SMEs-การเกษตร

สวนศักดิ์ศรีเบตง จ.ยะลา ต้นแบบปลูกทุเรียนมูซังคิง

เทคโนโลยีชาวบ้าน
อัพเดต 19 ส.ค. 2565 เวลา 04.25 น. • เผยแพร่ 01 ส.ค. 2565 เวลา 01.53 น.

“มูซานคิง” (Musang King) หรือ “มูซังคิง” บางทีก็เรียก ทุเรียนเหมาซานหวาง หรือ เหมาซานหว่อง คือ ทุเรียนสายพันธุ์ดีของมาเลเซีย ที่คนรักทุเรียนต้องลองชิม เพราะมีรสอร่อยมาก เนื้อแห้งสีเหลืองเข้มไม่มีเส้นใย เม็ดลีบ มีกลิ่นหอม รสสัมผัสนุ่ม เหนียวเนียน รสชาติหวานมัน อร่อยครบเครื่อง ทำให้ทุเรียนมูซังคิงได้รับความนิยมบริโภคสูงสุดในประเทศมาเลเซีย จีน ไต้หวัน ฯลฯ

อ.เบตง ยะลา ทำเลเป็นต่อ

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

ปลูกมูซังคิง แหล่งแรกในไทย

พื้นที่อำเภอเบตง จังหวัดยะลา มีพรมแดนติดกับประเทศเพื่อนบ้าน “มาเลเซีย” ซึ่งเป็นต้นกำเนิดของทุเรียนมูซังคิง อำเภอเบตง มีสภาพพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นเขา สภาพอากาศร้อนชื้น อุณหภูมิต่ำ ใกล้เคียงกับสภาพภูมิประเทศของมาเลเซีย จึงเอื้อต่อการเจริญเติบโตของทุเรียนมูซังคิง กลายเป็นปลูกทุเรียนมูซังคิงแหล่งแรกในประเทศไทย

คุณโอ หรือ นายศักดิ์ศรี สง่าราศรี เกษตรกรรุ่นใหม่ (Young Smart Farmer) ของอำเภอเบตง และเป็นเจ้าของ สวนศักดิ์ศรี ตั้งอยู่ในพื้นที่หมู่ที่ 2 ตำบลตาเนาะแมเราะ อำเภอเบตง จังหวัดยะลา เป็นหนึ่งในเกษตรกรรุ่นแรกๆ ของอำเภอเบตงที่ปลูกทุเรียนมูซังคิง เดิมทีครอบครัวคุณโอทำสวนยางพารา และทำสวนส้มเป็นอาชีพหลัก ต่อมาสวนส้มประสบปัญหาโรคระบาด ช่วงเวลาดังกล่าว คุณพ่อของคุณโอรู้ข่าวว่า มูซังคิงซึ่งเป็นพันธุ์ดีของมาเลเซีย ขายได้ราคาดีมากถึงกิโลกรัมละ 500 บาท สร้างแรงจูงใจให้รื้อแปลงส้มทิ้งทั้งหมดแล้วหันมาปลูกทุเรียนมูซังคิง บนเนื้อที่ 8 ไร่ ตั้งแต่เมื่อ 16 ปีที่แล้ว ปัจจุบัน สวนแห่งนี้นับเป็นแปลงทุเรียนมูซังคิงใหญ่ที่สุดในอำเภอเบตงที่ให้ผลผลิตแล้ว

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

การปลูกดูแล ทุเรียนมูซังคิง

การปลูกทุเรียนมูซังคิง ของ สวนศักดิ์ศรี เริ่มจากปลูกทุเรียนพื้นบ้านไว้เป็นต้นตอ เมื่ออายุได้ 1 ปี จึงนำยอดทุเรียนมูซังคิงมาเสียบ ระยะปลูก 8×9 เมตร พื้นที่ 1 ไร่ ปลูกทุเรียนมูซังคิงได้ 25 ต้น เนื่องจากพื้นที่อำเภอเบตง มีสภาพภูมิอากาศดี มีฝนตกต่อเนื่องตลอดทั้งปี จำเป็นต้องลงทุนเรื่องระบบน้ำ แต่ระยะหลังอำเภอเบตงได้รับผลกระทบจากสภาพอากาศเปลี่ยนแปลงจึงต้องใช้แรงคนมาดูแลรดน้ำแปลงปลูกทุเรียนบ้างในช่วงที่สภาพอากาศแล้ง

