ต่อเนื่องจากสัปดาห์ที่ผ่านมาว่าด้วยเรื่องของ ”วันสตรีสากล” สัปดาห์นี้ยังคงเป็นเรื่องของพลังหญิงที่มีความตั้งใจทำสิ่งดีๆ เพื่อสังคม ถึงแม้จะเป็นพลังเล็กๆ แต่ทุกการทำดีย่อมมีคุณค่าเสมอ
เริ่มต้นที่สุภาพสตรีท่านแรก คุณผึ้ง - ภัทริกา จุลโมกข์ เธอคนนี้เคยเป็นนักสังคมสงเคราะห์อยู่ที่มูลนิธิศุภนิมิต ปัจจุบันเธอรับหน้าที่หลายอย่างไม่ว่าจะการเข้าไปส่วนร่วมในโครงการต่างๆ ที่ช่วยดูแลเพื่อนมนุษย์ที่การดูแลอาจยังเข้าไปไม่ทั่วถึง, เป็นนักวิจัยให้กับทาง UNICEF และยังมีเอเจนซี่ล่ามและการแปลเป็นของตัวเอง ใช้ความถนัดทางด้านการแปลภาษาเพื่อเป็นสื่อกลางให้กับองค์กรเพื่อสังคม
จุดเริ่มต้นความเป็นมาของการทำงานเพื่อสังคม
“ต้องเล่าย้อนไปถึงตอนเด็กๆ น่าจะประมาณ 6-7ขวบ นั่งรถไปกับคุณแม่ ตอนนั้นจำได้ว่าบรรยากาศเป็นกรุงเทพที่ฝนตกรถติด มองไปข้างทางเห็นแม่ลูกคู่หนึ่งนั่งอยู่ คุณแม่ก็เลยจอดรถเพื่อลงไปดูว่าเขาทำไมเขาถึงมานั่งตากฝนตรงนั้น ปรากฏว่าสองแม่ลูกที่ตากฝนอยู่นั้นไม่ใช่คนไทย เขาพูดภาษาไทยไม่ได้ด้วยซ้ำ ท้ายที่สุดคุณแม่จึงตัดสินใจพาเขาไปส่งที่สถานสงเคราะห์ ซึ่งตอนนั้นเราก็คิดสงสัยว่าทำไมเด็กคนนั้นดูอายุน่าจะรุ่นเดียวกัน ทำไมเขาต้องมานั่งตากฝนในขณะที่เรานั่งอยู่ในรถมีแอร์เย็นสบายๆ ทำไมมันช่างแตกต่างกันขนาดนั้น ก็เลยสนใจประเด็นนี้ขึ้นมา จนมาถึงตอนสอบเข้ามหาวิทยาลัยก็เลยเลือกเรียนคณะสังคมสงเคราะห์ เพราะตั้งใจที่จะทำอะไรเพื่อการเปลี่ยนแปลงสังคมได้บ้าง”
“พอจบสังคมสงเคราะห์ก็มาทำงานตรงสาย มาดูแลด้านการคุ้มครองเด็กแล้วพบว่า การคุ้มครองเด็กคืองานที่ช่วยเหลือเด็กที่ถูกละเมิด ซึ่งมีทั้งการทารุณกรรม การแสวงหาผลประโยชน์ในเด็ก การคุกคามทางเพศ ซึ่งไม่ว่าจะกี่เคส งานตรงนี้คือการเยียวยาแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ มันไม่ได้แก้ที่ต้นเหตุ ก็เลยรู้สึกว่าทำตรงนี้มันยังไม่พอ จึงเปลี่ยนไปทำงาน advocacy เป็นการรณรงค์เพื่อการเปลี่ยนแปลงในระดับนโยบาย หรือกฎหมาย ต้องมาศึกษาเรื่องกฎหมายระหว่างประเทศที่เกี่ยวกับเด็ก เพื่อนำเสนอนโยบายที่จะช่วยไม่ให้เด็กถูกเอารัดเอาเปรียบได้ ยกตัวอย่างเช่นทุกวันนี้เราเห็นกลุ่มแรงงานข้ามชาติเข้ามาทำงานในไทย พวกเขามีบุตรหลานตามเข้ามาด้วย เด็กเหล่านี้เป็นกลุ่มที่ต้องการการดูแลเพราะเขาจะเรียนที่ไหน เขาเสียสิทธิ์ไปหลายอย่างโดยเฉพาะเรื่องการดูแลสุขภาพและการศึกษาซึ่งเป็นพื้นฐานที่สำคัญ ซึ่งเด็กๆ กลุ่มนี้ที่อาจถูกมองข้าม แต่เขาคือคนรุ่นต่อไป เขาควรเติบโตอย่างมีคุณภาพ”
