บันเทิง

"ป๋าเต็ด" ต้องอดกินของโปรดไปอีกนาน หลังเฉียดตาย

NATIONTV
เผยแพร่ 15 ต.ค. 2561 เวลา 12.19 น. • คมชัดลึก
ป๋าเต็ด ต้องอดกินของโปรดไปอีกนาน หลังเฉียดตาย

ทีมบันเทิง คมชัดลึก - หลังถูกส่งโรงพยาบาลเมื่อวันที่ 13 ตุลาคมที่ผ่านมา เนื่องจากมีอาการหัวใจวายเฉียบพลัน จนต้องเข้ารับผ่าตัดบอลลูนหัวใจโดยด่วน ล่าสุดเมื่อวันที่ 15 ต.ค. "ป๋าเต็ด" ยุทธนา บุญอ้อม พร้อม นพ.ไพฑูรย์ จองวิริยะวงศ์ แถลงข่าวอัพเดทอาการป่วยเวลา 13.00 น. ที่ห้องประชุม บัญชาล่ำซำ ชั้น 6 อาคาร 2 โรงพยาบาล สมิติเวช สุขุมวิท

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

โดย "ป๋าเต็ด" ยุทธนา ได้กล่าวขอบคุณทุกคนที่เป็นห่วงตน ก่อนจะเล่าถึงเหตุการณ์ในวันนั้นให้ฟังว่า 

"เหตุการณ์เกิดขึ้นเมื่อวันเสาร์ ผมเพิ่งอาบน้ำเสร็จลงมาทำกิจวัตรประจำวัน คือจะลงมาชงกาแฟกิน พอลงมาถึงห้องครัว ก็รู้สึกได้ว่ามีเหงื่อซึม ทั้งที่เปิดตู้เย็นอยู่ อาการไม่ร้อน แต่ยังไม่ได้รู้สึกว่าเป็นอะไรมากนะ ก็ปิดตู้เย็น ไปเปิดเครื่องชงกาแฟ จังหวะนั้นเริ่มรู้สึกว่าแน่นหน้าอกมาก เหงื่อไหลเยอะขึ้น มีอาการวิงเวียนรู้สึกบ้านหมุน ตอนนั้นก็ไม่แน่ใจว่าเป็นอะไร คิดว่าคงขาดอากาศ เลยรีบเดินออกไปหน้าบ้านเพื่อสูดอากาศบริสุทธิ์ ปรากฎไม่ดีขึ้น กลับรู้สึกแน่นหน้าอกมากขึ้น เหมือนมีคนมานั่งทับหน้าอก เลยตัดสินใจโทรหาเพื่อนที่เป็นหมอ ชื่อหมอเอี้ยง ซึ่งก็ทำงานที่สมิติเวชที่นี่ด้วย ผมเล่าอาการให้ฟัง หมอเขาก็บอกให้ไปโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุดและให้เขาตรวจคลื่นหัวใจทันที เพราะเชื่อว่ามีอาการผิดปกติในเรื่องหัวใจแน่ๆ ตอนนั้นผมวางสายปุ๊บก็ตะโกนเรียกภรรยาให้รีบขับรถไปโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุด บ้านผมอยู่แถวสุขาภิบาล3 คือก็มีโรงพยาบาลที่ใกล้กว่านั้น แต่พอตอนนั้นผมขึ้นมาบนรถแล้วภรรยาบอกอาการผมแย่มาก หน้าซีด เดินขึ้นรถยังจะแทบไม่ไหว มองไม่ค่อยเห็น ภรรยาเลยตัดสินใจมาสมิติเวชที่สุขุมวิท เพราะมีประวัติเรารักษาที่นี่เป็นประจำ ถึงแม้จะไกลหน่อย แต่โชคดีที่มันวันหยุดยาวแล้วเส้นทางที่วิ่งมันสวนทางกับคนส่วนใหญ่ที่จะออกนอกเมือง เลยมาถึงที่นี่ในเวลาประมาณ 20 นาที ตอนแรกผมยังงงๆ ว่าตกลงเราเป็นอะไร แต่เพื่อนบอกให้มาตรวจคลื่นหัวใจเราก็มา ไม่ได้เป็นแผนกฉุกเฉินด้วยนะ เป็นแผนกหัวใจ จำได้ว่าเข้ามาตอนนั้นคนน้อย ผมอาจจะเป็นผู้ป่วยคนเดียว แล้วภรรยาอาจจะโทรมาแจ้งไว้ก่อน

