ทั่วไป

ประวัติศาสตร์ (ไม่) ลับฉบับ 'เหา' (3) เหาโบราณกับตำนานแห่งดินแดนพันธสัญญา

มติชนสุดสัปดาห์
อัพเดต 27 ธ.ค. 2566 เวลา 02.03 น. • เผยแพร่ 27 ธ.ค. 2566 เวลา 02.03 น.

ทะลุกรอบ | ป๋วย อุ่นใจ

ประวัติศาสตร์ (ไม่) ลับฉบับ ‘เหา’ (3)

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

เหาโบราณกับตำนานแห่งดินแดนพันธสัญญา

ในปี 2021 ขณะที่แมเดลีน แมมคูโอกลู (Madeleine Mumcuoglu) นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยฮิบรูที่เยรูซาเลม (Hebrew University of Jerusalem) กำลังหาภาพประกอบรายงานการค้นพบของเธอเกี่ยวกับเหาดึกดำบรรพ์ที่เธอศึกษาอยู่

ตาของเธอก็ไปสะดุดกับร่องรอยบางๆ บนรูปหวีงาช้างอันหนึ่งที่เธอถ่ายเก็บเอาไว้ในไอโฟนของเธอ และเมื่อแมเดลีนขยายภาพในจอของเธอให้ใหญ่ขึ้น เธอก็ตื่นเต้นกับการค้นพบของเธอ บนหวี มันเหมือนมีภาษาหรือรหัสบางอย่างสลักเอาไว้อยู่บางๆ บนหวีดึกดำบรรพ์อันนี้

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

บางที บนหวีนี้อาจจะมีความนัยอะไรซ่อนอยู่

หวีงานี้มาจากยุคสำริด (Bronze age) เพิ่งถูกขุดพบเมื่อปี 2016 จากแหล่งอารยธรรม “เทล ลาชิช (Tel Lachish)” ในตอนใต้ของประเทศอิสราเอล และที่น่าสนใจคือมันมีขนาดเล็กมากแค่ราวๆ หนึ่งนิ้วคูณหนึ่งนิ้วครึ่งเท่านั้น

เธอเริ่มตั้งสมมุติฐาน “บางที มันก็อาจจะเป็นหวีเล็กๆ ที่พ่อแม่สั่งทำขึ้นมาให้พวกเด็กๆ ก็ได้”

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

แต่คำถามคือตัวอักษรบนหวีนั้นเขียนว่าอะไร

แมเดลีนเล่าว่า ตอนนั้นเธอแค่ถ่ายรูปเก็บๆ เอาไว้ในไอโฟนเฉยๆ แบบไม่ได้คิดอะไรมาก รูปเลยไม่ดีขนาดจะเอามาใช้อะไรได้

และหลังจากที่เธอค้นพบรอยสลักปริศนาที่ฝังอยู่บนหวี เธอก็ตัดสินใจย้อนกลับไปที่ห้องทดลองของเธอเพื่อถ่ายรูปหวีอีกครั้ง คราวนี้ จัดแสงแบบจัดเต็ม

เธอพบว่ารอยสลักนี้ เป็นตัวอักษร 17 ตัวจากภาษาโบราณที่เรียกว่าภาษาแคนัน (Canaanite) ที่ร้อยเรียงออกมาเป็นถ้อยคำ 7 คำ ที่ถอดความออกมาได้ว่า “ขอให้งาช้างนี้ขจัดปัดเป่าเหาออกไปจากผมและเครา (May this tusk root out the lice of the hair and the beard)”

เดี๋ยวนะ เด็กที่ไหนมีเครา…มีเคราก็ไม่เด็กแล้วมั้ย

“บางที ในช่วงนั้นคนอาจจะอายที่มีเหาก็เป็นได้ ก็เลยทำหวีพกติดตัวไว้สำหรับใช้แอบสางผมและเคราก่อนเข้าสังคม” แมเดลีนเริ่มตีความไปไกล

“ไม่เคยมีใครเคยเจออะไรแบบนี้มาก่อน นี่ไม่ใช่รอยสลักของราชวงศ์ นี่ไม่ใช่ของกษัตริย์ นี่เป็นของคนธรรมดา คุณสามารถเชื่อมโยงกับเจ้าของหวีได้แทบจะในทันที มันเป็นอะไรที่สื่อถึงความเป็นคนมากๆ” โยเซฟ การ์ฟินเกล (Yosef Garfinkel) ศาสตราจารย์ด้านโบราณคดี และหัวหน้าทีมวิจัยของแมเดลีนจากมหาวิทยาลัยฮิบรูกล่าว