คุณโอ ดูแลสวนแบบเกษตรปลอดสารพิษ หลังหมดฤดูเก็บเกี่ยว จะตัดหญ้าตามโคนต้นทุเรียนก่อนจึงค่อยใส่ปุ๋ยอินทรีย์และปุ๋ยเคมีสูตรเสมอในแปลงปลูกต้นทุเรียนมูซังคิง ทุกๆ 2 เดือน ใส่ปุ๋ยสูตร 8-24-24 ช่วงที่ดอกทุเรียนเริ่มบานพร้อมให้ธาตุอาหารเสริมประเภท แมกนีเซียม โบรอน บำรุงต้น

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

คุณโอ ใส่ใจบริหารจัดการเพื่อให้ดอกทุเรียนติดอยู่ได้นานเพื่อให้ได้ผลผลิตที่ดีทั้งปริมาณและคุณภาพ หลังดอกบาน 100-110 วัน ก็เก็บเกี่ยวผลผลิตออกไปขายได้ โดยตัดทุเรียนที่ความสุกแก่ 85% ขึ้นไป ผลทุเรียนมูซังคิงมีขนาดใกล้เคียงกับทุเรียนพวงมณีของไทย น้ำหนักเฉลี่ยประมาณกิโลกรัมต่อลูก หากบำรุงดีจะได้ผลขนาดใหญ่ น้ำหนักเฉลี่ยประมาณ 3-4 กิโลกรัม ต่อลูก

ทุเรียนมูซังคิง ของสวนศักดิ์ศรี มีเอกลักษณ์ประจำสายพันธุ์ชัดเจน คือบริเวณก้นผลมีลักษณะรูปดาว 5 แฉก เปลือกบาง เมล็ดเล็ก ลีบ บาง เนื้อสีเหลืองเข้ม เนื้อละเอียดเนียน รสชาติมัน หวานแหลม มีกลิ่นหอมเฉพาะตัว และมีรสชาติอร่อยมาก ทั้งนี้ ทุเรียนมูซังคิง จัดอยู่ในกลุ่มทุเรียนพันธุ์เบา

ปัจจุบัน คุณโอมีพื้นที่ปลูกทุเรียน 25 ไร่ แบ่งเป็นทุเรียนที่ให้ผลผลิตแล้ว 4 ไร่ ทุเรียนที่ยังไม่ให้ผลผลิต 16 ไร่ บ่อน้ำ 2 ไร่ และแปลงเพาะกล้า 3 ไร่ โดยจำหน่ายผลผลิตผ่านช่องทางตลาดออนไลน์ส่งถึงมือผู้บริโภคในราคากิโลกรัมละ 650 บาท ผลผลิตบางส่วนส่งขายห้างสรรพสินค้าชั้นนำ รวมไปถึงจำหน่ายกล้าพันธุ์มูซังคิง ในราคาต้นละ 100 บาท

ทุกวันนี้ สวนศักดิ์ศรี นอกจากเป็นแหล่งผลิตสินค้าปลอดภัยได้รับมาตรฐานการรับรองมาตรฐานสินค้าเกษตรปลอดภัย โดยนำนวัตกรรมเทคโนโลยีการเกษตรที่เหมาะสมไปใช้ให้เหมาะสมกับพื้นที่แล้ว ยังได้ต่อยอดเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตรอีกด้วย ใครสนใจอยากสั่งซื้อสินค้าติดต่อได้ที่ สวนศักดิ์ศรี เลขที่ 113/2 หมู่ที่ 2 ตำบลตาเนาะแมเราะ อำเภอเบตง จังหวัดยะลา หรือ เฟซบุ๊ก “มูซานคิงส์ ทุเรียนเบตง สวนศักดิ์ศรี”

วิสาหกิจชุมชนสวนศักดิ์ศรีทุเรียนเบตง

คุณโอ ให้ความสำคัญกับสุขภาพของเกษตรกรชาวสวนทุเรียน หากใช้สารเคมีในระยะยาวจะส่งผลกระทบต่อสุขภาพและสภาพแวดล้อม จึงเป็นแกนนำรวมกลุ่มเกษตรกร ทุเรียนเบตง ภายใต้ชื่อ วิสาหกิจชุมชนสวนศักดิ์ศรีทุเรียนเบตง เมื่อปี 2564 โดยเน้นการทำสวนเกษตรอินทรีย์ผลิตทุเรียนปลอดสารพิษ และได้รับมาตรฐานรับรอง GAP ซึ่งช่วยยกระดับคุณภาพและราคาของทุเรียนให้เพิ่มสูงขึ้น ซึ่งสินค้าหลัก ได้แก่ ทุเรียนพันธุ์มูซานคิง พันธุ์โอวฉี หรือหนามดำ ( Musang King Biack Thorn Ochee) มีรสชาติอร่อย สินค้าขายดีอีกชนิดหนึ่งของมาเลเซีย พร้อมเพาะพันธุ์กล้าทุเรียนมูซานคิง กล้าพันธุ์ทุเรียนโอฉี หรือหนามดำ ส่งขายทั่วประเทศผ่านตลาดออนไลน์ ในราคาต้นละ 100 บาท ไม่ต่ำกว่าปีละ 60,000-80,000 ต้น