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

มาถึงปุ๊บเขาก็พาผมไปในห้องตรวจคลื่นหัวใจ เขาเอาเครื่องมือต่างๆ มาติดตามตัวแล้วต่อไปที่จอ ผมรู้สึกได้ว่า เหมือนพอเขาเห็นตัวเลขบางอย่างบนจอ ทั้งภรรยาและหมอที่ดู อาการเปลี่ยนเลยจากตอนแรกที่ดูชิลชิลมาก กลายเป็นทุกอย่างรีบหมด โทรสั่งนู่นนี่เต็มไปหมด ต้องเปิดห้องนี่ ติดต่อคุณหมอคนนั่น มันเหมือนดูหนังอยู่แล้วกลายเป็นกดกรอให้เร็วขึ้น มีคนเต็มไปหมด เอาอะไรมาติดผม แล้วยกเราเปลี่ยนเตียง และเข็นผมออกจากห้องนั้นอย่างรวดเร็ว อย่างที่ผมเขียนในเฟซบุ๊กว่าเหมือนรถเมล์สาย 8 เลย คือเหมือนจริงๆ นะ ผมไม่เคยเห็นเจ้าหน้าที่เข็นเตียงวิ่งสุดฝีเท้า จนตอนนั้นผมห่วงเรื่องหัวใจน้อยลง แต่ห่วงว่าเตียงจะคว่ำมากกว่า ช่วงเข้าโค้ง…แล้วเขาไม่ลดความเร็วเลย ก็ปลอกภัยนะ เชื่อว่าพนักงานท่านนั้นมีประสบการณ์ในการทำอะไรรวดเร็วอย่างนี้อย่างดี

ผมโดนเข็นมาที่ห้องสวนหัวใจ ตอนแรกผมก็ยังงงอยู่ว่าเขาจะทำอะไร แล้วให้ผมเซ็นเอกสารเต็มไปหมด แล้วตอนนี้ผมจะต้อบถูกทำอะไรครับ คุณหมอไพฑูรย์ก็มาบอกผมว่ากำลังจะเจาะเส้นเลือดใหญ่ที่ต้นขาเพื่อฉีดสี เพื่อดูความผิดปกติของหลอดเลือกที่ไปเลี้ยงหัวใจ ถ้าเกิดมันแย่ก็ต้องทำการบอลลูน พอรู้แค่นั้นผมก็โอเคครับ เริ่มทำได้เลย ซึ่งทำอย่างรวดเร็วมาก พอกระบวนการนั้นเกิดขึ้น อาการแน่นหน้าอกก็หายไปอย่างรวดเร็ว เรียกว่าหายไปตอนอยู่บนเตียงที่ห้องผ่าตัดเลย หลังจากนั้นก็ออกมาพักที่ห้อง icu อาการดูปกติมากแค่ว่าคุณหมอไม่ให้ขยับขาขวาซึ่งเป็นช่องทางที่เครื่องมือเข้าไป เป็นเวลา8ชั่วโมง ผมถึงได้โพสต์ในเฟซบุ๊คว่าไม่รู้สึกว่าตัวเองกำลังผ่านช่วงเฉียดตายเลย รู้สึกแค่ว่าโชคดี ในทุกขั้นตอนมันมีความโชคดีอยู่มาก โชคดีที่มีเพื่อนเป็นหมอ โทร.หาเพื่อนได้ ถ้าไม่มีเพื่อนเป็นหมอผมก็ไม่รู้ว่าจะต้องทำอย่างไรต่อ อาจจะนั่งพักอยู่ที่บ้านเฉยๆ โชคดีที่ภรรยาตัดสินใจขับรถมาที่สมิติเวช โชคดีที่เจ้าหน้าที่ทีมโรคหัวใจของสมิติเวชทำงานเร็วมาก เข้าขากันดีมาก ด้วยความที่หน้ามืดอยู่ แต่ผมก็เห็นว่ามีคนเยอะมาก แทบจะไม่มีที่ยืน เหมือนฝึกซ้อมกันมาอย่างดี ตัดสินใจเร็ว โชคดีที่มีคุณหมอเก่งๆ มาช่วยผม ตั้งแต่ผมเริ่มเจ็บ จนถึงโรงพยาบาล จนทำพิธีการบอลลูนใช้เวลาแค่40กว่านาที ถ้ามันช้ากว่านั้นมันจะแย่เลยทีเดียว"

