‘เงินทองคือมายา ข้าวปลาคือของจริง’ คืออมตวาจาที่ถูกเอ่ยขึ้นมานานกว่าครึ่งศตวรรษ โดยเจ้านายองค์หนึ่งนามว่า *‘ม.จ.สิทธิพร กฤดากร’ *
ครั้งหนึ่ง ส.ศิวรักษ์ ปัญญาชนสยาม เคยกล่าวไว้ว่า *“เจ้าคนนี้ไม่เคยทำอะไรเพื่อตัวเองเลย” *
เพราะตลอดพระชนม์ชีพทรงมุ่งหวังที่จะยกระดับกสิกรรมในเมืองไทย ให้สามารถหยัดยืนด้วยลำแข้งของตัวเอง และหลุดพ้นไปจากความยากจน ด้วยการนำวิทยาศาสตร์มาผสมกับเกษตรศาสตร์
ท่านเป็นคนแรกๆ ของเมืองไทยที่ส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกพืชแบบผสมผสาน ตลอดจนนำเทคโนโลยีและวิทยาการใหม่ๆ เช่นการปลูกพืชหมุนเวียน ปลูกพืชขั้นบันได หรือการใช้รถแทรกเตอร์เป็นครั้งแรกของเมืองไทย
แต่ก่อนที่จะเบนเข็มสู่อาชีพชาวนาเต็มตัว ท่านเคยเป็นข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ เคยเป็นอธิบดีกรมมาแล้วหลายกรม
อะไรคือสาเหตุที่ทำให้เจ้านายสูงศักดิ์ตัดสินใจเดินออกจากความเจริญรุ่งเรืองหันหน้ามาสู่ผืนนา จนได้รับยกย่องให้เป็น ‘บิดาแห่งการเกษตรแผนใหม่’ ยอดมนุษย์..คนธรรมดา อยากชวนทุกท่านไปร่วมหาคำตอบกัน
*-1- *
*จากเมืองสู่ชนบท *
ย้อนกลับไปเมื่อปลายปี 2463 ณ บ้านบางเบิด จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ครอบครัวเล็กๆ ประกอบด้วย พ่อแม่ ลูกชายและลูกสาว ตัดสินใจย้ายถิ่นฐานจากเมืองหลวงอันศิวิไลซ์มาตั้งรกรากในถิ่นทุรกันดาร
ที่นี่เป็นเพียงหมู่บ้านเล็กๆ ตั้งอยู่ฝั่งตะวันออกของอ่าวไทย ห่างจากตัวเมืองราว 50 กิโลเมตร ภูมิประเทศส่วนใหญ่เป็นเนินหญ้า ดินปนทราย มีแหล่งน้ำบริสุทธิ์ไหลผ่าน เรียกว่า ห้วยตาแป๊ะ มีต้นไม้ใหญ่ และสัตว์ป่านานาชนิด ทั้งเก้ง กวาง หมูป่า อาศัยอยู่
พวกเขาช่วยกันขุด ช่วยกันถางที่ดิน ปลูกผักสวนครัว ปลูกข้าว ปลูกผลไม้ ทำระบบชลประทาน เอาไก่จากกรุงเทพฯ ประมาณร้อยตัว เอาวัวนมพันธุ์ดีมาเลี้ยง เอาหมูขนาดย่อมมาเริ่มขยายพันธุ์
และนี่เองที่เป็นจุดเริ่มต้นของ ‘ฟาร์มบางเบิด’ ฟาร์มทดลองไร่นาสวนผสมแห่งแรกของเมืองไทย
แต่ก่อนชีวิตจะพลิกผันเป็นเกษตรกรเช่นนี้ เดิมที ม.จ.สิทธิพรเป็นข้าราชการหนุ่มอนาคตไกล