ที่ผ่านมา วิสาหกิจชุมชนสวนศักดิ์ศรีทุเรียนเบตง ทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางในการรวบรวมทุเรียนเกรดพรีเมียมคุณภาพ ทุเรียนคัดบรรจุกล่องส่งจำหน่ายในประเทศและส่งออกประเทศมาเลเซีย ในราคาประมาณกิโลกรัมละ 80-100 เหรียญมาเลย์ ส่วนทุเรียนที่ไม่ได้คุณภาพตามที่กำหนดจะนำไปเข้าสู่กระบวนการแปรรูป อาทิ ทุเรียนแช่แข็งเพื่อเพิ่มมูลค่า

ปัญหาโรคแมลง

ภาคใต้ มีพื้นที่ปลูกทุเรียนมากกว่า 586,307 ไร่ โดยจังหวัดยะลา มีพื้นที่ปลูกทุเรียนมากเป็นอันดับ 3 ของภาคใต้ โดยแหล่งปลูกทุเรียนสำคัญที่มีเนื้อที่มากสุด 3 อันดับของจังหวัดยะลา คือ อำเภอเบตง รองลงมาคือ อำเภอบันนังสตา และอำเภอธารโต โดยพันธุ์ทุเรียนที่นิยมปลูกในพื้นที่ คือ พันธุ์หมอนทอง ชะนี ก้านยาว พวงมณี และมูซานคิง ตามลำดับ (ที่มา : สำนักงานเกษตรจังหวัดยะลา)

โรคและแมลงศัตรูพืช นับเป็นอุปสรรคสำคัญของการทำสวนทุเรียนในพื้นที่จังหวัดยะลา โดยเฉพาะ โรครากเน่าโคนเน่า และแมลงศัตรูสำคัญ ได้แก่ หนอนเจาะเมล็ดทุเรียน หนอนเจาะผลทุเรียน ด้วงหนวดยาวเจาะลำต้น มอดเจาะลำต้น เพลี้ยไก่แจ้ เพลี้ยไฟ ไรแดง และเพลี้ยหอย เมื่อเกิดโรค เกษตรกรทั่วไปทำได้คือ การจัดการด้วยสารเคมี

เนื่องจากสวนศักดิ์ศรีทำสวนทุเรียนโดยไม่ใช้สารเคมีในการกำจัดโรคและแมลง ในอดีตสวนแห่งนี้ เคยประสบปัญหาโรคแมลง จากปัญหาหนอนไชเข้าไปอยู่ในทุเรียนก็เคยเจอมาแล้ว จนถึงขั้นต้องยกเลิกยอดจองทั้งหมด และแจกจ่ายให้ผู้หลักผู้ใหญ่ที่เคารพนับถือและเพื่อนฝูงได้ชิมกันถ้วนหน้า

นับเป็นความโชคดีของวิสาหกิจชุมชนสวนศักดิ์ศรีทุเรียนเบตง ที่ได้ รศ.ดร. วรภัทร ลัคนทินวงศ์ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เข้ามาเป็นที่ปรึกษาด้านวิชาการ ทำให้การจัดการปัญหาโรคแมลงกลายเป็นเรื่องง่าย ทั้งนี้ รศ.ดร. วรภัทร แนะนำให้ใช้นวัตกรรมการชักนำรากของทุเรียน (Reborn Root Ecosystem : RRE) ช่วยแก้ปัญหารากเน่าโคนเน่า และลดการใช้ปุ๋ยทางใบต่อรอบ กว่า 50,000 บาท ต่อไร่

สำหรับนวัตกรรมการชักนำรากของทุเรียน เริ่มจากหมักซากพืชด้วยจุลินทรีย์ที่ดี ประมาณ 2 เดือน แล้วนำมาวางรอบทรงพุ่ม ใส่ธาตุอาหารรอง ใช้เชื้อไตรโครเดอร์ม่าพ่นบริเวณโคนต้นและรอบทรงพุ่ม รากทุเรียนฟื้นตัวได้ดีภายใน 15 วัน หลังการใช้นวัตกรรมนี้ ทุกวันนี้เกษตรกรต้องแบกภาระต้นทุนการผลิตสูงเนื่องจากปัญหาปุ๋ยราคาแพง ทางกลุ่มฯ จึงร่วมมือกับ รศ.ดร. วรภัทร เร่งศึกษาวิจัยเรื่องการผลิตปุ๋ยอินทรีย์ที่เหมาะสมสำหรับสวนทุเรียน เพื่อลดต้นทุนการผลิตในระยะยาวต่อไป