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

ในขณะที่หมอไพฑูรย์ กล่าวเสริมว่า  " ทางทีมแพทย์เรามีคุณหมอหลายท่าน อย่างแรกตัองแสดงความดีใจกับทางคนไข้ที่ผลการรักษาเป็นไปได้ด้วยดี ถ้าพูดกันตามจริงแล้วด้วยภาวะที่คนไข้มามาด้วยภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน แล้วก็มีภาวะช็อคมาด้วย ความดันตอนนั้นน้อยกว่า90/60 ตอนแรกเราคุยกันว่าจะเข้าทางแขนขวาด้วยซ้ำ อาการแย่ลงแล้วความดันต่ำมากจนหมอต้องเข้าที่ตรงขาหนีบข้างขวา เพราะว่ามันจะมีอุปกรณ์บางอย่างที่สามารถเพิ่มความดันได้ ตอนนั้นชีพจรก็เริ่มช้าลงมาก พวกนี้เวลาที่คนไข้มาด้วยอาการเจ็บหน้าอก โรงพยาบาลทุกโรงพยาบาลจะมีโปรโตคอลสำหรับคนไข้ที่เจ็บหน้าอกเฉียบพลัน เวลาเจ็บแน่นหน้าอกเฉียบพลัน ไม่ว่าจะมีกี่คิวก็ตาม เจ็บหน้าอกเฉียบพลันจะทำการใช้คลื่นไฟฟ้าหัวใจก่อน แล้วคุณหมอก็จะดูเลยก็ใช้เวลาประมาณ5นาที ตั้งแต่คนไข้มาเราก็วินิจฉันแล้วว่าเป็นหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน แล้วเราจะมีโปรโตรคอลสำหรับสวนหัวใจทันทีเลย คนไข้มาถึง12.30น.เราก็เริ่มทำกันตอน13.00น. สุดท้ายเราก็เปิดสำเร็จในเวลา15นาที รวมเวลาทำเคสนี้ก็ประมาณ45นาที ก็ได้รับผลการรักษาที่ดี สำหรับที่จะเป็นประโยชน์ในอนาคต ผมก็คิดว่าในคนไทยเราจะมีพวกความดัน ไขมัน การสูบบุหรี่ ที่เรายังมีอยู่ แล้วก็บางทีเราจะคิดว่าความดันสูง หรือไขมันในเลือดสูง อาจจะไม่ต้องรักษา เพราะอาการมันไม่มีอะไร แต่ว่า มันก็สามารถมีอาการ เจ็บหน้าอกเฉียบพลัน หัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน หรือสมองขาดเลือดเฉียบพลันในอนาคตได้ เพราะฉะนั้น คำแนะนำในทีมของหมอก็อยากจะให้ตรวจร่างกายประจำ ดูเรื่องความดัน ไขมัน ถ้ามีการรักษาก็จะช่วยป้องกันเหตุการณ์ในอนาคตได้ เรื่องบุหรี่ด้วย ก็ต้องพยายามหยุดสูบบุหรี่ ส่วนประเด็นในเฟซบุ๊คที่บอกว่ารีบร้อนมากโกนขนแค่ครึ่งเดียว สาเหตุคือเวลาที่มันเสียไปคือกล้ามเนื้อ ของคนไข้ที่ตายไปเรื่อยๆ ความดันก็ต่ำลงมาก ทีมของหมอก็เป็นคนสั่งเองว่าต้องรีบแล้ว เอาแค่นี้พอ"