แรกเริ่มทรงทำงานอยู่ที่กระทรวงการต่างประเทศ แต่เพราะความช่ำชองเรื่องเครื่องจักรกล จึงโอนย้ายมาประจำกรมฝิ่น เป็นผู้ช่วยอธิบดี ทำหน้าที่ควบคุมดูแลการสร้างโรงงาน
พอสร้างโรงงานเสร็จ ก็ทรงย้ายไปเป็นอธิบดีกรมกษาปณ์สิทธิการ ทำหน้าที่ปรับปรุงเครื่องมือผลิตเหรียญกษาปณ์ให้ได้มาตรฐาน ก่อนย้ายกลับมาเป็นอธิบดีกรมฝิ่น โดยภารกิจสำคัญคือจัดระเบียบการค้าฝิ่นของรัฐใหม่ กระทั่งสามารถทำรายได้เข้าคลังสูงถึง 20% ของรายได้ทั่วประเทศ
ความที่ทรงงานแบบบุกลุยมาตลอด เมื่องานใหญ่สำเร็จลุล่วง จึงเหลือแต่งานนั่งโต๊ะเซ็นเอกสารให้จัดการ ด้วยความเบื่อหน่าย จึงหันไปทดลองทำงานอื่นควบคู่ไปด้วย
เรื่องหนึ่งที่สนพระทัยมากเป็นพิเศษ คือเกษตรกรรม ทรงอ่านรายงานเกี่ยวกับเกษตรของสหรัฐอเมริกาเป็นประจำ จึงทราบเกี่ยวกับวิทยาการและเทคนิคที่สามารถประยุกต์และพัฒนาการเพาะปลูกในบ้านเราได้ และที่สำคัญคือทรงชอบเลี้ยงไก่ โดยก่อนหน้านี้มีผู้ถวายไก่พันธุ์เล็กฮอร์นจากออสเตรเลียหลายสิบตัว ซึ่งก็ทรงขวนขวายหาตำราต่างๆ มาอ่านและทดลองเพาะเลี้ยงกระทั่งชำนาญ
การศึกษาเรื่องนี้มากๆ ทำให้ทรงเห็นว่า งานสายเกษตรก็สามารถเจริญไม่แพ้ข้าราชการเลย หากคนรุ่นใหม่หันไปทำเกษตรเยอะๆ ก็คงดี เพราะที่ผ่านมา ทุกคนมุ่งแต่แย่งกันเป็นข้าราชการเท่านั้น ทั้งๆ ที่ตำแหน่งก็มีจำกัด การแข่งขันก็สูง ด้วยเชื่อว่าเป็นงานที่มีเกียรติ และเป็นหนทางของความรุ่งเรือง
ส.ศิวรักษ์ หนึ่งในลูกศิษย์ใกล้ชิด เล่าว่า “ท่านสิทธิพรเห็นว่าอนาคตของบ้านเมืองอยู่ที่กสิกรรม เพราะคนไทยเป็นชาวไร่ชาวนามาตั้งแต่ดึกดำบรรพ์ และรายได้ส่วนใหญ่ของประเทศก็ยังมาจากการผลิตข้าวขาย แต่ที่ผ่านมา เรามัวแต่เน้นกันแต่วิชาหนังสือ ให้คนหันไปนิยมการรับราชการและการเป็นเสมียนกัน จนชาวไร่ชาวนากลายเป็นคนล้าหลัง กลายเป็นคนไม่รู้หนังสือ เป็นที่ดูถูกดูแคลน
“ถ้าปล่อยให้เป็นเช่นนี้ต่อไปเรื่อยๆ ประเทศจะล้าหลัง ผู้คนจะอดอยาก ลูกหลานก็จะทิ้งบ้านเรือน ไปหากินอาชีพอื่น ท่านจึงเห็นว่าหากชนชั้นสูงหันมาสนใจกสิกรรม ทำให้เป็นตัวอย่างขึ้น ก็อาจช่วยชี้แนวทางให้ชนชั้นกลางหันมายึดอาชีพกสิกรกันมากขึ้นได้”