จากนักสังคมสงเคราะห์ สู่การเป็นล่าม
“จากการทำงานคุ้มครองเด็ก ก็ได้ย้ายไปทำเรื่องการต่อต้านการค้ามนุษย์ มีโอกาสได้ไปอยุ่ในทีมทำรายงานการค้ามนุษย์ในประเทศไทย ต้องเขียนเกี่ยวกับด้านการป้องกันปัญหานี้ว่าต้องร่วมมือกับหน่วยงานไหนบ้าง ประเทศไทยให้ความสำคัญกับปัญหานี้มากๆ และยังคงดำเนินการแก้ไขปัญหานี้อยู่ แต่โดยส่วนตัวต้องวางมือจากงานตรงนี้เนื่องจากอยากให้เวลาในการดูแลลูกให้เต็มที่ พอลาออกจากงานก็ได้รับการติดต่อให้ไปช่วยงานด้าน NGO (Non Govermental Oganizations) เป็นอาสาสมัครที่ทำงานแบบไม่แสวงหาผลกำไร ส่วนใหญ่จะไปช่วยงานด้านภาษาอังกฤษจึงตัดสินใจไปเรียนเป็นล่ามอย่างจริงจัง และเปิดเอเจนซี่ล่ามและการแปลภาษา ทำงานทางด้านสิทธิมนุษยชนให้กับบรรดา NGO เพราะคิดว่างานล่ามงานภาษาก็สามารถช่วยเหลือสังคมได้เหมือนกัน”
อุปสรรคที่พบบ่อยๆ ในการทำงาน
“งานล่ามจะแบ่งหลักๆ เป็น 2 แบบ คือ simultaneous คือ ล่ามแปลพร้อม กับ consecutive คือฟังให้จบเป็นประโยคแล้ว แปลตามหลัง ซึ่งแบบแรกเป็นงานที่ท้าทายมากๆ เพราะค่อนข้างขัดกับธรรมชาติของมนุษย์คือเราต้องฟังไปด้วยและพูดไปด้วย ต้องเรียบเรียงประโยคจากภาษาหนึ่งเป็นอีกภาษาหนึ่ง และต้องจับรายละเอียดให้ได้ ใช้สมาธิเยอะมาก แม้กระทั่งการพูดเล่นก็ต้องเก็บมาแปลด้วยเพราะคนฟังย่อมอยากรู้ว่าเขาหัวเราะอะไรกัน จุดนี้มีความสำคัญไม่น้อยไปกว่าเนื้อหาหลัก เคยไปเป็นล่ามแบบ simultaneous ให้กับงานหนึ่งแล้วเราสามารถแปลมุขตลกที่เกิดขึ้นได้ด้วย บรรยากาศสนทนาก็ยิ่งดีไปด้วย แต่ยังมีบางคนที่เขายังไม่เข้าใจว่างานล่ามเป็นอย่างไร ก็อาจจะมีมาชวนคุยระหว่างเรากำลังทำงาน ตรงนี้ก็เป็นอีกหนึ่งความยาก”
อยากทำงานเพื่อสังคมบ้างต้องเริ่มจากอะไร