ถ้ามาหาคุณหมอ จะต้องภายในกี่นาทีในการรับการรักษา?

หมอไพฑูรย์ : "ปกติ สมมุติว่าเป็นกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน แบบคุณยุทธนา นะครับ ก็ตั้งแต่ทำคลื่นไฟฟ้าหัวใจ หรือมาโรงพยาบาล จนถึงได้รับการสวนหัวใจ น้อยกว่า 60 นาที ในโรงพยาบาลที่มีศักยภาพ ในการสวนหัวใจฉุกเฉินได้ แต่ถ้าเป็นโรงพยาบาลที่ ต้องส่งคนไข้ต่อ ก็ขอน้อยกว่า 90 นาที"

ถ้าป๋าเต็ดมาไม่ทันจะเกิดอะไรขึ้น?

หมอไพฑูรย์ : "โอกาสที่จะเสียชีวิตก็50-60 เปอร์เซ็นต์ เพราะตอนนั้นความดันต่ำมากเลยค่ะ"

เคสนี้นอกจากเรื่องบุหรี่แล้วต้องระวังเรื่องอื่นอีกไหม?

หมอไพฑูรย์ : "เรื่องความดันและไขมันในเลือดสูง ที่บางทีเรามาเช็คอัพว่าเราเจอ ว่าเป็นไขมันแต่เราก็ไม่รักษา คิดว่าเอาไว้ก่อน แต่ถ้ามันมีข้อบ่งชี้ของการรักษา การที่เราปล่อยเอาไว้ก็จะมีเหตุการณ์ไม่คาดฝันได้ ซึ่งบางครั้งก็เสียชีวิตเฉียบพลันได้ อย่างที่เราได้ยินข่าวเรื่องตีกอล์ฟ หรือวิ่งมาราธอนแล้วเสียชีวิตเฉียบพลัน"

ป๋าเต็ด : "เรื่องการกินก็สำคัญ ส่วนใหญ่ผมโดนดุเรื่อง สูบบุหรี่ ทานอาหารที่มีไขมันเยอะ อาหารที่มีน้ำตาลเยอะ ผมทำทุกอย่างที่ไม่ควรทำ ถามว่ามีโรคประจำตัวไหม จริงๆ เป็นคนที่มีน้ำตาลสูงอยู่แล้ว มีไขมันในเส้นเลือดค่อนข้างสูง และเคยรักษาตัว แต่ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาก็เหลวไหล ไม่มาหาคุณหมอ ไม่มาตรวจสุขภาพ มันเลยไม่ได้ยาที่จะต้องทานเป็นประจำ ตอนนี้เลยเป็นการเตือนครั้งรุนแรง ว่าต้องเปลี่ยนพฤติกรรม มากๆ"

วินาทีนั้นคิดว่าจะรักษาทันไหม?