ในวัย 37 พรรษา ท่านสิทธิพรจึงตัดสินใจลาออก โดยได้รับแรงหนุนจาก หม่อมศรีพรหมา พระชายา จากนั้นก็ขึ้นรถไฟล่องใต้มาหาที่ดินที่เหมาะสม โดยเป้าหมายหนึ่งก็คือ บ้านบางเบิด ซึ่งพ่อแม่บุญธรรมของหม่อมมีที่ดินอยู่ และทั้งคู่ก็เคยมาแล้วช่วงแต่งงานกันใหม่ๆ เมื่อได้เห็นภูมิประเทศ ก็พอพระทัยทันที จึงรับสั่งให้คนมาสร้างบ้านหลังเล็กๆ ไว้ จากนั้นก็อพยพครอบครัวมาอยู่ที่นี่ตั้งแต่บัดนั้น
*-2- *
*กสิกรคือกระดูกสันหลังของชาติ *
แม้ถูกใครต่อใครหาว่า ‘บ้า’ แต่ท่านสิทธิพรกับหม่อมศรีพรหมาได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า เกษตรที่ดีควรเป็นเช่นใด
สมัยก่อนการปลูกพืชในเมืองไทยเป็นลักษณะตามมีตามเกิด ปลูกโดยปราศจากความรู้ใดๆ ทั้งสิ้น แต่สำหรับท่านสิทธิพรแล้วไม่ใช่ ทรงเห็นว่า หากเกษตรจะรุ่งเรืองได้ ต้องนำวิทยาศาสตร์มาประยุกต์
งานแรกที่ทรงทำ คือการเลี้ยงไก่พันธุ์เล็กฮอร์น ซึ่งทรงเลี้ยงในกรงมาตั้งแต่สมัยอยู่กรุงเทพฯ แล้ว ครั้งนั้นทรงขนไก่มาที่บางเบิดประมาณร้อยตัว โดยมีเป้าหมายเพื่อนำไข่ไปขาย เนื่องจากยุคนั้นไม่มีการขายไข่ไก่ ไข่ที่กินๆ อยู่นั้นก็เป็นไข่เป็ดนำเข้าจากจีน ทรงนำระบบการเลี้ยงไก่แบบปิดมาทดลอง โดยแยกไก่ตัวผู้กับตัวเมียออกจากกัน พร้อมกับทำประตูกลขึ้นมา หากไก่เข้าคอกแล้วจะออกไม่ได้ โดยไข่ที่ได้ทรงขายเป็นโหล โหลละ 1 บาท สร้างรายได้ไม่น้อยเลย
นอกจากไก่แล้ว ยังทรงเลี้ยงวัวพันธุ์นม และหมูพันธุ์ยอร์กเซีย ซึ่งมีขนาดตัวกะทัดรัด เนื้อหนังดี เหมาะที่จะขยายพันธุ์ โดยเดือนหนึ่งจะเชือดหมู 1 ตัวเท่านั้น โดยนอกจากจะเก็บเนื้อส่วนหนึ่งไว้ทำอาหารเลี้ยงครอบครัวแล้ว หม่อมศรีพรหมายังได้แปรรูปเป็นไส้กรอก เบคอน แฮม ตับบด ฝังดินไว้สำหรับบริโภคตลอดทั้งเดือน เพราะยุคนั้นยังไม่มีตู้เย็น
เช่นเดียวกับเรื่องเพาะปลูก ท่านสิทธิพรถือเป็นคนไทยคนแรกที่บุกเบิกการเพาะปลูกแบบผสมผสาน เพราะสมัยก่อนเวลาพูดถึงเกษตร สิ่งเดียวที่ทุกคนนึกถึง คือข้าว ส่วนพืชไร่ พืชสวน ผลไม้ ไม่มีใครปลูกกัน หรือปลูกไว้สำหรับกินเองในครัวเรือน หรือไม่ก็ไปเก็บตามป่า
