การมี “มอไซค์วิน” “ลดปัญหา” หรือ “เพิ่มปัญหา” การจราจรกันแน่ ?
ปัญหาการจราจรติดขัด กับรถจักรยานยนต์สาธารณะ ดูเหมือนจะเป็นภาพจำที่ผู้คนนึกถึงเป็นอันดับแรก ๆ อยู่เสมอ เมื่อมีการกล่าวโทษหาว่าใครคือคนที่ควรรับผิดชอบกับปัญหาการจราจรติดขัดที่มีอยู่ทั่วกรุงเทพมหานคร
นอกเหนือจากจะเป็นบ่งชี้ให้เห็นถึงปัญหาคร่าว ๆ ว่าข้อกล่าวหาที่มีต่อรถจักรยานยนต์สาธารณะนั้นเป็นความจริงมากน้อยแค่ไหน เราขอชวนทุกคน มองให้ลึกลงไปอีกหนึ่งขั้น ว่านอกจากตัวผู้ให้บริการแล้ว ตัว ‘ผู้ใช้บริการ’ เอง ก็นับว่ามีส่วนสำคัญในการช่วยสร้างปัญหานี้จนสะสมมาเป็นเวลานานด้วยเช่นกัน
เพราะคงไม่มีใครปฏิเสธได้ว่า ‘วินมอเตอร์ไซค์’ คือส่วนสำคัญที่่ช่วยลดปัญหาการจราจรได้จริง! หากแต่เป็นการแก้ปัญหาเฉพาะบุคคลที่ใช้บริการ แต่ถ้ามองในภาพรวมแล้ว ทั้งผู้ให้บริการและผู้ใช้บริการ ล้วนมีส่วนเพิ่มปัญหาการจราจรด้วยกันทุกคน
1. เปิดสถิติ รถมอเตอร์ไซค์สาธารณะในกรุงเทพฯ ที่มีเกือบ 100,000 คัน
เริ่มกันที่จำนวนของรถมอเตอร์ไซค์สาธารณะ ที่ในอดีตช่วงประมาณก่อนปีพ.ศ. 2554 มีการประเมินว่าอาจจะมีมากถึง 200,000 คัน (ทั้งจดทะเบียนรถสาธารณะอย่างถูกกฎหมายและแอบวิ่ง) กระทั่งมีการจัดระเบียบของคณะรักษาความสงบแห่งชาติในช่วงปีพ.ศ. 2559 ที่ออกกฎเข้มงวดให้วินมอเตอร์ไซค์ลงทะเบียนผู้ประกอบอาชีพให้บริการรถจักรยานยนต์สาธารณะถูกต้องตามกฎหมาย
พบว่าสถิติรถจักรยานยนต์สาธารณะในเขตกรุงเทพมหานครมีจำนวนทั้งสิ้น 98,826 คัน มีวินที่ได้รับอนุญาตถูกต้องจำนวน 5,638 วิน ซึ่งวันนี้เราจะพาไปดูว่า จำนวนรถจักรยานยนต์สาธารณะจำนวนเกือบ 1 แสนคัน (เฉพาะที่ถูกกฎหมาย) นั้นพอจะสร้าง ‘ปรากฏการณ์’ บนท้องถนนอะไรขึ้นมาได้บ้าง
2. จอดรอริมฟุตปาธ เปิดเลนใหม่วิ่งบนทางเท้า
ปัญหาคลาสสิกที่มองได้เห็นชัดที่สุดโดยเฉพาะชั่วโมงเร่งด่วน ตามซอยใหญ่และบริเวณจุดเชื่อมต่อระบบการเดินทางสาธารณะ ที่เราจะมองเห็นรถจักรยานยนต์สาธารณะจำนวนมากจอดรอรับ-ส่งผู้โดยสารที่ริมฟุตปาธเรียงแถวกันเต็มไปหมด ปัญหาชั้นแรกก็คือการกีดขวางจราจรที่ทำให้รถที่วิ่งมาในเลนซ้ายสุด ต้องเบี่ยงตัวออกทางขวาที่จะไปกีดขวางการจราจรที่เลนอื่น ๆ ต่อกันไปเป็นลูกโซ่ ยังไม่นับปัญหาจากการเบี่ยงตัวกะทันหันเพื่อ ‘ทำรอบ’ ต่อไป ที่นอกจากกีดขวางการจราจรตามปกติ ยังมีโอกาสสูงที่จะก่อให้เกิดอุบัติเหตุได้อีกด้วย