ป๋าเต็ด : "ตอนอยู่ในรถไม่คิดเรื่องเสียชีวิตเลยครับ แค่รู้สึกว่ามันต้องเป็นอะไรผิดปกติ แต่เชื่อว่าเดี๋ยวมาถึงมือหมอก็คงจะหาย ไม่ได้คิดเรื่องนั้นเลย จนพอเขาเริ่มเข็นเข้าห้องผ่าตัด ถึงรู้สึกว่า เฮ้ย! ซีเรียสวะ ปกติตรวจแล้วให้นอนพัก เอายาไปกิน แต่ครั้งนี้ไม่ เข็นพุ่งเข้าห้องผ่าตัด ระหว่างเลี้ยวผ่านร้านกาแฟยังคิดว่ามีชารสใหม่ จะฝากภรรยาซื้อเขาจะซื้อถูกไหมนะ ไม่ได้รู้สึกว่าอาการซีเรียสมากจนกระทั่งทำเสร็จแล้ว ถึงได้คุยกับคุณหมอ ในทีมทุกท่านที่ค่อยๆ เล่าให้เราฟังว่ามันเกิดอะไรขึ้น แล้วรู้สึกว่าเราเกือบตายเลย ถ้าสมมุติว่าตอนเช้าที่ผมเหงื่อออก แน่นหน้าอกแล้วไม่โทรหาเพื่อนที่เป็นหมอ ก็ไม่คิดว่าจะมาโรงพยาบาล เต็มที่ก็คิดว่านั่งพักล้างหน้าล้างตา เอายาดมมาดม ซึ่งแปลว่า มีโอกาสเสียชีวิตตั้งแต่อยู่ที่บ้าน คงมาโรงพยาบาลไม่ทัน

ช่วงที่ผ่านมา 3 วัน เหมือนผมเข้าเรียนโรงเรียนสุขภาพใหม่ เกือบทุก 3 ชั่วโมงจะมีคุณหมอแผนกหมุนเวียนมาพูดคุยกับผม ส่วนใหญ่เป็นเรื่องการแนะนำในการที่ต่อไปนี้จะต้องปรับเปลี่ยนชีวิตอย่างไรบ้างเรื่องกินเป็นเรื่องสำคัญที่สุดเลย เรื่องหนึ่งที่ทุกคนพูดตรงกันคือเรื่องเลิกบุหรี่ ต่อมาจะมีเรื่องอาหารที่มีไขมันเยอะ น้ำตาลเยอะ มีเรื่องหนึ่งที่ผมขอไว้ดื่มกาแฟต่อได้ไหม ดื่มกาแฟผมไม่ใส่น้ำตาลอยู่แล้ว หมอแต่ละท่านจะบอกไม่เหมือนกัน หมอแมน ถามครั้งที่ 3 ใจอ่อนลงทานได้บ้าง แต่อย่าใส่น้ำตาล นอกนั้นก็เป็นเรื่องการออกกำลังกาย ซึ่งอันนี้ก็คงต้องปรึกษามากหน่อย เพราะช่วงแรกผมคงออกกำลังกายแบบออกแรงเยอะไม่ได้ วิ่งแบบ พี่ตูน ไม่ได้ อาจจะเริ่มแบบเบาๆ ก่อน

หลังจากนี้ต้องดูแลยังไงบ้าง

คุณหมอ : หลังจากนี้เราวางแผนซักวันพฤหัสก็จะให้ คุณยุทธนา กลับบ้านได้ ส่วนต่อไปก็ต้องทานยาให้สม่ำเสมอ ในเวลาหลัวใส่ขดลวดมันก็มีโอกาสเหมือนกันที่ขดลวดจะตัน ก็จะมียาต้านเกร็ดเลือด ปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ ที่เราจะต้องป้องกันไม่ให้หัวใจขาดเลือดเฉียบพลันในอนาคต ความดันสูง ไขมันสูง แล้วก็เรื่องเบาหวาน บุหรี่ ทั้งหมดนี้เราก็พยายามงดปัจจัยของคนไข้ เพื่อให้ครั้งต่อไปจะได้ไม่เป็นอีก ส่วนเรื่องกาแฟช่วงแรกอาจจะต้องงดไปก่อน หัวใจเพิ่งจะขาดเลือดมา หมอไม่อยากให้หัวใจเต้นเร็วอีก