แต่เพราะพื้นที่บางเบิดเป็นที่ดอน ไม่เหมาะกับการปลูกข้าว ท่านสิทธิพรก็เลยเริ่มปลูกพวกพืชผักสวนครัว อย่างพริก มะเขือ ผักกาดขาว มะเขือยาว แตงกวา อย่างละนิดอย่างละหน่อย แปลงละ 20X20 เมตร จากนั้นก็เริ่มขยายไปปลูกผลไม้ ทั้งมะปราง มังคุด ขนุน ลำใย กระท้อน
หากที่เรียกว่าโดดเด่นสุด คงหนีจะไม่พ้น แตงโมบางเบิด ซึ่งทรงนำพันธุ์ทอมวัตสันมาจากอเมริกา โดยลักษณะของผลจะมีเปลือกหนา ลูกโต บางลูกหนักถึง 20 กิิโลกรัม เนื้อหวานกรอบ รสชาติดีผิดกับแตงโมทั่วไป ผลผลิตที่ได้เกือบทั้งหมด ทรงส่งขายปีนัง น้อยนักที่จะมาถึงกรุงเทพฯ
พืชอีกประเภทที่ทรงนำเข้ามาก็คือ ข้าวโพด พันธุ์นิโคลสันเยลโลเดนต์ เพื่อบริโภคและเลี้ยงสัตว์ ซึ่งต่อมาท่านก็ได้ประทานความรู้แก่เกษตรกรอื่นๆ กระทั่งข้าวโพดเป็นที่ยอดนิยม และกลายเป็นสินค้าส่งออกลำดับต้นๆ ของเมืองไทย
ไม่เพียงแค่นั้น ท่านยังนำเข้าเครื่องแทรกเตอร์มาใช้ทุ่นแรง นำปุ๋ยและปูนขาวมาช่วยบำรุงดิน นำระบบการปลูกแบบขั้นบันไดและการปลูกพืชแบบหมุนเวียนมาใช้ ตลอดจนเก็บข้อมูลสถิติ และบัญชีรายรับจ่ายเพื่อให้รู้ต้นทุนที่แท้จริง
การทำเกษตรแบบทดลองและเรียนรู้ไปด้วย ทำได้ผลผลิตที่แข็งแรงและมีคุณภาพ รวมทั้งสร้างรายได้เป็นกอบกำ แต่ที่สำคัญสุด คือเป็นการพิสูจน์ให้เห็นว่าการทำกสิกรรมก็รุ่งเรืองไม่แพ้อาชีพใดๆ
จากความสำเร็จของฟาร์มบางเบิด ทำให้ท่านสิทธิพรประสงค์ที่จะขยายความรู้ไปสู่วงกว้าง ทรงร่างบันทึกเรื่อง 'ทั้งบ้านและไร่นา' โดยตั้งใจจะพิมพ์เผยแพร่ในงานสยามรัฐพิพิธภัณฑ์ เมื่อปี 2468 พร้อมกับนำภาพพืชผลในฟาร์มไปแสดง เพื่อให้เห็นว่าการกสิกรรมแบบใหม่เป็นอย่างไร รวมทั้งยังต้องการชี้ให้เห็นว่า เกษตรแบบผสมผสานนั้นดีกว่าเกษตรเชิงเดี่ยวอย่างไรบ้าง แต่ยังไม่ทันเผยแพร่ ในหลวง รัชกาลที่ 6 ก็สวรรคตเสียก่อน จึงได้ทูลเกล้าบันทึกแด่รัชกาลที่ 7
แม้ในหลวงองค์ใหม่จะทรงชื่นชม แต่ผู้เกี่ยวข้องคนอื่นๆ กลับเห็นตรงกันข้าม เพราะมองว่าปลูกผสมนั้นเสี่ยงต่อการขาดทุน อีกทั้งนโยบายของกระทรวงเกษตราธิการยุคนั้น ส่งเสริมให้ปลูกแต่ข้าว
เมื่อไม่มีใครสนใจ ท่านก็กลับความคิดนี้ไว้ กระทั่งต่อมา พระช่วงเกษตรศิลปการ หนึ่งในผู้ก่อตั้งมหาวิทยาเกษตรศาสตร์ อยากจะทำวารสารเกี่ยวกับเกษตรเผยแพร่สู่ประชาชน ด้วยผลงานอันเป็นที่ประจักษ์ จึงร้องขอให้ท่านสิทธิพรรับหน้าที่บรรณาธิการ ซึ่งท่านก็ตอบรับเป็นอย่างดี