รางวัลเกษตรกรดีเด่น จ.ยะลา

คุณโอ นับเป็นเกษตรกรรุ่นใหม่ที่มีบทบาทในกระบวนการพัฒนากิจการเกษตรตลอดจนเศรษฐกิจของชุมชนให้ดีขึ้น ทำงานร่วมกันระหว่างเกษตรกรทุกรุ่น สร้างความเข้มแข็งให้กับเกษตรกรในชุมชนได้อย่างยั่งยืน พร้อมยึดหลักเรื่องคุณภาพ-สุขภาพ-ความจริงใจ ต้องมาก่อน จึงมั่นใจได้ว่า ทุเรียนมูซังคิงออกมาจากสวนศักดิ์ศรี ต้องปลอดสารเคมี เพื่อสุขภาพของลูกค้าทุกท่าน ด้วยผลงานที่โดดเด่นดังกล่าวทำให้ คุณโอ รับรางวัลเกษตรกรดีเด่น สาขาอาชีพทำสวนได้จัดประกวดเกษตรกรดีเด่น สาขาอาชีพทำสวน จังหวัดยะลา ประจำปี 2565

ด้านตลาด

เมื่อเร็วๆ นี้ นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ได้ลงพื้นที่เยี่ยมชมวิสาหกิจชุมชนสวนทุเรียนศักดิ์ศรี อำเภอเบตง จังหวัดยะลา เพื่อพบหารือกับผู้ประกอบการวิสาหกิจชุมชน และเกษตรกรผู้ปลูกทุเรียน กรุยทางให้ผลผลิตทุเรียนภาคใต้ที่เริ่มทยอยออกสู่ตลาดในเดือนกรกฎาคมนี้ ได้ใช้ประโยชน์จากความตกลงการค้าเสรี (FTA) ที่ไทยทำกับคู่ค้า 18 ประเทศ ได้แก่ อาเซียน จีน ฮ่องกง ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ อินเดีย ชิลี และเปรู ที่ได้ยกเลิกการเก็บภาษีนำเข้าทุเรียนจากไทยแล้ว เหลือเพียงเกาหลีใต้ที่ยังคงเก็บภาษีนำเข้าที่ ร้อยละ 36 แต่จะทยอยลดเหลือ ร้อยละ 0 ในปี 2574 ภายใต้ความตกลง RCEP ซึ่งถือเป็นข้อได้เปรียบและโอกาสทางการค้าของวิสาหกิจชุมชน เกษตรกร และผู้ประกอบการไทย ในการขยายส่งออกสินค้าทุเรียนไปตลาดโลก

กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ให้ความสำคัญกับการพัฒนาศักยภาพทางการค้าของผู้ประกอบการวิสาหกิจชุมชน เกษตรกร ในพื้นที่ชายแดนภาคใต้ โดยตั้งแต่ปี 2561 ได้ดำเนินโครงการ “สร้างเครือข่ายเชื่อมโยง 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ สู่ตลาดการค้าเสรีอาเซียน” มาอย่างต่อเนื่องทุกปี ได้แก่ ยะลา ปัตตานี นราธิวาส และสงขลา โดยลงพื้นที่ทำงานควบคู่กับการจัดสัมมนาแบบบูรณาการร่วมกับกับหน่วยงานพันธมิตร เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจเรื่องการใช้ประโยชน์จาก FTA ให้กับเกษตรกรวิสาหกิจชุมชน และผู้ประกอบการที่มีสินค้าทุเรียน มังคุด ส้ม ลองกอง และกล้วยหิน ที่มีศักยภาพและความพร้อมส่งออก

สำหรับแฟนๆ นิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้าน หากต้องการนิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้านรายปักษ์ ส่งตรงถึงบ้าน รวดเร็วทันใจอ่านได้ในทุกๆ 15 วัน สามารถสมัครสมาชิกได้ที่ คลิกลิ้ง https://shorturl.asia/0zJwQ - Line: @matichonbook หรือ สำนักพิมพ์มติชน เลขที่ 12 ถนนเทศบาลนฤมาล หมู่บ้านประชานิเวศน์ 1 แขวงลาดยาว เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร 10900 ติดต่อฝ่ายขาย 02-589-0020 ต่อ 3354

ดูข่าวต้นฉบับ