ตั้งใจเปลี่ยนพฤติกรรมใหม่หมด

ป๋าเต็ด : ก็คงต้องอย่างนั้นแหละ มันเตือนค่อนข้างเตือนแรง รู้สึกดีใจอย่างหนึ่งที่ข้อความที่โพสต์ลงไปในเฟซบุ๊ค ซึ่งจริงๆ ความตั้งใจเรารู้เดี๋ยวจะมีเพื่อนเรามาถามอาการมากมาย ตอนนั้นเพิ่งออกจากห้องผ่าตัดมาได้ไม่กี่ชั่วโมงความจำมันยังดีอยู่ก็เลยบันทึกไว้ทั้งหมด พอโพสต์เสร็จก็หลับไป ตื่นคนมาแชร์โพสต์กันเยอะแยะ ตอนเช้าเป็นข่าวด้วยมีทุกช่องจนรู้สึกว่าอย่างแรกขอบคุณทุกคนที่เป็นห่วง อย่างที่ 2 ดีใจจริงๆ นะ บางเรื่องมันแค่เรามัวพะวักพะวง นิดเดียวมันอาจจะทำให้เหตุการณ์เปลี่ยนเป็นเรื่องชีวิตเลยทันที ส่วนอีกเรื่องหนึ่งก็คือเรื่องการดูแลรักษาสุขภาพ พูดผมยังเขิน ผมเป็นเหลวไหลเรื่องพวกนี้ แต่เอาเป็นว่าเหตุการณ์นี้ค่อนข้างเตือนเราทุกอย่างมันส่งผลหมดเลยทุกสิ่งที่เราสนุกกับการทานอาหารอร่อย ข้าวขาหมูติดมันเยอะๆ ชอบมาก ทานก๋วยเตี๋ยวเรือต้องใส่กากหมู เราทานเนื้อกะทะก็อยากได้เนื้อที่มันมีมันแทรกอยู่ มันคือของอร่อยทั้งนั้นเลย คนที่มีอาการแบบนี้ไม่ได้จำเป็นต้องเป็นคยรูปร่างใหญ่ บางคนก็รูปร่างปกติแต่ว่าก็สามารถมีคอเลเตอรอลสูงได้ มันดีกว่าแน่ถ้าเราค่อยๆ ปรับ ไม่ต้องรอให้โดนเตือนหนักๆ แต่อย่างที่บอกขณะที่พูดยังไม่กล้ารับปากคุณหมอต่อไปนี้จะทำได้ตามคุณหมอสั่งหรือเปล่าจะพยายามคิดสูตรว่าทานข้าวหมูไม่ติดมันให้อร่อย รับประทานก๋วยเตี๋ยวอย่างไรไม่ต้องปรุงแต่ยังอร่อยอยู่ ผมว่าต้องอยู่กับมันให้ได้ เพราะว่ามันเป็นวิธีที่ควรจะเป็น เพียงแต่ว่าเราไปทำอะไรที่มันเว่อร์โดยตลอด ซึ่งมันเลยทำให้เราติดกับการกินข้าวขาหมูต้องติดมันเยอะๆ กินนู้น กินนี่ ต้องเติมน้ำตาลเข้าไปอีกมันไม่จำเป็นหวังว่าจะทำได้

หลังจากนี้จะกลับมาลุยงานอีกเมื่อไหร่

ป๋าเต็ด : "ปลายอาทิตย์คงต้องเริ่มมีการประชุมอะไรที่ค้างคาอยู่ พยายามไม่เดินเยอะ ซึ่งงานส่วนใหญ่ผมคือนั่งในห้องประชุม แต่ก็จะพยายามเตรียมตัวให้พร้อมสำหรับงานใหญ่ปลายปี บิ๊กเมาส์เท่น แต่อาจจะเดินน้อยกว่าปีที่แล้ว"