นอกจากนี้ยังมีปัญหาใหญ่ คือการหลีกเลี่ยงการจราจรติดขัดบนท้องถนน แล้วเปิดเลนใหม่บนทางเท้า ซึ่งเรื่องนี้เป็นปัญหาของผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์ทั้งหมด หากแต่มีจุดน่าสนใจอย่างหนึ่ง จากที่แอดมินเพจ ‘เฮ้ย นี่มันฟุตบาทไทยแลนด์’ เคยให้สัมภาษณ์กับ GM Live ด้วยการตั้งข้อสังเกตไว้ว่า“ผู้นำที่จะขึ้นทางเท้าก่อนคือวิน อาศัยเรื่องความชิน ถ้ามีคนขึ้นก็จะมีคนตาม คนเลยมองว่าทำผิดเป็นเรื่องเคยชิน”
3. ตั้งวินฯบนทางเท้า เสมือนเป็นพื้นที่ของตัวเอง
นับว่าเป็นปัญหาที่เรื้อรังต่อเนื่องมายาวนาน เพราะปฏิเสธไม่ได้ว่า ‘ทำเลทอง’ ในการตั้งวินฯ ส่วนมาก จะเป็นจุดเชื่อมต่อสำคัญที่มีผู้คนผ่านไปผ่านมาเป็นจำนวนมาก และพื้นที่เหล่านั้นก็มักจะพื้นที่สาธารณะที่ควรจะเป็นเส้นทางของคนเดินเท้าทั่วไป
หากแต่มักจะมีการจัดสรรปันส่วนผลประโยชน์ระหว่างเจ้าของวินฯ และหน่วยงานราชการ หรือผู้มีอิทธิพลในพื้นที่นั้น ๆ เพื่อให้รับการอนุโลมสามารถตั้งวินฯ ในพื้นที่เหล่านั้นได้ตามปกติ ซึ่งปัญหาที่ตามมาก็คือ ทำให้คนเดินทางเท้าบางส่วนต้องหลบเลี่ยงพื้นที่ตรงนั้น และไปเดินบนถนนรถวิ่ง จนเกิดเป็นปัญหาลูกโซ่ต่อเนื่องตามมาต่อทอดหนึ่ง
ซึ่งเมื่อเป็นปัญหาต่อเนื่อง ทำให้การแก้ปัญหาเป็นไปได้ยากในทางปฏิบัติ เพราะไม่ใช่แค่สร้างความลำบากให้กับผู้ขับขี่ประจำวินนั้น ๆ หากแต่ผู้ใช้บริการตามปกติ ก็จะเกิดความลำบาก เพราะไม่คุ้นชินกับการต้องเดินทางเพิ่มขึ้นเพื่อไปขึ้นรถในบริเวณที่ไกลออกไป
4. เปิดวินฯ เฉพาะกิจ ตามอีเวนต์สำคัญต่าง ๆ
ลองคิดภาพสิ่งที่ตามมาทุกเครื่องตามงานคอนเสิร์ตใหญ่ หรืออีเวนต์สำคัญที่มีคนไปร่วมเป็นจำนวนมาก คือการเห็นแถวรถมอเตอร์ไซค์สาธารณะ (รวมทั้งแท็กซี่) มาจอดรอรับส่งผู้โดยสารจนแน่นขนัด ซึ่งคงไม่มีปัญหาหากเป็นแค่การ รับ-ส่ง แล้วเคลื่อนตัวไปตามปกติ
แต่สิ่งเกิดขึ้นมากกว่านั้น คือการจอดแช่เพื่อรอ ไปจนถึงการโบกเรียกให้ผู้โดยสารมาใช้บริการของตน เมื่อจำนวนมีมากขึ้น ก็ยิ่งส่งผลกับการจราจรโดยรวม การจราจรเป็นอัมพาต ผู้ใช้รถ ใช้ถนนที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง ต้องมารับผลนี้ตามไปด้วย