“ใครๆก็สามารถทำได้ค่ะ ทุกคนมีความสามารถที่จะทำเพื่อสังคมได้ทั้งนั้น ทำงานประจำก็ทำเพื่อสังคมได้ อยู่บ้านเล่นหุ้นก็ช่วยได้ เช่นลองดูว่าบริษัทไหนมี CSR ดีๆ เราก็สนับสนุนผลิตภัณฑ์บริษัทนั้น รวมไปถึง หรือการกระจายข่าวกิจกรรมเพื่อสังคมให้คนที่สนใจเข้ามาช่วยเหลือ ก็เป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้เหมือนกัน หรือแม้กระทั่งการซื้อของใช้ เช่นเสื้อผ้า ถ้าเราเลือกซื้อแบบที่จะใส่ได้นานๆ แทนที่จะซื้อเพราะราคาถูกหรือเพราะแค่ความเป็นแฟชั่น ก็สามารถช่วยลดกระบวนการผลิต ลดมลพิษจากโรงงาน ลดต้นทุนการขนส่ง การผลิตแพคเกจซึ่งส่วนใหญ่ก็เป็นพลาสติก ดังนั้นถ้าอยากจะทำอะไรให้สังคมเราสามารถเริ่มต้นได้ที่ตัวเรา ลิมิตการใช้ การกิน เลือกของที่ใช้ได้นานๆ ไม่จำเป็นจะต้องเป็นนักสังคมสงเคราะห์เท่านั้นที่จะดูแลสังคม เพราะอำนาจการตัดสินใจอยู่ในมือของทุกคน เช่นการหันมาเดินทางโดยขนส่งสาธารณะ การลดการใช้พลาสติก สิ่งเหล่านี้เราสามารถคิดและลงมือทำได้ด้วยตัวเอง”
มาต่อกันด้วยการพูดคุยกับคุณ เก้ - อนงค์นาถ สันติธนานนท์ พนักงานบริษัทไลน์ ประเทศไทย เธอคือเพื่อนร่วมงานที่ไลน์ที่ตลอดเวลาที่ผ่านมาเราไม่เคยเห็นเธอไว้ผมทรงอื่นเลยนอกจากทรงปล่อยตรงและยาวมาก จุดมุ่งหมายของเธอไม่ใช่แค่เพราะเธอรู้สึกว่าผมทรงนี้เหมาะกับตัวเอง แต่เก้ตั้งใจเลี้ยงผมของตัวเองไว้เพื่อบริจาค
“เราเป็นคนที่รักผมมาก ๆ แล้วก็เป็นคนที่ดูแลรักษาเส้นผมแบบจริงจังมาโดยตลอด” เก้บอกกับเรา
เธอเล่าให้ฟังถึงจุดเริ่มต้นว่ามันเกิดขึ้นตั้งแต่ 10 ปีที่แล้ว ตอนที่ต้องไปเรียนต่อปริญญาโทที่อเมริกาเป็นเวลา 2 ปี “เราคิดว่าคงไม่ค่อยได้ตัดผมหรือทำอะไรกับมันอยู่แล้ว เพราะเวลาเข้าร้านทำผมทีนึงเนี่ยแพงมาก เลย เป็นช่วงเวลา 2 ปีที่ไม่ได้ตัดผม แล้วก็มีความคิดอยากจะบริจาคผมเพราะว่ามองย้อนกลับไปเราก็มีญาติผู้ใหญ่ที่เสียชีวิตด้วยโรคมะเร็ง ถึงแม้ว่าเขาจะเสียชีวิตตั้งแต่เรายังไม่เกิดก็ตาม แต่เราก็รู้สึกว่าโรคนี้มันใกล้ตัว เราเลยอยากทำอะไรให้กับผู้ป่วยที่เป็นโรคนี้บ้าง ตอนที่ตัดผมครั้งนั้น หลังจากไว้มาเกือบ ๆ 3 ปี ก็เลยเอาไปบริจาค อย่างน้อย ๆ ผมของเราก็ไปช่วยใครสักคนได้”
ความรู้สึกตอนที่ถูกตัดผมไปครั้งแรก
ครั้งแรกเก้บริจาคผมให้กับโครงการ October Go Pink ของ MET 107 เราถามเธอว่าความรู้สึกที่โดนตัดผมฉึบเป็นอย่างไร เก้เล่าให้ฟังว่า “มันก็รู้สึกเบาหัวแต่ที่มากไปกว่านั้นก็คือเรารู้สึกภูมิใจและดีใจที่อย่างน้อย ๆ อะ สิ่งที่อยู่กับเรามา 3 ปี ที่เราตั้งใจ ที่เราอดทนอะ มันได้ไปช่วยคนอื่นไม่ว่าทางใดก็ทางหนึ่ง มันก็รู้สึกใจหายแหละ แต่ว่ามันคือความตั้งใจของเราอะเนอะ ที่เราอดทนมา 3 ปีก็ปลดล็อคละ ตัดแล้วก็เริ่มไว้ใหม่ได้”
