ข้อมูลจากเว็บไซต์หอสมุดแห่งชาติ กล่าวถึงความเป็นมาของวันปีใหม่ว่า ในสมัยโบราณคนทั่วโลกมีหลักเกณฑ์ในการกำหนดวันขึ้นปีใหม่ที่คล้ายคลึงกันโดยคำนึงถึงเหตุและผลที่เกี่ยวข้องกับสภาพชีวิต ความเป็นอยู่ ดินฟ้าอากาศ และจารีตประเพณี เพราะวันขึ้นปีใหม่ย่อมหมายถึงวาระแห่งความรื่นเริงและสิริมงคลในชีวิต เป็นนิมิตหมายที่ดีในการเริ่มต้นสิ่งใหม่และมอบความปรารถนาดีให้แก่กันหลังจากตรากตรำกับภารกิจการงานมาตลอดทั้งปี คนไทยในสมัยโบราณก็เช่นเดียวกันวันขึ้นปีใหม่ครั้งแรกจึงได้ถูกกำหนดขึ้นอย่างสอดคล้องกับหลักเกณฑ์ข้างต้น ประเทศไทยมีการเปลี่ยนแปลงวันขึ้นปีใหม่นับได้ ๔ ครั้งซึ่งมีเหตุผลและความเหมาะสมที่แตกต่างกัน ดังนี้
ครั้งแรก วันขึ้นปีใหม่ของไทยตรงกับ วันแรม 1 ค่ำ เดือนอ้าย บรรพบุรุษไทยเริ่มมีการเฉลิมฉลองวันขึ้นปีใหม่เป็นครั้งแรกตั้งแต่ยังมีถิ่นฐานอยู่บริเวณประเทศจีนทางตอนใต้ ตามทางสอบสวนปรากฏว่าเป็นของไทยแท้ และไม่ได้เลียนแบบมาจากที่ใด มูลเหตุมาจากดินฟ้าอากาศในประเทศของเราดังพระบรมราชาธิบายพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงกล่าวถึงฤดูทั้ง 3 ไว้ว่า วิธีนับวันขึ้นปีใหม่ของคนไทยโบราณถือว่าเดือนอ้าย แรม 1 ค่ำ เป็นวันขึ้นต้นปีเพราะฤดูหนาวที่เรียกว่าเหมันตะเป็นเวลาที่พ้นจากความมืดครึ้มของฟ้าฝนและสว่างไสวขึ้นเปรียบเสมือนเวลาเช้าถือเป็นต้นปี ฤดูร้อนที่เรียกว่าคิมหฤดูเป็นเวลาสว่างร้อนเหมือนเวลากลางวันถือว่าเป็นกลางปี ส่วนฤดูฝนที่เรียกว่าวัสสานะเป็นเวลาที่มืดมัวและมีฝนพรำเปรียบเสมือนเวลากลางคืนถือว่าเป็นปลายปี เพราะฉะนั้นจึงได้นับชื่อเดือนเป็นหนึ่งมาแต่เดือนอ้าย
ครั้งที่ 2 วันขึ้นปีใหม่ของไทยตรงกับ วันขึ้น 1 ค่ำ เดือน 5 เมื่อชาวไทยย้ายถิ่นฐานลงมาสู่ดินแดนแหลมทอง จึงได้มีการเปลี่ยนแปลงวันขึ้นปีใหม่ครั้งแรกสาเหตุน่าจะมาจากอิทธิพลของพราหมณ์ที่มีถิ่นฐานเดิมอยู่ทางตอนเหนือของประเทศอินเดียเมื่อพราหมณ์เหล่านี้เดินทางเข้ามาสู่แผ่นดินไทยจึงนำลัทธิธรรมเนียมและจารีตประเพณีต่าง ๆ ตลอดจนแนวคิดในการเปลี่ยนศกใหม่ในวันสงกรานต์ตามแบบสุริยคติของอินเดียเหนือเข้ามาเผยแพร่ด้วย จึงส่งผลให้ไทยกำหนดวันขึ้นปีใหม่เป็น วันขึ้น 1 ค่ำ เดือน 5 (เดือนเมษายน) และถือเป็นวันสงกรานต์ด้วย และได้ใช้ติดต่อกันเรื่อยมาจนถึงสมัยรัตนโกสินทร์ รัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
ครั้งที่ 3 วันขึ้นปีใหม่ของไทยตรงกับ วันที่ 1 เมษายน การกำหนดวันขึ้นปีใหม่สองครั้งที่ผ่านมาได้ถือเอาทางจันทรคติเป็นหลัก พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเห็นความลำบากในการกำหนดวันขึ้นปีใหม่ มีพระราชปรารถว่าวันขึ้นปีใหม่ของไทยซึ่งนับตามจันทรคตินั้นมักจะเลื่อนไปเลื่อนมาไม่แน่นอนเป็นการยุ่งยากแก่การจดจำ และเมื่อต้องมีการติดต่อกับต่างประเทศก็ยิ่งรู้สึกลำบากมากขึ้นจวบจนถึงรัตนโกสินทรศก 108(พุทธศักราช 2432) วันขึ้น 1 ค่ำ เดือน 5 ตรงกับวันที่ 1 เมษายนพอดี จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ประกาศให้ถือวันที่ 1 เมษายน เป็นวันขึ้นปีใหม่ตั้งแต่พุทธศักราช 2432 เป็นต้นมานับเป็นวันขึ้นปีใหม่ทางสุริยคติครั้งแรกของไทย
ครั้งที่ 4 วันขึ้นปีใหม่ของไทยตรงกับ วันที่ 1 มกราคม ตรงกับรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร รัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม เห็นว่าเมื่อไทยยอมรับปฏิทินสุริยคติตามแบบสากลแล้ว ก็ควรเปลี่ยนวันขึ้นปีใหม่ให้เป็นแบบสากลเพื่อความสะดวกในการติดต่อกับต่างประเทศ จึงกำหนดให้ถือวันที่ 1 มกราคมของทุกปีเป็นวันขึ้นปีใหม่เริ่มตั้งแต่พุทธศักราช 2484 เป็นต้นมา ส่งผลให้พุทธศักราช 2483 มีจำนวนเดือนเพียง 9 เดือนขาดไป 3 เดือน
วันขึ้นปีใหม่ไม่ว่าชาติใดภาษาใด ต่างถือว่าเป็นวันสำคัญวันหนึ่งเพราะเป็นวาระเริ่มต้นชีวิตใหม่ในอีกรอบขวบปีหนึ่ง และต่างถือว่า เป็นวันที่อุดมด้วยมงคลฤกษ์ และศุภนิมิตอันดีงาม ฉะนั้น ในวันนี้จึงมีการจัดพระราชพิธี พิธี งานรื่นเริง กิจกรรม และประเพณีบำเพ็ญกุศลทางศาสนา ตลอดจนการอวยพรและขอรับพรจากกันและกัน เพื่อเป็นการเฉลิมฉลองมิ่งขวัญอันจะนำมาซึ่งศิริสวัสดิ์พิพัฒนมงคลแก่ตนและครอบครัว ตลอดจนมิตรสหายวงศ์ญาติที่เคารพนับถือ