ท่านสิทธิพรใช้หนังสือพิมพ์ฉบับนี้เป็นเครื่องมือกระจายความคิด และวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลโดยเฉพาะนโยบายการปลูกพืชเชิงเดี่ยว และในที่สุดคำเตือนของท่านก็กลายเป็นจริง เมื่อเศรษฐกิจโลกผันผวน ราคาข้าวตกต่ำ รัฐบาลจึงต้องหันมาทำตามคำเสนอของท่านสิทธิพร
รัชกาลที่ 7 จึงโปรดเกล้าฯ ให้ท่านสิทธิพรกลับมารับราชการ เป็นอธิบดีกรมตรวจกสิกรรม หรือปัจจุบันคือกรมวิชาการเกษตร ซึ่งท่านก็ได้นำความรู้จากบางเบิดมาประยุกต์ ด้วยการตั้งสถานีทดลองพืชไร่บนที่ดอนขึ้น 3 แห่ง หนึ่งในนั้นคือแม่โจ้ ซึ่งตอนหลังก็พัฒนาเป็นมหาวิทยาลัยแม่โจ้
นอกจากนี้ยังทรงปรับปรุงพันธุ์ข้าวให้ได้มาตรฐาน หาพืชเศรษฐกิจใหม่ๆ มาทดลองปลูก เริ่มต้นแนวคิดไร่นาสวนผสม โดยแบ่งพื้นที่เป็น 5 แปลง หนึ่งแปลงสำหรับพักอาศัย ที่เหลือก็ปลูกพืชชนิดต่างๆ ผสมกับการเลี้ยงสัตว์ โดยมูลของสัตว์ที่ได้ก็มาทำเป็นปุ๋ย
แต่ทรงทำหน้าที่ได้เพียง 3 เดือนก็เกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครอง จึงต้องออกจากราชการ
*-3- *
*จากฟาร์มสู่คุก *
หลังถูกปลดจากราชการ ท่านสิทธิพรยังคงมีบทบาทเรื่องกสิกรรมไม่เปลี่ยนเปลี่ยน ทรงผลักดันให้เกิดโรงเรียนกสิกรรมขึ้นในประเทศ
แต่แล้วจุดเปลี่ยนในชีวิตก็มาถึง ในวัย 50 พรรษา เมื่อทรงถูกจับในฐานะผู้ร่วมคณะกู้บ้านกู้เมือง ของพระองค์เจ้าบวรเดช พี่ชายซึ่งเป็นอดีตเสนาบดีกระทรวงกลาโหม ทรงถูกศาลพิเศษตัดสินจำคุกตลอดชีวิต ส่งผลให้ภาระงานของฟาร์มบางเบิดตกเป็นของหม่อมศรีพรหมา
ชีวิตในแดนหก คุกบางขวางนั้น แม้จะปราศจากอิสรภาพ แต่ท่านสิทธิพรก็ไม่ได้ปล่อยให้เวลาหมดไปอย่างเปล่าประโยชน์ ทรงเห็นว่า นักโทษการเมืองคงต้องอยู่ที่นี่ไปอีกนาน หากออกไปแล้วก็คงประกอบอาชีพได้ลำบาก จึงทรงเปิดอบรมวิชากสิกรรมทุกวันช่วงบ่าย วันหนึ่งไม่ต่ำกว่า 3 ชั่วโมง ทรงสอนตั้งแต่ลักษณะดิน ธาตุต่างๆ ที่อยู่ในดิน ความสำคัญของฤดูกาล หรือแม้แต่ความรู้เรื่องพฤกษศาสตร์ รวมถึงได้ความรู้จากฟาร์มบางเบิดมาถ่ายทอด