โยเซฟเผยต่อว่ามนุษย์เริ่มบันทึกประวัติศาสตร์ราวๆ ห้าพันปีก่อน ในช่วงแรก มนุษย์ใช้ภาพและสัญลักษณ์ในการบันทึกและการนำเสนอไอเดีย อย่างเช่น ภาษาคูนิฟอร์ม (cuneiform) ของพวกสุแมเรียน (Sumarian) และภาษาฮีโรกริฟฟิก (Hieroglyph) ของอียิปต์

แต่ภาษาแรกที่ใช้ตัวอักษรประกอบเป็นคำเพื่อสื่อถึงเสียงก็คือภาษาแคนัน ซึ่งต่อมากลายเป็นรากฐานและต้นกำเนิดของภาษาฟีนิเชียน (Phoenician) ที่วิวัฒน์ขึ้นมาเรื่อยๆ จนกลายเป็นภาษาอารยัน (Aryan) ภาษาแองโกลแซกซัน ภาษากรีก ภาษาละติน และในที่สุด ก็เป็นภาษาอังกฤษ

“ถ้าคุณใช้ภาษาอังกฤษ ก็เหมือนคุณใช้ภาษาแคนันนั่นแหละ” โยเซฟกล่าว “และการที่ชาวแคนันประดิษฐ์ระบบตัวอักษรขึ้นมาได้ถือเป็นหนึ่งในความสำเร็จทางสติปัญญาครั้งยิ่งใหญ่ของมวลมนุษยชาติ และนั่นทำให้หวีนี้คือความสำเร็จที่สำคัญที่สุดของผมในการขุดค้นครั้งนี้”

ชัดเจนว่าโยเซฟก็ตื่นเต้นไม่แพ้แมดิลีน แต่การตีขลุมแบบนี้ของโยเซฟ สำหรับผมแอบไม่เห็นด้วยเล็กๆ เพราะภาษาอื่นที่ไม่ได้มีรากมาจากแคนันหรือฟีนิเชียนก็มีไม่น้อยเหมือนกัน

แต่ที่น่าสนใจที่สุดก็คือ “อาณาจักรแคนัน” ถ้าว่าตามหนังสือแห่งการอพยพ (the Book of Exodus) จากพระคัมภีร์ไบเบิลภาคพันธสัญญาเดิม ก็คือ “ดินแดนสันติภาพที่อุดมไปด้วยนมและน้ำผึ้ง” หรือ “ดินแดนแห่งพันธสัญญา (Promised land)” ที่พระเจ้าสัญญาไว้กับโมเสส ซึ่งในปัจจุบันคือ ประเทศอิสราเอล ฉนวนกาซา เวสต์แบงก์ จอร์แดน และบางส่วนของประเทศซีเรียและเลบานอน

หวีนี้จึงอาจจะเป็นหลักฐานชิ้นสำคัญที่ช่วยให้เราเข้าใจวิถีแห่งชาวแคนัน ผู้อยู่อาศัยให้ดินแดนแห่งพันธสัญญามากขึ้น

และด้วยประโยคที่สลักอยู่บนหวี “ขอให้งาช้างนี้ขจัดปัดเป่าเหาออกไปจากผมและเครา” ที่ฟังดูบ้านๆ มากๆ แม้จะไม่ช่วยบอกอะไรเท่าไรเกี่ยวกับความรุ่งเรืองแห่งอาณาจักร แต่ก็ช่วยสะท้อนให้เห็นถึงภาพชีวิตความเป็นอยู่อารยธรรมในอดีตของชาวบ้านแห่งอาณาจักรแคนันที่เดินทางติดต่อค้าขายไปทั่วแถบเมดิเตอร์เรเนียน

“ในยุคนั้น งาช้างนั้นเป็นสินค้าฟุ่มเฟือยที่ต้องนำเข้ามาจากอียิปต์” โยเซฟตั้งข้อสังเกต “และแน่นอนว่าพอพูดถึงเครา ชัดเจนว่าเจ้าของหวีนี้ต้องเป็นผู้ชายและผู้ชายคนนี้จะต้องมีอันจะกิน ไม่งั้นคงไม่มีปัญญาซื้อหวีงาช้างที่มีราคาแพงระยับ”

“แต่ก็ไม่แน่ อาจจะเป็นของขวัญจากอาคันตุกะ สำหรับพวกครอบครัวขุนนางหรือเศรษฐีก็เป็นได้เช่นกัน” แมเดลีนแย้ง

“แต่ที่ชัดเจนคือหวีนี้เป็นของพวกชนชั้นนำในสังคมอย่างแน่นอน”