5. ไหลไฟแดง ย้อนศร กลับรถในจุดห้ามกลับ และสารพัดเทคนิคที่เกิดจากความชำนาญ
แน่นอนว่าสำหรับผู้ขับขี่รถสาธารณะเป็นประจำในพื้นที่นั้น ๆ จะมีความชำนาญ และรู้จัก ‘ช่องทาง’ ในการลัดเลาะและอำนวยความสะดวกมากกว่าคนทั่วไป เช่น รู้ระยะเวลาที่สามารถไหลตัวฝ่าไฟแดงตามสี่แยกต่าง ๆ ก่อนที่รถจากฝั่งอื่นจะวิ่งมาสมทบ หรือรู้ว่าเส้นทางไหนสามารถวิ่งย้อนศร หรือกลับรถในจุดห้ามกลับ ได้จนเป็นเรื่องปกติ (ซึ่งผิดกฎหมายและไม่ปกติอย่างมาก)
แน่นอนว่าสำหรับผู้ขับขี่ที่มีความชำนาญ ย่อมคิดว่า ‘ทักษะ’ การเอาตัวรอดของตัวเองนั้นสูงพอที่จะพาตัวเองและผู้โดยสารไปถึงที่หมายได้อย่างรวดเร็วและปลอดภัย หากแต่กับผู้ใช้รถ ใช้ถนนตามปกติ ที่ไม่คุ้นเคยกับพฤติกรรมดังกล่าว (ซึ่งเป็นเรื่องถูกต้องที่เราไม่ควรคุ้นเคยกับเรื่องดังกล่าว) ย่อมไม่สามารถเตรียมตัวรับมือได้ทัน จนเกิดอุบัติเหตุและกีดขวางการจราจรได้ไม่รู้จบ
6. เจ้าแห่งการแทรกตัวและโฉบ ‘หูช้าง’
อีกหนึ่งปัญหาคลาสสิกที่เกิดขึ้นอยู่ทุกวัน คือบนถนนที่รถติดมาก ๆ แล้วเราจะเห็นการแทรกตัวของรถมอเตอร์ไซค์ ลัดเลาะไปตามช่องว่าง ๆ เพื่อเคลื่อนตัวไปข้างหน้าให้เร็วที่สุด ซึ่งหากเคลื่อนตัวไปเฉย ๆ คงไม่มีปัญหาอะไร ถ้าไม่เกิดเหตุการณ์เสียหลัก คำนวนผิด จนไปเฉี่ยวชนกับรถยนต์ที่จอดนิ่งอย่างไม่รู้อีโหน่ อีเหน่ โดยเฉพาะ ‘หูช้าง’ หรือกระจกข้างทั้งซ้ายขวา ที่มักตกเป็นเป้าหมายอันดับหนึ่งอยู่เสมอ
ซึ่งจุดนี้คงเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นกับผู้ขับขี่มอเตอร์ไซค์ทุกประเภทอยู่แล้ว หากแต่อาจจะเพราะประสบการณ์ตรงของผู้เขียน ที่มักจะเห็นผู้ขับขี่ใน ‘เสื้อกั๊ก’ สีส้ม เป็นผู้ก่อเหตุ หรือคู่กรณีอยู่เสมอ (ย้ำว่าเป็นประสบการณ์ของผู้เขียนล้วน ๆ ในสายตาคนอื่น อาจเห็นคู่กรณีเป็นรถประเภทอื่นมากกว่าก็ได้) อย่างช่วง 2 อาทิตย์ที่ผ่านมา ผู้เขียนถูกเฉี่ยวกระจกข้าง 2 ครั้ง และคู่กรณีเป็นมอเตอร์ไซค์สาธารณะทั้งหมด
7. ผู้ให้บริการ และผู้ใช้บริการ ควรรับผิดชอบร่วมกัน
ถึงแม้ภาพรวมของปัญหาหลาย ๆ อย่าง จะดูเหมือนว่ามี ‘ผู้ขับขี่’ รถจักรยานยนต์สาธารณะเป็นต้นเหตุสำคัญ หากแต่คงเป็นการไม่ยุติธรรมเกินไปนัก หากจะกล่าวโทษว่าเป็นความผิดของพวกเขาแต่เพียงอย่างเดียว