เช่นเดียวกับเรื่องของฟาร์มบางเบิดก็ไม่ได้ละทิ้ง โดยแต่ละสัปดาห์ พระชายาจะเดินทางมาเยี่ยม พร้อมกับรายงานความคืบหน้าในการเพาะปลูก โดยจะทรงชี้แนะว่าแปลงนี้ต้องปลูกอะไร หรือมีวิธีการดูแลรักษาแบบไหน
ม.จ.สิทธิพรทรงติดคุกอยู่ที่บางขวางได้ 7 ปีก็ทรงถูกย้ายไปปล่อยเกาะที่ตะรุเตา แต่ก็ไม่ทรงอยู่แบบลำบากมากนัก ทรงใช้ชีวิตว่างปรับปรุงที่ดิน ชวนเพื่อนนักโทษปลูกผัก เลี้ยงเป็ด รวมทั้งตั้งโรงอบขนมปังและเค้ก แจกจ่ายให้ผู้คนบนเกาะ ช่วงนี้เองที่มีนักโทษบางคนถือโอกาสหลบหนี ซึ่งก่อนไปก็ได้ชักชวนท่านไปด้วย แต่ท่านสิทธิพรก็ปฏิเสธด้วยเหตุผลง่ายๆ ว่าแก่แล้ว รวมทั้งห่วงงานกสิกรรมที่ฟาร์ม และอยากสอนภาษาให้นายทหารที่นั่นด้วย
ความคิดนี้ยังถูกถ่ายทอดไปถึง ‘สอ เสถบุตร’ นักโทษการเมืองอีกคนที่ไปเข้าเฝ้าท่านสิทธิพรก่อนจะจะหนี โดยเวลานั้นสอมีภารกิจสำคัญคือการทำปทานุกรมอังกฤษ-ไทย ซึ่งท่านสิทธิพรก็ได้ทักท้วงว่า งานที่เขาทำอยู่นั้นยิ่งใหญ่และเป็นประโยชน์ต่อประชาชนมหาศาล การทิ้งงานทิ้งความรับผิดชอบก็ไม่ต่างจากคนที่ไร้ซึ่งอุดมคติ ทำให้สอไม่หนีและเขียนปทานุกรมจนเสร็จสมบูรณ์
ในปีสุดท้ายนักโทษกลุ่มนี้ถูกย้ายไปอยู่เกาะเต่า ด้วยผลของสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่นี่เป็นเกาะนรกอย่างแท้จริง เพราะไม่มีมนุษย์อาศัยเลย ทุกคนต้องทำงานหนักทั้งถางหญ้า ทำถนน โค่นต้นไม้ ปลูกพืชสารพัด แถมท่านสิทธิพรยังเจอพิษมาลาเรียเล่นงาน โชคดีที่ทรงรอดมาได้
หลังถูกจองจำมาเกือบ 11 ปี รัฐบาลจึงประกาศนิรโทษกรรมนักโทษทั้งหมด ท่านสิทธิพรจึงได้หวนคืนสู่ฟาร์มและงานที่ท่านรักอีกครั้ง
*-4- *
*อุดมการณ์ไม่มีวันตาย *
ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ฟาร์มบางเบิดจำต้องปิดตัวลงชั่วคราว เพราะขาดแคลนแรงงาน ท่านสิทธิพรใช้เวลาพักใหญ่ค่อยๆ ฟื้นฟู เนื่องจากแทบไม่เหลือเงิน จึงขายเครื่องมือการเกษตรทั้งหลาย จนฟาร์มค่อยๆ พลิกฟื้นกลับมา