ความอดทนตลอด 10 ปีที่เลี้ยงผมเพื่อบริจาค
เก้เลี้ยงผมยาวมาเป็นเวลา 10 ปี และบริจาคผมสำเร็จไปแล้วถึง 3 ครั้ง โดยครั้งที่ 4 กำลังจะเกิดเร็ว ๆ นี้ จากเรื่องเล่าของเธอเราเห็นว่ามันไม่ง่าย มันใช้ความอดทนมาก ๆ และความมุ่งมั่นตั้งใจเท่านั้นที่จะทำให้ภารกิจนี้สำเร็จ “(ผมยาว) มันมีความเกะกะมาก ๆ โดยเฉพาะตอนอยู่เมืองนอกเนี่ย พอโดนอากาศหนาว มันจะชอบเป็นไฟฟ้าสถิตก็จะมีความรุงรัง พอใส่ earmuff (ที่ครอบหู) ก็จะเกี่ยวละ พันหัวไปหมดเลย” ความยากลำบากของการไว้ผมยาวต้องอาศัยความอดทนที่ค่อนข้างสูง ถ้าใครเคยมีประสบการณ์ที่เลี้ยงผมให้ยาวกว่าระดับหน้าอกลงไปจะเข้าใจเก้เป็นอย่างดี ความอดทนของเธอยังขยายไปถึงขั้นตอนการดูแลเส้นผมในทุก ๆ วันด้วย “เราไม่ไดร์ผมเลยเพราะความร้อนมันจะไปทำลายสุขภาพของผม จากที่เคยสระผมตอนเย็นก็ย้ายมาสระตอนเช้า เพราะจะได้มีเวลาให้ผมได้แห้งเองตามธรรมชาติ ส่วนเรื่องการดัด การย้อมนี่ก็ไม่ได้ทำเลย เพราะส่วนตัวคิดว่าผู้ป่วยที่เป็นมะเร็งเขาได้รับสารเคมีระหว่างการรักษาเยอะอยู่แล้ว การที่เราจะบริจาคผมที่ปลอดสารพิษให้กับเขาน่าจะเป็นอะไรที่ดีกว่า”
“หลายคนคิดว่าการทำบุญคือการบริจาคเงินอย่างเดียว แต่จริง ๆ แล้ว แค่การบริจาคเลือดก็ถือเป็นการช่วยเหลือผู้อื่นแล้ว หรือการบริจาคผม ฟังดูอาจจะเป็นเรื่องเล็กน้อยแต่จริง ๆ แล้วมันไปช่วยเสริมสร้างความมั่นใจและเพิ่มความรู้สึกดี ๆ ให้กับผู้ป่วยที่เค้าต้องการมันจริง ๆ ได้เลยนะ”
ถ้าอยากบริจาคผม ควรเริ่มจากตรงไหน
เก้แนะนำว่าก่อนที่จะบริจาคผม ควรต้องศึกษาดี ๆ เพราะแต่ละที่ก็จะมีเงื่อนไขที่แตกต่างกัน “เพื่อไม่ให้ความตั้งใจของเราเสียเปล่า ควรลองไปอ่านดูว่าแต่ละองค์กรเค้าต้องการผมแบบไหน อย่างเช่น ต้องตัดแล้วส่งไปรษณีย์ไปหรือเปล่า หรือ ต้องไปตัดผมกับเขารึเปล่า คอนดิชั่นผมต้องใช้ความยาวเท่าไหร่ ทำสีผมได้ไหม และควรโทรไปเช็กก่อนว่าช่วงนั้น ๆ ทางมูลนิธิหรือองค์กรที่ทำวิกให้กับผู้ป่วย เขาเปิดรับเส้นผมหรือเปล่า”