เพราะตัวผู้ใช้บริการในทุก ๆ วัน ที่โดยสารไปกับรถเหล่านั้น ก็มีส่วนในการเพิกเฉย อะลุ่มอล่วย ให้กับพฤติกรรมหลาย ๆ อย่างได้เสมอ เมื่อเราเป็นคนนั่งอยู่บนรถคนนั้นด้วยตัวเอง คือถ้าเห็นคนอื่นทำเมื่อไร จะโกรธทันที แต่พอเป็นรถที่ตัวเองโดยสาร และกำลังรีบไปถึงที่หมายให้เร็วที่สุด ก็พร้อมที่จะลืมเหตุผลและคำต่อว่าทั้งหมดไปได้ทันที
ซึ่งในจุดนี้เอง เป็นส่วนสำคัญในการสร้างเสริมความ ‘เคยชิน’ ให้เกิดขึ้นมาตลอดระยะเวลาหลาย 10 ปี และดูเหมือนว่าแทบจะมองไม่เห็นหนทางที่จะแก้ปัญหานี้ได้แต่อย่างใด
อ้างอิง
https://www.posttoday.com/politic/report/301832
https://www.tcijthai.com/news/2018/06/current/8115
https://thaipublica.org/2016/06/bangkokpublica-3/
https://gmlive.com/motorcycle-taxi-vs-grab-bike-and-voice-of-customer
อยากให้คนไทยหันมาเดินบ้าง เหมือนเมื่อก่อนที่เดิน และปั่นจักรยาน
เป็นการออกกำลังกายไปในตัว และช่วยแก้ปัญหาเรื่องลดติด และมลภาวะเป็นพิษ
แต่ทุกวันนี้คนไทยขี้เกียจมาก ไม่ยอมเดิน
แค่ 2-500 เมตร ยังขี้เกียจเดิน
รู้มั้ยพวกคุณสร้างปัญหาให้กับโลกนี้ ไม่ใช่แค่เมืองไทย ลองสังเกตุต่างชาติที่แบกเป้มาเที่ยวเมืองไทย บางที 2-3 กม. เขายังเดินเลย จิตสำนึกเขาดีกว่าคนไทยเยอะ
05 มี.ค. 2562 เวลา 02.14 น.
แม่หมี อยากให้มาดูที่เราอยู่นะ วินรถอยู่ในถนนเลยแบ่งกันกับคนเดินถนน เบียดกันไป ซอยรัตนาธิเบศร์3 ใกล้ๆโรงพักรัตนาธิเบศร์เลย ตำรวจก็เห็นอยู่นะ แต่ก็เฉยๆไม่จัดการอะไรเลย น่าเบื่อมากๆ ต้องรอให้มีคนโดนรถชนก่อนถึงมาจัดการหรือไงนะ
05 มี.ค. 2562 เวลา 03.51 น.
Noidee ให้เวลา2ปีกับวินมอเตอร์ไซด์ แล้วยกเลิกให้หมดทั่วกรุงเทพและปริมณฑลและห้ามรถกระป๋องและรถสองแถวมาวิ่งแทนด้วย
05 มี.ค. 2562 เวลา 04.09 น.
นุชิต ฉัตรกมลกุล ปัญหาก็แค่ทำตามกฎหมาย ทุกอย่างก็จบ
ใครผิดก็ต้องลงโทษตามระเบียบ จากน้อยไปหามากสุดคือยกเลิกวินห้ามวิ่ง
05 มี.ค. 2562 เวลา 05.23 น.
ราวิน ซ. ที่บ้านสองกิโลเมตร.....เมื่อก่อนมีสองแถวแดง ออกทุก15นาที ไม่ทันใจวัยรุ่น เลยมีวินมอไซเกิดขึ้น แล้วสองแถวถูกกฏหมายก็เจ๊งไป........
05 มี.ค. 2562 เวลา 05.18 น.
ดูทั้งหมด