ขณะเดียวกันก็ยังทรงเขียนบทความวิพากษ์วิจารณ์นโยบายการเกษตรของรัฐบาล เช่นส่งข้าวไปนอกทั้งที่คนในประเทศแทบจะไม่ข้าวกิน กระทั่งปี 2490 พ.ต.ควง อภัยวงศ์ นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น จึงทูลเชิญท่านสิทธิพรมารับหน้าที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตราธิการ
ท่านสิทธิพร เป็นรัฐมนตรีนานเกือบ 5 เดือน รัฐบาลก็ถูกรัฐประหาร แต่ถึงจะเป็นช่วงสั้นๆ ก็ทรงพยายามผลักดันโครงการต่างๆ โดยเฉพาะควาย เพราะช่วงนั้นควายเป็นโรคระบาดตายกันเพียบ ท่านจึงติดต่อองค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) ให้ช่วยหาวัคซีน จนหยุดยั้งการระบาดสำเร็จ
ที่สำคัญช่วงหลังท่านยังพบด้วยว่า การใช้ควายคุ้มค่ากว่าการใช้รถไถ เพราะแทรกเตอร์ต้องเสียค่าน้ำมัน ค่าบำรุงรักษา ส่วนควายกินแต่หญ้า แถมขี้ควายก็ยังทำเป็นปุ๋ยได้อีก ท่านเลยสร้างคำขวัญที่ว่า ‘ความเจริญเดินตามไถ’ เพื่อให้เกษตรกรหันกลับไปเลี้ยงควายมากขึ้น
นอกจากนี้ยังเสนอนโยบายเรื่องสหกรณ์ โดยชี้ให้เห็นว่าเมืองไทยควรมีสหกรณ์เยอะๆ จะได้พึ่งตัวเองได้ และถ้าเป็นไปได้ก็อยากเพิ่มสหกรณ์ปีละ 1,000 แห่ง ซึ่งสุดท้ายก็ไม่เป็นเกิดขึ้นเพราะท่านหลุดจากตำแหน่งไปก่อน
หลังวางมือจากการเมืองท่านก็ยังสานต่ออุดมการณ์เรื่องการเกษตรเรื่อยมา โดยเฉพาะการวิพากษ์วิจารณ์นโยบายเกษตรที่เอารัดเอาเปรียบเกษตรกร เช่นทรงเรียกร้องให้ยกเลิกพรีเมียมข้าว หรือภาษีที่รัฐบาลเก็บจากผู้ส่งออกข้าวเกวียนละ 600 บาท เพราะถึงรัฐไม่ได้เก็บเงินจากชาวนาโดยตรง แต่ผู้ประกอบการก็แก้เกมด้วยการกดราคาชาวนาลง
อย่างไรก็ดี ถึงจะทรงทำงานเพื่อผู้อื่นมามาก แต่สถานการณ์ของฟาร์มบางเบิดก็ไม่สู้ดีนัก เพราะทรงทำลำพังกับหม่อมเพียง 2 คน ทำไปก็ยิ่งขาดทุน สุดท้ายจึงตัดสินใจขายฟาร์มให้จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ในราคา 500,000 บาท ซึ่งหลังซื้อมาจอมพลก็สั่งโค่นต้นไม้แล้วก็ปล่อยทิ้งร้างไม่ทำอะไร กระทั่งจอมพลสฤษดิ์ถึงแก่กรรม ทางการจึงสั่งอายัดให้ตกเป็นของแผ่นดิน ต่อมาภายหลังมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์จึงได้มาขอใช้สถานที่ทำเป็นสถานีวิจัยสิทธิพรกฤดากรจนถึงปัจจุบัน