ปัญหาหนึ่งที่หลาย ๆ คนประสบจากการ ‘อยากบริจาคผม’ แต่ไม่สำเร็จก็คือทางปลายทางที่จะส่งเส้นผมไปให้ปิดรับการบริจาค เก้อธิบายให้เราฟังว่า “การทำวิกมันมีค่าใช้จ่ายที่สูงมาก เพราะฉะนั้นการที่เราตัดแล้วส่งไปให้ เขาได้รับแมททีเรียลแหละแต่เขาอาจจะไม่ได้มีเงินทุนพอที่จะมานั่งทำวิกหัวนึง เราเลยเลือกร้านที่เขามีทั้งบริการตัดผมและเป็นร้านที่ทำวิกเองด้วย ก็จะจ่ายเงินเพิ่มเพื่อให้เขาทำออกมาเป็นวิกสำเร็จ พร้อมใช้ได้เลย”
ส่วนรายชื่อขององค์กรที่เปิดรับบริจาคเส้นผมมีดังต่อไปนี้
1. มูลนิธิสถาบันมะเร็งแห่งชาติ โทร. 02-202-6800 ต่อ 1509 ตอนนี้ปิดรับบริจาคเส้นผมแต่รับบริจาคเงินเพื่อนำไปทำวิก บริจาคเงินได้ที่บัญชี “กองทุนเส้นผม” 026-468189-2 ธนาคารไทยพาณิชย์ สาขารามาธิบดี
2. จากนางฟ้าถึงคุณวันใหม่ โทร. 089-4218259
กำลังจะเปิดรับบริจาครอบ 2 ในเดือนเมษายน เช็กรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ https://www.facebook.com/FromAngelFoundation/
3. ร้านแฮร์อินเทรนด์ดอทคอม โทร. 023202020
ร้านทำผมที่รับบริจาคเส้นผมและรับจัดทำวิกเพื่อผู้ป่วยโรคมะเร็ง เช็กรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ https://www.facebook.com/hairintrend
“คิดว่าคงทำไปเรื่อย ๆ ค่ะ คือเราไม่เดือดร้อนนะกับการที่ไม่ได้ทำสี ไม่ได้เปลี่ยนทรง คิดว่าถ้าเรายังทำได้ เราก็จะทำ” นี่คือสิ่งที่เก้ทิ้งท้ายเอาไว้ เรื่องราวของเธอ ถึงแม้จะเป็นจุดเล็ก ๆ ในสังคม แต่เราก็ได้เห็นพลังงานดี ๆ ของผู้หญิงคนหนึ่งที่ตั้งใจทำประโยชน์ให้กับคนอื่นและเป็นสิ่งที่คน ๆ หนึ่งจะพอช่วยเหลือได้ในแบบที่ไม่เหนือบ่ากว่าแรงของตัวเอง
💰ชิว เหมยลี่🌠 ขอชื่นชมค่ะ
สาธุอนุโมทนาด้วยคนนะคะ
12 มี.ค. 2562 เวลา 23.40 น.
Yutthana ปรบมือสิครับ
12 มี.ค. 2562 เวลา 23.00 น.
Otto ดีครับ แนวคิดดี แบ่งปัน
12 มี.ค. 2562 เวลา 22.15 น.
สุดยอดเลยครับ ทำดีแบบไม่หวังผล สาธุ
12 มี.ค. 2562 เวลา 23.57 น.
ขอชื่นชมและขอบคุณการทำความดีของทั้งสองมากๆคะและอยากให้เน้นชาวยเหลือคนยากจนคนที่ลำบากที่เป็นคนไทยมากๆเพราะเค้าเป็นพลเมืองไทยค้องมีชีวิตเติบโตเป็นกำลังของชาติต่อไปไม่ใช่เลือกแต่มีคนไทยมากมายที่ลำบากสมควรช่วยเหลือเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีสังคมจะได้ดีมีคนคุณภาพมาพัฒนาชาติมากๆคะ
12 มี.ค. 2562 เวลา 23.25 น.
ดูทั้งหมด