประสบสาธารณภัย และผ่านการตรวจสอบและยืนยันข้อมูลจากคณะกรรมการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติอำเภอ และคณะกรรมการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติจังหวัด สำหรับกรุงเทพมหานครต้องผ่านการตรวจสอบ และยืนยันข้อมูลจากสำนักงานเขตและกรุงเทพฯ
2. กรณีที่ประสบภัยหลายครั้ง ให้ได้รับความช่วยเหลือเพียงครั้งเดียว

การจ่ายเงินช่วยเหลือ

กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย จะเป็นผู้จ่ายเงินช่วยเหลือแก่ผู้ประสบภัยผ่านธนาคารออมสิน
ทั้งนี้ กระทรวงมหาดไทยรายงานว่า ขณะนี้ ยังคงมีสถานการณ์ในพื้นที่ 6 จังหวัด ได้แก่ มหาสารคาม อุบลราชธานี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา สุพรรณบุรี และนครปฐม โดยยังมีครัวเรือนที่ได้รับความเสียหายอีกจำนวนหนึ่ง ซึ่งอยู่ระหว่างการเร่งสำรวจจากเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง เพื่อเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบต่อไป

ดูข่าวต้นฉบับ