“การค้นพบและการไขรหัสภาษาครั้งนี้ของทีมเยรูซาเลม (ทีมวิจัยของโยเซฟและแมดิลีน) ช่างงดงามอย่างที่สุด” คริสโตเฟอร์ รอลล์สตัน (Christopher Rollston) นักภาษาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยจอร์จ วอร์ชิงตัน (George Washington University) กล่าว “แต่น่าเสียดายที่ยังไม่ชัดว่าอายุของหวีนั้นจะเก่าแก่แค่ไหน”

โยเซฟและแมเดลีนเผยว่าทางทีมวิจัยของพวกเขาพยายามใช้การคำนวนครึ่งชีวิตของคาร์บอนกัมมันตรังสี (radiocarbon dating) ในการประเมินอายุของหวีให้แน่ชัดมาแล้วสองรอบ แต่เสียดายที่ผลสรุปอะไรไม่ได้ พวกเขาก็เลยต้องย้อนกลับไปใช้การกะประมาณอายุเอาคร่าวๆ จากการเทียบแบบแผนของจารึกกับโบราณวัตถุอื่นๆ ที่พอจะทราบอายุแล้ว และจากสภาพแวดล้อมของพื้นที่ที่ขุดพบหวีเอาแทน

พวกเขาเชื่อว่าหวีนี้มีอายุตีเป็นเลขกลมๆ ก็น่าจะอยู่ที่ราวๆ สามพันเจ็ดร้อยปี หรือราวๆ พันเจ็ดร้อยปีคริสตกาล ก่อนที่จะมีการเขียนคัมภีร์ไบเบิลขึ้นมาเป็นพันปี

ในอดีต มีการค้นพบจารึกภาษาแคนันมาบ้างแล้วตามพวกอาวุธโบราณ อย่างเช่น หัวลูกศร หรือไม่ก็ตามพวกภาชนะเครื่องปั้นดินที่ขุดพบ แต่ทั้งหมดที่เคยเจอมักจะมาเป็นคำคำ ไม่เคยเจออะไรที่มาแบบเต็มประโยคมาก่อน

และนั่นทำให้การค้นพบครั้งนี้น่าตื่นเต้นยิ่งขึ้นไปอีก เพราะถ้าว่ากันตามความโบราณ ตัวอักษร 17 ตัวบนหวีงาช้างจากดินแดนแห่งพันธสัญญาที่รวมๆ กันแล้วได้มาประโยค 7 คำมา 1 ประโยคนี้ คือ “ประโยคที่เก่าแก่ที่สุดของมวลมนุษย์ชาติ” เท่าที่เคยมีการค้นพบมา

โยเซฟและแมเดลีนตีพิมพ์ผลงานของพวกเขาในวารสาร Jerusalem Journal of Archaeology ในเดือนพฤศจิกายน ปี 2022

ตอนแรกไม่เคยรู้ว่าประโยคที่เก่าแก่ที่สุดของมวลมนุษย์เขียนว่าอะไร ก็ยังไม่รู้สึกอะไรเท่าไร แต่พอได้รู้ ก็เริ่มแอบรู้สึกแสบๆ คันๆ ขึ้นมาจากความคาดหวังของตัวเอง ส่วนตัวแอบหวังเอาไว้ว่าประโยคเก่าแก่ที่สุดที่มนุษย์รู้จักจะเป็นอะไรที่ฟังดู “ว้าววววววว” หรือฟังดู “อมตะนิรันดร์กาล” กว่านี้นิดนึง

ที่ไหนได้ กลับพูดถึงเหาในเครากับผมซะงั้น

แต่อย่างน้อยที่สุด มองในแง่ดี หวีดึกดำบรรพ์ใช้ได้ผลค่อนข้างดีในเรื่องการสางเหา เพราะถ้าไม่มีเหาดึกดำบรรพ์ติดอยู่บนหวีนี้ให้แมเดลีนไปศึกษา ก็คงบอกได้ยากว่าเมื่อไรจะมีใครไปสังเกตหวีจนเห็นจารึก 7 คำทรงพลังที่สลักอยู่ลางๆ อยู่บนนั้น

เรื่องนี้สอนให้รู้ว่า งานวิจัยอาจจะให้อะไรได้มากกว่าที่คุณคิด!!

ใครเล่าจะรู้ การศึกษา “เหา” ในหวีโบราณ จะสามารถโยงไปถึงองค์ความรู้ใหม่ในด้านวิวัฒนาการของภาษาได้

ดูข่าวต้นฉบับ