งานส่วนใหญ่เป็นงานที่ต้องใช้ความคิด งานกิจกรรม ความเครียดจะมีผลต่อเรื่องนี้มั้ย

หมอไพฑูรย์ : "ปัจจัยเรื่องความเครียดก็มีผลทำให้หัวใจขาดเลือดเฉียบพลันได้ แต่ในเรื่องของอาหารเราจะเห็นว่าบางคนกินเท่าเราแต่ไขมันไม่สูง อันนี้ขึ้นอยู่กับพันธุกรรม อาการของโรคนี้เกิดขึ้นได้กับทุกคน ฉะนั้นควรตรวจร่างกายประจำปี ถ้าไขมัน คอลเลสเตอรอล น้ำตาล สูงนิดหน่อยก็อาจจะลองปรับพฤติกรรม ลดอาหารไขมันสูงลงก่อน ถ้าตรวจไปหลายทีแล้วก็ยังสูงอยู่ก็น่าจะมีปัจจัยทางพันธุกรรมเข้ามาเกี่ยว ถ้ามีจ้อบ่งชี้ว่าต้องเริ่มใช้ยาก็เริ่มไป"

อาการที่เป็นเรียกภาวะหรือเป็นโรคประจำตัวไปแล้ว

หมอไพฑูรย์ : "เรื่องของหัวใจขาดเลือดถือว่าเป็นโรคหัวใจแล้ว ส่วนไขมันในเลือดสูงคือโรคประจำตัว"

ป๋าเต็ด:" ต่อไปเวลากรอกโรคประจำตัวต้องติ๊กให้หมด เบาหวาน ความดัน"

ยังรู้สึกกลัวมั้ยว่าชีวิตต่อจากนี้ต้องมีเป้าหมายยังไง

ป๋าเต็ด : "ผมว่าทุกคนเป็นเหมือนกันหมด โดยเฉพาะคนที่มีครอบครัว ถ้าเกิดเราเป็นอะไรก็จะรู้สึกเป็นห่วงครอบครัว เป็นห่วงลูก ก่อนหน้านี้เมื่อ 5-6 ปีก่อนผมเคยป่วยหนักมีทีนึงแล้ว แต่ไม่หนักถึงขั้นเฉียดตายแบบนี้ นั่นอาจจะเป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ตั้งใจดูแลตัวเองมากขึ้น ผมว่าผมอายุไม่น้อยแล้ว แต่เมื่อเทียบกับคนที่มีภาวะแบบนี้ ถือว่าผมอายุน้อยมากที่ต้องมาติ๊กครบทุกข้อ แปลว่าผมต้องปรับปรุงตัวอย่างรุนแรง บางอย่างไม่รู้เรียกสายไปหรือยังเพราะเป็นไปแล้ว ก็คงทำให้ไม่เป็นเพิ่ม ใช้ชีวิตให้มีความสุขเหมือนเดิม เพียงแต่ปรับพฤติกรรมเพื่อลดปัจจัยเสี่ยง"

ดูข่าวต้นฉบับ
ความเห็น 6
  • Nu..Au🌸🍃🌹🌿
    พิสูจน์อักษรก่อนลงข่าวหน่อยนะ ผิดเยอะมาก อ่านแล้วหงุดหงิด
    15 ต.ค. 2561 เวลา 12.49 น.
  • ยาวเกินอ่านได้ไม่ถึงครึ่งหน้า สรุปๆมามันจะง่ายกว่าอันนี้ลอกคำพูดมาเต็มๆ แต่ขอให้หายไวๆนะครับ รอดูผลงานอยู่
    15 ต.ค. 2561 เวลา 12.53 น.
  • []teejeans[]
    โชคดีที่มีโอกาสแก้ตัว..สู้ๆคัฟ
    15 ต.ค. 2561 เวลา 12.59 น.
  • Na
    ดีใจที่ไม่เป็นอะไรมากแล้ว ขอให้หายไวๆ เห็นหนแรกนึกว่าโก๊ะตี๋ ได้ไงนะป๋า
    15 ต.ค. 2561 เวลา 17.06 น.
  • ปอเด(สน.บท.)
    ขอให้หายไวๆนะครับ เกือบไปแล้ว....
    15 ต.ค. 2561 เวลา 12.49 น.
ดูทั้งหมด