ส่วนท่านสิทธิพร หลังขายที่ก็มาซื้อไร่เล็กๆ อยู่ที่หัวกิน เรียกว่า สวนเขาน้อย กระทั่งปี 2510 คณะกรรมการรางวัลรามอน แมกไซไซ จึงติดต่อขอถวายรางวัลสาขาบริการสาธารณะแก่พระองค์ ซึ่งตอนที่ติดต่อมาก็ยังทรงสงสัยจึงตรัสออกมา ‘แปลกนี่มาให้ทำไม’ แต่ก็ทรงเดินทางไปรับที่ฟิลิปปินส์
หลังจากนั้นก็ทรงเงินรางวัล 10,000 เหรียญก็ทรงนำมาชำระหนี้ระบบชลประทานของสวนเขาน้อย ส่วนที่เหลือก็นำมาทุนจัดอบรมสร้างความรู้แก่เกษตรกรทั่วประเทศ โดยทรงมีบันทึกถึงบรรดาลูกศิษย์ว่า
“นี่เป็นความนึกฝันของฉัน เมื่อได้ริเริ่มโครงการนี้ขึ้น และได้บากบั่นผ่าฟันอุปสรรค นานาประการ เพื่อให้โครงการนี้ดำเนินไปได้อย่างดี จึงหวังว่าพวกเธอจะร่วมมือกันอย่างเต็มความสามารถเพื่อให้ความนึกฝันของฉัน ได้เป็นความจริง ซึ่งจะยังผลดีให้เพื่อนชาวนาด้วยกันและจะเป็นประโยชน์แก่ประเทศชาติไม่น้อยด้วย”
ท่านสิทธิพรยังคงทำนาทำสวนทำไร่ด้วยพระองค์เองไม่เปลี่ยนแปลง กระทั่งในช่วง 2-3 ปีสุดท้าย ในหลวง รัชกาลที่ 9 มีรับสั่งว่าควรขายที่ดินแล้วมาอยู่กับลูกสาว ทรงเห็นด้วยจึงย้ายกลับมาอยู่กรุงเทพฯ แต่ก็ไม่ทรงละทิ้งงานอบรมความรู้ชาวนา แม้กระทั่งวันสุดท้ายของพระชนม์ชีพ
ติดตามบทความของ เพจยอดมนุษย์..คนธรรมดา ได้บน LINE TODAY ทุกวันอาทิตย์
เรียบเรียงและภาพประกอบจาก
- หนังสืออนุสรณ์ ม.จ.สิทธิพร กฤดากร โดยสำนักพิมพ์สมาคมสังคมศาสตร์แห่งประเทศไทย
- หนังสือคนกล้า โดย วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์
- หนังสือเลือดสีน้ำเงิน ซ้ายไม่จริง ขวาไม่แท้ และประชาธิปไตยในอุดมคติ โดย ปฐมาวดี วิเชียรนิตย์
- หนังสือสอ เสถบุตร So Sethaputra ดิกชันนารีแห่งชีวิต โดย ศรัณย์ ทองปาน
- หนังสือแดนหก โดย ชุลี สารนุสิต
🍺【tearsuke】🍻 ทำความดีเพื่อประเทศขนาดนี้ ขอแสดงความเคารพจากใจจริงครับ
15 ธ.ค. 2562 เวลา 08.19 น.
บุญของคนไทยทั้งประเทศ บุญของเกษตรกรไทย กราบค่ะ
15 ธ.ค. 2562 เวลา 08.41 น.
somsak เป็นความรู้ ดีึครับ. เยี่ยมๆ...
15 ธ.ค. 2562 เวลา 08.31 น.
ชุมสาย ดินแดนนี้คนดีอยู่ยากและลำบาก คนเลวอยู่ง่ายและยิ่งใหญ่ชั่วลูกหลาน
15 ธ.ค. 2562 เวลา 08.28 น.
. ทำไมสมัยนี้ไม่มีเจ้าแบบนี้แล้ว
15 ธ.ค. 2562 เวลา 08.25 น.
ดูทั้งหมด